เหลียวหลัง แลหน้า ชุมชนไทย “สถานการณ์เด่น ประเด็นแรง”
รอบปีที่ผ่านมาสังคมไทยผ่านทุกข์หนัก ทั้งร้าวฉานแบ่งสี-ฝ่าย ภัยธรรมชาติซ้ำเติมปัญหารากหญ้าร้อนทั้งคดีคนจน ที่ดิน หนี้สิน แต่ก็มีเรื่องน่ายินดีที่วิกฤติเป็นโอกาสเกิด คปร.-คสป.มุ่งแก้ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และมิติการรวมพลังชาวบ้าน โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนร่วมเหลียวหลังปี 2553 แลหน้าปี 2554…
…………………………………
เหลียวหลังชุมชนไทยปี 2553…
ปี 53 เลวร้ายสุดของเกษตรกร : คดีที่ดิน หนี้สิน น้ำท่วม
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ คณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) และนักวิชาการที่คลุกคลีตีวงในกับเกษตรกรทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจนได้ฉายา “ดร.เกษตรกร” เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่ารอบปีที่ผ่านมาความเดือดร้อนของชาวบ้านเกิดจาก 3 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือคดีที่ดิน ชาวบ้านถูกจับข้อหาบุกรุกที่ดินรัฐทั้งที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อนประกาศเขตป่าสงวนป่าอนุรักษ์ ถูกตัดสินจำคุก 500 ราย ล่าสุด 5 ธ.ค.ได้รับการปล่อยตัว 18 ราย แต่อยู่ระหว่างคดีอีกเป็นหมื่น เรื่องนี้สะท้อนว่ากระบวนการยุติกรรมไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน
“คุณภาพชีวิตเกษตรกรปีนี้ตกต่ำมาก กระทบถึงความมั่นคงเศรษฐกิจชุมชน ความมั่นคงทางอาหาร นี่ยังไม่รวมเรื่องชุมชนที่ถูกไร่ลื้อจากนโยบายเมกกะโปรเจคทั้งหลาย” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว
เรื่องที่สอง ภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้พื้นที่การเกษตรกกว่า 8 ล้านไร่ นับว่าเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดของเกษตรกร บางคนไม่ได้รับค่าชดเชยตามเกณฑ์ เพราะท่วมไม่หมดแต่เหลือที่ทำกินเล็กน้อย ผลผลิตก็ลดลง หนำซ้ำราคาข้าวยังตก โรงสีบางแห่งไม่รับซื้อ บางแห่งกดราคา ต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว เรื่องที่สามหนี้สิน ปีนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแทบจะไม่คืบหน้า เพราะรัฐบาลใช้วิธีการให้ธนาคารและสถาบันการเงินไปจัดการหนี้สินเกษตรกรเองโดยไม่ผ่านกองทุนฯ แทนที่จะตัดต้นครึ่งหนึ่งยกดอกทั้งหมดตามเงื่อนไข ทำให้เกษตรกรเป็นล้านๆ ครอบครัวต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย
ดร.เพิ่มศักดิ์ ยังเสนอว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขเฉพาะหน้าคือปัญหาราคาข้าวหลังประสบภัยพิบัติ ขณะนี้อยู่ที่เกวียนละ 6,300 บาท ได้เงินส่วนต่างราคาประเมิน 1,000 บาท รวมแล้ว 7,000 กว่าบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่ทำกินได้หลังน้ำท่วมที่เหลือไม่มาก เกษตรกรจะอยู่ไม่รอด
จับตาเอฟทีเอ-ปัญหาน่าห่วงสารเคมีเกษตร
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี มองว่าปัญหาระดับโครงสร้างที่น่าจับตาคือข้อตกลงเอฟทีเอกับยุโรปที่จะมีผลกระทบกับชุมชน ทั้งสิทธิบัตรยา พันธุ์พืช การเปิดเสรีการเกษตร ปัญหาสารเคมีจากอุตสาหกรรมสู่ชุมชน เช่น กรณีมาบตาพุด นอกจากนี้ปีหน้าคาดว่าสถานการณ์ความมั่นคงอาหารชุมชนจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะวงจรการผลิตตกอยู่ในมือนายทุนเกษตรหมดแล้ว
อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน สะท้อนว่าปัญหาสารเคมีน่าเป็นห่วง นอกจากกระทบเกษตรกรโดยตรง ประเทศยังเสียประโยชน์มหาศาลจากการนำเข้า ล่าสุดมีการใช้งบประมาณแก้ปัญหาภัยพิบัติซื้อสารเคมียาฆ่าแมลงแจกชาวบ้านหลายจังหวัดทั่วประเทศเพื่อแก้ปัญหาโรคแมลงระบาดหลังน้ำท่วม ทั้งที่กฏหมายระบุว่าการระบาดต้องมีพื้นที่ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 500 ไร่
“ซื้อมาแจกทำไม ในพื้นที่ไม่ได้มีการระบาดของแมลง อาจเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เพราะ ครม.ตั้งนักธุรกิจด้านสารเคมีเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย” นายอุบล กล่าว
อุบล ยังแสดงความห่วงใยถึงนโยบายเกษตรอินทรีย์ที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติและผ่าน ค.ร.ม.ไปแล้วในปี 2549 แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีความคืบหน้าจากหน่วยงานรัฐ
การเมืองร้อน-รากหญ้าร้าว ขาดกระบอกเสียงชุมชน
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มองประเด็นร้อนที่ยังระอุ คือปัญหาการเมืองระดับประเทศที่ส่งผลลึกถึงท้องถิ่น ทำให้สังคมแตกหักถึงขีดสุด จะจัดการความแตกต่างทางความคิดร้อยเชื่อมกับมิติการแก้ปัญหาอื่นๆในสังคมได้อย่างไร วิฑูรย์มองว่าความหวังขึ้นอยู่กับกระแสการปฏิรูป ซึ่งหากสามารถนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนได้จริง ความขัดแย้งและวิกฤติต่างๆก็จะคลี่คลายลง
จรัล พากเพียร อนุกรรมการสื่อสารสิทธิมนุษยชนเพื่อการสาธารณะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองภาพชุมชนไทยรอบ 1 ปีว่าเกิดความขัดแย้งหลายเรื่อง ทั้งการเมืองที่มีการแบ่งแยกสี ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ดิน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการได้รับข้อมูลไม่เท่ากันของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมองบทบาทสื่อว่านำเสนอเรื่องสิทธิชุมชนน้อยมาก โดยเฉพาะวิทยุชุมชนซึ่งถือว่าเป็นสื่อท้องถิ่นที่เข้าถึงชาวบ้านที่สุด
“เรามีสื่อมากมายทั้งระดับประเทศระดับโลกระดับชุมชน แต่ไม่มีเนื้อหาสาระใส่เข้าไปเพื่อให้คนได้เรียนรู้ว่าสิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในวิถีชีวิต ปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้มันหายไปเพราะความมุ่งเอากำไร ส่วนวิทยุชุมชนเพื่อชุมชนเองจริงๆก็มีอยู่น้อยมาก” จรัล กล่าว.
ใช้บทเรียนมองไปข้างหน้าปี 2554…
“สภาเกษตรแห่งชาติ-พ.ร.บ.เกษตรยั่งยืน” ความหวังรากหญ้า
ดร.เพิ่มศักดิ์ มองความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่น่ายินดี ได้แก่ 1.การคลอด“พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สภาเกษตรกรแห่งชาติ” เป็นกฎหมายที่สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตกรเพื่อผลักดันข้อเสนอนโยบาย แผนปฏิบัติการต่างๆในการพัฒนาภาคเกษตรกรรม 2.การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชน ซึ่งแม้ปัจจุบันยังติดปัญหาในทางปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก็สะท้อนว่ามีกลไกอันเป็นช่องทางที่ดี
“ปี 2553 มีคดีเกษตรกรเยอะขึ้นมาก หวังว่าปี 2554 เรื่องที่ดินจะได้รับการคลี่คลายแก้ไขเด็ดขาด ส่วนมิติอื่นๆมีความไม่เป็นธรรมของเกษตรกรที่ตกอยู่ในระบบพันธสัญญา รัฐควรลงมาแก้ปัญหา รวมทั้งควบคุมการใช้สารเคมีเกษตรซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว
วิฑูรย์ มองว่าสภาเกษตรฯเกิดจากการขับเคลื่อนของภาคชุมชนและมีเสียงขานรับจากภาคการเมือง แต่ต้องจับตาไม่กระพริบว่าเกษตรกรรายย่อยจะได้เข้าไปนั่งเป็นตัวแทนในสภาฯดังเจตนารมย์เบื้องต้นหรือไม่ หรือจะกลายเป็นที่ตักตวงผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนเกษตรกรรายใหญ่ วิฑูรย์ยังมองว่าสิ่งที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นคือ พ.ร.บ. เกษตรกรรมยั่งยืน จะเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งเป็นรูปธรรมให้เกษตรกร
“ตั้งเป้าตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 8 จนแผนฯ 11 ยังผลักดันเกษตรยั่งยืนได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะขาดกลไกที่เป็นการปฏิรูปภาพรวมให้เห็นผล ไม่ใช่เพียงคำพูด” วิฑูรย์ กล่าว
ความคืบหน้ารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ.แล้ว มีองค์ประกอบจากตัวแทนรัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่ายการเมือง ภาคประชาชน เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน แต่ตามกรอบเวลาที่ ค.ร.ม.กำหนดต้องเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งคงไม่ทัน
“ควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายให้ความเห็นอย่างกว้างขวางก่อนจึงจะผลักดันในรูปของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีคู่ขนานไปด้วย แม้ตอนนี้ยังอยู่จุดเริ่มต้น คาดหวังว่าปีหน้าคงได้ระเบียบและแผนปฏิบัติการต่างๆออกมาก่อน ส่วน พ.ร.บ.ก็รอให้รอบคอบ ภาคประชาชนไม่ได้รีบร้อน” วิฑูรย์ กล่าว
ส่วนอุบล มองระดับพื้นที่ว่าสิ่งดีที่เกิดขึ้นปี 53 คือการที่เกษตรกรส่วนหนึ่งเริ่มรู้ทันระบบเศรษฐกิจและการตลาดมากขึ้น หันมาทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากลดต้นทุนการผลิต ยังทำให้สุขภาพดีขึ้น แต่อาจต้องใช้เวลาอีกระยะสำหรับการสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรที่ยังใช้สารเคมี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับบทบาทจากที่มุ่งสอนแต่เกษตรกรมาเป็นเรียนรู้ร่วมกัน เพราะเดี๋ยวนี้เกษตรกรมีความรู้เยอะมาก
วิกฤติสร้างโอกาส “เสียงชุมชน-ประชาธิปไตยรากหญ้า-คณะกรรมการปฏิรูป”
จรัล กล่าวว่า ท่ามกลางความขัดแย้งและปัญหาด้านต่างๆ เมื่อมองมุมกลับก็มีผลสะท้อนให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะออกมาปกป้องสิทธิตนเองมากขึ้น เช่น ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชนที่ควรได้รับตามรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับวิฑูรย์ ที่มองว่าเป็นพัฒนาการสืบเนื่องกันมา 4-5 ปีแต่ปรากฏรูปธรรมชัดเจนในปีนี้คือชุมชนมีบทบาททางการเมืองและสังคมมากขึ้น มีการรวมตัวเข้มแข็งผลักดันนโยบายหลายเรื่อง เช่น โฉนดชุมชน สวัสดิการชุมชน ในระดับพื้นที่ก็มีการรวมกลุ่ม เช่น กลุ่มพัฒนาพันธุ์ข้าว และกระบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนก็ขยายผลในหลายพื้นที่
ด้านบำรุง คะโยธา นายก อบต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ นักพัฒนาที่ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนชุมชนของคณะกรรมการรสิทธิมนุษยชนปี 2553 กล่าวว่า แม้ปีนี้จะมีการชุมนุมแบ่งขั้วทางการเมืองชัดเจน การต่อสู้ดุเดือด แต่หากมองอีกมุมเป็นโชคดีให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการปฏิรูป(ค.ป.ร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(ค.ส.ป.) หาสาเหตุปัญหา หาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาระยะยาว ตนยังมองว่าความพยายามให้หันหน้าพูดคุยรับฟังความคิดเห็นกันเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ปัญหายุติลงได้
“ตัวอย่างในพื้นที่ผมก็มีการแบ่งสีชัดเจน เราใช้ประเพณีวัฒนธรรม อาชีพ วิถีชีวิตเป็นตัวเชื่อมชาวบ้านที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน เช่น จัดมหกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีใครพูดถึงเรื่องสี คนทั้งตำบลและใกล้เคียงมาร่วมมือกัน ชาวบ้านได้พูดคุยกัน มีปราชญ์ชาวบ้านมาร่วม” บำรุง กล่าว
สน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่าการเมืองรอบปีกระตุ้นให้ชาวบ้านตื่นตัวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งมีผลสะท้อนทั้งด้านดีและไม่ดี เพราะชาวบ้านไม่เคยมีโอกาสได้ใช้สิทธิอย่างนี้มาก่อน การเขย่าให้ตื่นแบบไม่มีทิศทางจึงสร้างอารมณ์ฉุนเฉียวจากแรงกดดันที่สะสมมานาน การต่อสู้จึงรุนแรง แต่ในอีกด้านก็ทำให้ประชาธิปไตยไทยก้าวกระโดด ชนชั้นปกครองสนใจภาคประชาชนมากขึ้น เกิดกระบวนการประชาธิปไตยชุมชนที่ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงภูมิภาค ผลักดันการแก้ปัญหาชุมชนจนถึงระดับนโยบายที่สำคัญ
ลุงสน ยังกล่าวว่า จุดเปลี่ยนสำคัญคือการเกิดขึ้นของ คปร. และ คสป. ทำให้ประตูที่เคยปิดตายไว้แง้มออกมา แต่ปัญหาคือชาวบ้านจำนวนมากยังเข้าใจว่ากระแสปฏิรูปเป็นเพียงเครื่องมือยื้อเวลาของรัฐบาล ในระยะเวลาอันใกล้จึงยังหาความสงบไม่ได้ แม้จะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็ไม่ใช่ทางออก
“เราออกจากบ่วงไม่ได้ในเวลาอันสั้น ประชาชนส่วนใหญ่ถูกครอบในระบบอุปถัมภ์นานเกินไป อาการตอนนี้ชาวบ้านเบื่อความขัดแย้งเบื่อม็อบเบื่อการเมือง ทางออกที่เป็นไปได้คือขยายฐานประชาธิปไตยชุมชนเพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางนโยบายสู่ความสงบของประเทศ แต่ปี 54 ไม่เจอแน่นอน” ลุงสน สรุป
ด้านตำนานม็อบชาวบ้าน สวาท อุปฮาด ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาคนจน มองว่าปีนี้เป็นปีแห่งการต่อสู้ระหว่างชุมชนกับภัยพิบัติ ขณะเดียวกันก็ปรากฏภาพกระบวนการเรียนรู้และทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนด้วยกัน องค์กรท้องถิ่น ภาครัฐอย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ส่วนสมัชชาคนจนปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการเจรจากับรัฐบาล ซึ่งการแก้ปัญหายังติดๆขัดๆไม่เห็นรูปธรรมชัดเจนต่อเนื่อง และที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มปัญหาป่าไม้ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นเรื่องร้อนรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะรัฐไม่มีเอกภาพ บังคับหน่วยงานทำตามคำสั่งไม่ได้
“ขยับบ้าง เช่น การเยียวยาชดเชยกรณีที่ดินบางส่วน หรือเขื่อนปากมูลที่ผลเจรจาออกมาค่อนข้างน่าพอใจแต่ยังไม่ได้แก้อะไรในทางปฏิบัติ เรื่องพื้นที่ป่าที่ยังหาข้อตกลงไม่ได้ก็เผชิญหน้ากันอยู่บ่อยครั้ง”
สวาท กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลยังไม่มีท่าทีชัดเจน ชาวบ้านอาจจะรวมตัวเคลื่อนมวลชนเพื่อเสนอปัญหาต่อสาธารณะตามแนวทางของสมัชชา ควบคู่กับการเจรจาเพื่อบอกให้รัฐบาลรู้ว่ายังมีการรวมกลุ่มก้อนกันอยู่
………………………………………
ปีใหม่เริ่มต้นพร้อมๆกับสัญญาณเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการเก็บเกี่ยวผลบรรดาประชานิยมที่โปรยไว้กับคนรากหญ้า แต่ทิศทางชุมชนไทยไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงการเมือง พหุพลังสร้างสรรค์ช่วยกันขับเคลื่อนได้ วันนี้อาจยังไกล แต่คงมีสักวันที่จะตะโกนชัดถ้อยชัดคำว่า “ชาวบ้านตกปลาเป็น”.