375 กองทุน 66 จังหวัด รับโอนเงินสมทบสวัสดิการชุมชน
นายกฯ “อภิสิทธิ์” กดปุ่มมอบแล้ว 112 ล้าน สมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนรอบแรก แนะสวัสดิการชุมชนสำเร็จได้ ต้องยึดหลักให้อย่างมีคุณค่า-รับอย่างมีศักดิ์ศรี บริหารงานด้วยความระมัดระวัง
วันนี้ (11 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดงาน "สวัสดิการชุมชนรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน" เพื่อมอบเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบเงินสมทบ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการมอบเงินงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนให้กับผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล/ท้องถิ่นแต่ละภาค ว่า ความปรารถนาสูงสุดของประชาชนและเป็นความต้องการของรัฐบาลชุดนี้ คือการเห็นประชาชนทุกคนมีระบบสวัสดิการที่ดี ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค มีความยั่งยืน และสามารถทำให้ประเทศมีการบริหารจัดการที่ดีได้ ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจะเป็นผู้จัดสวัสดิการให้ประชาชนทั้งหมดเป็นเรื่องยาก ด้วยข้อจำกัดในเรื่องโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งพบว่า ในหลายประเทศการจัดเก็บภาษีในอัตราสูงเพื่อนำมาสร้างระบบสวัสดิการทำต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการ จำเป็นต้องยึดมั่นในหลักการที่สำคัญ เพราะเป็นที่มาของความสำเร็จ คือ การให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนในชุมชน ขณะที่คณะกรรมการของกองทุนจะต้องบริหารจัดการเงิน โดยคำนึงถึงผลระยะยาว และต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะการจัดทำสวัสดิการที่เกินกำลังของกองทุน ย่อมจะเป็นที่มาของความเสี่ยงและความล้มเหลวได้
“รัฐบาลหวังว่า โครงการนี้จะนำมาซึ่งความมั่นคงในการใช้ชีวิตของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ และกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญในเรื่องของการออม การมีส่วนร่วม และการที่ประชาชนในแต่ละชุมชนมีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เกื้อกูลกัน อันจะเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมที่ดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า จุดเริ่มต้นในวันนี้จะนำมาซึ่งความสำเร็จของอีกหลายกองทุน ในแต่ละพื้นที่และจะทำให้ระบบนี้ช่วยเสริมแนวนโยบายของรัฐบาลทางด้านระบบสวัสดิการอื่น ๆ เช่น กองทุนเงินออมแห่งชาติ การขยายระบบประกันสังคม ไปจนถึงนโยบายอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น เรื่องการเรียนฟรี ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า การจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนพิการและผู้สูงอายุ เป็นต้น
ขณะที่คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนว่า มีความคืบหน้าไปมาก เช่น ปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดและกรุงเทพฯครบทุกจังหวัดแล้ว ในส่วนขององค์กรสวัสดิการชุมชนก็มีความตื่นตัวต่อนโยบายสวัสดิการชุมชนเป็น อย่างมาก โดยแต่ละองค์กรได้มีการประเมินสภาพความเข้มแข็งของกองทุน เพื่อวางแผนการพัฒนากองทุนให้มีคุณภาพ รวมทั้งเชื่อมโยงการเรียนรู้ในทุกระดับ ทั้งด้านการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีการประสานงานกับคณะกรรมการกระจายอำนาจและกรมส่งเสริม การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน
“การจัดสวัสดิการชุมชนไม่มีจุดตายตัว แต่ทุนทางสังคมที่มีอยู่ได้นำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อทำให้ชุมชนสามารถช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลกันและกันตั้งแต่เกิดจนตาย นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เพราะฉะนั้นวันนี้เราได้ชุมชนต้นแบบทั้งหมด 375 กองทุนแล้ว” ประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ กล่าว
ด้านนายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดสวัสดิการชุมชนนอกจากจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ร่วมสร้างขึ้นมาแล้ว ถือเป็นอีกมิติหนึ่งของการพัฒนาชุมชนจากฐานราก จากเดิมที่การบริหารราชการจากส่วนบนลงล่าง แต่วันนี้การทำงานในเรื่องของการพัฒนาชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านมีส่วนร่วมคิดและพัฒนาอย่างแท้จริง โดยไม่ใช้ความคิดของภาครัฐแบบเดิมอีกแล้ว เป็นมิติใหม่ เป็นการขับเคลื่อนภาคประชาชนโดยโครงการสวัสดิการชุมชนนี้เป็นโครงการนำร่องงานพัฒนาชุมชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนสวัสดิการชุมชน ณ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 3,154 กองทุน ในจำนวนนี้มี 2,990 กองทุนที่มีข้อมูลครบถ้วนแล้ว มีสมาชิกเข้าร่วม 21,795 หมู่บ้าน จำนวน 1,044,318 คน เงินกองทุนรวม 617.7 ล้านบาท ซึ่งเงินกองทุน 73% มาจากการสมทบของสมาชิก นอกจากนั้นเป็นเงินสมทบของพอช. อปท.และหน่วยงานอื่นๆ
สำหรับองค์กรสวัสดิการชุมชนที่ได้รับเงินสมทบในวันนี้ ได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกจากคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดตามหลักเกณฑ์ เน้นเฉพาะองค์กรสวัสดิการชุมชนที่มีคุณภาพดี สามารถเป็นแบบอย่างที่จะนำไปสู่การขยายผลในจังหวัดได้ โดยคณะอนุกรรมการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนได้อนุมัติงบประมาณเพื่อสมทบกองทุนฯ ในรอบแรกเป็นเงิน จำนวน 112,488,872 บาท สำหรับ 375 กองทุน จาก 66 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 12 จังหวัด 71 ตำบล ภาคกลางบน/ตะวันตก 14 จังหวัด 34 ตำบล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด 67 ตำบล ภาคใต้ 13 จังหวัด 158 ตำบล กรุงเทพมหานครและภาคตะวันออก 10 จังหวัด 45 ตำบล