ล้อมวงคุย “หลากมุมมองสานพลัง” เดินเครื่องปฏิรูปไทย
งานสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งแรก ที่รวมพลคนทำงานสร้างสรรค์สังคมตั้งแต่ชาวบ้านรากแก้ว เอ็นจีโอ นักวิชาการ ไปกระทั่ง คปร.-คสป. ปิดฉากลงในวันที่ 26 มี.ค.นี้ และหนึ่งในบรรดาหลายเวทีหลากมุมความคิดที่น่าสนใจคือ “ล้อมวงคุย : รวมพลังปฏิรูปประเทศไทย”
ดูจากรายชื่อผู้คนที่มาจับเข่าล้อมวงแล้วคงไม่ต้องบอกความเข้มข้นเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน กรรมการปฏิรูป และกรรมการสมัชชาปฏิรูป เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป และคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป ศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา ประธานคณะกรรมการนักธุรกิจสตรี หอการค้าไทย สมบุญ สีคำดอกแค เครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมฯ เพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง สน รูปสูง กรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป คสป. และรองประธานสภาพัฒนาการเมือง ปรีดา คงแป้น กรรมการสมัชชาปฏิรูป และผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท
ถึงเวลาเร่งปฏิรูปประกันสังคม สวัสดิการผู้สูงอายุ
เริ่มจากคุณหมอวิชัย โชควิวัฒน หนึ่งในอรหันต์ คปร. กล่าวว่า กระบวนการของสมัชชาปฏิรูป เป็นกระบวนการที่ทำให้พลังทางสังคม ที่ประกอบไปด้วยอำนาจ 3 ส่วน คือ อำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอำนาจของสังคมประชาชนทั่วไปมาอยู่ร่วมกัน ช่วยกันคิด ผลักดัน เพื่อให้ข้อเสนอ หรือมติเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผู้ที่สันทัดในแวดวงระบบสุขภาพท่านนี้ ยังกล่าวถึงระบบสวัสดิการ ประกันสังคมและสวัสดิการผู้สูงอายุต่อว่า เป็นเรื่องที่ควรทำ และต้องทำ ทิศทางของประเทศไทยเป็นประชานิยม นำเงินอนาคตมาใช้ แต่ทิศทางที่ควรจะเป็นคือ สวัสดิการสังคม ที่ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ต้องสร้างสวัสดิการให้กับประชาชน โดยที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ เหมาะสม ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีหลักประกันในอนาคต แต่ที่ผ่านมาองค์กรที่ดูแลด้านนี้ เป็นองค์กรภาครัฐ ทำให้ดูแลอย่างไม่ไปถึงผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง
“ข้อเสนอในการปฏิรูป คือจะต้องทำให้องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรอิสระและผู้ใช้แรงงานมีส่วนสำคัญใน การดูแลให้องค์กรนี้ทำงานได้ดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากและมีความเป็นไปได้ที่ควรต้องทำมานานแล้ว แต่เพราะมีแรงต้าน รวมทั้งผู้ประกอบการยังไม่ให้ความสำคัญเพียงพอ ทำให้เกิดช่องว่างของประชาชนกับผู้ที่มีสิทธิเหนือกว่าแรงงานทั่วไป”
นายแพทย์วิชัย ชี้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย เนื่องจากปัจจุบันมีผู้สูงอายุเกิน 10% และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องจัดระบบให้ผู้สูงอายุไม่เป็นภาระของสังคม ให้ผู้สูงอายุสร้างพลังต่อสังคม โดยใช้ระบบการออม ซึ่งไม่ต้องลงทุนมาก ใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท เพราะรัฐบาลกลางไม่มีทางที่จะจัดระบบต่างๆ ได้ทั้งหมด ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ให้ถึงชุมชนเลย และถึงภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งขึ้น และไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของเงินตรา
เสียงจากศิลปินแห่งชาติ ประกาศขอกระชับพื้นที่
ขณะที่ศิลปินแห่งชาติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ชี้ว่าสังคมที่ไม่มีรากเหง้าวัฒนธรรม จะโหยหาวัฒนธรรม ดังนั้นการใช้ศิลปะในการเยียวยาสังคมที่แตกแยก ต้องมองเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม เพราะมองในทางเศรษฐกิจบ้านเราวัฒนธรรมที่ขายได้ น่าเชิดชูมากมาย แต่กลับมองไม่เห็น
“งานศิลปะเป็นงานที่เข้าถึงจิตใจคน ทำให้คนมีสุนทรียะขึ้น และสามารถบูรณะชุมชน จิตใจ และประเทศชาติได้ เพราะการพัฒนาประเทศชาติจะพัฒนาแค่โครงสร้างไม่ได้ แต่เนื่องจากรัฐหรือกระทรวงต่างๆ มีการบริหารงานแบบระบบ แต่สมัชชาทำงานกับประชาชน จึงเป็นเรื่องที่จะทำงานควบคู่กันได้ยาก สำหรับเรื่องศิลปวัฒนธรรมในภาคเอกชนสามารถผลักดันให้รุดหน้าไปได้มากกว่ารัฐ แต่ก็ยังขาดความร่วมมือจากภาคประชาชน”
กรรมการ คปร.สายศิลปินยังวิพากษ์ว่ารัฐบาลจริงจังแต่ไม่ค่อยจริงใจ แต่ประชาชนจริงใจแต่ไม่ค่อยจริงจัง ดังนั้น กระบวนการของสมัชชาจึงเป็นกระบวนการที่ที่ทำให้ชุมชนจริงจังและจริงใจ ข้อเสนอของทางเครือข่ายศิลปินฯ จึงต้องการพื้นที่ทางวัฒนธรรม พื้นที่ทางสื่อ ช่องทางทีวี 15% พื้นที่สื่อที่สร้างสรรค์ ให้คนมีสุนทรียะและมีจิตสำนึกสาธารณะ มีช่องทีวีอย่างน้อย 1 ช่อง ที่เป็นช่องศิลปะโดยเฉพาะ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ศิลปินที่ไม่มีโอกาสได้เข้าสู่กระแสหลักของสังคม ปัจจุบัน
ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ศิรินา โชควัฒนา กล่าวว่าสมัชชาฯ เป็นเวทีที่รับฟังปัญหาของทุกคนและมองว่าทุกปัญหาสามารถแก้ได้ สำหรับภาคเอกชนแล้วมองว่าไม่ยาก หากภาครัฐ และทุกฝ่ายร่วมมือกันจัดการ โดยเฉพาะประเด็นศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นศาสตร์ที่สื่อถึงความเจริญของความสร้างสรรค์ และเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม และเผยแพร่สิ่งดีๆ ส่งต่อกัน
ขณะที่แกนนำแรงงานรากหญ้า สมบุญ ศรีคำดอกแค สะท้อนปัญหาสุขภาพที่กระทบมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยไม่ได้ป้องกันหรือรองรับเรื่องมาตรการความปลอดภัย เป็นเรื่องที่ต่อสู้กันมายาวนาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน ทั้งเครื่องจักร และอันตรายจากสารเคมี แต่กฎหมายไม่ได้คุ้มครอง ต้องต่อสู้ เรียกร้องสิทธิเงินทดแทน และค่าเจ็บป่วยจากรัฐบาล
“ที่ผ่านมาการวินิจฉัยทางการแพทย์ยังมีน้อย จึงต้องการให้พี่น้องคนจนสามารถเข้าถึงสิทธิ์ในการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้ เชี่ยวชาญ เฉพาะทางโรคอาชีวะเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กองทุนทดแทนที่เป็นสิทธิ์ของคนงาน ฉะนั้น ข้อเสนอในระดับนโยบายสำหรับรายบุคคลต่อรัฐบาลที่ทางเครือข่ายฯ ต้องการ คือ ควรจะมีการตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอนามัยและสภาพแวดล้อมการทำงาน”
เพ็ญภัคพ็ญภัค รัตนคำฟู ให้ภาพจากผู้นำท้องถิ่นว่าที่ผ่านมาท้องถิ่นถูกมองแต่ในแง่ลบ ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก เนื่องจากประชาชนเข้ามามีบทบาทในเรื่องการตรวจสอบภาครัฐมากขึ้น ทำให้คอรัปชั่นลดลงเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นก็ยังมีปัญหาด้านความเข็มแข็งทางการเมือง ฉะนั้น คำตอบของการปฏิรูปที่แท้จริง จึงต้องทำให้ประชาชนเข้าใจหลักประชาธิปไตยในชุมชน เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับการเมืองภาคประชาสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาธิปไตยขับเคลื่อนต่อไปโดยประชาชน เพื่อประชาชน
นายกเทศมนตรี ตำบลเกาะคา ยังกล่าวว่า ปัญหาระดับท้องถิ่นบางเรื่อง หากรอให้รัฐบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ เทอะทะเข้าไปแก้ไขอาจไม่ทันการณ์ ฉะนั้น ควรให้อำนาจบริหารจัดการอยู่ในมือท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีกฎหมายเรื่องการกระจายอำนาจ แต่ก็ไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับความจริงใจของรัฐบาลเป็นสำคัญ
แกนนำคนรากหญ้า ชี้ต้องกระจายอำนาจ ไม่ใช่ขยาย
ลุงสน รูปสูล บอกว่าการปฏิรูปประเทศไทย สิ่งสำคัญอยู่ที่จะต้องปฏิรูปจากล่างสู่บน โดยใช้พลังทางสังคม ใช้ปัญญา สันติวิธี และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาระยะยาว สิ่งเหล่านี้เป็นหลักสำคัญที่ไม่สามารถละเมิดได้ เพราะไม่เช่นนั้น การปฏิรูปจะไม่มีทางสำเร็จได้อย่างแน่นอน
“ประเทศไทยจะต้องมีการกระจายอำนาจสู่ประชาชน ผมย้ำว่ากระจายอำนาจ ไม่ใช่การขยายอำนาจ อีกทั้งจะต้องยึดการปฏิรูปจากล่างสู่บนและใช้พลังทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น เรื่องใดที่เป็นปัญหาของท้องถิ่นก็จัดเวทีสมัชชาระดับตำบลให้ผู้ที่เกี่ยว ข้องจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ เมื่อได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหา หน่วยงานนั้นๆ จะต้องบรรจุแนวทางดังกล่าวไว้ในแผนงาน”
ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป ยังกล่าวถึงการเคลื่อนพลังประชาชนแบบเหยาะๆ แหยะๆ ชนิดที่เจรจากับรัฐบาลแล้วได้กระดาษแผ่นหนึ่งก็ดีใจ แล้วเดินกลับไป อาจจำให้การปฏิรูปครั้งนี้อาจไม่เกิดผลเท่าที่ควร ฉะนั้น จะต้องเปลี่ยนความคิดของคนข้างล่างเสียก่อน อย่าไปฝากความหวังไว้ที่นายกอานันท์ หรือหมอประเวศอย่างเดียว
“หลายคนมองว่ารัฐบาลจับนายกอานันท์ หรือหมอประเวศใส่กระติ๊กน้ำแข็ง จนถึงจุดเยือกเย็นที่ไม่สามารถขยับได้ ฉะนั้น ภาคประชาชนชั้นล่างจะต้องเคลื่อนไหวและร่วมกันผลักดันการปฏิรูป โดยกำหนดบทบาทของนายกอานันท์และหมอประเทศ เป็นเพียงผู้นำทัพเท่านั้น ประการสำคัญ การเคลื่อนระดับล่างจะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงได้อย่างแน่นอน”
ลุงสน ฟันธงหัวใจสำคัญของการปฏิรูปว่า อยู่ที่การกระจายอำนาจ ส่วนเรื่องปัญหาเรื่องที่ดิน น้ำ ฯ เป็นเพียงอาการเท่านั้น เพราะปัญหาที่แท้จริงเกิดจาการที่ประชาชนไม่มีอำนาจ ขณะเดียวกันจะต้องทำให้สภาประชาชนเข้มแข็ง เพราะหากไม่มีสภาดังกล่าว อำนาจก็จะไม่สามารถส่งต่อไปถึงมือประชาชนได้
ทั้งนี้กระแสปฏิรูปในขณะนี้ ยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ชาวบ้านยังคำตั้งคำถามว่า จะมีการปฏิรูปเพื่ออะไร ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกระแสการเมืองในช่วงใกล้ยุบสภา ที่ชาวบ้านสามารถจำจดสโลแกนของพรรคต่างๆ ได้ ทั้งนี้ เป็นเพราะคนรวยสร้างวาทกรรมให้ชาวบ้านนั้นท่องจำ
ด้านปรีดา คงแป้น คสป.สายเอ็นจีโอ กล่าวว่าในภาพรวมของประเทศไทยสิ่งจะแก้วิกฤตของประเทศได้นั้น มีด้วยกัน 3 แนวทางคือ ปฏิวัติ ประท้วง ปฏิรูป โดยการปฏิรูปนั้น ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมแก้ปัญหาสังคมที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะนักวิชาการ ชาวบ้าน หรือหน่วยงาน
“วิธีการแก้ปัญหาของชาวบ้านมีด้วยกันหลากหลาย ทั้งพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นักการเมือง หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ในการแก้ปัญหาของชาว บ้าน อีกทั้งยังมีบทบาทช่วยเสริมหนุน ให้คนตัวเล็กตัวน้อยมีโอกาสในการสะท้อนปัญหาของตนเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประชาชนก็จำเป็นต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อตนเองด้วย ขณะเดียวกันผู้ในสังคมต้องตระหนักว่า หากไม่แก้ปัญหาดังกล่าว วิกฤตย่อมเกิดขึ้นและกระทบต่อผู้คนอย่างถ้วนหน้า”
ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย ยังสะท้อนสิ่งที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือการคืนความเป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชนที่ติดคุกโดยไม่เป็นธรรม เช่น คดีบุกรุกที่ดินตนเอง โดยใช้กองทุนยุติธรรมเข้ามาดูแล อีกทั้งจะต้องมีการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มผู้ได้รับสารแคดเมียมจากการทำเหมืองแร่ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวก็จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป จะต้องนำความเดือดร้อนของประชาชน ม้วนกลับไปเป็นประเด็นเชิงนโยบาย นำกฎหมายกับความจริงในพื้นที่มาพูดคุยบนโต๊ะเดียวกัน
……………………………
ม่านเวทีสมัชชาปฏิรูปครั้งแรกปิดฉากลงด้วยการรับ 9 ประเด็นข้อเสนอสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย โดย ศ.นพ.ประเวศ ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) และนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) แต่การเดินเครื่องไปสู่ความหวังของเวทีแห่งนี้ที่มีธงชัย “ลดความเป็นธรรม-สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม” ยังต้องจับตาดูต่อไปอย่างไม่กระพริบ .