ชำแหละโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล : ซุกปัญหาใต้พรม?
เสมือนหนึ่งยกระดับสุขภาพ-คุณภาพชีวิตประชาชนทั่วระเทศครั้งสำคัญ เมื่อจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เลือกที่จะสานต่อนโยบายพัฒนาสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จนกลายเป็นโครงการที่สามารถจับต้องได้
กำเนิดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
จุดเริ่มต้นของนโยบายนี้ ผุดขึ้นจากแนวคิดของวิทยา แก้วภราดัย อดีต รมว.สาธารณสุข ที่ต้องการให้เกิดโรงพยาบาลประจำตำบลทั่วประเทศ โดยมีการจัดสรรงบกว่า 5 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี คือระหว่างปีงบประมาณ 2552–2555 แต่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนต้องหลุดออกจากตำแหน่งไปก่อน
หากวิเคราะห์ผลสำรวจของกระทรวงตั้งแต่ก่อนมีการริเริ่มนโยบาย ยิ่งตอกย้ำความสำคัญและปัญหาการยกระดับสถานีอนามัยครั้งนี้ การสำรวจปี 2549 ระบุว่าสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิระดับตำบลมีทั้งสิ้น 9,810 แห่งทั่วประเทศ แต่มีบุคลากรเฉลี่ยเพียงแห่งละ 2.9 คน
นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของหน่วยบริการระดับตำบลทั้งหมดหรือ 2,968 แห่งเท่านั้นที่มีพยาบาลวิชาชีพประจำ ทั้งๆที่ต้องแบกภาระดูแลผู้ป่วยในพื้นที่กว่า 5 พันคน และอีกประมาณ 17% ของหน่วยบริการที่รับผิดชอบผู้ป่วยกว่า 1 หมื่นคน
ความสำคัญคือจำเป็นต้องยกระดับคุณภาพการบริการของหน่วยพยาบาลเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
ปัญหาคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ และแม้ว่ากระทรวงจะดึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านราย เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของแนวทางการแก้ปัญหา
“งบไม่ถึงพื้นที่” สาเหตุโครงการเหลว
อย่างไรก็ตามนายจุรินทร์ ตัดสินใจเหยียบคันเร่งเดินหน้านโยบายต่อภายใต้ข้อจำกัดแล้ว จึงไม่แปลกที่จะปรากฏปัญหาตามมาอีกหลายระลอก… ประการหนึ่งเป็นเพราะ งบประมาณไม่ถึงพื้นที่
ประสพ สารสมัคร หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขอำเภอพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ฉายภาพปัญหาที่เกิดขึ้นว่า สธ.พยายามประชาสัมพันธ์เชิงรุกว่าสามารถยกระดับสถานีอนามัยเป็น รพ.สต.ได้สำเร็จอย่าล้นหลาม ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง นั่นเพราะงบประมาณเข้ามาไม่ถึงพื้นที่
“เงินมันค้างอยู่ที่โรงพยาบาล เชื่อไหมว่าแต่ละปีมีงบสำหรับจัดทำโครงการป้องกันโรคซึ่งถูกโรงพยาบาลกั๊กไว้เป็นเงินบำรุงถึง 2 หมื่นล้านบาททั่วประเทศ” ประสพ เผยข้อมูล และว่า รพ.สต.ที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรต่างไปจากสถานีอนามัยเดิม เพราะยังเป็นอาคารเก่า อุปกรณ์เก่า บุคลากรเท่าเดิม มาตรฐานการให้บริการอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่มี
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาทั้งหมดเริ่มต้นจากงบประมาณที่ส่งมาไม่ถึงพื้นที่ จากนั้นก็ขยายผลกระทบเป็นวงกว้าง ตั้งแต่บุคลากรไม่เพียงพอ เพราะไม่สามารถบรรจุพยาบาลใน รพ.สต.ตามพื้นที่ที่ประกาศไว้ได้ครบ เนื่องจากบุคลากรมักจะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง หรือพื้นที่ที่มีงบเหมาจ่ายรายหัวสูง
รองประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทยรายนี้ กล่าวอีกว่าสถานีอนามัยเปลี่ยนเป็น รพ.สต.เฉพาะป้าย มั่นใจว่ากว่า 90% ของโครงการเป็นเช่นนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายขอบหรือห่างจากเมือง 20 กิโลเมตรขึ้นไป และแม้ว่าระเบียบจะกำหนดว่า รพ.สต.ต้องมีบุคลากรประมาณ 7-10 คน แบ่งเป็นหัวหน้าสถานีอนามัยในฐานะ ผอ.รพ.สต. พยาบาล 1-2 คน นักวิชาการสาธารณสุข 2-3 คน และพนักงานอื่นๆ แต่ข้อเท็จจริงคือเมื่อเงินมาไม่ถึง ก็ไม่มีใครอยากเข้ามาทำงาน
“ยอมรับว่านโยบาย รพ.สต.เป็นสิ่งที่ดี แต่คงจะสำเร็จได้ในอีก 30 ปีข้างหน้า” หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขอำเภอพิบูลมังสาหาร ทิ้งท้าย
ดารินทร์ ทีอุทิศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขแห่งหนึ่ง ขยายความผลพวงจากปัญหางบประมาณเข้าไม่ถึงพื้นที่ว่า สธ.ยังใช้ระบบการจ่ายเงินแบบเดิม คือตั้งงบประมาณไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เมื่อ สปสช.อนุมัติงบเหมาจ่ายรายหัวก็ส่งไปยัง สปสช.เขต แล้วจัดสรรให้โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลชุมชน
“โรงพยาบาลชุมชนจะเป็นผู้จัดสรรเงินให้ รพ.สต. เหตุที่เงินมาไม่ถึงเพราะโรงพยาบาลเหล่านั้นจะต้องกันงบไว้ส่วนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายฉุกเฉิน นั่นทำให้ รพ.สต.มีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับพัฒนาให้ได้มาตรฐานตามที่ สธ.วางนโยบายไว้” พยาบาลวิชาชีพผู้ดูแลระบบเงินให้สำนักงานสาธารณสุขอธิบาย
ความคาดหวังล่มสลาย
ดารินทร์ บอกว่า สธ.ควรจ่ายงบตรงมายัง รพ.สต.ตามหัวประชากร เพื่อให้โรงพยาบาลได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มิเช่นนั้น รพ.สต.ก็จะเป็นเพียงแค่การปรับโฉมอาคาร เปลี่ยนชื่อให้ดูดีขึ้นบ้างเท่านั้น
“ชาวบ้านได้ยินว่าจะทำให้สถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลก็ดีใจ คิดว่าจะมีแพทย์จริงๆหรือมีเตียงให้คนไข้นอน สุดท้ายก็ผิดหวังเมื่อทุกอย่างเหมือนเดิม แต่หากมองในแง่ดีหน่อยคืออย่างน้อยโครงการนี้จะทำให้ รพ.สต.มีเงินเข้ามาพัฒนามากขึ้น” ดารินทร์ ชี้อีกปัญหา
สุรลาภ สามัคคี ชาวบ้านผู้ใช้บริการสถานีอนามัย สะท้อนข้อเท็จจริงอีกว่า มีความคาดหวังว่าเมื่อสถานีอนามัยเปลี่ยนไปเป็น รพ.สต.จะให้บริการที่มีมาตรฐานกว่าเดิม แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป ไม่เข้าใจว่าจะยกระดับให้เป็นโรงพยาบาลทำไม
“ที่เปลี่ยนก็มีแต่หลังคาโรงพยาบาลที่เป็นสีฟ้า และป้ายโรงพยาบาลที่เป็นหินอ่อน สงสัยต้องการหาเสียงว่าเป็นของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเดียว อย่างอื่นเหมือนเดิมหมด ไม่เข้าใจว่าจะยกระดับไปเพื่ออะไร”ชาวบ้านรายนี้แสดงความรู้สึกผิดหวัง
ชุติมา เดชภิบาล ชาวบ้านอีกราย ยืนยันว่าแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรจากเดิม จากที่ก่อนหน้านี้ตั้งความหวังไว้สูงเกินไป เนื่องจากเห็นข่าวทางโทรทัศน์ว่ารัฐมนตรีจะทุ่มเงินมหาศาลเพื่อสร้างโรง พยาบาลประจำตำบลให้ ตอนนี้เข้าใจว่าเป็นเพียงนโยบายหาเสียงของนักการเมือง
โมเดล รพ.สต. ดีเด่น
พิมพ์ธิดา บุญวงศ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.ก้างปลา ต.ชัยพฤกษ์ อ.เมือง จ.เลย เจ้าของรางวัลสถานีอนามัยดีเด่น ที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับหน่วยบริการ เล่าว่าหากรอเพียงการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขคงไม่สามารถสร้าง รพ.สต.ขึ้นมาได้ เพราะได้รับงบประมาณเพียง 2.5 แสนบาท ขณะที่ต้องใช้งบปรับปรุงเครื่องมือ อาคารสถานที่ รวมถึงค่าจ้างบุคลากรต่างๆถึง 3 แสนบาท แต่ที่ทำสำเร็จเพราะได้รับความร่วมมือจากชุมชน
“ชุมชนอยากช่วยเหลือเพราะมองว่าเป็นสถานพยาบาลของชุมชน จึงมีการตั้งผ้าป่าหาเงินอีกกว่า 2 แสนบาท นำมาพัฒนาโรงพยาบาลแบบค่อยเป็นค่อยไป” ผอ.รพ.สต.ก้างปลา อธิบายและบอกอีกว่าโรงพยาบาลได้จัดให้หมุนเวียนอสม.เข้ามาช่วยงาน 40 คนต่อวัน และได้จัดทีมดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน 1 คนต่อ 10 หลังคาเรือน
ไลวรรณ อุดศรี แกนนำ อสม.ในพื้นที่ ต.ก้างปลา ยืนยันว่า อสม.ทุกคนมาช่วยเหลือโดยไม่หวังค่าตอบแทน เนื่องจากได้เบี้ยเลี้ยงเพียงเดือนละ 600 บาท แต่ที่ทำเพราะต้องการให้ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดีและได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างประโยชน์ให้ของชุมชน
“อสม.ทุกคนจะผ่านการอบรมเบื้องต้น จากนั้นก็แบ่งหน้าที่กันว่าใครรับผิดชอบส่วนไหน เช่น คนที่จะเข้าไปตรวจอาการตามบ้านก็จะพกย่ามยายามบ้าน ซึ่งมียาสามัญเบื้องต้นไว้ใช้ แต่หากพบว่าประชาชนมีอาการหนักก็จะโทรหาแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา ช่วงแรกๆคนไข้ก็ไม่เชื่อใจเรา แต่พอนานเข้าก็ได้รับความไว้วางใจ”อสม.รายนี้เล่าเสียงแจ่มใส
“เจ้ากระทรวง สธ.” พอใจผลงาน
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่าโครงการนี้ก้าวหน้าอย่างน่าพอใจ โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2554 จะยกระดับสถานีอนามัยที่เหลืออีก 7,750 แห่งให้ครบ 100% ใช้งบประมาณ 7,490 ล้านบาท นอกจากนี้ สธ.ได้กำหนดเกณฑ์สำหรับ รพ.สต.ทั้ง 4 ด้าน คือ กายภาพ บุคลากร ฐานข้อมูล และการตั้งคณะกรรมการบริหาร รพ.สต. มั่นใจว่าภายในวันที่ 31 มี.ค.2554 จะสามารถทำได้สำเร็จ
เจ้ากระทรวงหมอ ยังเล่าความคืบหน้าการยกระดับสถานีอนามัยที่เหลืออีก 7,750 แห่ง ว่า ทางด้านกายภาพ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 1,641 แห่งคิดเป็น 21% ยังเหลืออีก 6,109 แห่งซึ่งได้เร่งรัดให้รีบดำเนินการแล้ว พร้อมกันนี้ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูล-เทคโนโลยี ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 5,665 แห่งคิดเป็น 73% และจัดสรรบุคลากรใน รพ.สต.ครบแล้ว 3,950 แห่งคิดเป็น 50% ส่วนการตั้งคณะกรรมการบริการ รพ.สต.ทำครบแล้ว 5,344 แห่ง คิดเป็น 69%
รมว.สธ.ยังกล่าวถึงนโยบายหลังจากนี้ว่าเมื่อพัฒนา รพ.สต.ครบครบตามเกณฑ์ 4 ด้านแล้ว จะเดินหน้าเรื่องคุณภาพ โดยจะต้องเป็นโรงพยาบาล 3 ดี คือบริการดี บรรยากาศดี บริหารจัดการดี ซึ่งต้องดำเนินตามเกณฑ์อย่างน้อย 11 ข้อ และมีระบบประกันคุณภาพ เพื่อให้ รพ.สต.มีศักยภาพ-ประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นทัพหน้าในการบริการปฐมภูมิแก่ประชาชน เท่าที่ติดตามถือว่าประชาชนพึงพอใจมาก และจะมีการประเมินผลครั้งใหญ่อีกครั้ง
……………………………………
เชื่อเหลือเกินว่าการยกระดับสถานีอนามัยเป็น รพ.สต.เป็นนโยบายที่ดี แต่เหนือสิ่งอื่นใด สธ.ควรพิจารณาเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงานจริง เพื่อหันกลับมาทบทวนปัญหาอย่างจริงจังมิเช่นนั้น นโยบายนี้จะเป็นเพียงการขายผ้าเอาหน้ารอด และซุกปัญหาไว้ใต้พรม อย่างที่เป็นอยู่