“จัดสรรอำนาจใหม่ เพื่อทรัพยากรไทยยั่งยืน”
เวทีใหญ่รับฟังความคิดเห็นประชาชนของ คปร. ที่ผ่านมาคึกคัก นอกจากกลั่นข้อเสนอแก้ปัญหาที่ดิน การศึกษา แรงงาน สร้างอำนาจชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองแล้ว ยังมีสาระที่น่าสนใจจาก “เสวนาจัดสรรอำนาจใหม่เพื่อทรัพยากรไทยยั่งยืน”
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 “ลดอำนาจ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน คปร. และกรรมการ คปร.ร่วมรับฟังความคิดเห็นในการปฏิรูปประเทศฯจากประชาชนภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาที่ดิน, คืนการศึกษาแก่ประชาชน, เสริมพลังและสร้างสวัสดิการแรงงานไทย, อำนาจของชุมชนในการพัฒนา และคุณภาพชีวิตของคนเมือง
ทั้งนี้ในเวทียังมีการเสวนา “จัดสรรอำนาจใหม่ เพื่อทรัพยากรไทยที่ยั่งยืน” โดย นายอนันต์ ดวงแก้วเรือน สมัชชาป่าชุมชนภาคเหนือ สะท้อนปัญหาในพื้นที่ว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำลายธรรมชาติ ซึ่งการต่อสู้ของชาวบ้าน ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากอำนาจยังอยู่ที่ส่วนกลาง ที่สำคัญหน่วยงานรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลป่ากลับทำให้ป่าเสียหายลงไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าสามารถกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นได้จะทำให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้น
“ลองให้ชาวบ้านเป็นคนดูแลป่าอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่งก่อนก็ได้ แล้วมาดูกันว่ากว่า 100 ปีของกรมป่าไม้ที่ทำให้ป่าสูญเสียไปมาก กับชาวบ้านทำไม่กี่ปีใครทำได้ดีกว่ากัน แต่ไม่ได้หมายความว่าชุมชนจะดูแลได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีคนไม่ดี แต่เราต้องร่วมมือกัน สองปีที่ผ่านมาเราทำโมเดลพื้นที่จำลองการดูแลป่าในหลายพื้นที่ ดูแลแบบชาวบ้าน เพราะเวลาเราขึ้นไปบนเขาเราไม่รู้หรอกว่าสูงจากระดับน้ำทะเลเท่าไหร่ เพราะใช้หลักสันเขา แต่เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือ”
นายเหมราช ลบหนองบัว ผู้นำเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน กล่าวว่า ปัญหาตอนนี้คือน้ำท่วม ในหลายพื้นที่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มองเป็นเรื่องไหลตัวไม่สามารถเชื่อมโยงได้ แต่เรื่องเหล่านี้เกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดความจำเป็น จนมีการฟ้องร้องขับไล่ที่ดินของชาวบ้านด้วยการขอเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของชาวบ้าน
“พวกนายทุนให้ความสำคัญของที่ดินผิดไป เพราะไปมองว่าที่ดินเป็นสินค้า แต่ถ้ามองจากฐานที่สำคัญ ที่ดินคือแหล่งชีวิต แหล่งผลิตอาหาร ถ้าไม่มีที่ดินทำผลิตพืชผล นอกจากชาวบ้านไม่มีที่จะอยู่แล้วอาหารก็จะหมดไปด้วย”
นายเหมราช กล่าวอีกว่า เมื่อรัฐใช้อำนาจในการประกาศเขตที่ดินต่างๆ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะที่ดินซึ่งทับซ้อนกับเขตอุทยาน มีชาวบ้านถูกฟ้องร้องดำเนินคดีซึ่งทางออกคือควรปฏิรูปวิธีพิจารณาคดีความให้ยึดหลักรับฟังหลักฐานแวดล้อมของชาวบ้านมากขึ้น เพราะส่งผลต่อข้อเท็จจริง
นางนุชนารถ แท่นทอง ผู้นำเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่าคนส่วนใหญ่มองว่าสลัม เป็นแหล่งผลิตยาเสพติด อาชญากรรม แต่ไม่มีใครมองว่า คนเหล่านี้เข้ามาจากชนบทเพราะไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว จึงเกิดการหลั่งไหลเข้าเมือง ซึ่งการแก้ปัญหาคนจนในสลัมต้องลดอำนาจรัฐและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการใช้ที่ดิน
“ที่ดินของรัฐควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในการใช้ที่ดิน เช่นที่ดินราชพัสดุ ที่ดินธนารักษ์ ถ้าชาวบ้านไปถามว่าใช้ได้ไหม คำตอบคือ ไม่ได้เพราะรัฐเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ถ้าลดอำนาจรัฐในเรื่องนี้ได้ จะช่วยลดปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนจนไปได้มาก”
นายสะมะแอ เจะมูดอ เลขาธิการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่า ประมงพื้นบ้านมีมากถึงร้อยละ 92 แต่ทำผลผลิตได้เพียงร้อยละ12 ส่วนที่เหลือเป็นของประมงพาณิชย์ จุดนี้สะท้อนว่าสถานการณ์การเข้าถึงทรัพยากรระหว่างชาวบ้านกับนายทุนเหลื่อมล้ำชัดเจน เสนอว่า 1.ขอให้รัฐทบทวนยกเลิกเครื่องมือบางชนิดที่ไม่เหมาะสม ซึ่งรัฐเคยมีนโยบายทำใน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแล้วแต่ไม่ขยายไปยังพื้นที่อื่น 2.ขยายเขตการทำประมงชายฝั่งจาก 3,000 เมตรเป็น 3 ไมล์ทะเล ให้ครอบคลุมอีก 22 จังหวัด
3.ประกาศให้ป่าชายเลนเป็นพื้นที่ของชุมชนที่มีสิทธิดูแลรักษากันเอง โดยรัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุน 4.ทบทวนการประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 5.ทบทวนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่บนพื้นที่ชายฝั่ง และ 6.ให้รัฐยกเลิกการแก้ไขพระราชบัญญัติประมง และรัฐยึดเจตนารมณ์ตามร่างที่ชุมชนร่วมกันร่างมากว่า 10 ปี
นายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า คนรวยครอบครองฐานทรัพยากรจำนวนมาก ขณะที่คนจนจำนวนมากครอบครองทรัพยากรเพียงเล็กน้อย นี่คือทฤษฎีความเป็นจริงซึ่งสะท้อนภาพความไม่เท่าเทียม ยกตัวอย่างเรื่องโครงการจัดการน้ำใน จ.ระยอง รัฐอ้างให้สร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ของชุมชน เกษตรกร กลุ่มประมง การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม แต่ช่วงที่เกิดภัยแล้งเส้นใหญ่ที่สุดที่ได้รับการจัดสรรน้ำกลับเป็นอุตสาหกรรม โดยไม่มองเลยว่าเกษตรกรและชุมชนก็รออยู่
“น้ำกลายเป็นผลประโยชน์ที่มีต้นทุน รัฐจับมือทุนสร้างบริษัทจัดการน้ำ แล้วกำหนดนโยบายภายใต้พื้นฐานจีดีพี แล้วมาบอกว่านี่คือทิศทางประเทศ ชุมชนได้แต่ตั้งคำถามว่าแล้วเขาอยู่ตรงไหน แต่ก็ไม่เคยได้คำตอบที่บอกว่าจะมีกลไกใดที่จะสร้างหุ้นส่วนในการกระจายทรัพยากรให้ถึงคนจน มองว่าการปฏิรูปง่ายนิดเดียวคืออะไรที่ท้องถิ่นทำอยู่ ให้เขาทำต่อไปคือวิธีที่ดีที่สุดแล้ว”
นายแก้ว สังข์ชู เครือข่ายแผนชุมชน กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำลายวิถีวัฒนธรรมชุมชน เพราะแผนฯดังกล่าวคิดจากส่วนกลางและมีทิศทางพัฒนาแค่ประเด็นใหญ่ ส่วนล่างไม่เคยรับทราบ วิธีที่นำลงสู่การปฏิบัติก็ทำเป็นรูปแบบตายตัว คือหาคนมาฟัง และให้ชาวบ้านยกมือเห็นด้วย เช่นนี้ไม่ถูกต้อง
นายแก้ว กล่าวอีกว่า ชุมชนมีแผนที่ยึดโยงกับฐานชีวิตและสังคมที่ไม่หลุดลอย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ยึดวิถีการกิน การอยู่ การผลิต ตามบริบทของพื้นที่และเอื้อต่อการพัฒนา จึงมีข้อเสนอให้ปฏิรูปโดยทุกกลุ่มมีส่วนร่วมแบบล่างขึ้นบน ให้รัฐต้องคืนอำนาจการพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่นโดยผ่านกลไกทางกฎหมาย สุดท้ายสภาพัฒน์ต้องไม่ทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ อีก แต่ให้ราบรวมแผนชุมชนที่มีอยู่กว่า 80,000 หมู่บ้านมาจัดทำเป็นแผนพัฒนาประเทศ .