“ชนบทบนความเสี่ยงทางอาหาร” เข็มทิศนำทางรัฐก่อนสายเกินแก้
มายาภาพที่ไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารอันดับต้นๆของโลก ท่ามกลางประชาชนอีกไม่น้อยที่ไร้ซึ่งความมั่นคงทางอาหาร ชนบทซึ่งเป็นฐานการผลิตเพื่อปากท้องประเทศ ถูกล่าอาณานิคมทางทรัพยากรมาช้านาน ภาวะเช่นนี้เป็นความเสี่ยงและภัยคุกคาม ที่ต้องช่วยกันตั้งรับก่อนจะสายเกินแก้
ดังตัวเลขขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติที่รายงานว่าร้อยละ 17 ของคนไทยยังไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอ เช่นเดียวกับข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการที่ระบุว่ายังมีเด็กอีกราวร้อยละ 7 ที่ไม่ได้รับอาหารเพียงพอสำหรับการเจริญโต
นอกเหนือจากความไม่เป็นธรรมในระบบอาหารข้างต้น ความมั่นคงทางอาหารยังถูกกัดกร่อนจากวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ และแรงผลักดันจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ผลิตอาหารเป็นพื้นที่ผลิตสำหรับอุตสาหกรรมเพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ดังบทเรียนจากพื้นที่ชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน จ.ภูเก็ต ซึ่ง พิเชษฐ์ ปานดำ ตัวแทนชุมชนฯ ถ่ายทอดว่า บริบทของพื้นที่เป็นเวิ้งอ่าวอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งที่เป็นแหล่งอาหารและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ชาวบ้านยึดอาชีพประมงหาเลี้ยงปากท้องได้โดยไม่เดือดร้อน แต่การขยายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังเหตุการณ์สึนามิได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้แหล่งอาหารของคนทั้งชุมชนถูกทำลายย่อยยับ
“ป่าชายเลนกว่า 4,000 ไร่ ถูกกลุ่มทุนบุกรุกเพื่อขยายเมือง สร้างบ้านจัดสรรและรีสอร์ทเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยที่กลไกรัฐในท้องถิ่นหรือกลไกศาสนาเดิม ซึ่งเข้มแข็งและช่วยคลี่คลายปัญหาของชุมชนได้ทุกเรื่องก็ไม่สามารถตั้งรับได้ ชุมชนแตกเป็น 2 ฝ่าย บ้างทนอยู่โดยปล่อยให้ฐานทรัพยากรค่อยๆถูกทำลายไปต่อหน้า ส่วนที่ทนไม่ได้ก็ใช้การเผชิญหน้าแบบตรงไปตรงมา แต่ก็ไม่เคยสู้ได้”
ชุมชนจึงหันมาเด็กและผู้หญิงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ ชูประเด็นอาหารท้องถิ่นโยงกับฐานทรัพยากรมาเป็นข้อต่อรองกับคนภายนอก จัดตั้งกลุ่มฟื้นฟูอนุรักษ์พันธุ์พืช สัตว์ทะเล, การคืนลูกปูสู่ธรรมชาติ, สร้างกลุ่มเด็กให้เข้ามาเรียนรู้ความสำคัญของฐานทรัพยากรที่เป็นแหล่งอาหาร แล้วสื่อสารทุกกิจกรรมไปยังภายนอก ผลลัพธ์สุดท้ายคือผืนป่า 1,200 ไร่ ที่รักษาไว้โดยชาวบ้าน
คล้ายกับคำบอกเล่าของ อภิรมย์ ธยาธรรม เครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ (วังปลา) จ.อุบลราชธานี ซึ่งสะท้อนว่า การุกคืบเข้ามาของนายทุนและรัฐ เพื่อสัมปทานดูดทราย, บุกรุกป่าบุ่งป่าทามปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการเกิดขึ้นของเขื่อน ทำให้ชุมชนริมน้ำโขงสูญเสียพันธุ์ปลาหายากหลายชนิด เมื่อประกอบกับการใช้อวนตาถี่ล่าปลาแบบทำลายล้าง การหาอยู่หากินของชุมชนจึงทำไม่ได้ ชาวบ้านหมดหนทางต้องละทิ้งถิ่นฐานไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมืองหลวง
“ปี 2547 หลายชุมชนที่ฝากชีวิตไว้กับน้ำโขง จึงริเริ่มสร้างวังปลาให้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการฟื้นฟู อนุรักษ์โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในพื้นที่ กำหนดเขตห้ามทุกพื้นที่มาหาปลาบริเวณนี้จนวันนี้พบว่าพันธุ์ปลาที่หายไปกลับคืนมาเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของชุมชนริมน้ำโขงอีกครั้งหนึ่ง”
ต่างจากกรณีของพื้นที่ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่แม้จะพยายามรวมกลุ่มต่อต้านโครงการพัฒนาของรัฐอย่างไร ก็ดูเหมือนจะไร้ผล ดังที่ สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก เล่าว่า ดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ที่สำคัญคือการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่หลากหลายหลากหลาย ทั้งสัตว์น้ำ สับปะรด มะพร้าว ฯลฯ แต่การที่รัฐเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาจากฐานอาหาร มาเป็นอุตสาหกรรมเหล็กนำร่อง โดยอ้างความเติบโตและสนับสนุนการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งที่การแปรรูปอาหาร ลงทุนน้อยและพื้นที่ก็ตอบรับมากกว่า
“ต่อไป จ.ประจวบฯจะมีกระดูกสันหลังเป็นเหล็ก แผนพัฒนาที่มีตอนนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเลย ยืนยันว่าที่อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะแหล่งอาหารและฐานทรัพยากร เสนอว่ารัฐน่าจะไปทบทวนแผนพัฒนาประเทศเสียใหม่”
ข้างต้นเป็นบทเรียนจากพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากทิศทางพัฒนาประเทศแบบตาชั่งถ่วงน้ำหนักที่เบนเข็มไปทางเศรษฐกิจมากกว่าฐานอาหาร แต่โชคดีที่บางชุมชนยังฟื้นฟูฐานทรัพยากรของตนได้ อย่าง พ่อแดง หาทวี เกษตรกรบ้านสุขสมบูรณ์ จ.อุบลราชธานี บอกว่า คนไทยมีอาหารที่ดีที่สุดคือข้าว แต่แปลกที่คนไทยไม่ค่อยได้กินข้าวดีๆ เพราะข้าวพันธุ์ดีส่งออกให้ต่างชาติหมด ชาวนาได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนวิถีการผลิต ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น ต้นทุนก็สูงลิ่ว สุดท้ายชาวนาก็เหลือแต่ตัว ทำมาลงทุนไปไม่มีเหลือ
พ่อแดง เล่าว่า มาคิดดูว่าถ้าพันธุ์ข้าวที่มีอยู่มันไม่ดี ก็ต้องปรับปรุง ตอนนั้นมีวิทยากรมาเปิดอบรมการปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมให้ที่จังหวัด จึงไปเข้าร่วม เห็นพันธุ์ข้าวดีๆ จึงขโมยเอากลับมา 7 เมล็ด กลับมาพัฒนาพันธุ์แบบพื้นบ้าน ไร้สารเคมี ปุ๋ยหรือน้ำหมักทำเองทั้งหมด ปรากฏว่าได้ผลดี จึงขยายแปลงเรื่อยๆ จนวันนี้ขยายได้กว่า 40 สายพันธุ์ เฉพาะพันธุ์ขาวเตี้ยผลิตได้ 1,535 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 250 ตารางวา
“ถึงผลผลิตจะเยอะ ราคาข้าวดี แต่พ่อให้ญาติพี่น้องมาช่วยกันเก็บเกี่ยวเหมือนเดิม แบ่งผลผลิตเป็น 4 กอง ส่วนหนึ่งตัดเก็บไว้เป็นข้าวปลูก ส่วนที่สองเก็บไว้กินเอง ส่วนที่สามแบ่งปันให้ญาติพี่น้อง ที่เหลือนำออกไปขายเป็นรายได้ครอบครัว ชีวิตก็ไม่ได้เดือดร้อน มีข้าวมีปลากิน มีความสุขดี”
เช่นเดียวกับ ดาวเรือง พืชผล เกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อ.กุดชุม จ.ยโสธร สะท้อนปัญหาว่า จากการสำรวจปี 2540 พบว่าในพื้นที่มีการปลูกข้าวเพียง 2 ชนิด ซึ่งพันธุ์ดังกล่าวนี้เหมาะสมกับที่ราบ ขณะที่สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงและที่ทามน้ำท่วม ซึ่งหากยังปล่อยไว้เช่นนี้ ในอนาคตเกษตรกรต้องลงทุนสูงขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากต้องปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะกับพันธุ์ข้าวดังกล่าว
“ช่วงนั้นเครือข่ายฯกำลังทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ จึงตั้งโจทย์ใหญ่ให้ว่าหากพัฒนาสายพันธุ์พื้นบ้านกันเองในชุมชนจะว่าอย่างไร แต่คำตอบที่ได้คือจะทำไปทำไมเพราะทำไปพันธุ์ก็สู้พันธุ์ของราชการไม่ได้ เลยกลายเป็นโจทย์ที่ต้องกลับไปคิดต่ออีกว่าจริงๆ ข้อด้อยของพันธุ์พื้นบ้านคืออะไร”
จึงได้ริเริ่มชวนกันตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน” ขึ้น มีสมาชิกเพียง 12 ครัวเรือน จากทั้งหมด 200 ครัวเรือนที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯ ลงสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลว่า ณ บริเวณนั้นเคยมีการปลูกข้าวพื้นบ้านหรือไม่ พอมีหลงเหลืออยู่ที่ไหนบ้าง กระทั่งพบว่าเดิมพื้นที่ตรงนี้เคยปลูกข้าวพันธุ์ขาวใหญ่ เมื่อนำข้อมูลที่ได้ไปแลกเปลี่ยนในเวทีพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน จึงได้นำเมล็ดพันธุ์มาวิจัยเพิ่มเติม
ภายหลังจากการศึกษา 3 หมู่บ้าน พบว่า ในอดีตพื้นที่กุดชุม มีการปลูกข้าวถึง 62 สายพันธุ์ ข้อมูลนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่า “จริงๆ แล้วลักษณะพื้นที่เป็นตัวกำหนดพันธุ์ข้าวต่างหาก ไม่ใช่พันธุ์ข้าวที่มากำหนดพื้นที่”
แต่สาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเลิกปลูก เพราะขายไม่ได้เนื่องจากไม่มีคุณภาพ แข็ง รสชาติไม่อร่อย และให้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีการยกระดับการพัฒนาและข้าวผสมกันเองข้ามสายพันธุ์ จึงได้ทำแปลงทดลอง นำผู้มีประสบการณ์มาช่วยคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ คัดเลือกต้นที่ดีที่สุด บันทึกการเจริญเติบโตทุกระยะ กระทั่งได้เมล็ดพันธุ์ที่นำไปปลูกได้ในแปลงจริง
หลังจากข้อมูลเผยแพร่ออกไปในชุมชนและภายนอกมากขึ้น กลุ่มฯจึงได้ทำข้อตกลงร่วมกัน ให้สมาชิกทั้ง 12 ครอบครัว ช่วยกันรับผิดชอบและพัฒนาสายพันธุ์ต่อ เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งก็ค้นพบพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงกว่าข้าว 2 สายพันธุ์ที่เคยปลูกมาโดยตลอด
“การพูดต่อๆ กันแบบปากต่อปากถึงคุณภาพ รสชาติ ของข้าวบ้านกุดชุม ทำให้มีคนสนใจเยอะ จึงได้ลองสร้างตลาดภายใน จนปัจจุบันเราทำตลาดตรงไปภายนอก และนี่คือสิ่งที่ได้รับจากการพัฒนาพันธุ์ที่ไม่ต้องปรับพื้นที่ ไม่ต้องลงทุนสูง และไม่สูญเสียอาชีพทำนาไปด้วย”
ขณะที่ ศุภดา ทองธรรมชาติ จากครัวใบโหนด คาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา เล่าถึงตัวอย่างการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นว่า ครัวใบโหนดเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มออมทรัพย์, กลุ่มพ่อเฒ่าแม่เฒ่าสาวนุ้ย, กลุ่มรักษ์คาบสมุทรสทิงพระ, และกลุ่มอนุรักษ์ผักพื้นบ้าน เพื่อรวบรวมผักพื้นบ้านและอาหารท้องถิ่นของชุมชนที่กำลังถูกกลืนโดยวัฒนธรรมการกินสมัยใหม่
“เราลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผักพื้นบ้าน ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาให้คนหนุ่มสาว จนเกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างวัย ลดช่องว่างและสร้างรายได้สำคัญให้ชุมชน ด้วยการจำหน่ายและปลูกทดแทน
ปัจจุบันครัวใบโหนดนอกจากจะเป็นร้านอาหารพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์ผักพื้นบ้านที่แบบอย่างในการฟื้นวัฒนธรรมอาหารท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์” ศุภดา ทิ้งท้าย
.....................................................
ขณะที่ชุมชนหลายแห่งกำลังลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นจากภัยคุกคามภายนอก ฐานการผลิตอาหารยังคงผูกโยงกับบริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัทข้ามชาติ ภาวะเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ หวังว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่ร่างไว้ว่าให้ความสำคัญกับการปกป้องความมั่นคงทางอาหารชาติ คงจะไม่เป็นเพียงเสือกระดาษตัวใหม่ .