“ป.อินคำ” สู้เพื่อชาวบ้านเข้าถึงสิทธิความเป็นพลเมืองไทย
กว่า 8 ปี ของชีวิตอาสาสมัคร “ป.อินคำ” ทำงานทั้งกลางวันที่สำนักงานที่ว่าการอำเภอแม่ระมาด และกลางคืนที่หมู่บ้านแม่ตื่นที่เป็นบ้านเกิด ยามค่ำคืนมักจะมีชาวบ้านมาปรึกษาปัญหาต่างๆ เพราะพวกเขาไม่กล้าที่จะเดินทางไปอำเภอเนื่องจากไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐได้
“อินคำ ภูผาอนุรักษ์” หรือที่เจ้าหน้าที่รัฐใน อ.แม่ระมาด จ.ตาก คุ้นเคยในชื่อ “ป.อินคำ” ชายกะเหรี่ยงวัย 40 ปี จากบ้านแม่ตื่น เป็นอาสาสมัครด้าน “สถานะบุคคล” ของอำเภอมากว่า 8 ปี เขากำลังช่วยชาวบ้านที่มีปัญหาสถานะและสิทธิจัดการเรื่องต่างๆเกี่ยวกับการขอลงรายการสถานะบุคคล เนื่องจากในอำเภอแม่ระมาดมีประชากรกว่า 47,600 คน และจำนวนนี้กว่าร้อยละ 55 เป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย สำนักงานอำเภอจึงต้องการอาสาสมัครชาวกะเหรี่ยงทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ชาวบ้านและทางราชการในการดำเนินการแก้ไขปัญหา
“ป.อินคำ” ทำหน้าที่นี้มาตั้งแต่ปี 2546 ผ่านความร่วมมือระหว่างอำเภอแม่ระมาดกับหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม(SDSU) สภาคริสตจักรในประเทศไทย ปีแรกเขาประจำที่อำเภอท่าสองยาง ต่อๆมาจนถึงปัจจุบันมาประจำที่สำนักงานอำเภอแม่ระมาดแทน เขามีส่วนช่วยให้ปัญหาของชาวบ้านกว่า 10,000 คน ได้รับการคลี่คลายจนมีสถานะบุคคลตามสิทธิที่พึงจะได้รับ จำนวนนี้กว่า 6,500 คน มีโอกาสเข้าถึงการมีสัญชาติไทย
หลายสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคมได้ทำงานด้านพัฒนาโดยมีคริสตจักรในพื้นที่เป็นฐาน ประเด็นหนึ่งที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 คืองานด้านสถานะบุคคล เพื่อแก้ปัญหาให้กลุ่มเป้าหมายกว่า 150,000 คน และครึ่งหนึ่งเป็นชนเผ่าหรือบุคคลชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ประกอบด้วย ลาหู่ กะเหรี่ยง ม้ง อาข่า ลีซู เมี่ยน ฯลฯ ได้มีโอกาสเข้าถึงสถานะบุคคล เพื่อได้รับสิทธิและโอกาส ทั้งในฐานะพลเมืองไทยหรือฐานะผู้สามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้โดยไม่ผิดกฎหมาย มีโอกาสได้ทำงาน เข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา การเดินทาง การครอบครองทรัพย์สิน ตลอดจนสิทธิอื่นๆตามพึงมีพึงได้
โดยมีพื้นที่เป้าหมายที่เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ โดยสร้างอาสาสมัครท้องถิ่นไปดำเนินการในพื้นที่ของตนเอง เพราะที่ผ่านมาปัญหาสำคัญหนึ่งที่ทำให้ประชากรกลุ่มดังกล่าวนี้ไม่มีสถานะบุคคล คือการไม่ได้รับหรือการเข้าไม่ถึงการจดทะเบียนการเกิด หรือยังมีการบันทึกข้อมูลพ่อ แม่ และตัวเด็กในเอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ที่มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
“ป.อินคำ” ได้รับคัดเลือกเป็นอาสาสมัครมาตั้งแต่ปี 2543 ได้รับการอบรมความรู้ด้านกฎหมายและทักษะที่เกี่ยวข้อง หน้าที่ในแต่ละวันของเขาคือการสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านเรื่องการลงรายการสถานะบุคคล เขียนคำร้องให้กับชาวบ้านตามแบบฟอร์ม ตรวจเอกสารหลักฐานและเสนอต่อเจ้าหน้าที่ตามขั้นตอน และบ่อยครั้งที่ต้องทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ
เขายังทำหน้าที่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนที่เกี่ยวข้อง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) หรือผู้อาวุโส(พยานบุคคล) รวมทั้งการลงพื้นที่ร่วมกับทางอำเภอเพื่อร่วมประชาคมหมู่บ้านในการรับรองสถานะบุคคลที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านต่างๆอีกด้วย
หลายครั้งที่งบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคมหมดลง เขาต้องขออนุญาตนายอำเภอไปรับจ้างหักข้าวโพดหรือรับจ้างอื่นๆเพื่อหาเงินมาดำรงชีพให้สามารถทำงานเป็นอาสาสมัครได้อย่างต่อเนื่อง
กว่า 8 ปี ของชีวิตอาสาสมัคร “ป.อินคำ” ทำงานทั้งกลางวันที่สำนักงานที่ว่าการอำเภอแม่ระมาด และกลางคืนที่หมู่บ้านแม่ตื่นที่เป็นบ้านเกิด ยามค่ำคืนมักจะมีชาวบ้านมาปรึกษาปัญหาต่างๆ เพราะพวกเขาไม่กล้าที่จะเดินทางไปอำเภอเนื่องจากไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐได้
“ป.อินคำ” เห็นว่า “ปัญหาการสื่อสารคนละภาษา” เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สถานะบุคคลแก้ไขไม่ได้ในเร็ววัน เขาจึงเป็นตัวกลางทำหน้าที่เชื่อมประสานเพื่อให้เกิดกลไกการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนของหน่วยงานรัฐที่มีอยู่แล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่สามารถเข้าถึงได้ หลายครั้งยังต้องทำหน้าที่เป็น “หมาเฝ้าบ้าน” ติดตามเร่งรัดทางอำเภอหากการดำเนินการล่าช้า บ่อยครั้งที่ต้องท้วงติงโต้แย้งหากชาวบ้านไม่ได้รับการดำเนินการอย่างที่ควรจะเป็น
การลงรายการสถานะบุคคลในพื้นที่อำเภอแม่ระมาด ช่วยให้คนในชุมชนท้องถิ่นกว่า 10,000 คน ได้รับสถานะบุคคลที่ถูกต้องการกฎหมาย จำนวนนี้มากกว่า 6,500 คนได้รับสัญชาติไทย จึงได้รับสิทธิเดินทางและประกอบอาชีพได้ทั่วราชอาณาจักรไทย เข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิอื่นๆที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายไทย แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อก่อนที่ต้องดำเนินชีวิตอย่างลำบากเมื่อยังไม่ได้สัญชาติ
การสร้างให้เกิดกลไกอาสาสมัครขับเคลื่อนงานด้านนี้ นับว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนหลายพันคนได้รับสถานะคนไทยตามกฏหมาย
“ป.อินคำ” บอกว่า สิ่งที่ได้รับทั้งความรู้ทางกฎหมายที่ทาง SDSU แบ่งปัน ประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาระใจที่เต็มไปด้วยความรักต่อชุมชนท้องถิ่น หล่อหลอมให้เขาจากคนตัวเล็กๆที่ไม่ได้มีการศึกษามากมาย อยู่ในพื้นที่เล็กๆมุมหนึ่งของหมู่บ้าน ได้ทำในสิ่งที่สร้างอนาคตให้กับคนจำนวนมากได้ เป็นความภาคภูมิใจในที่สุดของชีวิต
“ต่อไปแม้ว่าปัญหานี้ได้รับการคลี่คลายหมดแล้ว แต่งานอาสาสมัครยิ่งทำให้ผมอยากไปทำงานต่อในพื้นที่อื่นๆในประเด็นอื่นๆ เพราะเมื่อได้ทำงานกับชาวบ้านในหลายหมู่บ้าน พบว่าปัญหาไม่ใช่เพียงสถานะบุคคลเท่านั้น ผมเห็นชาวบ้านถูกจับกุมเรื่องการบุกรุกที่ดิน ป่าไม้ ทั้งๆที่ชาวบ้านทำกินมาก่อน” ป.อินคำ บอกเล่าหัวใจอาสาสมัคร
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “การทำงานของ ป.อินคำ เป็นต้นแบบที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติฯจึงร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดกลไกอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ต่างๆ โดยเห็นชัดว่าการทำงานเล็กๆในพื้นที่เล็กๆผ่านคนตัวเล็กๆ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นได้จริง และยิ่งมีหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่นในพื้นที่มานานเป็นพี่เลี้ยง เป็นนิมิตหมายอันดีในการเชื่อมประสานการแก้ไขปัญหาด้านสถานะบุคคล
การทำให้คนเข้าถึงสถานะบุคคลเป็นเรื่องยาก กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากต่างอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนห่างไกล โอกาสเข้าถึงของหน่วยงานราชการต่างๆจึงจำกัด นอกจากนี้หลายคนยังขาดเอกสารจำเป็นสำหรับลงสถานะทางทะเบียน รวมทั้งอุปสรรคทางภาษาที่ถือได้ว่าเป็นข้อจำกัด เพราะหลายคนพูดได้แต่ภาษาของตนไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้หลายคนกลายเป็นบุคคลถูกทอดทิ้งหรือกระทั่งรู้สึกเป็นคนไร้คุณค่าในสังคมไทย
การเข้ามาถมช่องว่างเติมเต็มส่วนที่ขาดให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม ที่เชื่อมประสานงานกับเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ผ่านการทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติฯ ผลักดันพัฒนากลไกอาสาสมัครในระดับพื้นที่ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น เป็นการช่วยให้ประชากรด้อยโอกาสเข้าถึงด้านสถานะบุคคล อันจะนำไปสู่การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต
………………………………………………
บทบาทอาสาสมัครของ “ป.อินคำ” ผ่านกลไกความร่วมมือดังกล่าว เป็นเรื่องเล็กๆแต่งดงามที่กำลังผลิบาน ออกดอกผลยิ่งใหญ่ให้คนด้อยโอกาส-จนสิทธิ์ ได้รับสิ่งที่พึงมีพึงได้ในฐานะคนไทยที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย.