สถาปนาความเข้มแข็งการเงิน "คนรากหญ้า"
ท่ามกลางกระแสการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนฐานราก ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการเงินการคลังเพื่อท้องถิ่นและองค์กรการเงินรากหญ้า ซึ่งโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนขอนำเสนอจากเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย
“เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” ซึ่งคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ร่วมกับสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกันจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค.นี้เป็นที่รวมพลคนคิดและปฏิบัติการชุมชนเข้มแข็ง โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนขอร่วมถ่ายทอดประเด็นที่น่าสนใจคือ การเงินการคลังเพื่อท้องถิ่นและองค์กรการเงินรากหญ้า
เร่งทำให้ท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งทุน-ยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชน
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าสังคมไทยมีคนที่อยู่นอกเศรษฐกิจในระบบจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนท้องถิ่น สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือทำให้การเงินการคลังเข้าถึงคนเหล่านี้
“แม้ว่ารัฐจะมีโครงการที่ทำให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งทุนทางการได้บ้าง เช่น ธนาคารชุมชน ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และพยายามทำให้ลงไปในระดับเล็กกว่าตำบลอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซต์หรือหาบเร่แผงลอย แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่พอ”
อดีตปลัดกระทรวงการคลัง บอกว่าการสนับสนุนการเงินชุมชนของรัฐควรทำแค่จุดเริ่มต้น ต่อจากนั้นชุมชนต้องดูแลตนเองจึงจะประสบความสำเร็จ ควรมีการดำเนินงาน 2 ส่วน ส่วนแรกคือขยายความคิด ประสบการณ์เรื่ององค์กรการเงินชุมชนที่มีลักษณะการออม เช่น กลุ่มออมทรัพย์ต่างๆให้เกิดการเรียนรู้ทั่วประเทศ นำต้นแบบไปปรับใช้กับที่อื่นๆอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้อาจอาศัยการเชื่อมต่อโดยรัฐและธนาคารพานิชย์ส่วนหนึ่งเพื่อให้สามารถขยายองค์กรการเงินลักษณะนี้ได้มากขึ้น ส่วนที่สองคือองค์กรสวัสดิการชุมชน ต้องขยายความสามารถทางการเงิน เช่น จากฐานสวัสดิการสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดเครือข่ายใหญ่ขึ้น พัฒนาสู่สถาบันการเงินระดับฐานล่างที่มั่นคง
เข็นกองทุนเงินออมชาติ รื้อระบบกู้ยืมการศึกษาถึงเด็กจน
ศ.ดร.ดิเรก ปัทมศิริวัฒน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีข้อเสนอขับเคลื่อนการเงินการคลังเพื่อชุมชนในเชิงนโยบายสาธารณะ 5 เรื่องคือ 1.เร่งผลักดันพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กองทุนการออมและบำนาญ ซึ่งช่วยให้แรงงานนอกระบบและผู้สูงอายุพึ่งพิงตนเองได้ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายเข้าสู่ภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา 2.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ซึ่งปัจจุบันมีผู้กู้ยืมมากกว่า 9 แสนราย แต่คนจนจริงๆยังเข้าไม่ถึงอีกมาก เสนอว่าควรมีคณะกรรมการคัดเลือกนักเรียน นักศึกษายากจนระดับอำเภอ จัดสรรโควตาร้อยละ 20 ให้กู้เป็นค่าเล่าเรียนและทุนให้เปล่าเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน 2,200 บาท เพื่อเพิ่มสัดส่วนให้คนจนได้เรียนระดับอุดมศึกษา
3.เร่งรัดมาตรการภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มฐานรายได้ชุมชนท้องถิ่น เช่น ภาษีทรัพย์สินที่เก็บจากมูลค่าที่ดิน โรงเรือน เครื่องจักร โดยคำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินไม่ใช่ค่าเช่าหรือค่ารายปี เพื่อเป็นฐานรายได้ใหม่ ซึ่งจะทำให้มีรายได้ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นในขั้นต้น 1 แสนล้านบาท สามารถนำไปจัดบริการสาธารณะ เป็นการถ่ายโอนรายได้จากคนรวยมาช่วยคนจน 4.มาตรการกระจายอำนาจการคลัง กฎหมายรายได้ท้องถิ่นซึ่งยกร่างไปแล้ว มีหลักสำคัญคือให้มีภาษีฐานร่วม พร้อมเสนอส่วนแบ่งที่เป็นธรรมคือ 70:30 ระหว่างรัฐบาลกับ อปท.
“สุดท้ายคือเครื่องมือเศรษฐศาสตร์ เช่น การเก็บภาษี-ค่าธรรมเนียมมลพิษ ด้วยการออกพันธบัตรให้โรงงานที่มีความเสี่ยงจ่าย เพื่อให้รายได้ดังกล่าวกระจายลงไปในพื้นที่เสี่ยง และให้มีคณะกรรมการบริหารเงินทุนดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้ความรู้ประชาชนสู่การตั้งกองทุนในพื้นที่”
นวัตกรรมต้นแบบการเงินท้องถิ่น
มัสยิดสัมพันธ์ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
จีรศักดิ์ ท่อทิพย์ ประธานเครือข่าย นำเสนอรูปธรรมจากพื้นที่ว่าชุมชนถูกรุกล้ำจากการประกาศสัมปทานเผาถ่าน ทำให้วิถีชาวบ้านถูกทำลาย แต่มัสยิดเป็นศูนย์กลางการรวมตัวที่ทำให้เกิดการสำรวจข้อมูลชุมชนทำให้พบปัญหาสำคัญคือหนี้สินและนำไปสู่การทำแผนแม่บทชุมชน จัดตั้งกองทุนปลดเปลื้องหนี้สิน จากสมาชิกเริ่มแรก 30 กว่าคน เงินทุน 27,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 700 คน เงินหมุนเวียนกว่า 30 ล้านบาท และขยายเป็นโครงการซื้อที่ดินคืนจากนายทุนมาจัดสรรให้คนไร้บ้าน ใช้หลักซากาจช่วยเหลืออาชีพ ตั้งสหกรณ์บริหารจัดสรรที่ดิน และมีโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จ.ฉะเชิงเทรา
จำรัส คำรอด ประธานเครือข่าย บอกว่าโครงการที่รัฐสนับสนุนลงมาในพื้นที่ ไม่ได้ทำให้องค์กรการเงินยั่งยืนและประสบความสำเร็จเท่าชาวบ้านทำเอง เพราะชาวบ้านจะเห็นปัญหาและแก้ตรงจุด โดยเฉพาะคณะกรรมการที่เข้ามาดูแลที่ต้องเข้มแข็ง โปร่งใสและยุติธรรม จนที่สุดกลุ่มออมทรัพย์ขยายเป็นธนาคารหมู่บ้าน
“หลายแห่งที่ไม่สำเร็จเพราะทำตามความต้องการที่รัฐสั่งลงมา มีโครงการหนึ่งทำโดยเข้าสู่ระบบธนาคาร ธกส. ผ่านไป 5 เดือนเป็นหนี้แล้ว กลายเป็นภาระชุมชน สะท้อนว่าการสร้างองค์กรการเงินชุมชน ต้องอาศัยความพร้อมของชาวบ้าน”
สถาบันการจัดการเงินทุนบ้านหนองสองห้อง ต.บ้านซ่อง จ.ฉะเชิงเทรา
อิฐ พึ่งเกษม เลขานุการสถาบัน เล่าว่าเดิมคนในชุมชนยากจน เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบ จึงต้องเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ ต่อมามีนโยบายรัฐสนับสนุนให้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้าน และพัฒนาเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการประกอบอาชีพ เป็นแหล่งเงินกู้สำหรับสมาชิก
“นอกจากเงินกู้แล้วเรายังส่งเสริมให้สมาชิกออม โดยการมอบสวัสดิการต่างๆให้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากคนทั้งหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง ได้รับการรับรองจากพัฒนากรจังหวัด”
เลขานุการการเงินชุมชน เล่าว่าปัจจุบันสถาบันการเงินของพวกเขาเป็นแหล่งทุนเพื่อประกอบอาชีพที่ใหญ่ที่สุดของตำบล สามารถช่วยให้สมาชิกปลดหนี้และมีเงินออม ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นคงทางการเงิน ผลกำไรจากการดำเนินงานยังนำไปจัดสรรให้สมาชิกเป็นดอกเบี้ยเงินออมร้อยละ 7 ต่อปี และรายได้ร้อยละ 3 หักไว้เป็นทุนสำรองเพื่อนำไปจัดสวัสดิการชุมชน คือจำนวนนี้ร้อยละ 1 นำไปจัดสวัสดิการชุมชน เช่น ทุนการศึกษาให้นักเรียนลูกหลานชาวบ้านโรงเรียนราษฎร์ดุษฎีศึกษาบ้านหนองสองห้อง อีกร้อยละ 1 เก็บไว้ซ่อมบำรุงสาธารณะประโยชน์ในหมู่บ้าน
ปัจจุบันสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านหนองสองห้อง เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานขององค์กรชาวบ้านและหน่วยงานภาครัฐ และยังเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มออมทรัพย์อื่นๆในตำบล
สถาบันการเงินตำบลบางระกำ อ.บาง เลน จ.นครปฐม
ณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางระกำ เล่าว่าในช่วงแรกสถาบันการเงินชาวบ้านแห่งนี้จะอิงกับ ธกส.เช่น การคิดดอกเบี้ย เนื่องจากเป็นหลักประกันว่ากองทุนจะไม่ล้มในช่วงแรก และชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นลูกค้า ธกส. ต่อมาในปีที่สองเริ่มวางแผนปล่อยกู้ แบ่งเป็น 3 ระดับคือการกู้แบบกลุ่ม คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 วิสาหกิจชุมชนคิดร้อยละ 8 และชาวบ้านทั่วไปคิดร้อยละ12 โดยเกณฑ์การพิจารณาดูจากผู้ค้ำประกัน
“กลุ่มที่ปล่อยกู้แล้วมั่นใจที่สุดเป็นพวก อบต. เพราะหักเงินจากบัญชีเงินเดือนได้เลย ส่วนลูกค้าที่ดีที่สุดส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเนื่องจากจะชอบฝากเงินแต่ไม่นิยมกู้”
นายกฯ อบต.บางระกำ บอกว่าที่นี่มีการกำหนดการกู้ยืมสำหรับผู้สูงอายุในวงเงิน 10,000 บาท โดยหักชำระคืนจากเบี้ยยังชีพ 500 บาทที่ได้ทุกเดือน ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะให้หักเป็นจำนวนเท่าไหร่ และการที่ อบต.ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรของสถาบันการเงิน จึงทำให้สามารถเปิดบริการสมาชิกได้ทุกวัน
ณัฐวัฒน์ ยังกล่าวว่าปัจจุบันยังมีความคิดจะทำพันธบัตรสำหรับใช้กับร้านค้าในตำบลเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
“เราตั้งข้อสังเกตุว่าจากการปล่อยกู้ที่ผ่านมา เงินมักรั่วไหลออกไปซื้อสินค้านอกชุมชน จึงคิดจะทำพันธบัตรใช้เพื่อให้เงินหมุนเวียนในพื้นที่ โดยให้ร้านค้ามาทำสัญญาร่วมกันว่าถ้ามีรายได้จากพันธบัตรจะต้องหักกำไรร้อยละ 4 ให้กับกองทุน เพื่อนำไปทำประโยชน์และสมทบสวัสดิการต่างๆต่อไป”
สถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านตะโก เทศบาลพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์
มยุรี แฉล้มไทสง ผู้ช่วยเลขานุการสถาบัน เล่าว่ากลุ่มออมทรัยพ์บ้านตะโก จะรับฝาก-ถอน-กู้ และนำกำไรมาจัดสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากนี้สมาชิกยังร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อหารายได้เข้ากองทุน
“ชาวบ้านเห็นว่าการบริการให้เช่าเต้นท์ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องครัว ตลอดจนรับจัดโต๊ะจีนเป็นการสร้างรายได้อย่างหนึ่ง จึงรวมตัวกันเปิดให้บริการโดยนำรายได้เข้ากองทุน”
มยุรี เล่าว่ากลุ่มออมทรัพย์ยังส่งเสริมให้สมาชิกเรียนรู้ผ่านการปฎิบัติจริง โดยให้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น โรงสีข้าวชุมชน โครงการเลี้ยงสุกร ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เสริมให้สมาชิกด้วย และผลพลอยได้ที่สำคัญคือชาวบ้านยังได้เรียนรู้วิธีจัดการการเงิน และพัฒนาศักยภาพตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง.
……………………………………
นโยบายการเงินการคลังที่เข้าถึงท้องถิ่น การพัฒนาศักยภาพของกองทุนสวัสดิการชุมชน และชูนวัตกรรมการเงินชาวบ้านให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวางขยายผลทั่วประเทศ คือองค์ประกอบการสถาปนาความเข้มแข็งทางการเงินของคนรากหญ้า.