“คืนสุขภาพให้ชุมชน” ความงามทางการแพทย์ที่ “รพ.ละงู”
บ่อยครั้งที่ความวิตกกังวลของคนไข้เป็นเรื่องที่หมอไม่ใส่ใจ หลายครั้งที่กรณีพิพาททางการแพทย์จากความผิดพลาดบานปลายจากความรู้สึกไม่เข้าใจกัน พบกับความงดงามของระบบสุขภาพที่มีจิตใจนำทาง ความรู้เป็นเครื่องมือ ชุมชนเป็นเป้าหมายที่ “รพ.ละงู” จ.สตูล…
องค์ประกอบความงดงาม “ระบบสุขภาพใหม่”
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ วิเคราะห์ปัญหาหลักในระบบบริการสุขภาพคือ 1.กฎเกณฑ์มากมาย โรคภัยไข้เจ็บซับซ้อนขึ้น คนป่วยมากขึ้น ทำให้คนทำงานมีภาระหนักขึ้น 2.ปัจจุบันระบบการแพทย์มุ่งสร้างความชำนาญและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ลืมมิติความเป็นมนุษย์ คนที่เข้ามาในโรงพยาบาลมีความทุกข์จากความเจ็บป่วยอยู่แล้ว ระบบงานที่มองเฉพาะเรื่องโรค จึงซ้ำเติมความทุกข์คนป่วย 3.จุดอ่อนการประเมินคุณภาพคือเน้นเชิงปริมาณ ละเลยมิติเชิงคุณภาพ
คุณหมอเสนอทางออกตามปัจจัยต้นเหตุคือ 1.ต้องสร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ให้บุคลากร 2.โรงพยาบาลรักษาแต่โรคไม่พอ ต้องรักษาคนด้วย
“มิติที่อ่อนโยนมันกลับมาหล่อเลี้ยงคนทำงาน เช่นเรื่องเล่าดีๆที่ได้ช่วยเหลือคน ไม่ได้ทำให้ทำงานเบาลง แต่ทำให้ทำงานหนักได้นานขึ้น ทนขึ้น มีความสุขขึ้น… ฝึกฟังคนไข้มากขึ้น ไม่ได้มุ่งแต่ตรวจหาอวัยวะที่ผิดปกติ การแพทย์มันจึงเป็นศิลปะของการเยียวยา” คุณหมอนักคิด กล่าว
ลดช่องว่างที่ห่างเหินทางความรู้สึก เพิ่มพื้นที่แห่งความเป็นมิตร คือภาพระบบบริการสุขภาพด้วยหัวใจที่โรงพยาบาลต้นแบบ 124 แห่งในโครงการ SHA หรือ “โครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” ซึ่ง สถาบันรับรองคุณภาพสถานบริการ(สรพ.)จับมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 มุ่งเน้นการบริการสุขภาพด้วยมิติจิตใจ แต่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน เชื่อมโยงกับชุมชน
ชง “ชา” ใส่ถ้วยความคิดที่ รพ.ละงู
โรงพยาบาลละงู อ.ละงู จ.สตูล ดูแลผู้ป่วยเกือบ 100% ของชาวบ้านในอำเภอซึ่งเป็นชาวไทยมุสลิม ซึ่งหากมองที่ขนาด 60 เตียง ย่อมไม่เพียงพอรองรับการให้บริการสุขภาพที่ทั่วถึงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ แต่ด้วยความคิดว่า “นวัตกรรมที่มีค่าสูงสุดของระบบสุขภาพ คือลงไปทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพิงตนเองด้านสุขภาพพื้นฐานได้อย่างมีคุณค่าและยั่งยืน” นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ นำโรงพยาบาลละงูเข้าร่วมโครงการกับ สรพ. แต่นับย้อนไปเป็นเวลาหลายปีกว่าที่แนวคิดดีๆเกิดขึ้นที่นี่
ผู้อำนวยการหนุ่มของโรงพยาบาลเล่าว่า SHA แทรกอยู่ในมิติการทำงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เริ่มตั้งแต่วิธีคิดเชิงบวกว่า “ชุมชนมีศักยภาพ” มีคนเก่งคนดีที่อยากสร้างคุณค่ากับตัวเองและคนอื่นอีกมาก, ใช้จิตอาสาระดมคนมาทำงานเป็นพลังภาคี เช่น อสม. อบต. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล, สร้างแผนที่ความคิดว่าแต่ละเรื่องมีใครเกี่ยวข้องบ้าง ต่อเป็นจิ๊กซอสร้างวิสัยทัศน์และทำงานร่วมกัน
“เราออกแบบระบบสุขภาพที่เหมาะสมกับชุมชน ฟังเรื่องเล่าชาวบ้านทำให้เข้าอกเข้าใจสงสารและอยากช่วยเขาเต็มที่.. ทำไปสักระยะหนึ่งเห็นผลว่าชุมชนเข้มแข็งขึ้น เขาคิดทำอะไรอื่นๆได้อีกมากมาย”
รูปธรรมแรกของการชงชาใส่ถ้วยความคิดที่นี่คือ “ศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตอำเภอละงู” ที่เริ่มต้นจากการมองเห็นช่องว่างของปัญหาเอดส์ ผอ.ปวิตร เล่าว่าภาพความสงสารผู้ป่วยที่นอนผงาบๆบนเตียงในโรงพยาบาล ไม่มีญาติดูแล ขณะที่ในชุมชนเองก็มีผู้ติดเชื้อ ทำให้เกิดการพูดคุยระหว่างหมอกับกลุ่มแม่บ้าน และนำเรื่องเข้าไปคุยต่อระดับอำเภอซึ่งมีทั้งโรงเรียน ผู้นำศาสนา ตำรวจ เจ้าหน้าที่อำเภอ อนามัย จนสร้างเป็นเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยและให้ความรู้เรื่องเอดส์ในชุมชนและโรงเรียน
“ตอนนี้ที่เข้มแข็งที่สุดคือกลุ่มแม่บ้าน เริ่มจากที่เราสอนวิชาการในการดูแลผู้ป่วย วิถีของโรค การใช้ยา ปัจจุบันเขาสอนชาวบ้านด้วยกันเอง ยุวชนมุสลิมในโรงเรียน และสามารถขอทุนองค์กรต่างๆมาทำเอง” คุณหมอปวิตร เล่า
ผลพลอยได้คือความภาคภูมิใจว่าชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงมุสลิมซึ่งแต่ก่อนอยู่ใต้อาณัติสามี ก็ทำสิ่งดีๆได้ กลายเป็นพลังที่ขยับไปทำอีกหลายเรื่อง เช่น การคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน รวมถึงเวทีสมัชชาสุขภาพ
“คืนข้อมูลสุขภาพ” ให้ชาวบ้านคิดเอง
“เราคืนข้อมูลสุขภาพให้ชุมชน คือเรื่องใกล้ตัวชาวบ้านเอง แต่เขาไม่รู้ เรามีวิชาการในมือคืนให้เขาไปทำประชาคมพูดคุยกันเองในหมู่บ้านว่าจากข้อมูลตรงนี้คิดอย่างไร มีปัญาหาไหม อยากแก้ไหม”
เช่น รูปธรรมของ “กลุ่มผักปลอดสารพิษ” ที่โรงพยาบาลละงูให้ผลการตรวจสุขภาพว่าคนในชุมชน 100% มียาฆ่าแมลงอยู่ในกระแสเลือด และจำนวนนี้ 80% อยู่ในภาวะอันตราย ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวร่วมกันคิดหาทางออก จนรวมกลุ่มกันปลูกผักปลอดสารพิษ
“รพ.ของบ สปสช.มาให้ 1 แสนช่วยวางระบบน้ำ ต่อมาเกษตรอำเภอก็มาช่วย พอปีที่สองเห็นผลคือได้ผลผลิตมาโรงพยาบาลรับซื้อ และเอาไปขายได้ที่อำเภอ อบต.ก็เข้ามาสนับสนุน ชาวบ้านก็เริ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองด้วย ขยายเป็นทั้งหมู่บ้าน ขยายไปอีกหลายหมู่บ้าน กลายเป็นที่ศึกษาดูงาน”
ผลด้านสุขภาพที่น่าพอใจคือ 2 ปีผ่านไประดับสารเคมีในเลือดชาวบ้านลดลงจนไม่เป็นอันตราย เช่นเดียวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาไข้เลือดออกระบาดในชุมชนที่ให้ผลเชิงรุกอย่างชัดเจน
“เราก็แจ้งข้อมูลว่าในหมู่บ้านนี้ๆ สถานการณ์ปัญหาเป็นลำดับที่เท่าไรของอำเภอ มีตัวเลขคนป่วยกี่คน พอรู้แล้วชาวบ้านเขาก็ไปทำประชาคมกันเอง ออกเป็นมาตรการทางสังคมควบคุมกันเอง บ้านไหนธงเหลืองคือปลอดภัย แต่ถ้าธงแดงแสดงว่ามีผู้ป่วยหรือมีลูกน้ำยุงลายเป็นพาหะโรค” คุณหมอปวิตร ขยายภาพ
งานวิจัยภาวะสุขภาพจิตคนในอำเภอของโรงพยาบาลยังถูกต่อยอดให้เกิดประโยชน์ที่จับต้องได้คืนสู่ชุมชน โดยการลงไปให้ความรู้ที่ถูกต้องว่าผู้ป่วยจิตเวชเป็นกลุ่มที่น่าสงสาร และไม่จำเป็นต้องกักขังไว้ในบ้านหรือท้ายสวน จึงเกิดกลุ่มจิตอาสาดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน
“ช่วยกันติดตามเยี่ยมบ้าน คนไข้ไม่มาตามนัดก็ส่งข้อมูลให้หมอ ทำให้เขาได้รับยาและการรักษาที่ต่อเนื่อง มีอาสาสมัครช่วยค้นหากลุ่มเสี่ยง มีการอบรมให้ความรู้ชาวบ้านในการจัดการความเครียด และพยายามผลักดันให้เกิดวาระสุขภาพจิตในแผนงาน อบต.ซึ่งหลายตำบลขานรับ”
ออกแบบระบบสุขภาพที่ลงตัวกับชุมชน
มัสยิดเป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาในศาสนาของชาวมุสลิม และมัสยิดวันศุกร์เป็นที่รวมกิจกรรมของทุกๆคน โรงพยาบาลละงูจึงใช้ศาสนธรรมความเชื่อนี้เข้าไปสร้างกิจกรรม “มัสยิดส่งเสริมสุขภาพ” ให้ความรู้กับผู้นำศาสนา และส่งต่อไปยังชาวบ้านที่มาละหมาดทุกๆสัปดาห์
“เราเริ่มจากตรวจสุขภาพฟรีก่อน แล้วช่วยพัฒนามัสยิดให้สะอาด เช่น ก่อนเข้าพิธีเขาต้องชำระร่างกาย ใช้ขันรวมกัน หากเกิดอหิวาห์หรือโรคระบาดก็แพร่หมด เราเปลี่ยนเป็นก๊อกแทน.. ผู้นำศาสนาบางคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกสูบบุหรี่ จากไม่เคยสวมหมวกกันน็อคก็สวม กลายเป็นต้นแบบให้ชาวบ้าน”
หรือการส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาสุขภาพท้องถิ่น ด้วยความคิดที่ว่าชาวบ้านจะได้ดูแลรักษากันเองเบื้องต้น ไม่ต้องเสียค่ายาสมัยใหม่ ไม่ต้องพึ่งหมอในโรงพยาบาล เกิดเป็น“เครือข่ายสายใยแพทย์แผนไทย” เช่น ศูนย์แผนแพทย์ไทยที่ รพ.ละงู มีการอบรมการนวด, ที่โรงเรียนละงูพิทยาคม ปลูกพืชสมุนไพรทำยากันยุง เด็กในโรงเรียนกำแพงพิทยารวมกลุ่มกันลงไปนวดให้คนในชุมชน
ในหลายชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาล ยังรวมกลุ่มด้านสุขภาพหลากหลายกิจกรรม อาทิ เครือข่ายสุขภาพจิต, กลุ่มดูแลเด็กปัญญาอ่อน คนพิการ ที่มีหน่วยเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลและ อสม.ลงไปช่วยทำกายภาพบำบัด และทำงานร่วมกับศูนย์การเรียนรู้พิเศษ จ.สตูล
“เกิดจากการมองเห็นปัญหาร่วมกัน เช่น ชาวบ้านมาโรงพยาบาลต้องรอนาน 2-3 ชั่วโมง ก็รวมกลุ่มช่วยกันเองก่อน เราก็สนับสนุน เช่น คนไข้เบาหวาน ก็ให้เขารวมกลุ่มกันแล้วนัด อสม.ไปเจาะเลือดตามบ้าน เอาผลเลือดมาให้หมอจัดยาให้ หรืออย่างกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคที่ดูแลเรื่องอาหารปลอดภัยในหมู่บ้าน”
……………………………………………….
จุดเปลี่ยนไม่ได้อยู่ปลายทาง ทว่าเริ่มตั้งแต่ต้นทางความคิด “ระบบสุขภาพที่มีใจนำทาง” ใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือ “คืนข้อมูลสุขภาพให้ชุมชน” และสุดท้ายคือเก็บเกี่ยวความสำเร็จจาก “พลังเครือข่าย”
ขณะเดียวกัน “ผู้ให้” ย่อมได้รับกลับมา แม้มิได้คาดหวัง ดังที่ นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ บอกว่า
“ทำให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันยิ่งใหญ่ยั่งยืนได้.. อีกมุมหนึ่งสิ่งต่างๆที่เราทำให้ชุมชนเป็นเกราะกำบังเมื่อเกิดปัญหา เช่น ผู้นำศาสนาก็ช่วยเราเยอะเวลาเกิดเรื่องร้องเรียนต่างๆในโรงพยาบาล” .