ตามรอย “คนปิดทองหลังพระ” ตามรอยพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
ในวันนี้ เศรษฐกิจพอเพียง-พึ่งตนเอง เกษตรทฤษฎีใหม่ ไม่เป็นเพียงแต่ปรัชญาเท่านั้น แต่ยังสัมผัสได้จริงด้วยการปฏิบัติในหลายระดับหลากมิติ และความสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีแนวทางที่ในหลวงทรงพระราชทาน และไม่มีคนต้นแบบที่เดินตามรอยพ่อหลวงให้เห็นเป็นตัวอย่าง
เมื่อเร็วๆนี้ รายการเปิดฟ้าวันใหม่ อสมท. Am 1143 KHz. นำโดยนายอุกฤษ กาลายี และคณะ เดินทางไปให้กำลังใจผู้ทำงานปิดทองหลังพระ ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถขยายผลเป็นประโยชน์ให้ชาวบ้านรู้จักพึ่งพิงตนเองและสร้างความสุขอย่างยั่งยืน จึงขอนำคนต้นแบบเหล่านี้มาขยายผลความดี
...................................................................................
“ทำให้เห็นก่อนจึงสอนได้” ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง
ที่ "ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง" อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งนำโดยนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ได้ดำเนินการตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เอื้อต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญได้ขยายเป็นเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงกว่า 80 ศูนย์ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังขยายผลไปยังประเทศเพื่อนบ้านคือ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกรุงไพลิน กัมพูชา
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร.) ทำให้พบว่าทุกข์ของเกษตรกรไทย คือหนี้สินที่มาจากค่าสารเคมี ปุ๋ย และการปลูกพืชตามกระแส และทางออกคือการดำเนินรอยตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จึงตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อมาสร้างตัวอย่างให้เห็นเป็นต้นแบบ
"ผมต้องการพิสูจน์ให้เกษตรกรเห็นว่าทฤษฎีใหม่ของพระองค์ท่าน จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสุขแท้จริง ยังรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ช่วยให้โลกที่กำลังร้อนระอุร่มเย็นลง ซึ่งเริ่มจากบุกเบิกที่ 40 ไร่ของพี่สาวที่มาบเอื้องที่เป็นป่าอ้อยรกร้างแห้งแล้งดินดาน โดยขอกล้าไม้กระทรวงเกษตรฯมาขุดหลุมปลูก คลุมด้วยหญ้าแฝก รดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่ทำเอง จนมีแต่คนหาว่าผมบ้า เพราะกว่าจะปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งได้ต้องขุดหลุมครึ่งวัน จ้างคนงานมาหนีกลับเลย เราก็ต้องทำเองไปเรื่อยๆ นึกถึงพระองค์ท่านเพื่อเป็นกำลังใจ"
จากความพยายาม 20 ปี จึงเกิด “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” ท่ามกลางผืนป่าใหญ่ และกลายเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้ยืนต้นกว่า 300 ชนิด มีการอบรมการทำเกษตรปลอดสารพิษ การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ และการทำพลังงานชุมชน ภายใต้แนวคิดการบริหารพื้นที่ตามหลัก "ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และไม้ 5 ชั้น"
“โมเดลปลดหนี้ล้าน” ของเกษตรกรธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
ที่ “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง” อ.แกลง จ.ระยอง ของผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ ผู้ที่สามารถปลดหนี้ 1 ล้านด้วยพื้นที่ 5 ไร่ภายในเวลา 5 ปี เจ้าของกล่าวถึงความเป็นมาว่าเริ่มจากการเป็นหนี้ของตนเองจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช-วัชพืช จนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ขึ้นทะเบียนให้เป็นเกษตรกรล้มเหลว กระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสไปดูงานโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และศึกษาฟาร์มตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ เช่น ศูนย์อนุรักษ์สมุนไพรไทย (ของนายดำรงศักดิ์ ชุมแสงพันธ์) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ประกอบกับนักวิชาการที่เข้ามาส่งเสริม ใช้เวลาเรียนรู้อยู่ 3 ปีจึงตัดสินใจลงมือทำเกษตรอินทรีย์ในปี 2539 จนที่สุดสามารถเป็นศูนย์เรียนรู้ถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้
“เราเน้นการปฏิบัติจริง เรียนไปด้วยลงมือทำไปด้วย พบจุดอ่อนและข้อบกพร่องตรงไหน ก็ปรึกษากัน หลังการฝึกอบรมเสร็จเกษตรกรสามารถนำกลับไปใช้ที่ไร่นาของตนเอง เราเน้นทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นให้สัมผัส เข้าใจเข้าถึงและพัฒนา น้อมนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันรู้เท่าทันกระแสทุนนิยมและการรู้จักตนเองมากขึ้น”
ผู้ใหญ่สมศักดิ์ กล่าวว่าถึงหลักการปลดหนี้ตามแนวทางเกษตรอินทรีย์นี้ว่า สามารถทำได้ง่ายๆด้วยหลักเป็นที่อยู่อาศัย มองทางไหนให้มีกิน ใช้พลังงานทดแทน ทำปุ๋ยได้เองไม่พึ่งเคมี ขุดบ่อเลี้ยงปลา โดยให้ธรรมชาติเลี้ยงกันเอง พร้อมยกตัวอย่างว่าในสระน้ำ 1 ไร่ ให้ปล่อยปลานิล 5,000 ตัว เมื่อปลานิลมีลูกให้ปล่อยปลาหมอ 5,000 ตัว โดยลูกปลานิลจะเป็นอาหารของปลาหมอ หลังจากนั้นให้ปล่อยปลาดุก 10,000 ตัว คิดง่ายๆถ้าขายปลา 10,000 ตัวๆละ 10 บาท จะได้เงิน 100,000 บาท การทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เมื่อเหลือก็แลกเป็นของกับเพื่อน นอกนั้นขาย ถ้า 1 ปี เหลือปุ๋ยเพื่อขาย 100 ตัน จะได้เงิน 250,000 บาท เฉลี่ยจะมีรายได้ปีละ 350,000 ยังไม่รวมผักและผลไม้ที่สามารถทำไปขายได้อีก
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ที่ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ซึ่งมีนายทวี จินดามัยกุล เป็นผู้อำนวยการ เล่าว่าก่อตั้งตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตที่ดินชายฝั่งทะเล จังหวัดจันทบุรี" พร้อมพระราชทานเงินที่ราษฎรจันทบุรีร่วมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นทุนริเริ่ม ต่อมาได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า “ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล” ปี 2525 จึงเกิดศูนย์ดังกล่าว เพื่อเป็นหน่วยงานศึกษาสาธิตและการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล ด้วยวิธีการผสมผสานความรู้อันหลากหลายของแต่ละหน่วยงาน เพื่อวางแผนพัฒนาการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสมและยั่งยืนตลอดไป
“เรามีแผนศึกษา ทดลองวิจัย และพัฒนาการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งอย่างยั่งยืน เพิ่มผลผลิตของประเทศ ควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน แผนศึกษาและพัฒนาการเกษตรโดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แผนศึกษาและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย ภายใต้แผนเหล่านี้มีโครงการเล็กๆ เกิดขึ้น ซึ่งถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนคงสำเร็จได้ยาก”
ทั้งนี้พื้นที่ดำเนินงานและพื้นที่ขยายผลศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ครอบคลุม 33 หมู่บ้าน ใน ต.คลองขุด ต.รำพัน ต.โขมง อ.ท่าใหม่ และ ต.สนามไชย ต.กระแจะ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี ทั้งสิ้นประมาณ 71,025 ไร่
“พึ่งตนเองด้านสุขภาพ” ด้วยภูมิปัญญาหมอยาไทย
ที่ “สวนสมุนไพรพรอุดม” อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ดร.พรอุดม ลดหวั่น ประธานชมรมเกษตรสมุนไพรและเภสัชกรแพทย์แผนไทย เล่าว่าเมื่อก่อนตนไม่เคยศรัทธาการรักษาโรคด้วยศาสตร์แพทย์แผนโบราณ ทั้งที่พ่อเป็นหมอต่อกระดูกและหมอยาสมุนไพร กระทั่งล้มป่วยและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานเกือบ 4 ปี เพราะสารเคมีจากยาฆ่าแมลง ที่สะสมในร่างกายมานานกว่า 20 ปี ประกอบกับเสียดายเงินที่ต้องใช้ในการรักษา จึงเริ่มนึกถึงการรักษาของพ่อในวัยเด็ก
“ตอนผมเป็นหวัด น้ำมูกไหล พ่อจะไปเก็บใบหูเสือที่ปลูกใส่กระถางข้างบ้านมาใส่ครกโขลก ใส่ดินสอพองเล็กน้อย แปะพอกกลางกระหม่อม พ่อจะหาผ้าผูกคร่อมทับใบหูเสือไม่ให้ใบหลุด ผมนอนหลับไปพักใหญ่ตื่นขึ้นมาจมูกโล่งหายอาการหวัดทันที พอหันมาเยียวยาตนเองด้วยสมุนไพรเพียง 1 เดือนอาการดีขึ้น ก็เริ่มมีกำลังใจ จากที่หน้าบวมตาบวมเพราะภูมิแพ้ก็ลดลง ระบบขับถ่ายดีขึ้น ผ่านไป 8 เดือนก็หายจากทุกโรค ทำให้ผมหันมาสนใจและศึกษาวิชาสมุนไพรอย่างจริงจัง”
ปัจจุบัน ดร.พรอุดม ได้รับใบประกอบโรคศิลป์และใบอนุญาตการผลิตยาที่คนยอมรับนับถือ และยาสมุนไพรที่ผลิตยังติดอันดับ 4 ผลิตภัณฑ์โอทอปดีเด่นของ อ.สัตหีบ ด้วยการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง คือสร้างอาชีพจากการลงทุนน้อย ค่อยๆโตอย่างช้าๆ หาแนวทางลดรายจ่ายในครัวเรือน และแบ่งเงินเก็บออมไว้เป็นภูมิเพิ่มความมั่นคง.