นำร่องแจกโฉนดชุมชนคลองโยง วัดใจรัฐบาลปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ
หนึ่งในแผน“ปฏิรูปประเทศไทย” ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ภายหลังได้เกิดปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมือง คือการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยอีกแนวทางสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ“การปฏิรูปที่ดิน"
โดยเรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญโดยแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภา ที่มีการระบุถึงการคุ้มครองและรักษาพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปแบบ“ธนาคารที่ดิน” และออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรที่และชุมชนในรูปแบบ“โฉนดชุมชน”
สองเรื่องหลักๆในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร ที่สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคประชาชน โดยเฉพาะเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.) ที่ยังมีอีกข้อเสนอคือเรื่องกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินของประเทศไทยทั้งระบบ
เรื่องของ“โฉนดชุมชน” ที่มีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาตามข้อเสนอของคปท. จนนำไปสู่การร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนไปสู่ การปฏิบัติ และมีการจัดตั้งสำนักงานโฉนดชุมชน รวมไปถึงมีคำสั่งมอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานจัดให้โฉนดชุมชน (ปจช.) เมื่อกลางปี2553
วันนี้โฉนดชุมชนฉบับแรก ได้ถูกแจกนำร่องแล้ว โดยนายกฯได้เป็นประธานมอบโอนกรรมสิทธิขายที่ราชพัสดุ จำนวนพื้นที่1,800ไร่ ให้กับสหกรณ์นิคมบ้านคลองโยง ต.คลองโยง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์
โดยโฉนดชุมชนดังกล่าว มีแนวคิดที่ว่า เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ฯนำไปร่วมกันบริหารจัดการ ในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมใช้ประโยชน์ในที่ดิน รวมถึงปกป้องดูแลที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยห้ามมีการจำหน่ายจ่ายโอน แต่มีระยะเวลาของโฉนด25ปี และต่อใบอนุญาตได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
“โฉนดชุมชนถือเป็นการแก้ปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน เดิมที่มีสปก. แต่สิทธิเป็นปัจเจก หากทำมาหากินขาดทุนก็อาจจะมีการขายสิทธิการถือครอง แต่โฉนดชุมชนหัวใจคือการจัดการโดยชุมชนทั้งชุมชน ที่ดินยังเป็นของรัฐ มีเงื่อนไขให้ทำการเกษตรและอยู่อาศัย และต้องดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย รวมถึงเข้าไปดูแลคุณภาพชีวิต ตั้งกองทุนชุมชน”
ทั้งนี้ เหตุที่รัฐบาลได้เลือกมอบโฉนดชุมชนที่สหกรณ์นิคมคลองโยงเป็นแห่งแรกเพื่อ เป็น“สัญลักษณ์” รัฐมนตรีสาทิตย์บอกว่า เพราะพื้นที่สหกรณ์ฯดังกล่าว มีที่มาคือที่ดินแปลงนี้มีความพร้อมมากที่สุด เพราะจากที่ดินที่มีเจ้าของเดิม ชาวบ้านเข้าไปทำกินและได้ร่วมกลุ่มกันซื้อที่ดินในรูปแบบสหกรณ์นิคมของชุมชน ไว้แล้ว เพียงรอการโอนที่ดินจากหน่วยงาน คือกรมธนารักษ์ เจ้าของที่ดินราชพัสดุกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ล่าช้าไป2-3เดือน
เร่งปั๊มเพิ่มโฉนดชุมชน
สำหรับเป้าหมายต่อไปหลังจากแจกโฉนดชุมชนนำร่องไปแล้ว คณะกรรมการชุดที่มีนายสาทิตย์ เป็นประธาน จะเร่งพิจารณาพื้นที่เพื่อออกโฉนดเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าไว้ว่า จากพื้นที่ที่ชุมชนยื่นเสนอแจ้งความประสงค์ขอโฉนดชุมชนมา 122 แห่งทั่วประเทศ พิจารณาแล้ว 88 แห่ง จนเวลานี้สามารถอนุมัติให้ออกโฉนดชุมชนได้แล้ว 35 พื้นที่
“ขณะนี้มีที่ดินของกระทรวงมหาดไทยที่กำลังอนุมัติเพิ่ม อีก9 แปลง รวมแล้ว10พื้นที่ที่จะน่าจะออกโฉนดชุมชนได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะทำให้ครบทั้ง35แปลง ส่วนที่เหลืออีก53แปลง คิดว่าภายในปีนี้น่าจะพิจารณาได้ทั้งหมด”
สำหรับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทำเรื่องโฉนดที่ดินให้เป็นนโยบายแก้ปัญหา อย่างยั่งยืน โดยมีข้อเสนอให้มีการออกกฎหมายรองรับมากกว่าเป็นแค่เพียงระเบียบสำนักนายกฯ โดยเรื่องนี้รมต.ประจำสำนักนายกฯเห็นด้วย แต่ต้องใช้เวลาสักพัก เพราะยังเพิ่งเริ่มต้นนโยบายนี้
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่สาเหตุที่ทำให้การแจกโฉนดชุมชนยังล่าช้า เป็นเพราะที่ดินที่จะนำมาจัดโฉนดชุมชน เป็นที่ดินที่มีหน่วยงานต่างๆดูแลอยู่ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง จึงต้องประสานงานในการขอใช้พื้นที่มาดำเนินนโยบาย
อีกทั้งยังมีปัญหาการปรับตัวของหน่วยงานต่างๆ เพราะเมื่อรัฐบาลมีนโยบายเรื่องที่ดินรูปแบบใหม่ จึงต้องมีการเรียนรู้ทำความเข้าใจ ปรับทัศนคติ แนวทางการทำงาน แต่รมต.ประจำสำนักนายกฯ เชื่อว่า ข้อติดขัดต่างๆน่าจะแก้ไขได้ลุล่วง เพราะนายกฯได้ย้ำหลายครั้งว่า เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายไปแล้วทุกหน่วยงานต้องดำเนินการตาม
“นายกฯ ได้คุยกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงไปแล้ว มีการจัดสัมมนาระดับหัวหน้าหน่วยงาน ปลัดกระทรวง อธิบดี จากนี้ก็จะมีการทำเอ็มโอยูร่วมกันระหว่าง สำนักงานโฉนดชุมชนกับหน่วยงานราชการ คิดว่าจะไปได้ และเร็วขึ้น”
ตั้งกรรมการดูแลคดีคนจน
อีกข้อเสนอของภาคประชาชน เช่นข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ที่ขอให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ปัญหาในเรื่องข้อพิพาทคดีความเรื่องการบุกรุกใช้ ประโยชน์ในที่ดินของรัฐของชาวบ้าน ที่ถือเป็นอีกเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายการปฏิรูปที่ดินนั้น เรื่องนี้รัฐบาลได้เตรียมเสนอกลไกเข้ามาแก้ไขปัญหาไว้แล้ว
รมต.สาทิตย์บอกว่า เร็วๆนี้จะมีการตั้ง“คณะกรรมการแก้ไขปัญหาคดีคนจน”ขึ้น โดยจะรวบรวมคดีความ ข้อ
พิพาทในเรื่องที่ดินขณะนี้มีเป็นหมื่นคดี ในขั้นตอนต่างๆ ทั้งชั้นสอบสวน อัยการ ศาล และบางทีอยู่ในชั้นบังคับคดี หรือบางทีแพ้คดีอาญาหน่วยงานรัฐยังตามไปฟ้องแพ่งต่อ คณะกรรมการชุดนี้จะนำมาพิจารณาว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง
“เรื่องนี้เป็นการตอบสนองปัญหาของประเทศ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ชุดที่คุณอานันท์ ปันยารชุน และคุณหมอประเวศ วะสี ดูแลก็เสนอมาเช่นกัน”
ส่วนที่มีแนวคิดว่าจะดึงคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ(กบ ร.)ที่อยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กลับมาอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีเช่นเดิมนั้น รมต.ประจำสำนักนายกฯบอกว่า เรื่องนี้ไม่กังวลแล้วเพราะรัฐบาลจะมีผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ เข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินของรัฐแทน
โดยมีการเสนอร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการที่ดินสงวนหวงห้ามของรัฐ โดยส.ส.จากทุกพรรคการเมือง และผ่านสภาฯเข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการจนเสร็จสิ้นแล้ว เพียงรอเข้าสู่การพิจารณาในวาระ2-3 ก็จะออกมาเป็นกฎหมายได้
สาระของกฎหมายดังกล่าวคือการกำหนดให้มีคณะกรรมการจัดการที่ดินสงวนหวง ห้ามของรัฐระดับชาติ มีนายกฯเป็นประธาน เพื่อมาพิจารณาเรื่องที่ดินสงวนหวงห้ามทั่วประเทศว่าส่วนใดต้องสงวนไว้ ส่วนใดนำไปทำแผนบริหารจัดการ โดยที่ดินที่ชาวบ้านเข้าไปยึดครอง ก็จะให้สิทธิในเรื่องการอยู่อาศัยและทำกิน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ
เพราะก่อนหน้านี้เมื่อมีปัญหาที่ดินบางแปลงพบว่าชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อน แล้วที่ของรัฐมาประกาศทับซ้อน และตามโดยหลักการของกบร.เปิดให้ชาวบ้านพิสูจน์สิทธิ์ แต่ปรากฏว่ากบร.สันนิษฐานล่วงหน้าว่ามีการบุกรุก ทั้งที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่า ดังนั้นกรรมการชุดนี้ก็จะพิสูจน์ข้อเท็จจริง
“หลักการของกฎหมายนี้คือการแก้ปัญหาชาวบ้านที่ไปอยู่ในที่ดินของรัฐ ประเภทต่างๆประมาณ1ล้านครัวเรือนพื้นที่10ล้านไร่ทั่วประเทศ มีความพยายามจะนำคนออกจากพื้นที่ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้จะนำคนเหล่าไปอยู่ที่ไหน และที่ผ่านมาเกือบ10ปี ก็มีความพยายามทำแต่ก็ทำไม่สำเร็จ ดังนั้นต้องแก้ปัญหา ที่สำคัญคือเรื่องป้องกันการบุกรุกพื้นที่ใหม่”
ทั้งนี้ก่อนที่กฎหมายจะออกมาประกาศใช้ รวมทั้งข้อพิพาทในเรื่องการบุกรุกที่ดินของรัฐ รมต.ประจำสำนักนายกฯที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องที่ดินทั้งระบบ ก็เข้าไปหามาตรการแก้ไขปัญหาควบคู่กันไป
ขณะที่เรื่องการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของเอกชน เช่นกรณีข้อพิพาทที่จังหวัดลำพูน หรือการบุกยึดพื้นที่ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) ถือว่าเป็นโจทย์ที่แก้ได้ยาก รัฐบาลจึงได้มีแนวทางแก้ปัญหา โดยใช้กลไกสายความมั่นคงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) โดยตั้งคณะกรรมการที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯเป็นประธาน ขึ้นมาแก้ปัญหา
ลุ้นตั้งธนาคาร-คลอดก.ม.ภาษีที่ดิน
นอกเหนือไปจากเรื่องโฉนดที่ดิน ข้อเสนอของภาคประชาชนที่อยากให้รัฐจัดตั้งธนาคารที่ดิน และกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเป็นการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ
โดยเฉพาะธนาคารที่ดิน ที่จะเข้ามาดูแลรวบรวมข้อมูลที่ดินของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทั้งระบบ โดยการจัดซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร ผู้ยากจน และผู้ประสงค์จะเช่า เช่าซื้อหรือทำประโยชน์ในที่ดิน เพื่อป้องกันปัญหาที่ดินหลุดมือไปสู่นายทุน
รวมทั้งจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งในพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาตตามนโยบายโฉนดชุมชน ที่สามารถกู้เงินจากกองทุนของธนาคารที่ดินที่ตั้งขึ้นได้
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ รัฐบาลได้ออกกระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เป็นองค์การมหาชน คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะดำเนินการเสร็จสิ้น โดยครม.ยังได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 100 ล้านบาทเพื่อเป็นทุนประเดิมการจัดตั้ง
ทั้งนี้ธนาคารที่ดินในรูปแบบองค์การมหาชนจะมีระยะเวลาในการทำงานในเบื้อง ต้น5ปี และจะมีการประเมินกันอีกครั้งในช่วง 3 ปีแรกของการดำเนินการ หากทำได้ดีก็จะมีการเสนอกฎหมายจัดตั้งเป็นธนาคารเต็มรูปแบบอีกครั้ง
เช่นเดียวกับนโยบายการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีสาระสำคัญคือการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ในรูปแบบอัตราภาษีก้าวหน้า เพื่อแก้ปัญหาการกักตุนหรือครอบครองที่ดินจำนวนมากโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ และภาษีที่เรียกเก็บดังกล่าวก็จะนำไปเป็นรายได้เข้าสู่ธนาคารที่ดิน
โดยล่าสุด ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและเตรียมนำเสนอครม.เพื่อเสนอ เข้าสภาฯออกเป็นกฎหมาย เพียงแต่ว่า ด้วยเงื่อนเวลาและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เป็นปัจจัยสำคัญ หากมีการยุบสภาก่อนครบเทอม กฎหมายฉบับที่ภาคประชาชนต้องการเห็นนี้ก็ต้องรอกันต่อไป
สำหรับที่มีรายงานข่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังได้ออกมาขวางการนำรายได้จากภาษีที่ดินฯ ส่งเข้าธนาคารที่ดินนั้น เรื่องนี้รมต.สาทิตย์ มั่นใจว่าฝ่ายปฏิบัติจะต้องทำตาม “หน่วยงานมีสิทธิคิดได้ แต่นโยบายรัฐต้องเป็นนโยบาย และเรื่องนี้ได้ประสานกับรมว.คลัง ก็เห็นตรงกันหมด ไม่มีอะไรต้องห่วงเลย”
เพราะเรื่องที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในสังคมการเกษตร แต่ข้อมูลการถือครองที่ดินในประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก และไม่ว่าหน่วยงานใดศึกษาปัญหาคนจนปัญหาที่ดินมาเป็นอันดับต้นๆเสมอ เช่นการลงทะเบียนคนจนก็พบว่า เกษตรกร คนยากจน ต้องการให้รัฐแก้ปัญหาเรื่องที่ดินมาเป็นอันดับแรก
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลชุดนี้ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเลือกใช้การแก้ปัญหาโดยกลไกที่สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคประชาชน โดยรูปแบบโฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน และภาษีที่ดิน ที่จะต้องสอดประสานกันไป
หลังจากนำร่องเรื่องโฉนดชุมชนไปแล้ว จากนี้ไปก็ต้องพิสูจน์ว่า การปฏิรูปที่ดินเพื่อ ให้มีการกระจายตัวในการถือครองที่ดิน และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างระหว่างคนรวย ทั้งหมดรัฐบาลจะทำจริงจังและให้เป็นไปอย่างยั่งยืน หรือเพียงทำเพียงเพื่อขายภาพประชานิยม หาเสียงกันเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
แม้ว่ารัฐมนตรีสาทิตย์จะยืนยันหนักแน่นว่า รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปที่ดินต่อไปแน่นอนหากภายหลังการเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจ อีกครั้งก็จะยังคงนโยบายที่ทำไว้
แต่การลงมือปฏิบัติ และเวลาเท่านั้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์!