รัฐต่อยอดความสำเร็จ ดีเดย์โอนเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนครั้งแรก
นายกฯมอบนโยบายสวัสดิการชุมชนแก่ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ โชว์เห็นเป็นรูปธรรม 11 มกราคม 2553 จะมีการมอบทุนสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนครั้งแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล
วันนี้ (21 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาการจัดสวัสดิการชุมชน ครั้งที่ 1/2552 ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (วีดิโอคอนเฟอเรนซ์) พร้อมมอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายให้กับคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาการจัดสวัสดิการชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัด/กรุงเทพมหานคร สรุปสาระสำคัญว่า รัฐบาลมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดี และถือว่าเรื่องสวัสดิการเป็นเรื่องที่อยากจะให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในประเทศไทย โดยรัฐบาลจะสนับสนุนระบบสวัสดิการที่มาจากการมีส่วนร่วมของหลาย ๆ ฝ่าย ซึ่งในช่วงที่รัฐบาลเริ่มเข้ามาทำหน้าที่ ผู้แทนองค์กรชุมชนได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกับนายกรัฐมนตรีในเรื่องสวัสดิการระดับชุมชน ที่ภาคประชาชนได้ริเริ่มดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ซึ่งระบบสวัสดิการชุมชนมีความหลากหลายตามความเหมาะสมของแต่ละสภาพพื้นที่หรือชุมชนเอง และเป็นการสร้างเครือข่ายทางสังคมให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพสิทธิของกันและกัน โดยหลักประกันหรือแนวของสวัสดิการชุมชนอยู่บนพื้นฐานของการให้อย่างมีคุณค่าและการรับอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะฉะนั้นเมื่อทางภาคประชาชนได้ริเริ่มสิ่งนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว รัฐบาลก็ต้องการที่จะเห็นระบบสวัสดิการชุมชนมีการขยายตัว มีความเข้มแข็งมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสวัสดิการชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสมทบเงินเข้าร่วมกับกองทุนที่มีความพร้อม หรือที่ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าได้ดำเนินการมา ได้รับความร่วมมือและมีเสถียรภาพในแต่ละชุมชน และต่อมาได้มีการจัดงบประมาณในปี 2553 เอาไว้ 727.3 ล้านบาท เพื่อที่จะสมทบกองทุนที่จัดตั้งแล้ว 3,154 ตำบล และส่งเสริมให้มีการจัดสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ใหม่อีก 2,000 ตำบล โดยการดำเนินงานแบ่งเป็นแผนงานระยะที่ 1 คือการสนับสนุนการจัดตั้ง เสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทุน โดยรัฐจะสมทบกองทุนและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมทบกองทุน ระยะที่ 2 แผนงานระยะยาวคือพัฒนาระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนแห่งชาติ
ทั้งนี้ การทำงานจะมีกลไก 3 ระดับ คือ ระดับชาติ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระดับจังหวัด กรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ฉะนั้นผู้ว่าฯ จะมีบทบาทสำคัญมากต่อความสำเร็จของการดำเนินการ จึงขอให้ผู้ว่าฯ ได้เอาใจใส่ มีความตั้งใจและมีความรับผิดชอบในการขับเคลื่อนโครงการในส่วนนี้ และ ระดับคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหรือเมือง ที่ภาคประชาชนจัดตั้งกันเองจากสมาชิกเพื่อดำเนินการจัดสวัสดิการชุมชน ซึ่งขอย้ำว่าภาคราชการหรือท้องถิ่นไม่ต้องไปจัดการในส่วนนี้ให้ ขอให้เป็นเรื่องของภาคประชาชน และให้การสนับสนุนเมื่อมีความเข้มแข็ง เมื่อสามารถสร้างกลไกให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นทุนของในชุมชนแล้ว จึงจะนำเข้ามาสู่ระบบที่รัฐบาลให้การสนับสนุน
“งานนี้เราไม่อยากที่จะเร่งรีบสำหรับพื้นที่ซึ่งไม่มีความพร้อม ระบบนี้ประชาชนทำกันมาได้ด้วยดี ก็ต้องอาศัยเวลา อาศัยความอดทน อาศัยการเรียนรู้ จนกว่าจะอยู่ตัว แต่ว่าถ้าหากว่าเราไปคิดว่าที่นี่ทำได้ อีกที่หนึ่งก็สั่งให้เขาทำเหมือนกัน จะไม่ประสบความสำเร็จ และจะทำให้ตัวระบบทั้งหมดถูกมองไปในทางลบ มีปัญหาและจะกระทบกระเทือน ฉะนั้นขอย้ำว่าในระดับนี้เป็นระดับซึ่งชุมชนจะต้องสามารถที่จะดำเนินการกันเองได้ และยืนยันว่าไม่ได้มีสูตรสำเร็จเรื่องวิธีการจัดการอะไรต่าง ๆ แต่ละชุมชนย่อมมีลักษณะที่แตกต่างกันไป และความต้องการจะไม่เหมือนกัน" นายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์ในการสมทบกองทุน 3,154 กองทุนในขณะนี้ จะต้องดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี สมาชิกของกลุ่มต้องครอบคลุมกลุ่มคนที่หลากหลาย กระจายอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเขตของกองทุนสวัสดิการ เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลจะสมทบเงินให้ในรอบ 1 ปี ไม่เกิน 365 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งกองทุนอีก 2,000 กองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ก็จะต้องมีคุณสมบัติเหมือนกับกองทุนที่จัดตั้งก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลจะให้สมทบกองทุนให้เท่ากับจำนวนเงินสมทบสวัสดิการของสมาชิกรวมกันในรอบ 1 ปีแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน และมีการจัดสรรงบประมาณไว้ในปี 2553 ทำให้เกิดความสนใจ ความตื่นตัวมากพอสมควร ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นรูปธรรมของการขับเคลื่อนในด้านนี้ จะมีการมอบทุนสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนครั้งแรก ในวันที่ 11 มกราคม 2553 ที่ทำเนียบรัฐบาล จึงขอให้ทางผู้ว่าฯ และคณะกรรมการได้กลั่นกรองคัดเลือกองค์กร สวัสดิการชุมชนที่มีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เป็นองค์กรที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เพื่อส่งสัญญาณให้กลุ่มอื่น ๆ ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้อง พร้อมกันนี้ ขอให้ผู้ว่าฯ ได้เร่งดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ 1. จัดทีมทำงานระดับจังหวัดไปสนับสนุนและทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชนในการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีคุณภาพ 2. เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง กระตุ้นทุกตำบลและเทศบาลในเรื่องของการที่สามารถจะรวมตัวได้ในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ตามความพร้อมแต่ละชุมชนแต่ละท้องถิ่น 3. ประสานทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนงานทางด้านนี้ และ 4. จัดให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่างานสวัสดิการชุมชนเป็นงานที่มีประโยชน์ในหลายมิติ โดยจะช่วยเรื่องของความเป็นธรรมในสังคมและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันหลักประกันด้านสวัสดิการจะช่วยให้ประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจระดับชาติ และจะเป็นงานที่ส่งเสริมเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้การมีส่วนร่วมในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของเราและการเมืองของเรามีความเข้มแข็งมากขึ้น และขอย้ำว่างานนี้ถือว่ารัฐบาลต่อยอดจากความสำเร็จของประชาชน และไม่ต้องการที่จะให้สิ่งที่ประชาชนทำมาอย่างดี ต้องสูญเสียหลักการที่ดีไป การให้อย่างมีคุณค่า การรับอย่างมีศักดิ์ศรีจึงยังคงเป็นหลักการใหญ่ที่สุดที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดำรงไว้