'ธงทอง จันทรางศุ' ชี้คนไทยเลือกแล้ว มีสถาบันกษัตริย์ ควบคู่วิถีประชาธิปไตย
ดร.บวรศักดิ์ ย้ำชัดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย ต่างจากชาติอื่น พระองค์ทรงมีความใกล้ชิดกับราษฎร เกื้อหนุนในสิ่งที่รัฐบาลเข้าไปไม่ถึง เป็นพระราชอำนาจทางสังคม ช่วยรัฐบาลดับทุกข์ บำรุงสุข ปชช.
วันที่ 26 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญจัด โครงการปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐธรรมนูญ โดยมีนายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ”
จากนั้นมีการอภิปราย หัวข้อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข” โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมเสวนา
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า ในหลายประเทศทั่วโลก มีอยู่ 28 ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ โดยประเทศที่เป็นต้นแบบหลักของการปกครองในระบอบนี้ คืออังกฤษ สำหรับในประเทศไทยนั้นได้มีการเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2475 จากการยึดอำนาจของคณะราษฎร โดยได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่า ประเทศไทยยังคงต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ
“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในประเทศไทย มีมาแล้วกว่า 85 ปี อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันเป็นเวลากว่า 65 ปี โดยพระองค์ได้ทรงตั้งบรรทัดฐานในการใช้กฎหมายไว้อย่างมากมาย”
ศ.ดร. บวรศักดิ์ กล่าวถึงระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย มีความแตกต่างจากชาติอื่น แม้ว่าจะมีแนวทางหลักคล้ายคลึงกับอังกฤษ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดมี 3 ประการ นั่นคือ 1. พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ 2. ทรงใช้อำนาจอธิปไตยร่วมกับปวงชนชาวไทย และทรงใช้แทนปวงชนชาวไทยตามมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญ และ 3. พระราชอำนาจที่ใช้ในทางปฏิบัติ เช่น พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญได้ หากเห็นว่าไม่สมควร หรือมีข้อบกพร่อง สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเห็นได้จากการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในประเทศอื่นๆ
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ได้ทรงวางบรรทัดฐาน ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้สถาบันกษัตริย์ของไทยมีลักษณะเด่น มีความศักดิ์สิทธิ์ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาพันปี และแสดงทางอารยธรรม วัฒนธรรม และเอกราช อำนาจ ทรงไม่มีพระราชดำริทางการเมือง และทรงปฏิเสธมาโดยตลอด เพราะทรงปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี” ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าว และว่า กษัตริย์ในประเทศอื่น ไม่เคยมีประเทศใดที่จะมีโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการเหมือนกับประเทศไทย เห็นได้ชัดในประเทศญี่ปุ่น พระจักรพรรดิทรงไม่มีอำนาจใดๆ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศ ด้วยพระมหากรุณาของพระองค์ต่อประชาชนของพระองค์
“เป็นพระราชอำนาจทางสังคม ที่มีเฉพาะในประเทศไทย การที่พระองค์ทรงมีความใกล้ชิดกับราษฎรของพระองค์นั้น เป็นการเกื้อหนุนในสิ่งที่รัฐบาลเข้าไปไม่ถึง เป็นการช่วยอุดช่องโหว่ เป็นพระราชอำนาจทางสังคมที่สืบทอดกันมายาวนาน ทรงช่วยรัฐบาลในการดับทุกข์ บำรุงสุข แก่ประชาชน”
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส เรื่องที่ดิน และการบุกรุกป่ามานานแล้ว ทรงเห็นใจราษฎรที่อาศัยอยู่ในป่ามาชั่วบรรพบุรุษ แต่กลับถูกกฎหมายและการประกาศตามกฎหมายป่าสงวนเล่นงาน โดยพระองค์รับสั่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 แต่รัฐบาลไม่รับไปใส่เกล้า ซึ่งเมื่อรัฐบาลไม่รับก็ไม่ทรงมีพระราชอำนาจทำอะไรทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่า ทรงกังวลพระราชหฤทัยในประชาชน ทรงแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน ซึ่งทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยใกล้ชิดกับประชาชน และใกล้ชิดในทางที่เป็นประโยชน์
ขณะที่ ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในเมืองไทยของเรา มีวิวัฒนาการ มีจังหวะ และท่วงทีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญหากเห็นว่าไม่สมควร หรือมีข้อบกพร่อง นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในอดีตพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้อ่านแถลงนโยบายของรัฐบาลของพระองค์ต่อรัฐสภา ซึ่งมีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ ที่ปัจจุบันยังคงมีธรรมเนียมเช่นนี้อยู่ แต่ในประเทศไทยได้มีการยกเลิกไปตั้งแต่ 2500
ทั้งนี้ ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวอีกด้วยว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี เป็นสง่า มากกว่าสถาบันกษัตริย์ในชาติอื่นใด สิ่งสำคัญอยู่ที่การธำรงไว้ ให้ควบคู่กับวิถีประชาธิปไตย ซึ่งวันนี้คนไทยได้เลือกแล้วว่า จะเป็นการปกครองที่เอื้อประโยชน์ และดูแลสุขทุกข์ของเราได้ดียิ่งกว่าระบบอื่นใดในโลกนี้
ด้าน ศ.ดร.เสาวนีย์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายตลอดมา แต่ก็ได้ทรงปฏิบัติพระภารกิจที่นอกเหนือจากสิ่งที่พระองค์จำเป็นต้องกระทำ นอกจากว่าพระองค์จะช่วยดูแลทุกข์สุขแล้ว ยังมีพระราชดำรัสต่างๆ อีกมากมาย ที่เป็นประโยชยน์แก่ประชาชนและผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางกฎหมายอยู่เสมอ ฉะนั้น ประชาชนทุกคนควรต้องภาคภูมิใจที่เกิดบนแผ่นดิน อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขสืบต่อไป