“สภาองค์กรชุมชนตำบล” การพัฒนารากหญ้าที่ต้องไม่ลืมมิติการเมือง
เวทีกำหนดทิศทางสนับสนุนการดำเนินงานสภาองค์กรชุมชน” โดยสำนักงานสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชน พอช. สำนักงานที่ประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล เมื่อเร็วๆนี้ ไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) บอกเล่าเส้นทางการเมืองภาคพลเมืองได้อย่างน่าฉุกคิด
เส้นทาง“การเมืองภาคประชาชน”
ประชาธิปไตยระบบตัวแทนแบบเสรีนิยมในบ้านเรา มีจุดเริ่มต้นมาจากการเปลี่ยนแปลงในปี 2475 ที่ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น โดยอาศัยระบบพรรคการเมืองเป็นสถาบันหลักในการบริหารบ้านเมือง แต่เมื่อเวลาล่วงมากว่า 80 ปีได้พิสูจน์แล้วว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้แท้จริง หนำซ้ำกลับไปซ้ำเติมสร้างปัญหาให้กับประชาชนหนักขึ้นไปอีก อย่างการพัฒนาเมกะโปรเจคโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐที่ไปสร้างผลกระทบ ริดรอนสิทธิของชุมชนท้องถิ่น
อีกทั้งการเมืองในระบบตัวแทนยังเป็นการเมืองที่ตอบสนองผล ประโยชน์ให้กับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ซ้ำยังให้ผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง พ่อค้าเขียนโครงการ ข้าราชการชงเรื่อง พรรคการเมืองกินงาบผลาญประโยชน์ ประชาชนก็บาดเจ็บสาหัส รวมถึงระบบดังกล่าวยังไปลดทอนอำนาจอธิปไตยของประชาชนให้หายไปด้วยเมื่อ ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้แทน
ขณะเดียวกันได้มีแนวคิดใหม่ทางการเมืองของภาคประชาชนเกิดขึ้น จากการที่รัฐหรือประชาธิปไตยตัวแทนไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ อย่างเมื่อรัฐมีโครงการให้สัมปทานป่าในภาคเหนือ ทำให้พื้นที่ป่าหดหายและลดลงมาก ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ ภาคประชาชนจึงลุกขึ้นมาขอที่จะจัดการป่าเอง เพื่อชุมชนของพวกเขาสามารถพึ่งพาป่าต่อไปได้ จึงเกิดขบวนการป่าชุมชน ต่อมาได้ขยายเป็นเรื่องฐานทรัพยากรในด้านต่างๆที่ล้วนเกิดจากความเดือดร้อนจากการได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ ภาคประชาชนจึงลุกขึ้นมาขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรจึงเกิดขึ้นทั้งเรื่องการจัดการน้ำ ชายฝั่ง การจัดการที่ดิน ฯลฯ ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาคประชาชนขอมีส่วนร่วมด้วย
ทางคู่ขนาน“การเมืองระบบตัวแทน” กับ “อำนาจชุมชนจัดการตนเอง”
อีกด้านหนึ่งเมื่อพึ่งพารัฐ ไม่ได้ประชาชนก็หันมาพึ่งพากันเอง อย่างการจัดการระบบการเงินในชุมชนตนเองเช่นที่กุดชุม หรืออย่างเรื่องสวัสดิการชุมชน เมื่อรัฐไม่สามารถตอบสนองด้านสินเชื่อ หรือด้านอื่นๆได้ ประชาชนจึงขอเข้าไปมีส่วนกำหนดนโยบาย และขอกำหนดอนาคตตัวเอง นี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา
“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีคนอธิบายว่าเป็นเรื่องการเมืองภาคพลเมือง ที่คู่ขนานกับประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตัวแทน ซึ่งเป็นผลจากการกดทับของรัฐและทุน การขอจัดการตนเองเป็นการเมืองภาคประชาชน ประชาธิปไตยของไทยไปสู่จุดที่ประชาชนขอคืนอำนาจอธิปไตย ที่ไปติดค้างอยู่กับพรรคการเมืองอยู่กับตัวแทน การขอคืนอำนาจปกครองดูแลตนเองทั้งด้านทรัพยากร เกษตร วัฒนธรรม มีการก่อหวอดอย่างเด่นชัดช่วงหลังปี 35 เพราะประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่เพียงพอ”
จะเห็นว่ากระแสหนึ่ง ต้องการสร้างประชาธิปไตยตัวแทนให้มั่นคง และอีกกระแสหนึ่งหนุนให้เกิดการเมืองภาคประชาชน เป็นประชาธิปไตยที่กินได้ สามารถแก้ปัญหา สามารถกำหนดนโยบายได้ สามารถปกครองตัวเองในระดับตำบลในด้านต่างๆ เป็นกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยภาคประชาชน โดยมีความเชื่อว่าองค์กรการเมืองภาคประชาชนสามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้คู่ขนานกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งทั้งสองด้านยังไม่สมบูรณ์ทั้งคู่ สังคมกำลังทำสองอย่างคู่ขนานกัน และกำลังกล่าวหากันและกันซึ่งก็ทั้งสองฝ่ายต่างสร้างสรรค์ประชาธิปไตยกันคนละแบบ
“สภาองค์กรชุมชน” ความคลุมเครือที่ต้องเคลียร์ก่อนคิดสร้างการเปลี่ยนแปลง
การขยายพื้นที่การเมืองภาคประชาชนให้เป็นที่ยอมรับ เป็นรูปเป็นร่างอย่างเป็นทางการ สะท้อนได้จากรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ระบุถึงสิทธิชุมชน สิทธิการจัดการศึกษา สิทธิในการสื่อสาร ฯลฯ เมื่อมีการเปิดทางก็เกิดกระบวนการทางสังคมอย่างขนานใหญ่ที่ลุกขึ้นมา และมีความพยายามสร้างสถาบันทางการเมืองภาคประชาชนขึ้นมา อย่างสภาองค์กรชุมชนตำบลก็เป็นสถาบันการเมืองภาคประชาชนอย่างหนึ่ง เพื่อให้รัฐยอมรับและเปิดพื้นที่ทางการเมืองโดยผลักดันให้เป็นกฎหมาย
สำหรับคำถามที่ว่า สภาองค์กรชุมชนจะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมีพลังได้อย่างไรนั้น หากเข้าใจจิตวิญญาณที่แท้จริงว่าเป็นเรื่องของการสร้างความเข้มแข้งให้กับการเมืองภาคพลเมือง มิติที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) มองเป็นงานพัฒนา ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับมิติทางการเมือง บางส่วนปฏิเสธการเคลื่อนไหวทางการเมือง เหมือนมองไม่เห็นความเชื่อมโยง ควรมองว่าการเมืองภาคพลเมืองคือการเมืองภาคประชาชน เราต้องไม่ปฏิเสธว่าสภาฯไม่เกี่ยวข้องกับมิติทางการเมือง ซึ่งเมื่อความคิดไม่ชัด การกำหนดวิธีการปฏิบัติก็ไม่ชัด ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เราขอจัดการตนเองเราขอดูแลตัวเอง ขอปกครองตัวเองใช่หรือไม่ ต้องชัดเจนว่าไม่ใช่เพียงแค่งานพัฒนา แต่มีมิติในทางการเมือง การตรวจสอบนโยบายรัฐด้วย
“เพราะสาระสำคัญของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล เป็นการสร้างการเมืองภาคประชาชน มองว่ามี 3 เรื่องสำคัญคือ 1.การจัดการทรัพยากรประชาชนต้องมีส่วนร่วม 2.สามารถตรวจสอบองค์กรรัฐท้องถิ่นและมีส่วนร่วมในการกำหนด 3.เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีที่ยืนในการกำหนดแผนพัฒนาท้องถิ่น ตรวจสอบ ตัดสินใจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามในท้องถิ่น”
หรืออย่างแผนพัฒนาภาคใต้ต้องมาจากคนภาคใต้ สภาฯคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เราต้องเข้าร่วมกระบวนการนี้ ไม่ใช่แอบดูอยู่ หรือปัญหาที่ดินคือปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรที่ดินทำกิน สภาฯจะมีท่าทีอย่างไร สภาฯต้องกำหนดเป็นเรื่องที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไร ผลักดันปลูกต้นไม้แก้หนี้ สวัสดิการ ถ้าเป็นเรื่องการปฏิรูปที่ดินรับได้ไหมเคลื่อนอย่างไร หรือการปฏิรูปประเทศ สภาฯจะมุ่งไปสู่การยกระดับเป็นจังหวัดปกครองตนเองหรือไม่ เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ทางการเมือง
ไม่ว่าจะยิ่งจัดตั้ง “สภาองค์กรชุมชนตำบล” ให้เกิดมากขึ้นเท่าไหร่ จะเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ไปต่ออย่างไร ต้องทบทวนความรู้ความเข้าใจ ที่เป็นอยู่-ทำอยู่ขณะนี้ยังไม่มีความเชื่อมั่น และอธิบายไม่ได้ในทางวิชาการว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ถ้าไม่เชื่อว่าตัวเองมีกำลังสามารถทำได้ ก็จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง อยากชวนให้สภาองค์กรชุมชน “ทำจังหวัดปฏิบัติการ” ที่เป็นรูปธรรมอย่างเข้มข้น
“ต้องปรับเปลี่ยนความคิด และกำหนดทางก้าวที่ชัดเจน” สภาองค์กรชุมชนจึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมีพลัง!!”