อบต.ศรีสำราญ เพาะ"ปัญญา"ลบสี-ลดขัดแย้ง
มากไปกว่าความสุขจากเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ เชื่อว่า “ขอให้บ้านเมืองสงบ สังคมคลายความขัดแย้ง” น่าจะเป็นคำอธิษฐานลำดับต้นๆ สำหรับคนไทยในยามนี้
อย่างที่รู้ “ความเห็นต่าง” ในหลายปีที่ผ่านมา ใช่จำกัดเฉพาะแวดวงการเมืองเหมือนดั่งที่เคยเป็นเท่านั้น ด้วยเชื้อร้ายในแบบที่ว่ากระจายไปไกลถึงวิถีความเป็นอยู่เกือบทุกหนแห่ง
“ไม่ต้องมองไปไกลถึงการเมืองระดับชาติ เอาแค่ระดับท้องถิ่นซึ่งมีการเลือกตั้งทั้งผู้ใหญ่บ้านหรือนายกองค์การ บริหารส่วนตำบล (อบต.) อย่างปีที่ผ่านมาชุมชนเราผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นรวมกัน2ครั้ง กลายเป็นการแข่งขันกันเองและเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกขึ้น” ทรงศิริ นราพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสำราญ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิบอก
เขาเล่าว่า ความเห็นต่างที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้สั่งสมกันมานาน เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งทีไร เหมือนให้ชาวบ้านต้องเลือกข้าง ต่างฝ่ายต่างแข่งขันกันเพื่อเอาชนะ ฝ่ายชนะยินดีกันไป ขณะที่ธรรมดาของผู้แพ้คือผิดหวัง มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป หากแต่ทั้งหมดมักนำไปสู่การตั้งตนเป็นคู่ขัดแย้งไม่รู้จบ ความร่วมมือในงานพัฒนาจึงล่าช้าเพราะขาดความสามัคคี
“ผู้ชนะก็กลายเป็นไม่ยอมรับความเห็นของอีกฝ่าย เขาเสนออะไรก็ไม่อยากจะรับฟัง คราวนี้ไปกันใหญ่ อยู่กันแบบพวกใครพวกมัน บางครั้งถึงขนาดชี้หน้าด่า จะลงมือลงไม้ก็มี ทั้งที่ในอดีตไม่เคยมีเช่นนี้มาก่อน” นายกเล็กศรีสำราญ อธิบาย
เหตุการณ์ที่เกิดจึงเป็นสัญญาณเลวร้ายของคนในชุมชน ซึ่งเมื่อต่างคนต่างรู้สึกได้ถึงความอึดอัด ความพยายามหาวิธีสมานรอยแผลด้วยวิธีการต่างๆจึงเริ่มขึ้นตาม และโครงการ “ปัญญาดี ศรีสำราญ” ที่คนในอบต.ศรีสำราญร่วมออกแบบ ถูกใช้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำร่วมกันในวันที่สังคมชาวศรีสำราญถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นหนึ่งเดียว
“ทรงศิริ” ในฐานะผู้จัดการโครงการ อธิบายว่า แม้จะเป็นกิจกรรมที่มีแนวทางต่างไปจากกิจกรรมอื่นใน “สุขแท้ด้วยปัญญา” ที่เน้นการสร้างความสุขแบบไม่พึ่งพาวัตถุตามที่เครือข่ายพุทธิกาและสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วางเป็นแนวทางดั่งที่ทราบกัน มากกว่านั้น “ปัญญาดี ศรีสำราญ” พยายามสอดแทรกประเด็นประชาธิปไตยเข้าไปด้วย
“ความสุขจะเกิดได้ต้องกำจัดทุกข์ก่อน เราเริ่มระดมสมองชาวบ้านที่สนใจและคนในอบต.ถึงเรื่องนี้และได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคนในชุมชนทุกคนได้รับผลกระทบไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เราจึงแบ่งภาคกิจกรรมแก่ทุกกลุ่มในชุมชนให้ครอบคลุมทั้ง1.กลุ่มเยาวชน 2.กลุ่มผู้ใหญ่-สูงอายุ 3.กลุ่มสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งทั้งหมดได้คละเอาจากทั้งในชุมชนบ้านศรีสำราญและใกล้เคียง”
เริ่มต้นกิจกรรมแรกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา กิจกรรมเน้นไปที่สมาชิกอบต.ก่อน โดยการอบรมทำกิจกรรมผ่านวิธีการเชิงจิตวิทยา การเข้าใจเรื่องความหมายและลักษณะของผู้นำหลายรูปแบบ แหล่งที่มาของอำนาจ ลักษณะของการใช้อำนาจ ข้อดี –ข้อเสียของการใช้อำนาจแต่ละรูปแบบ การจำลองสถานการณ์จริงเพื่อปรับสภาพทัศนคติเพื่อยอมรับ “ความต่าง”
ถัดมา บุคลากร อบต.ที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพแล้ว จะลงพื้นที่ไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กเยาวชนในชุมชน 3หมู่บ้าน เพื่อสำรวจชุมชนร่วมกัน โดยการดึงประเด็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หายไป ซึ่งเป็นประเพณีที่เชื่อมโยงคนในสังคมได้สมัครสมานปองดองสามัคคีกัน อาทิ ประเพณี บุญเดือน 3 บุญผะเหวด (พระเวส) ซึ่งทั้งนี้ได้ใช้หลักศาสนาเป็นหลักการ
“เราเรียกการสืบค้นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมธรรมชุมชนนี้ว่า “กิจกรรมนักสืบชุมชน” ซึ่งทำกิจกรรมไปเมื่อ7-9 มกราคมที่ผ่านมา ณ โรงเรียนสามหมอวิทยา เราให้ผู้ค้นหากลุ่มหลักคือเยาวชน เขาจะได้รู้สิ่งดีๆที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม เช่น คนดีๆ ครูภูมิปัญญา เรื่องเล่าดีๆ ประเพณีอันดีงาม ค้นหาและเชื่อมโยงวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน”
ที่ต้องเน้นอย่างต่อเนื่องไปที่เด็กและเยาวชนนั้น ทรรศวรรณ มาศขุนทด ปลัดอบต.กล่าวว่า คือการสร้างรากฐานชุมชนที่ยั่งยืน เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มเด็กเหล่านี้จะขึ้นมาเป็นเสาหลักพัฒนาชุมชน เป็นกาวใจที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใหญ่
“สำหรับตัวอย่างกิจกรรมที่ทำคือ เด็กเหล่านี้ได้จำลองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหากชุมชนแตกสามัคคีกัน ทุกคนได้สมมติเอาตัวเองไปอยู่ในเหตุการณ์ ก่อนถอดบทเรียนว่าเราได้รู้อะไรบ้างเมื่อสวมความคิดเหล้านั้น พร้อมพิจารณาว่าเรื่องไหนคือสิ่งดีหรือสิ่งใดไม่ถูกต้อง ควรแก้ไข”
“ที่ผ่านมาเด็กอาจรู้จักกันผ่านโทรศัพท์ อยู่โรงเรียนเดียวกันแต่ไม่เคยคุยกัน หรืออยู่ต่างโรงเรียนไม่เคยรู้จักกันเลย เมื่อทำกิจกรรมแล้วเขาจะเกิดเครือข่ายจิตอาสาที่จะพัฒนางานด้านอื่นๆ ด้วย” ปลัดอบต.อธิบายและว่า พยายามทำกิจกรรมที่ร่วมเล่นกันได้ง่ายๆ อาทิ การเล่นเกม การเล่าเรื่อง หากแต่มากด้วยความหมาย ที่สร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กรู้จักน้ำใจนักกีฬา เข้าใจความต่างเพื่อ “แพ้ให้เป็น”
ถามเยาวชนถึงกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้ง ด.ญ.ภัสสร เบิบชัยภูมิ นักเรียนม.3 โรงเรียนบ้านสามหมอวิทยา บอกว่า น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ที่รู้สึกไม่สบายใจตอนนี้คือเคยเห็นเพื่อนบ้านกับญาติไม่ค่อยคุยกัน เหมือนเดิมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
“ตอนไปคุยกับคนเฒ่า เขาก็เล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนไม่เป็นแบบนี้ ชาวบ้านใกล้ชิดและช่วยเหลือกัน เรื่องประเพณีก็เหมือนกัน เขาบอกว่าบ้านเรามีประเพณีชุมชนมากกว่านี้ มีเฉพาะตำบลเราแห่งเดียวแต่เมื่อไม่มีเวลาจัดงาน มันก็ค่อยๆหายไป เหลือเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ”
“ถ้าถามหนู หนูก็ไม่อยากให้เป็นแบบนี้ อยู่ใกล้กันแต่ทะเลาะกันทุกวันคงไม่ดี”
ส่วนสนั่น ปามุทา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสำราญ ซึ่งทำงานพัฒนาท้องถิ่นในชุมชนแห่งนี้มากว่า5ปี มองว่า การแบ่งพวกในชุมชนทุกคนต่างรู้ดี แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เหมือนต่างคนต่างอยู่ สร้างความอึดอัดของคนทั้งชุมชน
“เราอยู่มานานก็คิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าไม่อยากฟังคนอื่น เหมือนไม่เข้าท่า แต่หารู้ไม่เมื่อชุมชนพัฒนาแต่คนไม่มีความสุข ไม่สามัคคี ที่ทำมาก็ไม่มีประโยชน์”
“ชุมชนศรีสำราญวันนี้ต้องการความรู้ทางปัญญา ต้องการความสามัคคีผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกฝ่ายต้องหันหน้าหากันเช่นในอดีต”
“อย่างน้อยเมื่อเรารู้ว่าเกิดปัญหาขึ้น มันก็ต้องหยุดหันมองคนรอบข้างและทบทวนตัวเองบ้าง” .