“ที่อ่านหนังสือหมู่บ้าน” แหล่งเรียนรู้หรือรกร้าง?
เร็วๆนี้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายฟื้นฟูที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน และเนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนจึงสำรวจความคิดเห็นว่าที่อ่านหนังสือประจำชุมชนได้รับความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร
……………………
กศน.เล็งดึง “ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน” คืนจาก อบต.
หลังจากที่ นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ออกมาเปิดเผยว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายให้ฟื้นฟูที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันถ่ายโอนความรับผิดชอบไปอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ตามมติของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นจึงต้องประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย
นายกฤษณพันธ์ เพ็งศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า กศน.เริ่มดำเนินการที่อ่านหนังสือชุมชนมาตั้งแต่ปี 2515 ที่ อ.เกาะคา เป็นแห่งแรก และได้รับการตอบเป็นอย่างดี แต่ในปี 2540 ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้งบประมาณและงานดังกล่าวถูกโอนไปยัง อปท.โดยความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต).ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา แต่มีปัญหาว่าที่อ่านหนังสือชุมชนหลายแห่งถูกปล่อยทิ้งร้าง ปัจจุบัน กศน.จึงพยายามเจรจากับกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอโครงการดังกล่าวกลับมาดูแล
“เรามีครูประจำตำบลอยู่ มีหัวหน้า กศน.ตำบล แล้วปีที่ผ่านมาก็เกิดอาสาสมัคร กศน.ประจำหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมการเรียนรู้ให้ชาวบ้าน จึงมั่นใจว่าจะสามารถส่งเสริมการอ่านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายกฤษณพันธ์ ให้ความเห็น
ที่อ่านหนังสือชาวบ้าน “ความสำเร็จขึ้นอยู่กับพื้นที่”
นางประพิศ ชุมอภัย นักจัดรายการสถานีวิทยุเพื่อผู้ด้อยโอกาสไทย เอฟเอ็ม 90.75 MHz อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ในพื้นที่ของตนซึ่งเป็นชุมชนกึ่งชนบทกึ่งเมือง คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานหรือเป็นพนักงานบริษัท วันหยุดเสาร์อาทิตย์มักใช้เวลาอยู่บ้าน ชาวบ้านไม่นิยมอ่านหนังสือ โครงการที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านที่เทศบาลและ อบต.สนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นในหมู่บ้าน จึงมีชาวบ้านสนใจเข้าไปทดลองใช้บริการแค่ช่วงแรกๆเท่านั้น
“คนไม่สนใจอ่านกันเท่าที่ควร ส่งผลให้ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านถูกปล่อยรกร้างจนปลวกขึ้น เจ้าของที่จึงตัดสินใจนำไปทำห้องพักให้เช่าแทน”
นางประพิศ ยังสะท้อนว่า ถึงแม้จะทำห้องอ่านหนังสือให้สวยงามเพียงใด แต่ถ้าคนยังไม่รักการอ่านก็ไร้ประโยชน์ เสียงบประมาณในการก่อสร้างอาคารและจัดหาหนังสือโดยเปล่าประโยชน์ และแม้กระทั่งศูนย์เรียนรู้ชุมชนของ กศน.ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ก็ไม่ค่อยมีคนเข้าไปใช้บริการ มีแต่บางส่วนที่เข้าไปเรียนหนังสือเพื่อต้องการวุฒิไปใช้ในการทำงานเท่านั้น
นายเชาวน์ฤทธิ์ เจนจัด ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดลำปาง และผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้หอกระจายข่าว ต.วังซ้าย ต.วังเหนือ จ.ลำปาง ให้มุมมองว่าที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านคนเมืองวังในพื้นที่ของตนก็ไม่ต่างจากที่อื่นมากนักเพราะถูกปล่อยรกร้าง หนังสือใหม่ๆที่ถูกจัดหามาไว้ก็ถูกคนมีอำนาจในพื้นที่เอากลับไปประดับห้องรับแขก ที่แย่กว่านั้นคือชาวบ้านไม่ให้ความสำคัญการอ่าน ซึ่งเป็นนิสัยคนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบอ่านแต่ชอบดูและฟัง
นายเชาวน์ฤทธิ์ ยังแสดงความเห็นว่าควรโอนที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านหรือห้องสมุดชุมชนกลับไปให้ กศน.ดูแล เนื่องจาก อบต.ในพื้นที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้
“ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านทั่วประเทศโอนให้ กศน.ดูแลได้ไหม เพราะมีประสบการณ์เรื่องนี้อยู่แล้ว และทุกวันนี้ อบต.ดึงงบมาซื้อหนังสือพิมพ์ เอามาวางพอไม่มีใครอ่านก็เอาไปไว้บ้านใครบ้านมันเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์” นายเชาวน์ฤทธิ์ ให้ความเห็น
ในทางกลับกัน นายณรงค์ คงอินทร์ ชาวบ้านคุยผง ต.เหล่าหลวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด กลับสะท้อนกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่าชาวบ้านในพื้นที่หลายคนต้องการเรียน กศน.เพื่อเพิ่มวุฒิเพื่อเป็น อสม. ทำให้ที่อ่านหนังสือชุมชนมีผู้คนมาใช้บริการเป็นประจำ ซึ่งในช่วงแรก กศน.เป็นผู้นำร่อง แต่ที่สำคัญคือได้รับการส่งเสริมจากผู้นำชุมชนด้วยจึงประสบความสำเร็จ
“เรามีผู้นำที่หัวก้าวหน้า พาชาวบ้านทำโน่นทำนี่ ได้รางวัลมากมาย อย่าง อสม.เนี่ยถ้าไม่ จบ ม.3 ก็เป็นไม่ได้ ชาวบ้านเลยกระตือรือร้นว่าต้องอ่านต้องศึกษา” นายณรงค์ เล่า
กศน.จับมือวิทยุชุมชน ขยับการเรียนรู้ท้องถิ่น
นายกฤษณพันธ์ เพ็งศรี ผอ.กศน.แจ้ห่ม เปิดเผยว่า ได้ทำโครงการนำร่องใช้วิทยุชุมชนเป็นสื่อช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของชาวบ้าน ที่ ต.แจ้ห่ม และ ต.วังเหนือ จ.ลำปาง หากได้ผลก็จะขอความร่วมมือกับวิทยุชุมชนทั่วประเทศเพื่อขยายโครงการต่อไป
ขณะที่ นายเชาวน์ฤทธิ์ ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ปัจจุบันภาษาล้านนาท้องถิ่นเริ่มเลือนหาย หลังจากเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเรียนในเมือง เมื่อกลับบ้านไม่นิยมพูดภาษาพื้นบ้าน เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดลำปางจึงทำโครงการร่วมกับ กศน.ใช้วิทยุชุมชนเป็นแหล่งสร้างความรู้ให้กับชาวบ้าน ส่งเสริมให้อ่านหนังสือและภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน โดยจะมีการแจกหนังสือไปให้กับคนที่สนใจอ่าน มีปราชญ์ชาวบ้านมาเป็นครูสอนผ่านวิทยุชุมชนวันละ 1 ชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 120 ชั่วโมงให้อ่านออกเขียนได้ และรับรองหลักสูตรโดย กศน.
…………………………
แม้ “การอ่าน” จะถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ แต่ลำพังนโยบายและงบประมาณ ไม่เพียงพอที่จะสร้างการเรียนรู้ได้ จากประสบการณ์ของ “ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน” หรือบรรดาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนมีองค์ประกอบแห่งความเอาจริงเอาจังทั้งระดับหน่วยงานส่งเสริม และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ที่ใกล้ชิดชุมชนที่สุด.
ที่มาภาพ : http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=2965&view=previous
http://www.fisho.com/blog/rooster/blog.php?id=4332
http://www.nmt.or.th/roiet/khoklam/Lists/List2/DispForm.aspx?ID=9