“เมดิคัล ฮับ” เม็ดเงินมหาศาล กับ “สุขภาพชุมชน” บนความสุ่มเสี่ยง
เม็ดเงินนำเข้ามหาศาล กับชาวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาใช้บริการแพทย์ในประเทศ ทำให้เกิดความพยายามผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนพาไปสำรวจความหวั่นวิตกและเสียงเตือนว่าระบบสุขภาพชุมชนจะถูกบั่นทอน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขระหว่างคนจน-รวยจะยิ่งถ่างขึ้น
…………………………………
เม็ดเงินกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท คือรายได้ที่ประเทศไทยได้รับจากการให้บริการรักษาพยาบาลปี 2552 และปี 2551 มีชาวต่างชาติเข้ารับบริการ 1.36 ล้านคน จำนวนนี้เป็นชาวยุโรปถึง 20% สะท้อนว่าไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเรื่องบริการทางการแพทย์ ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเล็งผลเลิศในการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (เมดิคัล ฮับ)
“ดูดเงินเข้าประเทศ” เป้าหมาย “เมดิคัล ฮับ”
ปี 2545 นโยบายเมดิคัล ฮับ ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างครั้งแรก ด้วยหลักคิดดึงเงินจากต่างชาติเข้าประเทศผ่านการขายบริการรักษาพยาบาล จนปัจจุบันย่างเข้าเฟส 2(2553-2557) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเจ้าภาพทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ได้จัดทำร่างเฟส 2 เสร็จแล้ว ตั้งเป้าดึงผู้รับบริการต่างชาติเข้ามาไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน เม็ดเงินเข้าประเทศ 5 ปี กว่า 4 แสนล้านบาท ตามขั้นตอนคือต้องนำแผนเข้าสู่กระบวนสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการทำประชาพิจารณ์ และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อนประกาศใช้ในท้ายที่สุด
ระหว่างนี้มีการผลักดันโครงการรองรับอย่างเข้มข้น อาทิ นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 ด้วยการให้ไทยเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ พัฒนาศักยภาพแพทย์ทางเลือก สปา นวดแผนโบราณ เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรม ความบันเทิง หรือแม้แต่ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนในโรงพยาบาลไทยให้กลายเป็นศูนย์อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ 100% ของมูลค่าเงินลงทุน และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
สุขภาพชุมชนบนความ “สุ่มเสี่ยง”
ทว่า ในการประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 3 กลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา มีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากตัวแทนภาคประชาชน ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนนโยบายเมดิคัล ฮับ มากกว่านี้ เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันธุรกิจพยาบาล กระทั่งทำให้คนไทยเสียโอกาสทางการรักษาในท้ายที่สุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติวิเคราะห์แล้วว่านโยบายของบีโอไอขัดต่อธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ข้อ 51 ที่ระบุว่ารัฐไม่พึงให้การสนับสนุนหรือให้สิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุนกับบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจ จึงมีมติให้บีโอไอระงับการขยายการส่งเสริมการลงทุนโครงการเมดิคัล ฮับ
แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ การส่งเสริมการลงทุนด้านสุขภาพ ทำให้คนไทยโดยเฉพาะคนด้อยโอกาส เสียโอกาสในบริการทางการแพทย์ อย่างไร?
นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) และกรรมการคณะกรรมการปฏิรูป(ค.ป.ร.) บอกว่าเมดิคัล ฮับ มีผลกระทบชัดเจนต่อชุมชนและชนบท เพราะแพทย์และพยาบาลจากท้องถิ่นจะถูกดึงไปให้บริการคนที่มีฐานะดีโดยเฉพาะชาวต่างชาติ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร เกิดภาวะสมองไหล
“มีคนบอกว่าเมดิคัล ฮับ ใช้เฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. จึงไม่กระทบแพทย์ตามชนบทหรือโรงพยาบาลชุมชนซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ นั่นเป็นการมองปัญหาแบบตัดตอน” นพ.วิชัยกล่าว
วงจร “สมองไหล” หมอเมือง-ชนบท
นพ.วิชัย บอกว่าการขาดแคลนแพทย์เป็นปัญหาเรื้อรังกว่า 50 ปี แม้จะเพิ่มการผลิตแพทย์ขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะไม่มีระบบจัดการที่ดี ทำให้แพทย์กระจุกตัวอยู่ใน กทม. โดยแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐรวมถึงอาจารย์แพทย์จะถูกดูดไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 5–20 เท่า ขณะที่ภาระงานน้อยกว่าชัดเจน กลับกันกับพื้นที่ชุมชนและชนบทที่ได้ค่าตอบแทนน้อยแต่งานหนัก
“โรงพยาบาลเอกชนดูดจากโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลรัฐก็ดูดจากโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลจังหวัดดูดจากโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน ท้ายที่สุดคนในพื้นที่ห่างไกลก็จะไม่มีแพทย์ โดยสัดส่วนการดูแลแพทย์ต่อคนไข้ในขณะนี้ ใน กทม.แพทย์ 1 คน ดูแลผู้ป่วยไม่ถึง 1,000 คน ขณะที่ในชนบทหรือชุมชน แพทย์ 1 คน จะดูแลคนไข้กว่า 1 หมื่นคน” นพ.วิชัยระบุ
กรรมการ ค.ป.ร.ยืนยันว่านโยบายเมดิคัล ฮับ จะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นระหว่างเมืองกับชนบท ถ่างช่องว่างให้เกิดขึ้นระหว่างส่วนกลางกับชุมชน ซึ่งหากมีการส่งเสริมการลงทุนด้านบริการทางการแพทย์จริง ยิ่งทำให้กระทบต่อระบบสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น
“ปัญหาระบบสาธารณสุขมีด้วยกัน 3 ด้านคือ 1.ความเท่าเทียม 2.คุณภาพ ซึ่งเมดิคัล ฮับ จะทำลายส่วนนี้ไป และ 3.ประสิทธิภาพระบบการเงินการคลัง”
นพ.วิชัย อธิบายว่า ขณะนี้ไทยใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายรายหัว คือบัตรทองและประกันสังคม ซึ่งจะไม่เป็นปัญหาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน แต่หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจในระบบหลักประกันสุขภาพเหล่านี้ได้ ก็ต้องไปใช้บริการเอกชนและแบกภาระค่าใช้จ่ายตามมา
“เมื่อขาดแคลนแพทย์ก็กระทบคุณภาพ กระทบความมั่นใจ เชื่อมโยงกันหมด อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีสิทธิ์เดินหน้านโยบายเมดิคัล ฮับ ต่อไป แต่ต้องหาวิธีไม่ให้กระทบประชาชนในชุมชน” นพ.วิชัยทิ้งท้าย
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท มองว่า แม้ยังไม่เดินหน้าเมดิคัลฮับเต็มรูปแบบ แพทย์ต่างจังหวัดก็ถูกดึงตัวไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเสริมความงามอยู่แล้ว แต่หากผลักดันนโยบายจนสำเร็จยิ่งทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น
หา “จุดพอดี” บนเม็ดเงิน-สุขภาพคนจน ได้หรือ?
ขณะที่ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฉายภาพผลกระทบต่อชุมชนหากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติว่า การดูดแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐออกไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก เป็นการแยกมาตรฐานให้บริการระหว่างคนรวยกับคนจน แต่ที่น่าวิตกกว่านี้คือการเปิดกว้างให้มีการนำยาและเครื่องมือแพทย์ใหม่เข้ามาใช้ ซึ่งบางกรณียังไม่ได้ผ่านระบบการตรวจสอบความปลอดภัย นั่นอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะที่ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองมากยิ่งขึ้น
น.ส.กรรณิการ์ แสดงความกังวลอีกว่ากรมสนับสนุนฯ จะเสนอให้โรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์ เปิดบริการคลินิกพิเศษในเวลาราชการ ซึ่งอาจมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและหารายได้เพิ่มให้กับแพทย์และพยาบาล โดยมองว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาสมองไหล แต่อย่างไรก็ตามไม่มีหลักประกันใดจะยืนยันได้ว่าคนไข้ในระบบหลักประกันสุขภาพจะไม่ได้รับการบริการที่เหลื่อมล้ำ
กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังคาดการณ์ว่า ถ้ามีการแข่งขันทางธุรกิจรักษาพยาบาลจริง แต่ละโรงพยาบาลในชนบทก็พยายามพัฒนาเพื่อการแข่งขัน ขณะที่มีการอนุญาตให้เปิดคลินิกพิเศษได้อีกด้วย ยิ่งทำให้ประชาชนในชนบทได้รับผลกระทบอย่างหนัก
“ถามว่าแพทย์และพยาบาลจะบริการประชาชนธรรมดาที่ใช้สิทธิบัตรทองหรือประกันสังคมเทียบเท่าคนมีฐานะที่เข้ารักษาในคลินิกพิเศษหรือไม่ หรือจะจดจ่อกับคลินิกพิเศษซึ่งสร้างรายได้ได้สูงกว่าเดิม ถ้าเป็นเช่นนั้นนอกจากจะขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในชุมชนแล้ว ลำพังแพทย์ที่มีอยู่ก็ยังไม่ให้บริการอย่างเต็มที่” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
ทางด้าน นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มั่นใจว่าร่างยุทธศาสตร์เมดิคัล ฮับ เฟส 2 ได้รองรับการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ควบคู่กับการป้องกันปัญหาแพทย์สมองไหล อาทิแผนการผลิตบุคลากร แผนการดึงบุคลากรเพื่อให้อยู่ในระบบ แผนการกระจายบุคลากร ซึ่งจะแก้ปัญหาที่หลายฝ่ายหวั่นวิตกได้ และอย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงคัดค้านหรือมีคำสั่งให้ทบทวนการกระตุ้นการลงทุนด้านนี้ นโยบายเมดิคัล ฮับ ก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป
นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เคยเสนอทางออกสำหรับปัญหานี้ไว้ว่า ทุกฝ่ายต้องกลับมาดูเรื่องความเป็นธรรมให้กับคนจน โดยหากประเทศไทยเป็นเมดิคัล ฮับ จริง อาจให้มีการจัดเก็บภาษีจากผู้ให้บริการในโครงการเมดิคัล ฮับ และชาวต่างชาติที่มารับการรักษา เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาจัดทำเป็นงบประมาน สำหรับสร้างบุคลากรทางการแพทย์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
………………………………………..
น่าสนใจว่าท้ายที่สุด น้ำหนักสังคมจะเทให้ด้านใด ระหว่างตัวเลขทางเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินมหาศาล กับระบบสุขภาพชุมชน หรือจะสามารถหาจุดกึ่งกลางเพื่อให้ทั้งสองแนวทางดำเนินต่อไปได้อย่างควบคู่กัน
แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ ข้อมูลจากคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นนโยบายศูนย์กลางสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่ามีชาวต่างชาติเพียง 27% หรือ 1 ใน 3 ของชาวต่างชาติทั้งหมดที่ตั้งใจเดินทางมาใช้บริการสาธารณสุขในไทย ส่วนที่เหลือเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยอยู่แล้ว
เมดิคัล ฮับ จะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นจริงหรือ? .