ได้เวลาปฏิรูปการจัดการภัยพิบัติ “เสียงสะท้อนจากชุมชนต้นทาง”
วิกฤติน้ำท่วมหมาดๆ หรือ 6 ปีย้อนโศกนาฏกรรมสึนามิ กระทั่งน้ำท่วมซ้ำซาก ภัยแล้งจนชาชิน สังคมไทยได้บทเรียนอะไร ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องหาคำตอบให้กับระบบจัดการภัยพิบัติที่ดีพอจะรับมือ ตั้งแต่การป้องกัน การเตือนภัย การช่วยเหลือบรรเทา และการฟื้นฟู
............................................
วิกฤติที่แปรเป็นโอกาสของน้ำท่วมหนักชุมชนโคราช
โคราชเป็นพื้นที่แรกๆที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงรวดเร็วไม่ทันตั้งตัวจากภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา หทัย คำกำจร ตัวแทนผู้ประสบอุทกภัย จาก ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เล่าประสบการณ์ตรงว่าช่วงก่อนเกิดเหตุได้รับแจ้งเตือนจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่น่าเกิดขึ้น เพราะภาพน้ำท่วมที่ผ่านมาๆไม่เคยทำให้กระเบื้องใหญ่เสียหายหนัก พอน้ำมาจริงๆจึงเตรียมการไม่ทัน บ้านเรือนเสียหาย ต่างขวัญเสียทำอะไรไม่ถูก ขณะที่หน่วยงานในพื้นที่ก็มีอุปกรณ์ไม่เพียงพอช่วยเหลือ
“พอตั้งสติก็คิดว่าต้องเอาคนออกจากบ้านก่อน อบต.พยายามลงมาช่วย แต่ทั้งหมู่บ้านมีเรือกู้ภัยลำเดียว บางคนติดอยู่ในบ้านไม่มีอาหาร พอออกมาได้ก็ไม่รู้จะหาที่อยู่ที่ไหน ไม่มีโรงครัว โกลาหลไปหมด”
หทัย ยอมรับว่า ความสูญเสียหนักที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากความประมาทของชาวบ้านเอง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือหน่วยงานในพื้นที่ ไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือปัญหา ทั้งๆที่รู้ล่วงหน้าแล้วเพราะแจ้งเตือนชาวบ้านเอง ตรงกันข้ามหน่วยงานแรกๆที่เข้าถึงพื้นที่คือเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและภาคีภาคประชาชน ที่เข้ามาช่วยจัดขบวนให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกันเองตามกำลังเพื่อบรรเทาปัญหาเร่งด่วนก่อน หลังจากนั้นจึงมีหน่วยงานอื่นๆมากมายตามเข้ามาแบบต่างฝ่ายต่างทำ ความช่วยเหลือมากมาย-ซ้ำซ้อน แต่ไม่ตรงความต้องการชาวบ้าน ของบริจาคล้น ขณะที่พื้นที่อื่นขาดแคลน
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ชาวบ้านได้รวมกันตั้งศูนย์กลางรวบรวมสิ่งของและกระจายไปยังพื้นที่อย่างทั่วถึง จัดระบบช่วยเหลือกันเอง ทำงานมีประสิทธิกว่าราชการ ครบถ้วนตรงความต้องการมากกว่า หลังน้ำลดชาวบ้านร่วมกันฟื้นฟูวิถีชีวิต ร่วมคิดร่วมทำ สร้างกลุ่มอาชีพขึ้นมาใหม่เพราะน้ำท่วมทำให้นาตาย ชาวบ้านจึงปลูกผักเพื่อกินและขายบ้าง ตั้งกลุ่มทำปลาร้า เลี้ยงปลาบ่อ และพยายามฟื้นธนาคารข้าว โดยกำลังประสานกับหน่วยงานที่สนับสนุน เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ในลักษณะกองทุนหมุนเวียน
“เมื่อก่อน ต.กระเบื้องใหญ่ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไรนัก เหตุการณ์ที่ผ่านมาแม้จะโหดร้าย แต่อีกทางก็สร้างให้ชาวบ้านสามารถตื่นตัวรวมตัวสร้างพลังกัน จนถึงวันนี้ในหมู่บ้าน ตำบลยังคงมีการประชุมวางแผนระยะสั้น กลาง ไกล อยากเสนอให้ราชการใช้บทเรียนนี้ประสานการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย”
บทเรียนจากคาบสมุทรสทิงพระ สงขลา
พูนทรัพย์ ศรีชู ผู้ประสบวาตภัยจากคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา เล่าว่า วันที่เกิดเหตุ การสื่อสารทุกอย่างในพื้นที่ถูกตัดหมด ชุมชนติดต่อกับโลกภายนอกไม่ได้ วันรุ่งขึ้นก็มีข้าวสารอาหารแห้งมากมายส่งมาที่หมู่บ้าน แต่ชาวบ้านที่นี่ประสบวาตภัยไม่ใช้น้ำท่วม ดังนั้นสิ่งที่ต้องการและจำเป็นเร่งด่วนกว่าคือกระเบื้องมุงหลังคา แสดงให้เห็นว่าองค์กรทั้งราชการ เอกชน อบต. ไม่ได้ประสานข้อมูลกันเลย ชุมชนจึงรวมตัวกันสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนส่งต่อให้ อบต. สื่อสารไปภายนอก อีก 3 วันความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการจึงค่อยทยอยเข้ามาบางส่วน
“แต่การเชื่อมงานยังทำไม่ได้ จังหวัดทำ อำเภอทำ ผู้ใหญ่บ้านกำนัน อบต.ทำหมด ข้อมูลจึงมีหลายชุด บางบ้านรอเป็นอาทิตย์ไม่ได้กระเบื้อง บางบ้านวันนี้กระเบื้องยังกองอยู่ไม่รู้เอาไปทำอะไร เราจึงพยายามชี้เป้าข้อมูลโดยรวมตัวกันเป็นโซนครอบคลุม 4 อำเภอ ทำสำรวจและจัดลำดับความจำเป็นก่อนหลังส่งให้หน่วยช่วยเหลือ และหาช่างอาสาจากนอกพื้นที่มาช่วยสร้างบ้าน” พูนทรัพย์ บอก
สุขสร้างได้ ณ ใจกลางคลื่นคลั่ง : รูปธรรมจากชุมชนน้ำเค็ม
หลังเหตุการณ์สึนามิ ชาวบ้านน้ำเค็มเกิดความคิดว่า “ต้องพึ่งพิงตนเอง” ฟื้นฟูกันเองก่อนที่จะหวังจากภายนอก นพคุณ แสงสุริยัน เล่าว่า จากระยะแรกๆที่มีแต่เสียงระบายความทุกข์ ทะเลาะแย่งชิงความช่วยเหลือ สถานการณ์ดีขึ้นเมื่อชาวบ้านรวมตัวกัน มีศูนย์ประสานงานชุมชนน้ำเค็ม เป็นศูนย์รวมพลังและการจัดการต่างๆ ทั้งการฟื้นฟูชุมชน สร้างบ้าน สวัสดิการ และสร้างอาชีพ ขณะที่ นพ.บัญชา พงษ์พานิช เล่าว่า ชาวบ้านยังได้รวมตัวกันจัดทำแผนเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติ ของชุนชนเอง
“เขารวมตัวกันทำแผน มีคณะกรรมการ และมีการสำรวจเลยว่า บ้านน้ำเค็มมีคนอยู่ 4 พัน ที่อยู่ครึ่งหนึ่งเป็นสีแดง ปลอดภัยเฉพาะสีเขียว แล้วถ้าคลื่นมาจะทำอย่างไรไม่ให้วิ่งเหยียบกันตายเพราะถนนแคบ ทำแผนที่เลยว่าบ้านมีกี่ละแวก ออกแบบเป็นโซนว่าแต่ละโซนมีกี่ซอย ถ้าจะมาถึงที่ปลอดภัยกี่กิโล กี่นาที แล้วกำหนดเส้นทางชัดเจนว่าโซนนี้ให้วิ่งไปสีเหลือง โซนนี้ไปสีม่วง สีฟ้า..
ถ้าหากอยู่กันคนละที่ ให้รู้ว่าไปที่ไหนจะพบกันไม่ต้องกลับบ้าน ถ้าไม่เจอค่อยบอกให้คนไปตาม ซึ่งจะมีคนที่เฝ้าอยู่ตามจุดต่างๆ เช่นคนที่เฝ้าระวังขโมย คนที่เฝ้าชายฝั่งดูความผิดปกติของน้ำทะเล ผมคิดว่ากรณีอย่างนี้น่าจะคลายวิตกกังวลได้ ถ้าพื้นที่ไหนทำ..”
ระบบป้องกันภัยพิบัติของชุมชนน้ำเค็มยังได้รับการทดสอบจริง เมื่อคราวเกิดข่าวแผ่นดินไหวและประกาศอพยพคนในหลายประเทศ ในขณะที่ยังไม่มีข่าวจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ชาวบ้านจึงตัดสินใจประกาศเตือนภัยในชุมชน กระจายอาสาสมัครออกแจ้งข่าวและเคลื่อนย้ายคนตามแผน มีการดูแลอพยพเด็ก คนชรา คนป่วย ที่สำรวจไว้แล้ว มีอาสาสมัครคอยดูระดับน้ำทะเลและระวังขโมย มีเครือข่ายวิทยุสื่อสารอย่างเป็นระบบ แม้เหตุการณ์ครั้งนั้นมิได้เกิดขึ้นจริง แต่ระบบป้องกันภัยของชาวน้ำเค็มก็ได้รับการทดสอบแล้วว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจคลายความหวาดผวาที่จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์จริงได้บ้าง
ถกปฏิรูประบบจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ
ในเวทีปฏิรูปการจัดการภัยพิบัติ “ร่วมพลิกวิกฤติเป็นโอกาส วาระรำลึก 6 ปีสึนามิ” เมื่อเร็วๆนี้ มีเครือข่ายชุมชนที่ได้ผลกระทบจาภภัยพิบัติ เอ็นจีโอ นักวิชาการ ร่วมกันสะท้อนบทเรียนตรง และนำเสนอทางออกที่จะนำไปสู่รูปธรรมการปฏิบัติอย่างบูรณาการในระยะยาว
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสา กล่าวถึงการจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพว่า จะต้องทำแบบบูรณาการ และสร้างการมีส่วนร่วมจาก 3 ฝ่ายคือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสำคัญที่สุดคือภาคประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาในพื้นที่ โดยการป้องกันควรมี 4 ระยะคือ ระยะไกลมาก เช่น สร้างสมดุลย์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การป้องกันระยะไกล เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเกี่ยวกับการจัดการธรรมชาติ การป้องกันระยะกลาง เช่น การวางผังเมืองและผังชนบท และการป้องกันระยะใกล้ เช่น การสร้างกำแพงกั้นริมแม่น้ำลำคลอง ทั้งนี้จะต้องเตรียมความพร้อมให้ครอบคลุมทุกด้าน รวมทั้งต้องสนับสนุนการวิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติที่สอดรับกับชุมชนให้มากพอ
ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอว่า 1.ให้นำตัวอย่างจากอาเซียนที่ใช้ระบบทหารซึ่งมีความพร้อมทั้งเครื่องมือและโครงสร้างไม่เทอะทะเหมือนราชการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ 2.รัฐบาลต้องพัฒนาขีดความสามารถมากขึ้น โดย ปภ.อาจเข้าไปช่วยท้องถิ่นในการสร้างแผนป้องกันภัยพิบัติชุมชน พัฒนาบุคลากรด้านการจัดการภัยพิบัติระดับท้องถิ่น ตั้งแต่การดูแลสุขภาพ การปฏิบัติภารกิจฉุกเฉิน การประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ ตลอดจนกระบวนฟื้นฟู 3.ปรับปรุงระบบเตือนภัย เช่น ข้อมูลที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายขึ้น 4.พัฒนาระบบบัญชาการของชุมชนให้เป็นรูปธรรม โดยสื่อทำหน้าที่เชื่อมประสาน 5.ทำและนำแผนปฏิบัติการระดับชุมชนสู่การปฏิบัติและขยายผลผนวกกับแผนท้องถิ่นของ อปท.โดยรวบเข้าไว้ในกรอบงบประมาณ สุดท้ายคือเตรียมความพร้อมระยะยาว เช่น ผลักดันเรื่องดังกล่าวในหลักสูตรการศึกษา
ส่วนข้อเสนอภาคประชาชนต่อรัฐบาล ได้แก่ การเตรียมความพร้อมในการเตือนภัยและรับมือภัยพิบัติ ได้แก่ ให้รัฐบาลเป็นหลักในการให้ความรู้อย่างครอบคลุม, ตั้งศูนย์รับมือภัยพิบัติระดับชุมชนให้มีแผนที่เชื่อมกับท้องถิ่น, ใช้ภาษาการเตือนภัยให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย, ให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วมรับผิดชอบในฐานะหน่วยงานจัดการน้ำ รวมทั้งการช่วยเหลือคนไร้สัญชาติที่ไม่มีบัตรประชาชน และตั้งองค์กรอิสระทำหน้าที่เป็นศูนย์จัดการภัยพิบัติครบวงจร ทั้งระบบเตือนภัย เครื่องมืออุปกรณ์ บุคลากร งบประมาณ แผนรับมือ รวมถึงเป็นหน่วยฟื้นฟู
ด้านการบริหารจัดการในช่วงวิกฤติ เสนอว่าให้รัฐกำหนดระบบการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น การแก้ปัญหาที่ดินของผู้ประสบภัย การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย, กำหนดให้ภัยพิบัติเป็นวาระชาติที่มีแผนระยะสั้น กลาง ยาว มีการติดตามประเมินผล การฟื้นฟู และต้องสนับสนุนชุมชนจัดการภัยพิบัติด้วยตนเอง เช่น ตั้งกองทุนภัยพิบัติชุมชนเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต อาชีพ สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเครือข่ายอาสาสมัคร
……………………………………………………
นี่คือเสียงสะท้อนจากต้นทาง “ชุมชนผู้ประสบภัยพิบัติ” และมุมมองจากเครือข่ายภาคประชาชน ที่ร่วมกันสรุปบทเรียนความผิดพลาด และมองไปข้างหน้าถึงทิศทางการจัดการภัยพิบัติของประเทศ ทั้งระดับชาติและระดับชุมชน เป็นเสียงที่น่ารับฟัง เพราะงานนี้เงินอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบของปัญหา .