“สัจจะสะสมทรัพย์” ตั้งแต่เกิดจนตายที่จันทบุรี
แม้ไม่ได้ถูกยกเป็นหนึ่งในผลงานเด่นช่วงปีใหม่ แต่ “สวัสดิการชุมชน” ก็เป็นวาระที่ถูกพูดถึงมากเรื่องหนึ่งในรอบปี ด้วยเป็นฐานที่มั่นคงตามสโลแกนไทยเข้มแข็งที่เริ่มจากชุมชนฐานราก ไปพบกับต้นแบบความสำเร็จแห่งหนึ่งของประเทศที่ริ่เริ่มโดยชุมชน “กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี”
สวัสดิการชุมชน รากฐานสวัสดิการสังคม
เช้าตรู่ที่วัดโพธิ์ทอง ต.แสลง อ.เมือง จ.จันทบุรี คึกคักไปด้วยชาวบ้าน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) หน่วยราชการส่วนกลางและส่วนพื้นที่ ที่ตบเท้าเข้าร่วมงาน “สมัชชาสวัสดิการชุมชน ฅนตะวันออก : ปฎิรูปสังคมจากฐานราก” ส่วนหนึ่งเพราะประสาชาวบ้านก็อยากเห็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัวจริงแบบชิดติดขอบเวทีในวาระมอบเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนกว่า 10 ล้านบาทให้ 84 องค์กรชุมชน
มากกว่านั้นคือ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวความก้าวหน้าของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ตัวเองขับเคลื่อน บุญศรี จันทร์ชัย ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนคนกรุงเทพฯปริมณฑลและภาคตะวันออก ให้ภาพรวมกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกว่าขณะนี้มีกองทุนกว่า 500 ตำบล ได้รับอนุมัติงบประมาณสมทบแล้ว 193 กองทุน สมาชิกรวม 1.25 แสนราย งบสนับสนุนจากรัฐกว่า 32.16 ล้านบาท เกิดกองทุนใหม่อีก 73 กองทุน ทั้งนี้ในส่วนของความคืบหน้าระดับประเทศ ปัจจุบันมีกองทุนที่จัดตั้งแล้ว 3,443 ตำบล สมาชิก 1.4 ล้านคน มีเงินสะสมของสมาชิกจำนวน 790.72 ล้านบาท รัฐบาลจ่ายเงินสมทบแล้ว 2,048 กองทุน เป็นเงิน 310.09 ล้านบาท
“แม้จะมีบางจังหวัดที่ยังขัดข้องในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับชุมชนอยู่บ้าง แต่ทุกภาคส่วนก็พยายามหาทางคลี่คลาย จัดปรับกระบวนการทำงานร่วมกันในปีต่อไปให้ดียิ่งขึ้นโดยมุ่งเน้นร่วมกันพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนให้เป็นรากฐานที่สำคัญของสวัสดิการสังคม” บุญศรี บอกเล่า
“สัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี” สวัสดิการตั้งแต่เกิด-ตาย
หลายแห่งประสบความสำเร็จ กลายเป็นต้นแบบ แม้ต้องเพียรพยายามเกือบ 15 ปี อย่าง กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี ที่มี พระครูสังฆรักษ์มนัส ขนฺติธมฺโม เป็นผู้ก่อตั้งและนั่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการพัฒนากองทุนการเงินสู่การสร้างสวัสดิการชุมชนที่ยั่งยืน ท่านเล่าความว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนที่นี่เกิดมาจากองค์กรการเงินที่เรียกว่า “กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์” แรกเริ่มชาวบ้านมักเข้าใจว่าคือการไปกู้ไปฝากเงินที่วัด ต้องนั่งอธิบายกันหลายปีกว่าทุกคนจะเข้าใจว่าคือการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมคุณงามความดีด้วยการออม
“หลักๆคือคนโตออม 100 เด็กน้อยออม 30 บาท ทำมาเรื่อยๆ แล้วแยกย่อยไปทำกลุ่มต่างๆ จนตอนนี้เข้มแข็งหลายกลุ่ม ต่อมาเห็นว่ายังมีกลุ่มคนอีกเยอะที่เป็นหนี้เป็นสินและไม่เข้าร่วมเพราะคิดว่าพอถึงเวลาต้องการความช่วยเหลือ ป่วย เจ็บ หรือตายก็มีเงินกองทุนมาให้” พระครูเล่า
จึงได้มีกฎกติกาขึ้นมาใหม่ว่าคนใดที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ลูกหลานก็จะไม่ได้ทุนการศึกษา ไม่ได้เงินผู้สูงอายุ เจ็บ ตาย จ่ายเอง ดูเผินๆเหมือนเป็นการบังคับแต่ลึกๆคือการสร้างวินัยทางการออมให้ชุมชน เพราะเห็นแล้วว่าคนที่มีหนี้มีสินเพราะไม่รู้จักเก็บ เดือดร้อนไปกู้เงินข้างนอกร้อยละ 5-10 บาท เสียบ้านเสียที่ดินไม่ใช่น้อย ตอนนี้ทำไปทำมากลุ่มแรกๆของจันทบุรี มียอดเงินรวมถึงปีนี้ได้ประมาณ 700 ล้านบาทแล้ว
พระครูยังเล่าว่า ดอกผลที่ได้จากการปล่อยกู้ นำไปจัดสวัสดิการชุมชนอย่างต่อเนื่องครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย และเพิ่มระดับความช่วยเหลือตามการเติบโตของกองทุน เช่น จากเดิมเมื่อมีใครสักคนในหมู่บ้านตาย ให้เงินช่วยทำศพ 8 หมื่นบาท ตอนนี้ขยับขึ้นมาเป็น 1 แสนบาท
แม้กระนั้น ก็ใช่ว่าจะทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด พระครูสังฆรักษ์มนัส ก็ยืนหยัดว่าขึ้นศักราชใหม่นี้ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรีจะขยายงานต่อทำอย่างไรให้แต่ละคนมีเงินออม 12,000 บาททุกปี ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการพัฒนา ประเด็นคืออยากให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ได้เป็นสมาชิกกองทุนทั้งบ้าน เช่น ถ้าจะมอบทุนการศึกษาเด็กในบ้านก็น่าจะออมด้วย เป็นต้น
เปิดศักราชใหม่ ผุดโครงการช่วยเหลือที่ดิน-ลดดอกเบี้ยเงินกู้
ใกล้ครบรอบ 15 ปีการก่อตั้งกลุ่มฯ พระครูสังฆรักษ์มนัส ตั้งใจว่าจะทำโครงการใหม่สำหรับผู้เดือดร้อนเรื่องที่ดินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ประสบอยู่ตอนนี้ เกิดจากการเป็นหนี้ไม่มีใช้ ก็นำบ้านไปจำนองผ่อนปรน กลุ่มสวัสดิการจึงคิดว่าจะนำมาเข้ากระบวนการของกลุ่มโดยกลุ่มรับจำนองเอง เสียดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 1 บาท จากปกติที่เสียอยู่ร้อยละ 2 บาท ภายใต้เงื่อนไขอื่นตามแต่กรณี
“เช่น ถ้าคนนี้กินเหล้า เลิกเหล้าได้จึงให้ร้อยละบาท แต่ถ้าเลิกไม่ได้ก็เอาไปร้อยละ 2 เท่าเดิม การกู้จะไม่ได้ช่วยทั้งหมดแต่แบ่งเบาภาระ ทั้งยังช่วยขยับเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยก่อหนี้เพิ่ม”
อีกส่วนคือโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้จากร้อยละ 2 บาทให้เหลือ 1 บาท เพื่อให้ชาวบ้านได้มีเงินทุนหมุนเวียนและสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านเข้าถึงกองทุนมากขึ้น ซึ่งได้เริ่มขยับบ้างแล้วในกลุ่มที่ตั้งมานาน ส่วนที่ตั้งใหม่ๆประมาณ 7-8 ปียังร้อยละ 2 อยู่ ก็วางแผนว่าอีก 2-3 ปีน่าจะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับวินัยชุมชน
แต่คำถามที่ชาวบ้าน ณ วัดโพธิ์ทอง ตั้งข้อสังเกตคือหากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าดอกที่เคยเก็บได้จะเหลือครึ่งเดียว เงินรวมกองทุนก็จะน้อยลงตามไปด้วย การจัดสวัสดิการจะยังทั่วถึงครบถ้วนอย่างที่เคยเป็นหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้จากประธานกลุ่มฯ คือ “แม้เงินน้อยลงแต่พวกเราจะไม่เป็นหนี้ ธกส.-ออมสิน เราจะจ่ายดอกเบี้ยถูก เรียนได้ เจ็บได้ ตายได้ แบบมีสวัสดิการ ขอแค่อย่างเดียวออมเงินให้ได้เดือนละร้อย กลุ่มสัจจะฯจะคุ้มครองเราหลายเรื่อง จะเอาไหมล่ะ”
ปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนากองทุนสวัสดิการขึ้นอยู่กับวินัยและกติกาที่ชุมชนเป็นผู้ตั้งและสมาชิกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เมื่อชาวบ้านพร้อมเอาด้วย เถลิงศกหน้าคงได้เห็นความก้าวหน้าของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี ตามที่ พระครูสังฆรักษ์มนัส ทิ้งท้าย
ต้องไม่ลืมฐานคิด บริหารกองทุนที่ใจไม่ใช่ตัวเงิน
สมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะคณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่าชุมชนต้องไม่ลืมฐานคิดหลักว่าสร้างกลุ่มสวัสดิการขึ้นมาก็เพื่อดูแลตนเอง จะเข้มแข็งหรือไม่อยู่ที่วินัยและความเข้มแข็งของขบวน งบประมาณที่รัฐสนับสนุนไม่ใช่สาระสำคัญ การบริหารกองทุนไม่ใช่ดูแค่ตัวเงิน แต่ต้องเน้นที่คุณภาพแล้วค่อยๆปูพรมขยายแนวคิดให้มากขึ้นสุดท้ายความเข้มแข็งจากการสร้างสวัสดิการชุมชนจะสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนท้องถิ่นได้
“การทำฐานสวัสดิการชุมชนให้แข็งแรงจะเป็นฐานสำคัญสู่สังคมสวัสดิการ ดังที่หลายฝ่ายอยากเห็น หากบริหารกองทุนด้วยใจทำอย่างไรก็ไม่เจ๊ง” รองปลัด มท.กล่าว
แต่ก่อนไปถึงจุดนั้น เสียงวิพากษ์จากสังคมจำนวนหนึ่งก็ตีรวนชัดเจนว่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่คำนวณจากตัวเลขงบประมาณไม่สามารถทำได้
……………………………………………………
หากมองเค้าโครงใหญ่อาจไม่รู้ชัดถึงอนาคตข้างหน้า แต่ภาพสะท้อนเล็กๆจากต้นแบบข้างต้นนี้ น่าจะแนวทางที่ทำภาพสุดท้ายออกมาสวยสดงดงามได้ บทสรุปส่งท้ายคงอยู่ที่ “ชุมชนว่าจะเดินหน้าแบบใด และรัฐต้องไม่หลอกใช้ชาวบ้าน”.