กรรมาธิการสภาฯ รับทางออกใหม่แทนเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ซ้ำร้อยวิกฤติอุทกภัย
สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่ต่อเนื่องรุนแรงมากว่า 2 สัปดาห์ พื้นที่รับผลกระทบ 38 จังหวัด มีเสียงสะท้อนที่ไม่ได้ออกมาจากภาครัฐ คือฟากฝั่งนักวิชาการและเอ็นจีโอให้ทบทวนความบกพร่องในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงนำเสนอโมเดลการบริหารน้ำแทนเขื่อน
เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำยม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายสัมพันธ์ ตั้งเบญจผล สส.สุโขทัย ลงพื้นที่สำรวจป่าสักทองแก่งเสือเต้น อุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โดยมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย อาทิ ผู้แทนกรมชลประทาน สภาวิจัยแห่งประเทศไทย กรมป่าไม้ กรมบัญชีกลาง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.สุโขทัย ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯได้ยอมรับว่าป่าสักทองได้ยอมรับว่าป่าสักทองในบริเวณดังกล่าวมีความสมบูรณ์ และไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ซ้ำร้อยวิกฤติอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
กรรมาธิการสภาฯ เห็นด้วยกับชาวสะเอียบ รักษาป่าสักทอง แก้ปัญหาน้ำแนวใหม่
นายสัมพันธ์ ยอมรับว่าเคยผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้นมากว่า 20 ปี ทั้งๆที่ไม่เคยเข้ามาดูพื้นที่เลย ครั้งนี้ได้เห็นสภาพป่าสักทองที่อุดมสมบูรณ์แล้ว จึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของชาวบ้านสะเอียบในการร่วมกันจัดการน้ำแนวใหม่ โดยจัดการแม่น้ำยมทั้งระบบ 77 ลำน้ำสาขา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม และร่วมกันรักษาป่าสักทองผืนสุดท้ายให้กับคนไทยทั้งชาติ
“น้ำท่วมปีนี้มาจากสภาพแวดล้อมถูกทำลาย เราควรหาแนวทางร่วมกันว่าทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องสะเอียบด้วยและพี่น้องสุโขทัยได้ด้วย เปลี่ยนแนวคิดในการสร้างเขื่อนเป็นสร้างฝายเป็นขั้นๆตามลำแม่น้ำยม ท่านนายกฯเคยบอกว่าถ้าคุณเสนอเขื่อนแก่งเสือเต้น ยังไงก็ไม่ได้สร้าง ผมจึงพาผู้แทนชาวบ้าน จ.สุโขทัยมาดูปัญหาพี่น้องสะเอียบ ดูป่าสักทอง จะได้บอกต่อกับชาวบ้านสุโขทัยได้” นายสัมพันธ์ กล่าว
ส่วน นายเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการลุ่มน้ำยม ได้เสนอแนวทางการจัดการลุ่มน้ำยมทั้งระบบที่คณะกรรมการฯได้ศึกษาไว้ในช่วงปี 2552-2553 ว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของลุ่มน้ำยมต้องมองทั้งระบบทรัพยากรลุ่มน้ำ และการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะหากปล่อยให้ข้าวโพดหรือพืชเชิงเดี่ยวบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ คนในพื้นที่ก็จะเผชิญปัญหาคล้ายจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ที่น้ำหลากมาเร็วท่วมบ้านเรือนอย่างหนัก จึงต้องช่วยกันรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับมาทำหน้าที่ซับน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนการกักเก็บน้ำนั้นเสนอให้จัดการลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมที่มีถึง 77 สาขา หากมีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นก็จัดการได้เพียง 11 ลำน้ำสาขาเท่านั้น ซึ่งหากฝนตกใต้เขต ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะน้ำจะไหลลงลำน้ำสาขา 66 ลำน้ำสาขาเข้าท่วมสุโขทัย พิษณุโลกเหมือนเดิม แต่หากจัดการลำน้ำสาขาโดยโครงการขนาดเล็ก ขนาดกลางทั้ง 77 ลำน้ำสาขา จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อย่างแท้จริง
“ควรเลิกคิดเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นได้แล้ว หันมาร่วมกันผลักดันการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยโครงการขนาดเล็ก ขนาดกลางตามลำน้ำสาขาจะได้ประโยชน์แท้จริง คนสุโขทัยก็จะไม่ถูกน้ำท่วมหนักเหมือนทุกวันนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางจะชะลอกักเก็บน้ำไว้ ไม่ให้ท่วมหนัก ขณะที่หน้าแล้งก็จะปล่อยน้ำเลี้ยงแม่น้ำยมให้มีน้ำตลอดทั้งปี มีแต่ได้กับได้ ไม่มีใครเสีย ป่าไม้ก็ไม่ถูกทำลาย” กำนันเส็ง กล่าว
ตัวแทนกรมชลฯยังดื้อ ไม่ได้เขื่อนแก่งเสือเต้น ขอเขื่อนยมบน-ยมล่างแทน
นายจักรกฤษณ์ สินพรหมมา นายช่างชลประทาน หัวหน้าฝ่ายวางแผนและแก้ไขปัญหาน้ำ สำนักชลประทานที่ 4 จ.สุโขทัย ผู้แทนกรมประทานได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจุบันกรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาเขื่อนยมบน กับเขื่อนยมล่าง ซึ่งเป็นการลดขนาดเขื่อนลงมา ซึ่งเขื่อนยมล่างจะถอยจากแก่งเสือเต้นลงไปประมาณ 10 กิโลเมตร กักเก็บน้ำที่ 230 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง จุน้ำได้ประมาณ 580 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนยมบนจะถัดจากบ้านแม่เต้นไปประมาณ 2 กิโลเมตร กักเก็บน้ำที่ 258 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง จุน้ำได้ประมาณ 168 ล้านลูกบาศก์เมตร
ชาวบ้านสะเอียบ ตอกหน้ากรมชลฯ “เขื่อนอะไรก็ไม่เอา”
ชาวบ้านสะเอียบ ต่างไม่พอใจกับคำชี้แจงของกรมชลประทาน และแย้งว่าตามหลักสากลแล้ว ความจุเกินกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรถือว่าเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ โดยนายอภิชาต รุ่งเรือง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)สะเอียบ ลุกขึ้นประท้วงผู้แทนกรมชลประทาน ที่พยายามนำเสนอเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ขึ้นมาอีก ทั้งที่ชาวบ้านสะเอียบได้เสนอแล้วว่าไม่ควรกล่าวถึงเขื่อน เพราะชาวบ้านเห็นว่าเขื่อนขนาดใหญ่ไม่ใช่คำตอบ
“ชาวสะเอียบต่อสู้เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นมากว่า 20 ปี ชี้ปัญหาเขื่อนขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้ วันนี้เขื่อนป่าสัก เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพะเพลิง เขื่อนชัยนาท ยังปล่อยน้ำลงไปท่วมซ้ำเติมพี่น้องชาวบ้านอย่างที่กำลังเห็นอยู่ สมควรอย่างยิ่งที่กรมชลฯ ต้องทบทวนความคิดและหันมาให้ความสำคัญกับโครงการขนาดเล็กขนาดกลางที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ต้องฟังเสียงชาวบ้านอย่ารับใช้นักการเมืองที่จะคอยหากินกับโครงการเขื่อนขนาดใหญ่” นายอภิชาต กล่าว
ขณะที่ นางสุดารัตน์ ไชยมงคล ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ กล่าวว่าที่กรมชลฯบอกจะมีการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็น 2 เขื่อน คือ เขื่อนยมบนกับเขื่อนยมล่าง ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมผืนป่าสักทองลดน้อยลงนั้น ไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหา เพราะเขื่อนก็ยังทำลายป่าสักทองเช่นเดิม และยังจะนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน ภัยแล้งตามมาเมื่อป่าหมด น้ำท่วมก็จะรุนแรงขึ้น
“เราเดือดร้อนมากมานานกว่า 20 ปี คนเฒ่าคนแก่กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ ความดันขึ้นสูง หากได้ยินคำว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำไมไม่หาทางอื่นที่จัดการน้ำได้ยั่งยืน การสร้างอ่างขนาดเล็ก ขนาดกลางตามลำน้ำสาขาทั้ง 77 สาขาจะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ป่าก็ไม่ถูกทำลาย อ่างเล็กอ่างน้อยก็จะทยอยปล่อยน้ำเลี้ยงแม่น้ำยมให้ยั่งยืน เลิกคิดถึงเขื่อนขนาดใหญ่และหยุดคิดทำลายป่ากันได้แล้ว” ผู้ใหญ่สุดารัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ นายชุม สะเอียบคง นายก อบต.สะเอียบ ได้ขอให้คณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำยม สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้มาลงพื้นที่ในครั้งนี้ นำข้อมูลความจริงไปเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้ยุติโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด โดยชาวบ้านสะเอียบยืนยันจะร่วมกันอนุรักษ์ปกป้องรักษาป่าสักทองอุทยานแห่งชาติแม่ยมไว้เป็นมรดกของชาติกันต่อไป
…………………………………………………………………………
“พี่น้องสะเอียบได้ร่วมกับป่าไม้ อุทยานฯ สำรวจ รังวัด กันเขตพื้นที่ทำกินและออกโฉนดชุมชนให้กับชาวบ้านแล้ว มีระบบป้องกันและร่วมกันดูแลป่าสักทอง เราอยากให้แม่น้ำยมเป็นทางเลือกในการจัดการน้ำแบบใหม่ที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ มีการจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ไม่ใช่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่มาเก็บลมในหน้าแล้ง และปล่อยน้ำท่วมซ้ำเติมชาวบ้านในหน้าฝน เราควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาได้แล้ว” นายชุม กล่าว
และนี่คือเสียงจากตัวแทนชาวบ้านสะเอียบ ซึ่งนำเสนอโมเดลบริหารจัดการน้ำแบบใหม่แทนเขื่อนขนาดใหญ่ ไม่ให้เดินซ้ำรอยปัญหาภัยแล้ง หรือน้ำท่วมหนักที่คนไทยกำลังเผชิญความทุกข์ในปัจจุบัน .