“แม่ยูร” หญิงอีสานผู้สำเร็จวิชาเศรษฐศาสตร์ชาวนา
“โง่ จน เจ็บ” เป็นวลีนมนานกาเลที่สังคมไทยนิยามคนในอาชีพเกษตรกรรม แม้ว่าพร้อมกันนั้นจะมีคำยกย่องสรรเสริญว่าเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” คือผลิตอาหารเลี้ยงคนส่วนใหญ่…เส้นทางชาวนาของ “แม่ยูร” อาจจะเป็นตัวแทนอีกหลายๆต้นแบบที่บอกว่าทัศนะที่ดูแคลนเช่นนั้นหาถูกไม่..
คำว่าฟ้าห่วน แปลว่าฟ้าครึ้ม เป็นตำนานกว่าสามร้อยปี เมื่อชาวบ้านเริ่มอพยพมาสร้างรกรากที่บริเวณแห่งนี้ ขณะที่กำลังสร้างบ้านมุงหลังคาด้วยหญ้าอยู่นั้นเองก็เกิดปรากฏการณ์แปลกประหลาด ท้องฟ้ามืดครึ้ม มีลมหมุนวนรอบบริเวณ ทุกคนจึงร่วมกันขนานนามบริเวณนี้ว่าฟ้าห่วน หรือ ฟ้าครึ้ม
“ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติฟ้าห่วน-คนลือ” ต.ไร่ขี อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ เริ่มจากหญิงชาวนาธรรมดาที่ไม่ธรรมดาคนหนึ่งในปี 2537 จุดประกายความคิดเปลี่ยนจากทำนาขายข้าวให้พ่อค้า มาทำนาขายเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิแก่สถานีพันธุ์ข้าวของรัฐบาลในเขตอีสานใต้ และเป็นขาประจำส่งเมล็ดพันธุ์ให้รัฐ
เธอคือ “ประยูร กาญจนารี” หรือเป็นที่รู้จักยกย่องของชาวบ้านว่า “แม่ยูร” หญิงชาวนาวัยหกสิบ ผู้มีบุคลิกร่าเริง แววตาเฉลียวฉลาด ท่วงทีอาจหาญสมกับบทบาทผู้นำ
ไม่เพียงแต่ครอบครัวแม่ยูรที่มีลูกสามคนกับที่นาร้อยกว่าไร่ เธอได้รวมอีกหลายสิบครอบครัวในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงร่วมกันทำอาชีพเดียวกันเพิ่มได้อีกหลายร้อยไร่ ชาวนาในเครือข่ายที่ได้รับการพัฒนาให้ทำตามหลักการที่นักวิชาการกำหนด ทำให้สามารถขายข้าวเปลือกได้ราคาสูงกว่าชาวนาที่ขายข้าวแก่พ่อค้าถึง 20-30% และยังมีตลาดที่แน่นอน เป็นชาวนาที่มีคุณภาพชีวิตเหนือกว่าชาวนาทั่วไป
แม่ยูร ใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาในหลวง พร้อมกับพัฒนาบ้านตนเองเป็นสถานที่ฝึกอบรมเกษตรกรรมธรรมชาติ และเข้าร่วมเครือข่ายกับเพื่อนเกษตรกรทั่วประเทศ เป็นหนึ่งใน 80 กว่าศูนย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีหัวเรืออย่าง ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ และ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ศูนย์ฯของแม่ยูรทำหน้าที่ที่เอื้อเฟื้อให้ความรู้กำลังใจสนับสนุนเพื่อนเกษตรกรและชาวนาอื่นๆในแถบนั้น ให้สามารถยกระดับชีวิตไปพ้นจากการพึ่งพาพ่อค้าปุ๋ยด้วยการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง
คอกหมูของแม่ยูรไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนกลิ่นเล้าหมูเวลาเราผ่านแถวปากท่อ นครชัยศรี หรือที่อื่นๆที่มีการเลี้ยงหมู เพราะเธอนำเอาน้ำหมักจุลินทรีย์ผสมแกลบปูลงพื้นเล้าเมื่อหมูถ่ายมูลออกมาย่ำไปย่ำมาก็ช่วยคลุกปุ๋ยให้อย่างดี แค่เอาพลั่วไปตักใส่กระสอบก็นำไปใส่โคนต้นไม้ได้เลย ง่ายและดีอย่างอัศจรรย์ หากเทียบกับเกษตรกรที่ต้องเปลืองน้ำชำระคอกหมูเพื่อลดกลิ่น แล้วยังต้องนำเงินไปซื้อปุ๋ยเคมีมาบำรุงพืช
แปลงผักแม่ยูรงอกงามอวบอ้วน
ทีมงานคนหนุ่มสาวอีก 19 ชีวิตและชาวบ้านที่ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาศูนย์ฟ้าห่วน-คนลือ ทุกคนต่างมีรายได้มีอยู่มีกินด้วยดี มีความสุขและภาคภูมิใจ ในคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเอง ด้วยผลงานที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานที่ปราศจากการเบียดเบียน และจิตใจที่โปร่งสบายด้วยไม่ใส่ยาพิษลงในอาหารที่ปลูกเลี้ยงชาวโลก สิ่งที่ให้ผู้อื่นกินเป็นสิ่งเดียวกับที่แม่ยูรและทุกคนในศูนย์และชุมชนก็กินร่วมกันได้อย่างสนิทใจ
ในยามเช้าที่สวยงาม อุณหภูมิราว 20% องศา ลมพัดผิวน้ำในบึงน้ำสามสี่แห่งในแปลงนาระริกล้อแสงตะวันที่ไต่ขึ้นจากพุ่มไม้ชายทุ่ง บึงเหล่านี้คือแหล่งน้ำสำหรับสวนผักและการใช้สอย ได้ถูกวางแผนขุดเอาไว้เพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้อย่างพอเพียงตลอดทั้งปี พร้อมกับยังได้อาศัยปลูกพืชน้ำกับเลี้ยงปลา เป็นความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการจัดการทรัพยากรด้วยปัญญาแห่งวิถีเกษตรยั่งยืนขั้นพื้นฐานที่ถูกต้อง
ความสามารถในการจัดการน้ำ อากาศ ผืนดิน อย่างสมจริงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความหนักแน่นมั่นคงในวิถีการทำเกษตรกรรมและการดำรงชีวิต ไม่ว่าต้นไม้ใบหญ้าเกิดตรงไหนงอกตรงนั้นล้วนเก็บกินเป็นอาหารได้เสมอ โดยไม่ต้องระวังจะโดนพิษภัยจากยาเคมีใดใด
การจัดการทรัพยกรที่ถูกต้องเช่นนี้ย่อมทำให้มีความมั่นคงปลอดภัยแก่ชุมชน ไม่ว่าจะท่วมหรือจะแล้งก็ไม่สามารถสร้างภัยพิบัติแก่แม่ยูรและคนในชุมชนแห่งนี้ได้เลย อีสานไม่ได้แล้งอย่างที่คิด แค่มีปัญญาที่ถูกทางกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นจริง
แม่ยูรก็แค่ชาวนาอีสานคนหนึ่ง แต่เธอสามารถยืนบนล้ำแข้งของตนเองอย่างอาจหาญ พบคุณค่าในตนเอง และมีเมตตาทำให้คุณค่านั้นแผ่กว้างไปถึงพี่น้องในถิ่นใกล้เคียง ขณะที่คนวัยหกสิบที่เกษียรอายุราชการอีกจำนวนไม่น้อยยังนั่งจับเจ่าอยู่บ้านอย่างคนเหงาหงอยไร้ค่าหรือเที่ยวเตร่จากเงินบำนาญ หรือผู้สูงอายุอีกหลายคนรอเงิน 500 บาทที่รัฐแจกให้ในฐานะที่ยังไม่ตายก่อนอายุ 60ปี แต่แม่ยูรผู้ไม่รู้จักคำว่าเกษียร ใบหน้าของเธอเต็มไปด้วยความร่าเริงเบิกบาน เปี่ยมด้วยพลังและความหวัง
คือเครื่องหมายแห่งความเชื่อมั่นของสังคมชนบท ที่ยืนยันศักดิ์ศรีลูกอีสานและชาวนาไทยผู้มิต้องอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของใคร แต่ดำรงวิถีชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พิสูจน์แล้วว่าในวันนี้ว่ามิใช่หลักปรัชญาที่เพียงกล่าวด้วยวาทะกรรมที่สวยงามแต่เป็นของจริงที่ยืนยันได้
แม่ยูรและพี่น้องเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติทั้งแปดสิบกว่าแห่งกำลังบอกเราด้วยการกระทำให้ประจักษ์ว่าประเทศไทยมิได้สิ้นไร้หนทาง ชาวนาไทยและคนอีสานมิได้เป็นอย่างที่นักการเมืองมักล่าหัวซื้อเสียงดูแคลน ชาวนาปัญญาชนระดับแนวหน้า ที่แม้จะปราศจากปริญญาเศรษฐศาสตร์ แต่สามารถยกระดับความเป็นชาวนาของตนและพี่น้องในชุมชน ให้พ้นจากสภาวะผู้ตกเป็นเบี้ยล่างของพ่อค้าข้าว ไม่เป็นภาระที่รัฐบาลใดใดจะต้องมาช่วยประกันราคาข้าวให้แต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้เกิดจากศรัทธาความเชื่อมั่นในวิถีเกษตรอินทรีย์ของแม่ยูรและทีมงานพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมเกษตรกรรมธรรมชาติฟ้าห่วน-คนลือแห่งนี้
หากรัฐบาล-รัฐฐะ ไม่ไปทำลายหนทางเดินไปสู่ความภาคภูมิใจของบรรดาเกษตรกร ด้วยกลอุบายสร้างหนี้ที่รัฐทุกยุคพยายามลงทุนประชานิยมเพื่อพันธนาการคะแนนเสียงเลือกตั้งตลอดสมัยที่ทุกคนเป็นรัฐบาล แต่สังคมช่วยกันสนับสนุนให้ มีคนอย่างแม่ยูรเพิ่มมากขึ้น และให้พื้นที่ทางสังคมแก่คนเหล่านี้ยืนหยัดอย่างภาคภูมิ คำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” บนแผ่นดินทองก็จะไม่เป็นแค่จินตนาการอีกต่อไป.