“การแพทย์แผนไทย” ภูมิคุ้มกันสุขภาพ–ความยั่งยืนของชุมชน
งบประมาณสาธารณสุขกว่า 8 หมื่นล้านบาทที่รัฐต้องจ่ายสำหรับเวชภัณฑ์แผนปัจจุบัน เพื่อแลกมาซึ่งสุขภาพประชาชน ทำให้บางคนกล่าวว่า “ไทยกำลังเป็นประเทศราชตะวันตกด้วยการส่งส่วยผ่านค่ายา” เราใช้เงินอย่างคุ้มค่าแล้วจริงหรือ?
แม้ว่าแพทย์แผนปัจจุบันจะตอบโจทย์ด้านการรักษาจนเป็นที่ประจักษ์ แต่คงไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่จะผูกขาดสุขภาพประชาชน เรายังมีการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน บนรากฐานภูมิปัญญาที่สืบต่อมาหลายช่วงอายุคน
ฟื้นภูมิปัญญาสุขภาพท้องถิ่น
“แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แน่นอนว่าโรคที่เกิดขึ้นย่อมไม่เหมือนกัน จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังและโรคประจำถิ่นจะตอบสนองการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านมากกว่า” วีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการเลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย ผู้จัดการแผนงานพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน เริ่มต้น
เขาบอกว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนเกิดความยั่งยืนคือองค์ความรู้ท้องถิ่น ดังนั้นหากสามารถฟื้นฟูภูมิปัญญาด้านสุขภาพทั้งในมิติการดูแลตัวเองและการเยียวยารักษาโรคได้ ชุมชนก็จะเข้มแข็ง โดยสิ่งสำคัญคือการจัดการความรู้และการจัดการระบบทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละ พื้นที่
“ทุกชุมชนจะมีหมอยาพื้นบ้าน แต่ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ได้รับความสนใจน้อย ต้องดึงพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด สนับสนุนบทบาทให้เต็มศักยภาพ อาทิ ให้ทำงานร่วมกับองค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อผลักดันนโยบายสุขภาพชุมชน ทำแผนสนับสนุนหมอพื้นบ้าน บูรณาการความรู้ร่วมกัน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรม สร้างระบบสวัสดิการให้”
วีรพงษ์ บอกอีกว่าแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านจะเน้นรักษาอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลมากกว่าค้ากำไร โดยวิธีรักษาจะผูกติดกับวิถีชีวิตคนในแต่ละพื้นที่ เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการกิน ความเชื่อ ความศรัทธา นั่นทำให้ทรัพยากรยังคงหมุนเวียนอยู่ในชุมชน เกิดเป็นความยั่งยืนในท้ายที่สุด
“แพทย์พื้นบ้านไม่สามารถรักษาให้หายได้ทุกโรค แต่ก็สมควรที่จะนำมาประยุกต์กับแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
แพทย์แผนไทยไม่ด้อยคุณภาพ
วีรพงษ์ อธิบายอีกว่าแม้ขณะนี้คนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าแพทย์แผนปัจจุบันมีความน่าเชื่อถือกว่า แต่ขอให้มั่นใจว่าแพทย์แผนไทยมีความก้าวหน้าและได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างมาก มีการจัดการและคัดกรองความรู้จากภูมิปัญญาที่ดีและน่าเชื่อถือ มีการจัดประชุมในตำบลเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลภูมิปัญญากับข้อมูลวิชาการอย่างกว้างขวาง
“ปัญหาไม่ได้เกิดจากคนไม่มั่นใจคุณภาพของแพทย์แผนไทย แต่เกิดจากระบบหลักประกันสุขภาพที่ทำให้คนเลือกรับบริการแพทย์แผนปัจจุบันมากกว่า ดังนั้นโจทย์ที่ต้องแก้คือทำอย่างไรให้แพทย์พื้นบ้านเชื่อมต่อกับระบบหลักประกันสุขภาพให้ได้”
ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรดีเด่นประจำปี 2553 สำทับความน่าเชื่อถือของแพทย์แผนไทยว่าโรคหลายชนิดกินยาก็หาย บางชนิดใช้การแพทย์แผนปัจจุบันดีกว่า บางชนิดควรใช้การแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ทางเลือก บางชนิดก็ต้องใช้ทั้งสองวิธี ดังนั้นจึงไม่ควรดูถูกภูมิปัญญาไทยและแพทย์แผนไทย เพราะไม่ได้มีข้อด้อยไปกว่าของต่างชาติ
อาจารย์สุภาภรณ์ บอกว่าองค์ความรู้ด้านการแพทย์ของไทยได้รับการสืบต่มาอย่างยาวนาน หมอยาที่อยู่ตามชนบทห่างไกลคือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ควรได้รับความสนใจ เนื่องด้วยปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้อายุมากและเหลืออยู่น้อย ภูมิรู้จากภูมิปัญญาชั้นสูงจึงมีแนวโน้มจะหมดไป
“คนไทยเราไม่เคยรู้ว่าแผ่นดินเรามีอะไรดี”
เภสัชกรโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มั่นใจว่าหากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีนโยบายพัฒนาแพทย์แผนไทยอย่างจริงจัง ประโยชน์จะตกอยู่กับชาวบ้านมากที่สุด เพราะหลายโรคไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาจากต่างชาติ ภูมิปัญญาชาวบ้านสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งจะทำให้สะดวก ประหยัด และสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
บรรจุสมุนไพรเข้าบัญชียาหลัก
ตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยเสริมความน่าเชื่อถือให้การแพทย์แผนไทยเป็นอย่างดีคือ ความนิยมของสมุนไพรไทยในเวทีโลก
อาจารย์สุภาภรณ์ เล่าว่า ประเทศไทยมีสมุนไพรกว่าหมื่นชนิด แต่ที่รู้จักมีเพียง 50 ชนิด ส่วนบุคลากรผู้สนใจและพยายามพัฒนาสมุนไพรไทยทั่วประเทศมีไม่เกิน 50 คน การเติบโตจึงพิกลพิการ ในขณะที่ประเทศทางตะวันตกกลับหันมาให้ความสำคัญอย่างเข้มข้น ตลาดกว้างขึ้น มีการวิจัยเชิงนโยบายอย่างจริงจัง จนกลายเป็นค่านิยมชาวตะวันตกที่ให้น้ำหนักกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผลิตจากสมุนไพรไทย
อย่างไรก็ตามในปี 2554 กระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางยกระดับการใช้สมุนไพรไทยอย่างชัดเจน พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าจะทยอยบรรจุตำหรับยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายได้ให้ครบ 553 รายการ จากเดิมที่มีอยู่ 42 รายการ เพราะมองว่าวิถีไทยที่มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย โดยเฉพาะในชนบทที่ส่วนใหญ่จะป่วยด้วยโรคที่ไม่ร้ายแรง สามารถใช้ยาสมุนไพรรักษาไทย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก
สำหรับการสร้างความตระหนักในคุณประโยชน์สมุนไพรไทยด้วยการสร้างองค์ความรู้แก่ ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นผนึกกับกองทุนสุขภาพตำบลและหน่วยราชการจังหวัด เพื่อรณรงค์สร้างกระแสชุมชนวิถีไทยขึ้น ส่วนระดับครัวเรือนจะทำนโยบายหน้าบ้านสวยหลังบ้านสวนเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
“ชาวบ้านมักคุ้นชินกับสมุนไพร เราจะให้ความรู้และสนับสนุนการปลูกในครัวเรือน เป็นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน”
รมช.สธ. บอกว่านโยบายสมุนไพรและแพทย์แผนไทย ต้องทำเป็นระบบ กระทรวงจะลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจากหมอยา หมอนวด หมอสกัดพิษ แล้วจัดระเบียบองค์ความรู้ให้เป็นตำหรับยา จากนั้นจะขยายผลด้วยการวิจัยและให้คณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รับรอง พร้อมกันนี้สิ่งที่ต้องส่งเสริมควบคู่กันไปคือแพทย์แผนไทย ซึ่งปัจจุบันมีการบรรจุตำแหน่งเพียง 150 อัตรา ปี 2554 จึงตั้งเป้าเพิ่มให้ได้อีก 150 อัตรา
“ประเทศไทยมีผู้มีความรู้ด้านแพทย์แผนไทยกว่าหมื่นราย แต่ที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะเพียง 39 ราย จำเป็นต้องแก้ปัญหานี้ โดยในปี 2554 ตั้งเป้าประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการรักษาของหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์การรักษาตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปให้ได้ใบอนุญาต 1,000 คน โดยให้สาธารณสุขจังหวัดเป็นแม่งานรวบรวมข้อมูลและทดสอบในแต่ละท้องถิ่น”
สมุนไพรไทยโกอินเตอร์
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ 21 แผนงานเร่งด่วน โดยมี 2 ข้อ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยได้แก่ 1.เดินหน้าพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โดยจะผลิตบุคคลากรผู้มีความรู้ให้เพียงพอ พัฒนารูปแบบการบริการให้ดีขึ้น 2.เตรียมพร้อมเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
“สมุนไพรไทยคือ 1 ใน 3 ของหัวใจเมดิคัลฮับ” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สธ.ยกให้เห็นความสำคัญและอธิบายต่อว่าเมดิคัลฮับที่จะเป็นตัวชูของประเทศไทยคือการส่งเสริมสุขภาพ อาทิ นวดแผนไทย สปาร์สมุนไพร ดังนั้นโครงการจะสำเร็จได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อสมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล กระทรวงจึงเตรียมยกระดับการใช้สมุนไพรในแง่มุมต่างๆให้มากขึ้น อาทิ เป็นเครื่องมือหนึ่งของแพทย์แผนไทยในการรักษาและป้องกันโรค
“เมื่อพัฒนาทั้งระบบเชื่อมต่อเป็นวงจร ท้ายที่สุดประโยชน์สูงสุดก็จะเกิดกับชุมชน”
เจ้ากระทรวงหมอ ขยายความว่าส่วนใหญ่ชาวบ้านจะคุ้นเคยกับการใช้สมุนไพรเป็นอย่างดี ทางกระทรวงก็จะลงไปให้ความรู้เชิงลึกเรื่องวิธีการปลูก สรรพคุณ การใช้และขนานยาที่ถูกต้อง จากนั้นจะส่งเสริมให้มีการผลิตไว้ใช้ในครัวเรือน ในหมู่บ้าน ในชุมชน เป็นลำดับแรก
ต่อมากระทรวงก็จะจัดทำข้อมูลความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นระบบ พร้อมกับจัดสรรงบประมาณวิจัยสมุนไพรไทยให้ได้คุณภาพ ขณะเดียวกันก็เร่งบรรจุสมุนไพรเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถเลือกจ่ายให้กับผู้ป่วยได้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน
“ท้ายที่สุดแล้วก็จะเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจแก่ชาวบ้านในลักษณะคอนแทรคฟาร์มกับโรงพยาบาล สุขภาพกับเศรษฐกิจชุมชนก็จะยั่งยืนควบคู่กันไป” รัฐมนตรีสาธารณสุขขมวดประเด็น
……………………………………..
เป็นความหวังว่าภูมิปัญญาสมุนไพรและการแพทย์พื้นบ้านจะได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการแพทย์สมัยใหม่ แบบ “เสริมข้อด้อย-ประสานข้อดี”.