เครือข่ายคนจนประเมินผลงานรบ.มาร์ค ฉะไม่จริงใจแก้ปัญหา
มุ่งนโยบายพิธีกรรม ไม่กระจายความเป็นธรรมอย่างแท้จริง เครือข่ายฯ คาดหลังปีใหม่ผลงานไม่คืบบุกรบ.แน่
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายคนจนแถลงประเมินผลงานรัฐบาลอภิสิทธิ์กับการแก้ปัญหาคนจนในหนึ่งปี ซึ่งมีตัวแทนจากเครือข่ายสมัชชาคนจน เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และนักวิชาการร่วมประเมินผลงาน
ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการที่ทำงานด้านปัญหาคนจน กล่าวว่า นโยบายที่เห็นชัดเจนคือนโยบายพิธีกรรมสร้างความสามัคคีในชาติ แต่นโยบายการกระจายและสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้คนจนยังไม่มีความชัดเจน เช่น การกระจายการถือครองที่ดิน โฉนดชุมชน ภาษีที่ดิน กองทุนธนาคารที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีเจตนารมณ์ผันแปรไปมากมุ่งระดับปัจเจกบุคคล เป็นนโยบายที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่มีการบุกเบิก มุ่งเน้นนโยบายที่หาเสียงในระยะสั้นมากกว่าที่จะมุ่งแก้ปัญหาในเชิงโครง สร้างในระยะยาว
ผศ.ดร.ประภาส กล่าวถึงการปฏิรูปการเมืองที่ผ่านมาในหนึ่งปี ว่า เป็นการมุ่งแก้ปัญหาของนักการเมือง นักเลือกตั้งมากกว่าการสร้างพื้นที่การเมืองให้ผู้คนเข้ามาใช้ในระยะยาว ทั้งนี้รัฐบาล ควรจะทบทวนนโยบาย และหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายเชิงโครงสร้าง นโยบายที่ควรจะทำให้ผู้คนใช้ประโยชน์ได้ระยะยาว และสร้างนโยบายในการสร้างความเป็นธรรมกับคนในสังคมให้มากกว่าการสร้างนโยบายพิธีกรรม
“การปฏิรูปการเมืองควรมุ่งสร้างพื้นที่ให้เห็นหัวคนจน และควรขยายพื้นที่ให้มากกว่าการเมืองแบบตัวแทน หรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของนักการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อไปในปีหน้า“นักวิชาการที่ทำงานด้านปัญหาคนจน กล่าว
ขณะที่นายสวาท อุปฮาท ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาคนจน กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีการแก้ไขปัญหาคนจนอย่างจริงจัง เช่น ปัญหาเขื่อน ปัญหาที่ดิน ปัญหาผู้ป่วยจากการทำงาน ปัญหาการประมงพื้นบ้านภาคใต้ เป็นต้น หลายเรื่องอาจมีการเจรจา บางเรื่องมีการดำเนินการแต่ไม่มีการปฏิบัติ ปัญหายังคงอยู่ อีกทั้งรัฐบาลพยายามบิดเบือนโดยไม่มีมาตรการแก้ไข ที่ผ่านมามีเพียงเรื่องของยายไฮ ขันจันทา ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนห้วยละห้า กิ่ง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ที่ได้รับการแก้ไข ขณะที่ปัญหาคนจนยังคงอยู่ แม้รัฐบาลเคยประกาศจะร่วมแก้ปัญหาเครือข่ายคนจนกว่า 4 เดือนแล้วที่มีการรับปากประชาชนแต่ก็ไม่มีการเจรจา
“นโยบาย ของรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาคนจนได้เพราะเป็นเพียงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะสั้นๆ ไม่ยั่งยืน หลายนโยบายหลักที่รัฐบาลแถลงแต่ไม่ได้ทำ เช่น การกระจายการถือครองที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ทำให้เกิดช่องว่างมากระหว่างคนจน กับคนรวย ซึ่งนโยบายแบบนี้ถ้ารัฐไม่ทำก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาคนจนได้”
ส่วนนางพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้ ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวถึงปัญหาที่ดินว่า ปีที่ผ่านมาเราพยายามยกประเด็นเรื่องโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดิน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศในลักษณะที่เป็นรูปธรรม โดยมีคณะกรรมการและอนุกรรมการดูแลคปท.7 ชุดทำงานมาอย่างต่อเนื่องจนหยุดสนิทเมื่อเดือนตุลาคม มีเพียงชุดเดียว เรื่องที่สาธารณะประโยชน์และที่ดินเอกชนของนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ที่คืบหน้า และรัฐยังคงมีการฟ้องคดีแพ่งเรื่องที่ดินกับเกษตรกรอยู่มากขึ้น
สำหรับกองทุนธนาคารที่ดินที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะมีแบ่งภาษีที่ดินและสิ่งปลูก สร้าง 2% นั้น ผู้ ประสานงานคปท. กล่าวว่า ยังไม่มีความเคลื่อนไหว ล่าสุดเมื่อวันที่20 ต.ค.รัฐบาลมีมติครม.ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชนปัจจุบัน อยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา เรื่องยังเงียบอยู่ ซึ่งระเบียบฯนี้ไปไม่ถึงเจตนารมณ์ของการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพราะมีข้อจำกัด 2 ประการ คือ 1.ให้ชุมชนที่ตั้งขึ้น 3 ปีก่อนการออกระเบียบฯนี้เท่านั้นสามารถมีสิทธิได้รับโฉนดชุมชน 2.การให้รับรองสิทธิชุมชนเพียง 30 ปีซึ่งรัฐบาลยังหวงอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรที่ดินอยู่
“ประเทศไทย มีเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินหรือมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอประมาณ 12-13 ล้านคนหรือร้อยละ 40 ของเกษตรกรทั้งหมด 30 ล้านคน รัฐบาลทุกสมัยพูดตลอด ต้องการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้ประชาชน เป็นประเด็นระดับชาติที่ทุกรัฐบาลต่างพูดถึง ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ก็พูดถึง แต่หนึ่งปีที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาที่ดินให้เกษตรกรได้ หลายเรื่องเป็นแค่นโยบายและคำหวานที่รัฐบาลพยายามรักษาเสถียรภาพทางการเมืองเอาไว้ ความเป็นจริงก็คือนายกรัฐมนตรีไม่ยอมประชุมคณะกรรมการดำเนินงานระดับชาติ หลายเรื่องยังนิ่งสนิทไม่ได้เป็นแบบที่รัฐบาลแถลง เรื่องที่แถลงและแก้ไขเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ใช่โครงสร้างของการแก้ไขปัญหาคนจนได้จริง ถ้าจะแก้ปัญหาคนจนให้ได้จริงต้องแก้ปัญหาที่ดินทำกิน”นางพงษ์ทิพย์ กล่าว
ด้านนางสาวประทิน เวคะวากยานนท์ ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาเพียงใน 4 ประเด็น 1.งบสินเชื่อ 6,000 ล้านบาทเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยขณะนี้รัฐได้โอนเงินให้พอช.แล้ว 3,000 ล้านบาท เหลืออีก 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะโอนให้ทั้งหมดภายในปี 2544-2555 2.พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ได้ พยายามแก้กฎระเบียบ ตอนนี้พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนสำนักโยธาและผังเมืองเพื่อเข้าตีความใน กฤษฎีกา ประเด็นนี้หากรัฐจริงใจจะแก้จริงๆ ก็ควรให้พ.ร.บ.ฉบับนี้สมบูรณ์แบบและออกมาให้ได้ภายใน 6 เดือนข้างหน้า
“3.โฉนดชุมชนที่ผ่านมารัฐบาลยังไปไม่ไกลเหมือนเด็กที่ตั้งไข่ เนื่องจากติดระเบียบต่างๆ เช่น กรณีชุมชนนำร่องคลองจั่น โรงหวาย และชุมชนหลวงวิจิตรที่ยังไม่มีการเจรจาใดๆ ดังนั้นรัฐบาลควรจะสั่งการให้เห็นทั้งสามโครงการนำร่องดังกล่าว และ 4.ปัญหาการไล่รื้อในชุมชนเมืองเริ่มมีกลับมาอีก ยังไม่เห็นบทบาทของนายอิสสระ สมชัย ในฐานะรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เท่าที่ควร ทั้งเรื่อง พ.ร.บ.หรือการผลักดันงบประมาณ ฉะนั้นเมื่อมีการไล่รื้อก็ควรจะประกาศหยุดการไล่และรมว.เองควรจะขยับเป็นตัวกลางดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง และหลังปีใหม่คงต้องตามการดำเนินการจากรมว.พัฒนาสังคมฯ ต่อไปหากไม่คืบหน้าก็อาจมีข่าวไปบุกรัฐบาลแน่” ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าว