ปฏิรูปการศึกษาไทย ทางรอดแบบ“พอเพียง”
“เศรษฐกิจพอเพียง” มักถูกมองเป็นเพียงปรัชญา หรืออยู่ในท้องนา การปฏิบัติจึงอยู่ในวงแคบและถูกมองว่าทำได้ยาก แต่ภาวะที่โลกทุนนิยมกำลังถึงทางตันในหลายด้าน อาทิ ความไม่มั่นคงทางอาหาร ภาคเกษตรกรรมยังคงเป็นฐานที่มั่นเศรษฐกิจพอเพียงได้ และการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ความสำเร็จ
คำกล่าวข้างต้นมาจากวงสัมมนา “การศึกษาและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง” ของ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ หรือ “อ.ยักษ์” ที่หลายคนคุ้นเคย เป็นอดีตข้าราชการก่อนผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเดินตามรอยพระราชดำริ ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต
ภัยพิบัติ 4 เรื่องที่ในหลวงทรงเตือน
“หลายคนถามว่าทำไมผมถึงออก ก็บอกว่าเพราะรู้สึกกลไกราชการสนองพระราชดำริที่พระองค์ท่านให้ไว้ไม่ได้ สองคือหลังทำตามแนวทางนั้นประโยชน์เกิดขึ้นกับเราทันที พบจุดเปลี่ยนชีวิต จากเดิมที่ต้องอยู่กับรถติด อากาศเสียไม่มีความสุข ถึงจะมั่นคงแต่มันไม่ได้คำตอบของชีวิต”
อ.ยักษ์ อธิบายว่า พระเจ้าอยู่หัวเคยเตือนว่าประเทศไทยจะเจอภัยพิบัติ 4 เรื่อง เรื่องแรกคือภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้น สองคือโรคระบาดทั้งในพืช สัตว์ และคน ตามมาด้วยความอดอยาก ข้าวยากหมากแพง ที่นำไปสู่ปมความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง ที่เป็นบ่อเกิดของสงครามหย่อมเล็กหย่อมน้อยทั่วประเทศ ดังนั้นคงถึงเวลาแล้วที่ต้องมาเอาจริงเอาจังกับการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติเหล่านี้
“ต้นทางที่จะทำให้คนเข้าใจและเชื่อว่าปรัชญาคือทางออกของอนาคตคือการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการและมหาวิทยาลัยคือผู้มีบทบาทสำคัญ อาจต้องทบทวนใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ปรัชญานี้แทรกซึมลงไปตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงสถาบันการศึกษา นำปัญหาจริงๆของชุมชนมาสอน โดยครูเป็นผู้นำจัดการความรู้ใน 3 ระดับ คือตั้งสมมติฐานจากปรัชญา ทดลอง และนำสู่การปฏิบัติ”
อย่างไรก็ตาม หากดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมา บทพิสูจน์ที่เห็นชัดอย่างหนึ่งคือ การศึกษาในระบบมักสอนให้จำแต่สาระ แต่ไม่ได้ทักษะเชิงปฏิบัติ “โรงเรียนทุกแห่งบอกว่าต้นไม่โตได้ต้องใช้เอ็นพีเค แต่บอกเลยว่าต้นไม้อยู่ได้เพราะขี้อย่างเดียว ต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ และครูต้องเป็นผู้นำ ถามว่าทุกวันนี้ครูที่สอนเกษตรถ้าออกมาทำเกษตรเองจริงๆ จะทำให้อยู่รอดได้หรือไม่ การศึกษาในระบบที่สอนให้คนจำสาระแต่ขาดทักษะ ไม่มีทางรอด”
อ.ยักษ์ แนะว่าสถาบันศึกษาต้องจับมือกับสื่อและภาคส่วนอื่นที่สนใจ ทำในลักษณะทักษะนำสาระตาม หรือการนำต้นแบบจากพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จมาทำเป็นทฤษฎี เปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่, เปลี่ยนความคิด วิธีสอนของครู และเครื่องมือและสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนที่อิงพื้นที่ ชุมชน หากตัวอย่างความสำเร็จขยายไปมากเท่าไร จะเป็นการขับเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงได้จริง
ขยับจาก “อัตตาผิดๆ” มาสู่หลักสูตรติดดิน
ผู้ช่วย ศ.ดร.ธันวา จิตต์สงวน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะท้อนว่า เป้าหมายของอุดมศึกษาต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงไม่ชัดเจน ภาพรวมที่ออกมามักขึ้นอยู่กับอัตตาในตัวผู้สอน หรืออธิบายให้เข้าใจได้ว่า 1.บางคนอัตตาผิด แปลว่าเข้าใจเรื่องปรัชญาผิดเสมือนน้ำในแก้วที่เน่าสนิท 2.อัตตามากคือเข้าใจว่ารู้หมดแล้วแต่ไม่ทำ เหมือนน้ำเต็มแก้วไม่ยอมรับการเติมเต็มจากใคร 3.คิดว่าทำไม่ได้จึงไม่ทำ ข้อนี้หนักเหมือนแก้วที่คว่ำไว้ และ 4.รู้แต่รู้ไม่หมด เหมือนแก้วรั่วต้องเติมบ่อยๆ ดังนั้นเมื่อสถาบันการศึกษาขาดบุคลากรที่เข้าใจการขับเคลื่อนย่อมน้อยตามไปด้วย
“ประเด็นต่อมาคือสังคมไทยยังไม่มีหลักสูตรติดดินที่ที่อิงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งที่มหาวิทยาลัยเป็นสังคมจำลองที่มีรอยต่อกับสังคมจริง สุดท้ายคือภาครัฐและหน่วยงานที่ดูแลกำลังบ้าตัวชี้วัด ซึ่งถ้าบ้าจริงก็ต้องกล้าเอาเรื่องปรัชญาฯไปใส่เพื่อประเมินให้เห็นไปเลยว่าทำได้และไม่ได้ผลต่างกันอย่างไร” ผู้ช่วย ศ.ดร.ธันวา กล่าว
แม้ว่าการศึกษากับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอพียงในวันนี้จะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมความสำเร็จได้ชัดเจน แต่ก็มีพื้นที่รูปธรรมหลายแห่งที่จัดการเรียนการสอนโดยอิงเอาศาสตร์ของพระราชามาสู่การปฏิบัติ อย่างที่วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม จ.เชียงใหม่ โดย พระอาจารย์สรยุทธ์ ชยปัญโญ พระนักพัฒนาจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1สาขาวิศวกรรมศาสตร์จากรั้วมหาวิทยาลัยอันดับต้นของประเทศ พ่วงท้ายด้วยปริญญาโทสาขาเดียวกันจากต่างประเทศ
ท่านมีความคิดว่า “การศึกษาไม่เคยสอนว่าเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตจะมีความสุขได้อย่างไร และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอาชีวิตรอดหรือไม่ ถ้าไม่ร่ำรวยหรือสุขสบาย”
พระอาจารย์สรยุทธ์ เล่าว่า จากการสัมผัสกับชาวบ้านที่ไปบวชเรียนอยู่ที่ อ.เสมิง บางครอบครัวต้องขายวัวขายควายส่งลูกไปเรียนเพื่อเป็นลูกจ้างในเมือง ทั้งที่หมู่บ้านมีพื้นที่และแหล่งทำมาหากิน การศึกษาสอนแต่วิชาการแต่ไม่เน้นพัฒนาจิตใจคนเลย จึงรวบรวมเยาวชนกว่า 20 หมู่บ้าน จัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือ สอนให้เด็กพึ่งตนเองและรักบ้านเกิด และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น ทำฝาย ทำเกษตรอินทรีย์ ไบโอดีเซล โดยสอดแทรกว่าเป้าหมายของการศึกษาคือสร้างคนให้จริยธรรมคุณธรรมไม่ใช่ความมั่งคั่ง ความรู้คือเรื่องที่ขวนขวายหาได้เองไม่ต้องแข่งขันเพื่อให้ได้ไปนั่งอยู่ในสถาบันการศึกษาสูงๆ ขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร
“การศึกษาคือการสอนคุณธรรม ต่อให้แผ่นดินสมบูรณ์แต่จิตใจคนคนไม่ดีป่าก็เป็นทะเลทราย ต่างจากพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายแต่คนจิตใจดีก็พลิกทรายให้เป็นป่าได้ เหมือนเวลาพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงชาวบ้านบางคนบอกว่าเมื่อก่อนทำเกษตรเคมีตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ผลผลิตเยอะ เตรียมขยายแปลง แล้วบอกว่านี่คือพอเพียง ถามว่าตรงนี้ใช่หรือไม่” พระนักพัฒนา ทิ้งท้าย
ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่สถานศึกษา
โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นางรอง จ.บุรีรัมย์ ร้อยละ 80 เป็นเด็กยากจนพิเศษ ชนกลุ่มน้อย เด็กจากสถานพินิจและเด็กมีปัญหากลุ่มต่างๆ เป้าหมายที่สำคัญของการจัดการเรียนการสอนคือเด็กต้องมีความรู้ ทักษะอาชีพ พึ่งตนเองโดยไม่ออกไปเป็นภาระของสังคม
กนกวลี กรเกศกมล ผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าว่า เริ่มแรกที่เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ยอมรับว่าหนักใจเพราะทั้งตนเองและครูยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่เมื่อครูต้องเป็นแบบอย่างจึงมีนโยบายให้ทีมบริหารทุกคนถอดหลักการสู่การปฏิบัติให้ได้ จากผู้บริหารขยายไปถึงครู เกิดการพัฒนาในตัวบุคคลเป็นวงกว้าง ยกตัวอย่าง ให้ครูมาวิเคราะห์ว่าแต่ละคนเป็นหนี้สินเท่าไร เกิดจากอะไร จะแก้ปัญหาได้อย่างไร และนำผลมารายงานในที่ประชุม หลังจากนั้นจึงขยายผลไปยังเด็กยึดหลักการบริหารแบบ “ประโยชน์สูง ประหยัดสุด”
ผอ.กนกวลี อธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องที่ต้องพิจารณามากที่สุดคืองบประมาณ เมื่อมาตรวจสอบพบว่าเงินที่จ่ายไปเป็นค่าอาหารมากที่สุด จึงมาวิเคราะห์หาสาเหตุและฟื้นโรงสีเก่าที่ปิดขึ้นมาใหม่ ดำเนินงานในรูปสหกรณ์, ให้ทั้ง 17 โรงนอนเปิดธนาคารผักปลูกผักคนละชนิดไม่ซ้ำ ผลิตผักเข้าโรงครัว, ควบคุมการกิน โดยให้แต่ละเรือนนอนชั่งน้ำหนักอาหารที่เหลือแต่ละมื้อและมาดูเป็นเพราะอะไร เพื่อจะได้ลดและเพิ่มส่วนที่ไม่จำเป็น ผลการดำเนินงานพบว่าหนึ่งปีเหลือเงินในส่วนนี้เป็นล้าน
นอกจากนั้นยังทำสำรวจค่าไฟ ใช้นโยบายค่าไฟเกิน เด็กต้องรับภาระร่วม แรกๆ ครูต่อต้านกันมากสงสารเด็ก แต่กระตุ้นโดยการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ด้วยการส่งเสริมให้แต่ละเรือนนอนทำอาหารว่างขายโดยจับกลุ่มกันขึ้นทะเบียนกับโรงเรียน เงินที่ได้นอกจากจะนำซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ที่เสียหาย ยังทำให้เด็กมีเงินออมไว้ใช้ยามจำเป็น
“ลักษณะพิเศษของโรงเรียนสงเคราะห์คือเด็กอยู่กับเรา24 ชั่วโมง จะทำอย่างไรให้ 24 ชั่วโมงนี้ เป็น 24 ชั่วโมงแห่งความพอเพียงได้ จึงได้ให้เด็กวิเคราะห์ปัญหาและสรุปออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติส่งให้ครูและผอ.ช่วยแก้ไขอีกทางหนึ่งด้วย” ผอ.โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นางรอง กล่าว
รุก็อยยะฮ์ บินญโซ๊ะ อาจารย์โรงเรียนบ้านกูบู จ.นราธิวาส อีกหนึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการตามรอยพ่อพอเพียง เล่าว่า เริ่มต้นจากทำสมุดบัญชีต้นกล้าแบบง่ายๆ ใช้ลวดเย็บเป็นเล่มเล็กๆ แจกเด็ก เพราะเข้าใจแค่ว่าถ้าเด็กรู้จักประหยัดเท่ากับพอเพียงแล้ว แต่ทำไปทำมามีเด็กคนหนึ่งบอกว่าทำบัญชีไม่ได้ ถามเหตุผลเท่าไรก็ไม่ตอบเอาแต่ร้องไห้ จนสุดท้ายสืบรู้ว่าที่ทำบัญชีไม่ได้เพราะไม่มีเงินมาโรงเรียน
“นั่นทำให้รู้ว่าจริงๆแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่อยู่อย่างไรให้ประหยัด แต่ต้องทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนด้วย”
อ.รุก็อยยะฮ์ เล่าว่า โรงเรียนจึงทำโครงการย่อยๆ เป็นสมุดให้ผู้ปกครองเล่าความต้องการว่ามีปัญหาอะไร อยากให้โรงเรียนช่วยเหลืออย่างไร ผลที่ได้คือทุกครอบครัวต้องการความช่วยเหลือด้านอาชีพ เพราะอาชีพประมงที่ทำอยู่ ทำได้เพียงบางช่วง ช่วงที่ว่างเว้นจึงไม่มีรายได้กระทบถึงการเรียนของเด็กๆ จึงนำวิทยากรภายนอกมากฝึกอาชีพให้ครูไปสอนเด็กเป็นกิจกรรมเสริมเข้ามาในหลักสูตร และให้เด็กไปสอนพ่อแม่อีกต่อหนึ่ง อาชีพแรกคือการทำข้าวเกรียบปลา สร้างรายได้ให้ครอบครัวและทำให้ชุมชนกับโรงเรียนใกล้ชิดกันมากขึ้น
“อีกโครงการหนึ่งคือน้ำมันมะพร้าว กาบที่เหลือนำมาแช่น้ำถักเป็นพรมเช็ดเท้า ผลิตโดยนักเรียนและผู้ปกครองส่งขายไปตามหมู่บ้าน ซึ่งทุกกิจกรรมจะโยงไปถึงการวัดผลโดยดูจากมาตรฐานตัวชี้วัด คือหากเป็นช่วงชั้นที่ 1 ต้องพึ่งตนเองได้โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ส่วนช่วงชั้นที่ 2 ต้องพึ่งตนเองได้ อาศัยปรัชญาในการดำเนินชีวิตประจำวันและถ่ายทอดให้ชุมชนได้”
เช่นเดียวกับ เสาวลักษณ์ สุระประเสริฐ ผอ.โรงเรียนวัดปากสมุทร (ไวยวุฒิชนานุสรณ์) จ.สมุทรสงคราม ที่ได้ยินเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานานแต่ไม่แน่ใจว่าจะนำมาต่อยอดได้อย่างไร เพราะโรงเรียนติดน้ำเค็มเพาะปลูกเองไม่ได้ ด้วยความเข้าใจที่สับสนว่า “พอเพียงคือเกษตรทฤษฎีใหม่” หากพื้นที่ทำการเกษตรไม่ได้ก็ยากที่จะนำปรัชญามาปฏิบัติ
แต่บทพิสูจน์ทั้งหมดออกมาในรูปของการดำเนินกิจกรรมภายใต้ “โครงการสร้างคนเก่งและดีด้วยวิถีพอเพียง” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ได้จากการถ่ายทอดของพื้นที่รูปธรรมใน จ.พัทลุง ที่ไปศึกษาดูงานและพบกับปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ เหลือขายให้ชุมชน พึ่งตนให้ได้ ภายใต้เงื่อนไขพัฒนาจิตใจให้มีคุณธรรมและจริยธรรม สามารถทำได้ทุกพื้นที่ ทุกอาชีพ และทุกคน.
………………………………………………………………
หากจะให้การศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในหลักการคือจุดสำคัญ แต่เข้าใจอย่างเดียวคงนำพาให้ถึงปลายทางอันเป็นทางออกของวิกฤติอนาคตไม่ได้ หากเด็กไทยยังท่องคำว่า “พอเพียง” ได้แต่ไม่เคยนำไป “ปฏิบัติ”.