นายกฯสั่งด่วนตั้ง คชอ. ผู้ว่าฯรายงานสดจากพื้นที่ ธารน้ำใจหลั่งไหล
อุทกภัยใหญ่ 30 จว. 5 แสนครัว 1.5 ล้านคน เหตุเตือนภัยล่าช้า ทั้งเมืองพานิชย์ ชนบท พื้นที่เกษตรกรรมจมน้ำ นายกฯตั้งด่วน คชอ.และศูนย์ ปสง.เยียวยา “โคราช”น้ำมูลไม่ลดเมืองยังจม เตือนภัยลุ่มน้ำภาคกลาง เจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี แม่น้ำน้อย เตรียมอ่วมทั้งอยุธยา ปทุม นนท์ ธารน้ำใจไหลท่วมท้นช่วยผู้ประสบภัย
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กล่าวว่าตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมีความเดือดร้อนที่สำคัญของประชาชนหลายสิบจังหวัดประสบภัยน้ำท่วม โดยตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา(17 ต.ค.)สถานการณ์เริ่มเกิดขึ้นและรวดเร็วรุนแรงที่เมืองโคราชและอำเภอปักธงชัย ขณะที่การแจ้งเตือนภัยยังไม่สามารถทำให้ประชาชนอพยพได้ทันท่วงที ทั้งนี้ทันทีที่เกิดเหตุนั้นหน่วยงานต่างๆได้เร่งเข้าไปดูแลแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ รวมทั้งทางจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองทัพ ตำรวจ และประชาชน อาสาสมัคร รายการโทรทัศน์ องค์กรเอกชนต่างๆจำนวนมาก ที่ระดมความช่วยเหลือทุกรูปแบบ
นายกฯรายงานสถานการณ์บรรเทาอุกภัยรอบสัปดาห์
นายกฯ กล่าวว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเต็มที่ที่จะระดมกำลังแก้ปัญหา ตนได้ลงไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยพื้นที่ต่างๆ เช่น โคราช ลพบุรี อยุธยา ชัยภูมิ และเรียกประชุมทันทีเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัด โดยนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรีอังคารที่ผ่านมา(19 ต.ค.) โดยมีมติให้ขยายวงเงินใช้จ่ายสำรองฉุกเฉินของจังหวัดที่กำหนดไว้เดิม 50 ล้าน และผ่อนปรนระเบียบเพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนทันท่วงที นอกจากนี้ยังได้กำหนดหลักการชดเชยความเสียหายของประชาชนในกรณีพิเศษที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ เช่น พื้นที่ใดมีน้ำท่วมขังนาน การเตือนภัยกระชั้นจนอพยพไม่ทัน จะยกเว้นหลักเกณฑ์ปกติให้ นอกจากนี้ยังได้ประชุมทางไกลกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัย โดยเน้นย้ำระบบเตือนภัยที่ทันท่วงที และทำความเข้าใจการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ทั้งนี้ในวันอังคารที่จะถึงนี้(26 ต.ค.) จะมีการพิจารณามาตรการพิเศษในการช่วยเหลือที่ใกล้เคียงกับความเสียหายที่เกิดในพื้นที่และทันท่วงที
"เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาโดยตลอดว่าสถานการณ์ผ่านไปบางทีหลาย เดือนหรือเกือบจะเป็นปีก็ยังมี กว่าเงินนั้นจะถึงมือพี่น้องประชาชน ควรจะได้เปลี่ยนรูปแบบวิธีการในการที่จะช่วยเหลือ จะเป็นไปตามความเป็นจริง และความโปร่งใส เอาทั้งเทคโนโลยีภาพถ่ายทางดาวเทียม และข้อมูลอื่นๆมาช่วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้การช่วยเหลือฟื้นฟูเป็นไปอย่างรวดเร็ว”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย จะยังเป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการอำนวยการแก้ปัญหาที่มีความพร้อม 24 ชั่วโมง ซึ่งหากยังไม่สามารถรับมือได้ก็ให้แจ้งเข้ามาเพื่อรัฐบาลจะยกระดับการดำเนินการแก้ปัญหา ขณะที่กรมชลประทานจะมีศูนย์ที่ติดตามปริมาณน้ำไหลในแม่น้ำและเขื่อนต่างๆและการช่วยเหลือรายงานโดยตรงถึงตนทุกเช้า เพื่อประเมินสถานการณ์
“วันนี้หลายจังหวัดโดยเฉพาะอีสาน ตะวันออก น้ำเริ่มลดลง แต่จะมีหลายจังหวัดจะต้องรับน้ำจากพื้นที่เคยประสบปัญหา โดยเฉพาะภาคกลาง เพราะต้นสัปดาห์ยังมีฝนตกและน้ำท่วมภาคเหนือและกำลังไหลมาสู่ตอนล่างของภาคกลาง ประจบกับช่วง 2-3 วันนี้จะมีน้ำทะเลหนุน แม่น้ำเจ้าพระยากำลังน่าเป็นห่วงที่สุด ได้สั่งการจังหวัดและหน่วยงานเกี่ยวข้องเสริมแนวป้องกันริมน้ำ ซักซ้อมการเตือนภัยการอพยพ”
สั่งด่วนตั้ง คชอ. ให้อภิรักษ์นั่งศูนย์ ปสง.ช่วยเหลือฉุกเฉิน
ทั้งนี้เช้าวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีตั้ง “คณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย”(คชอ.) โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน และตั้ง “ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย” โดยให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้อำนวยการ
“ขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากทำเครือข่ายติดตามสถานการณ์และต้องการช่วยภาครัฐ แต่ยังขาดจุดเข้ามาเชื่อมโยง ศูนย์นี้จะเป็นตัวเชื่อมโยง นอกจากนั้นระยะเวลาจากนี้ไปอีกพอสมควร อาจจะมีสถานการณ์ที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคใต้ รวมถึงพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว การอำนวยการจัดสรรความช่วยเหลือ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายกฎระเบียบต่างๆก็มีความจำเป็น”
น้ำเหนือลงเจ้าพระยา เตือนภัยอยุธยา ปทุม นนท์ กทม.เตรียมอ่วม
ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยในช่วงที่ 2 ยังมีการสนทนาเพื่อหาทางออกของอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรี, นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประธาน, นายต่อศักดิ์ วานิชขจร รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา, นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผอ.ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือฯ โดยมีนายธนินวัฒน์ พัฒนวีรคุณ เป็นผู้ดำเนินรายการ
รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงสาเหตุอุทกภัยครั้งนี้ว่า เกิดจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง และมีความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวผ่าน 3 ระลอก จึงเริ่มมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.ถึง 18 ต.ค. ทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง โดยมีปริมาณมากผิดธรรมชาติของช่วงต้นฤดูคือรวมกันเท่ากับปริมาณฝนเกือบครึ่งฤดู ซึ่งที่ผ่านมากรมอุตุฯได้ประกาศเตือนมาตลอดเป็นระยะ แต่ไม่คิดว่าสถานการณ์จะหนักขนาดนี้ ทั้งนี้ขณะนี้ฝนเริ่มซาลง ภาคเหนือ ภาคอีสานอาจมีฝนตกบ้างเล็กน้อยซึ่งไม่มีผลกระทบต่อน้ำที่ท่วมอยู่แล้ว ส่วนภาคกลางจะไม่มีฝนแต่เป็นเรื่องของน้ำที่ต้องช่วยกันระบายออกไปและเฝ้าระวังสถานการณ์
ผู้ดำเนินรายการถามว่าฝนจำนวนใหญ่ๆมาตกในช่วงเวลาอันสั้น กระทบ 3 ลุ่มน้ำคือ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และคิวต่อไปคือแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างหรือกรุงเทพฯขณะนี้ แม้ว่าสัปดาห์หน้าจะไม่มีปริมาณน้ำเหนือมาเติม แต่คนในพื้นที่ตอนล่างต้องรับมือน้ำเหนือที่ไหลลงมาอย่างไร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า มองจากโคราชก่อน ขณะนี้น้ำลงลำน้ำมูล น้ำจะอยู่ที่อำเภอพิมายลงไปถึงราศีไศล และจะไล่ลงไปเรื่อยๆจนออกอุบลราชธานี ซึ่งถ้าเทียบกับล้ำน้ำชีแล้ว ปริมาณน้ำมูลจะมากกว่าและต้องระวังเยอะๆ สำหรับลำน้ำชีจากชัยภูมิไหลมาสู่อำเภอแวงน้อย แวงใหญ่ มหาสารคาม และจะลงไปบรรจบกับแม่น้ำมูล ซึ่งโชคดีที่เวลาบรรจบของน้ำทั้งสองก้อนเหลื่อมกันอยู่ ส่วนสถานการณ์เจ้าพระยาน้ำถึงกรุงเทพฯแล้ว ปริมาณยังลงมาเรื่อย และระบายออกได้ช้ามากเพราะฝนที่ตกลงมาตั้งแต่วันที่ 15-17 ต.ค.ยังเต็มทุ่ง และสิ่งกีดขวางเยอะ ประกอบกับอีก 2-3 วันระดับน้ำทะเลจะหนุน จึงเตือนประชาชนอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ให้ระวัง
“ส่วนราชการ บางทีสถิติเราใช้ไม่ได้แล้ว มันมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างต่างๆที่ขวางทางน้ำ ความรู้ของประชาชนริมน้ำจากประสบการณ์ป้องกันตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็กระทบทำให้ระดับน้ำเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นด้วย”
น้ำมูลไม่ลด“โคราชเมืองยังจม”อีก 2 สัปดาห์ ขอนแก่นเตรียมรับต่อชัยภูมิ
นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์ล่าสุดในจังหวัดว่า การระบายน้ำลงแม่น้ำมูลทำไม่ได้ เพราะระดับน้ำมูลสูงกว่าลำห้วยต่างๆในเขตโคราช 40 ซม. น้ำท่วมจึงทรงอยู่โดยเฉพาะเขตอำเภอพิมาย ชุมพวง โนนสูง และในเมือง ส่วนที่สถานการณ์ดีขึ้นจากวิกฤติคือปักธงชัย ทั้งนี้คาดการณ์ว่าถ้าน้ำมูลยังไม่ลด โคราชจะอยู่ในสภาพนี้อีกไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ ส่วนโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักของจังหวัดและรองรับผู้ป่วยจากจังหวัดข้างเคียงได้มีแนวพระราชดำริว่าให้กันพื้นที่ที่จำเป็นจะต้องใช้อย่างตึก 3 หลัง แม่ทัพภาคที่ 2 และทางจังหวัดรวมทั้งเทศบาลนครนครราชสีมาได้ร่วมกันเอากระสอบทรายไปวางและสูบน้ำออก คาดว่าอังคารนี้ตึก OPD จะใช้งานได้ปกติ ทั้งนี้ขณะนี้การส่งผ่านความช่วยเหลือเรื่องอาหาร กุมสภาพได้ แต่การเยียวยาทางจิตใจสำคัญมาก โดยเฉพาะในเขตเมือง ปักธงชัย หรือพื้นที่ต้นๆที่ได้รับผลกระทบและยังแช่น้ำอยู่ ส่วนพื้นที่หลังๆยังเตือนภัยได้ทัน
“ท่วมทั้งเขตเมืองและชนบท การจัดการก็ต่างกัน ชาวบ้านปรับตัวไม่ได้ ระดับความเครียดสูงมาก โดยเฉพาะในเมือง…อย่างน้อยชาวบ้านควรจะได้รู้ว่าเขาจะได้ชดเชยอย่างไร ทีมจิตแพทย์กระทรวงสาธารณสุขกำลังลงมาดำเนินการ รวมทั้งการสื่อผ่านวิทยุชุมชน สำนักการระบายน้ำก็มาช่วยบรรเทาปัญหาสุขาภิบาล…โดยระบบบริหารจัดการผมเชื่อว่าวันนี้จะร้อยเปอร์เซ็นต์ของความช่วยเหลือที่โคราช”
นายจรินทร์ จักกะพาก ผวจ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีหมู่บ้านประสบภัย 97 แห่ง ประมาณ 17 แห่งยังต้องใช้เรือหรือรถสูงนำอาหารไปส่ง แต่โดยรวมสถานการณ์จังหวัดดีขึ้นมาก คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติใน 2 วัน ขั้นต่อไปจะทำการฟื้นฟูทั้งบ้านเรือน ที่สาธารณะ พื้นที่เกษตร ซึ่งได้ทำความเข้าใจกับทางอำเภอ อปท. กำนันผู้ใหญ่บ้านแล้ว ทั้งนี้ขณะนี้น้ำไหลลงไปยังขอนแก่นซึ่งได้แจ้งเตือนให้เตรียมรับมือแล้ว
เจ้าพระยาทะลัก “กรุงเก่า”เตรียมจมน้ำ 1 ด. ปทุมยังปลอดภัย
นายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา รายงานว่าสถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะน้ำจากลุ่มน้ำทั้ง 4 สายระบายลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังต้องระบายลงมาอีกอย่างน้อย 7 วัน แม่น้ำลพบุรีอีกประมาณ 8 วัน แม่น้ำเจ้าพระยาอีกไม่น้อยกว่า 15 วัน จังหวัดเคยทำเขื่อนป้องกันเกาะเมืองหรือรอบอุทยานประวัติศาสตร์ที่ระดับ 5 เมตร แต่ขณะนี้น้ำใกล้จะท่วมเขื่อนแล้ว และขณะนี้ได้ทำเขื่อนป้องกันในส่วนสำคัญคือพื้นที่ชุมชนเมืองจะสามารถรับไว้ให้อยู่ แต่ในส่วนนอกเขตป้องกันน้ำท่วมคงต้องใช้ที่อยู่อาศัยชั่วคราว และตั้งศูนย์ประกอบอาหารให้แก่ประชาชน ทั้งนี้คาดว่ากว่าน้ำจะลดใช้เวลาประมาณ 30 วัน
นายธานี สามารถกิจ ผวจ.ปทุมธานี รายงานว่า ขณะนี้พื้นที่ 95% ยังปลอดภัยโดยใช้ถนนเป็นคันกั้นน้ำตลอดแนวสองฝั่งเจ้าพระยากว่า 30 กม.ระดับ 2.3 ม. ซึ่งได้เสริมขึ้นมาอีก 50 ซม. แต่ล่าสุดระดับน้ำบางจุดล้นคันต้องเร่งกู้พื้นที่และเสริมคันสูง 3.1 ม. แต่ประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำกว่า 13,000 ครัวเรือนถูกน้ำท่วมไปแล้วเมื่อวาน ทางราชการได้เข้าไปช่วยเคลื่อนย้ายของขึ้นที่สูงและตัดไฟบางจุด รวมทั้งจัดหาที่ปลอดภัยสำหรับเก็บของมีค่า จัดอาหารเลี้ยง ส่วนการเดินทางหลายแห่งต้องใช้เรือและกำลังขาดแคลน มีผู้บริจาคมาบางส่วนและส่งไปให้อำเภอสามโคก ทั้งนี้จังหวัดยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอดโดยมีสายตรวจคันกั้นน้ำซึ่งจะเป็นหน่วยแจ้งเตือนภัยไปด้วย นอกจากนี้ประชาชนยังออกมาช่วยเจ้าหน้าที่กันเสริมคันกันน้ำ ซึ่งถ้าน้ำเหนือที่ผ่านมาทางประตูน้ำบางไทรอยู่ที่ 3,200 ลบ.ม.ต่อวินาที จะยังรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ได้ แต่ถ้าสูงกว่านี้ก็ต้องเสริมคันกั้นน้ำขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านการจราจรถ้าไปกระทบคันกั้นน้ำพัง
ตั้งศูนย์ ปสง.บูรณาการข้อมูล-เงิน-อาสาสมัคร
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค.เกิดอุทกภัยใหญ่ 5 ครั้ง ครั้งหลังสุด 2 อาทิตย์ได้รับความเดือดร้อน 30 จังหวัด 5 แสนครัวเรือน 1.5 ล้านคน นอกจากความช่วยเหลือของแต่ละจังหวัดซึ่งมีงบประมาณ 50 ล้าน อีกส่วนที่เป็นความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ได้รับการร้องเรียนมา เช่น การเฝ้าระวังทรัพย์สิน เครื่องไฟฟ้า เครื่องผลิตน้ำ เรือ เต้นท์ สุขาเคลื่อนที่ ทางรัฐบาลก็จัดสรรเพิ่มให้ กรมก็มีสำนักงานป้องกันภัยเขตซึ่งจะประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน และในชุมชนก็มีอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนและอาสาสมัครอื่นๆทำงานร่วมกัน
“อาจจะมีจุดเล็กที่เรายังไปไม่ถึง ผู้พบเห็นก็แจ้งเข้ามาที่เราได้ การช่วยเหลือของคนในชุมชนก็จะช่วยได้ น้ำมาอย่างนี้ จะไปใช้พื้นที่ไหน ศาลาวัด ถนนพื้นที่สูง คนในชุมชนจะรู้กันดีว่าใครป่วย ด้อยโอกาส ประสานความช่วยเหลือมากับ อปท. อำเภอ จังหวัด นอกจากทางสำนักนายกฯแล้ว กรมก็มีสายด่วน 1784”
ส่วน ผอ.ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย กล่าวว่า จะเป็นศูนย์ประสานทั้งในส่วนราชการและเชื่อมโยงการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัคร องค์กรเอกชน ที่เข้าไปช่วยเหลือ ส่วนต่อไปจะเป็นเรื่องการฟื้นฟู โดยมีศูนย์ปฏิบัติการเข้าไปให้ความช่วยเหลือระดับพื้นที่ ซึ่งจะมีมาตรการพิเศษชัดเจนหลังประชุม ครม.อังคารนี้ สำหรับการติดต่อสื่อสารจะใช้สายด่วนร้องทุกข์เดิม 1111 หรือเว็บไซต์นายกฯ pm.go.th รวมทั้งเว็บไซต์ www.thaiflood.com ที่คนในสังคมออนไลน์เปิดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลและความต้องการช่วยเหลือ ซึ่งจะเชื่อมข้อมูลกันได้ทั้งหมด และกรมประชาสัมพันธ์ก็จะมีสถานีโทรทัศน์ NBT วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ วิทยุท้องถิ่น
สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ยังพลิกผัน ให้ติดตามข่าวสารใกล้ชิด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยยังไม่นิ่งจึงยังคงต้องระมัดระวัง และหลังน้ำลดยังต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะกลับเข้าสู่ชีวิตปกติ ดังนั้นการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ ศูนย์ประสานงานที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้ดูเฉพาะสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่ต้องวางแผนทำงานต่อเนื่องเป็นระบบ ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆก็ต้องเตรียมเข้าไปดูแล เช่น กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้าไปดูโรคภัย กรมอาชีวะศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจะเข้าไปดูแลเรื่องการซ่อมแซมทรัพย์สิน สำรวจเรื่องเกษตร ทั้งนี้ประชาชนที่อยากมาเป็นอาสมัครช่วยงานที่ซศูนย์ก็ได้
“มีเงินเข้ามาเยอะ แต่ทางศูนย์จะเหมือนชี้แนะว่าขณะนี้ความต้องการเร่งด่วนอยู่ที่ไหน ประเภทใด และต้องประสานกับหน่วยงานได้ เพราะมีเงินอย่างเดียวมันไม่ใช่ ถ้าไม่มีคนไม่มีอุปกรณ์ การประสานงานตรงนี้ต้องทำต่อเนื่อง”
ผู้ดำเนินรายการถามว่า สถานการณ์น้ำที่จะเข้ามาที่ กทม.ขณะนี้ยังไม่ทราบขอบเขตของพื้นที่ที่จะได้รับกระทบ ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆก็แตกต่างกัน จะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเตรียมรับมือเพื่อความปลอดภัยได้อย่างไร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ต้องปรับตลอดเวลาเพราะมีตัวแปรเยอะ 1.ฝน 2.น้ำทะเลหนุน 3.สภาวะอากาศซึ่งถ้าไม่มีปัญหาในกรุงเทพฯ ฝนที่ตกมาอาจมีผลบ้าง แต่ขณะเดียวกันถ้ารอดช่วงน้ำทะเลหนุนสูง 27-28 ต.ค.แล้ว ก็ต้องระวังอีกรอบวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งน้ำทะเลจะหนุนสูงกว่าช่วงนี้
ส่วนนายกฯ กล่าวว่า “เหตุการณ์ต่างๆ พลิกผันได้ตลอดเวลา ขอให้ติดตามข่าวใกล้ชิด เพราะว่าหลายพื้นที่ไม่เคยเกิด นึกภาพไม่ออก เป็นธรรมชาติ แต่เมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้โปรดให้ความร่วมมือ ในพื้นที่ที่ไม่เคยนี่เหนื่อย เพราะว่าชาวบ้านก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเป็นอย่างที่ว่าหรือเปล่า ถ้าเราเตรียมตัวกัน ตื่นตัวกัน และให้ความร่วมมือก็จะผ่านไปได้ดี” .
ที่มาภาพ : http://3.bp.blogspot.com/_KQxJWCm4zIQ/RxjcJINAkoI/AAAAAAAAAJs/k5Pqu_UZzXw/s1600-h/550000013737601.jpg