คปร.ตบเท้าฟังข้อเสนอปฏิรูปนัดแรก ยันไม่ทิ้ง "เสียง ปชช." แต่ “ทำทุกเรื่องไม่ได้”
เวทีรับฟังความเห็นปฏิรูปประเทศนัดแรกคึกคัก เปิดข้อเสนอแรงงาน-การศึกษา-ที่ทำกิน-ชีวิตคนเมือง-อำนาจชุมชน "อานันท์"ชี้อดีตล้มเหลวเพราะปฏิรูปฉาบฉวย ย้ำ “เสียงชาวบ้านคือนาย” หัวใจคือ “ลดอำนาจรัฐ” แต่ทำทุกเรื่องไม่ได้ต้องดูอำนาจในกระเป๋าก่อน
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม คณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยนายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน คปร.กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่ากระบวนการปฏิรูปนั้นมีมาช้านานและอยู่ในหัวใจของคนในสังคมเป็นเวลาหลายสิบปี นับตั้งแต่ปี 2475 ปี 2516 ปี 2519 และอื่นๆ ซึ่งการปฏิรูปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ในครอบครัวก็ยังคิดถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบพฤติกรรม กลไก เพื่อมุ่งนำไปสู่ชีวิตที่ดีมีคุณค่ามีความหมายและชีวิตที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในส่วนร่วม
“การจะนำไปสู่จุดนั้นมีหลายวิธี มีทั้งการสู้รบฆ่าฟัน ทะเลาะวิวาท แต่วิถีทางที่ดีที่ต้องคำนึงถึงที่ดีที่สุดคือสันติ ช่วยกันคิดช่วยกันทำ แบ่งเบาภาระแบ่งปันความคิดเห็น ความเมตตากรุณามีความสุข”
ประธาน คปร.ชี้อดีตล้มเหลวเพราะปฏิรูป “ฉาบฉวย”
นายอานันท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปอาจจะประสบความสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง เพราะเดิมวิธีการปฏิรูปนั้นเป็นเพียงวิธีการในระดับที่ฉาบฉวย แต่สิ่งที่เราอยากเห็นวันนี้คือความเปลี่ยนแปลง ไม่เอารัดเอาเปรียบ จากอดีตที่เราถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นต่อไปวิธีคิดของเราคือการอยู่ร่วมกันได้ รักษาจารีตประเพณีค่านิยมเก่า เอาความรู้เพิ่มคุณค่าของค่านิยมใหม่ๆในสังคมไทย สังคมสมดุลในความคิดอุดมการณ์และในผลประโยชน์ มีความสุขระหว่างวิถีชีวิตเรียบง่ายวิถีชีวิตพอเพียง ดังเช่นที่เคยเป็นมา ต่อต้านชีวิตใหม่ๆ เช่น บริโภคนิยม การเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่นๆ
“คปร. และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.)ไม่ได้มาเพื่อมาชี้นำหรือบอก แต่มาเพื่อรับฟังข้อมูลที่สัมผัส อยากจะฟังความคิดเห็นอยากฟังข้อเสริมๆไม่ใช่จัดเพื่อชักจูง สิ่งที่สำคัญสุดคือความเข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจในสิ่งที่ตนเองรู้ แต่ต้องเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นนึกคิด เพราะหลายสิ่งในชีวิต ก็แบ่งปันความรู้ความคิดกัน”
ประธาน คปร. กล่าวต่อว่า ประชาชนมักจะต้องการการโอนถ่ายอำนาจ เพราะที่ผ่านมาเป็นการโอนถ่ายอำนาจที่ไม่เป็นจริงเท่าไร การศึกษายังไม่พร้อม ต้องมีพี่เลี้ยง มีผู้ดูแลให้คนแนะนำ อาจจะได้ยินจนเบื่อมากว่า 80 ปีว่า เมื่อไรชาวบ้านจะโตสักที ชนชั้นผู้นำ ชนชั้นปกครองจะเห็นเราสักที นอกจากการมองว่าจบอะไรมา ฐานะการเงินอย่างไร ซึ่งถึงเวลาแล้วต้องทำให้ขอเพียงมองว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคม เป็นมนุษย์ไม่ใช่เรื่องของชนชั้น แต่เป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันช่วยกันแก้ปัญหา และมีความไม่ยุติธรรมในสังคม
นายอานันท์ กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำมีทุกแห่งในโลก จะหนักเบาอีกเรื่อง แต่ตราบใดมนุษย์เหนือกว่าสัตว์เดรัจฉาน มีปัญญาฝักใฝ่สิ่งเหล่านี้ไม่ยาก แต่ต้องไปแก้ที่ตนเอง เพราะความยากจนไม่ใช่ต้นเหตุเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น เป็นผลพวงของความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆ อาทิ โอกาส สิทธิ รายได้ ฉะนั้น หากคนไทยทุกคนอยากเห็นความร่มเย็น มีความภาคภูมิใจ ต้องเป็นสังคมที่ดูแลตนเองได้ กำกับดูแลวิถีชีวิตคนเอง ไม่ถูกรัฐไม่ถูกผู้ใช้อำนาจรัฐและกลไกของรัฐอื่นๆกระทำ นอกจากนั้นประชาชนชาวบ้านทั้งหลายก็ต้องแสดงความรับผิดชอบเช่นกัน ไม่เพียงแต่เรียกร้องสิทธิ แต่สิทธินั้นต้องควบคู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบด้วย
ประธาน คปร. กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปประเทศ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังและสร้างสรรค์ ใช้ความรู้ประสบการณ์อย่างเดียวไม่พอ ต้องเตรียมคนในสังคมให้พร้อมด้วย และเมื่อประชาชน 64-65 ล้านคนพร้อม จะได้อำนาจกลับคืนมาก็สามารถนำอำนาจนี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป
จากนั้นมีการเสวนา “จัดสรรอำนาจใหม่ เพื่อทรัพยากรไทยที่ยั่งยืน” และ เปิดเวทีระดมรับฟังความต่อการปฏิรูปประเทศไทย และในช่วงบ่ายมีการระดมความคิดเห็นทั้ง 5 กลุ่มย่อยต่อการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อพัฒนาข้อเสนอต่อสาธารณะโดยในช่วงเย็นตัวแทนกลุ่มย่อยทั้ง 5 กลุ่มนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นต่อประธานกรรมการปฏิรูป สรุปผลได้ดังนี้
ข้อเสนอปฏิรูป : “การสร้างความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาที่ดิน”
นายประยงค์ ดอกลำใย กล่าวว่าประเด็นการสร้างความเป็นธรรมในที่ดินทำกิน สมาชิกกลุ่มเป็นสมาชิกจากชุมชนท้องถิ่น มีกลุ่มประมงพื้นบ้านและในเมือง อยากเป็นเป้าหมายปฏิรูปประเทศไทย เป้าหมายสูงสุดคือการกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน มีแนวทางคือ 1.ต้องการให้มีกฎหมายที่ดินในอัตราก้าวหน้า คิดตามขนาดถือครองที่ดิน ก้าวหน้าจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินด้วย กรณีหากมีการทิ้งที่ดินรกร้างให้เพิ่มภาษี 2 เท่าทุกปีเป็นต้น 2.ให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ใช้เงินภาษีที่ดินเพื่อให้เป็นกลไกลสำคัญ รวมถึงเกษตรกรรายย่อย ที่ต้องการมีที่ดิน
"3.ยกระดับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชนให้ออกเป็นพระราชบัญญัติฯ 4.ให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายหรือข้อขัดแย้ง โดยเฉพาะโหมดที่ว่าด้วยสิทธิชุมชน โดยเฉพาะม.66 และ 5.การปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมคดีที่เกี่ยวกับคนจน โดยเปลี่ยนจากระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวนโดยให้ยึดหลักฐานประชาชนและประวัติ ศาสตร์ประชาชนเป็นหลัก"
ส่วนเรื่องเร่งด่วน นายประยงค์ กล่าวว่า ให้ยุติการจับกุมชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินทับซ้อน เพราะไม่อยากให้มีคดีใหม่เกิดขึ้น และให้พิจารณาออกกฎหมายนิรโทษกรรมคนจนที่ถูกดำเนินคดีที่ไม่ได้รับความเป็น ธรรม เช่น คดีโลกร้อน รวมทั้งคดีทางแพ่งที่เรียกค่าเสียหายจากชาวบ้านไร่ละ 1.5 แสนบาท ฯลฯ
ข้อเสนอปฏิรูป : “คืนการศึกษาแก่ประชาชน”
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร กล่าวว่า ที่ประชุมเสนอให้หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาทางเลือก โดยเฉพาะหลักสูตรวิถีชุมชน พร้อมเสนองบประมาณควรมาจากหลายแหล่ง เช่น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฯลฯ โดยให้ดึงสถาบันชุมชน เช่น วัด มัสยิด ปราชญ์ชาวบ้าน อปท. เอ็นจีโอ เข้าร่วมจัดการศึกษา โดยเฉพาะให้อบต.เข้ามาจัดการ
นางปิยาภรณ์ กล่าวอีกว่า 2. ปรับระบบโครงสร้างการศึกษาลดบทบาทกระทรวงศึกษาลง ยกเลิกระบบการแข่งขัน ทั้งในอาชีพครูและการแข่งขัน มีข้อเสนอระบบประเมินไม่ควรบั่นทอนขวัญและกำลังใจ ควรประเมินแบบเสริมพลัง ปรับมุมมองการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้ของคนในสังคม รวมทั้งปฏิรูปสื่อควบคู่กันไปด้วย 3.ให้รัฐเปิดโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ของคนจำนวนมาก รวมถึงหาช่องทางใหม่ในการเข้าถึงการศึกษา เช่นเปิดการศึกษาออนไลน์ 4.เพิ่มหลักสูตรวิชาพลเมืองที่ดี ศาสนา ศีลธรรม เพื่อให้นักเรียนรู้บทบาทหน้า พลเมืองที่ดี ต่อประเทศ และประชากรโลก
ข้อเสนอปฏิรูป : “เสริมพลังและสร้างสวัสดิการแรงงานไทย”
นายชาลี ดอยสูง กล่าวว่าในที่ประชุมเสนอ 5 ประเด็นใหญ่ คือ ค่าจ้าง ประกันสังคม สวัสดิการ อำนาจการต่อรอง ความเป็นธรรมระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง โดยมี 10 ประเด็นเสนอ ได้แก่ 1.สร้างอำนาจต่อรองในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน 2. ค่าจ้างที่เป็นธรรมวันละ 421 บาท ค่าจ้างขั้นต่ำ 250 บาทสำหรับแรงงานแรกเข้า 3.ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระโปร่งใส มีผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐเข้าไปบริหารงาน 4. ตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงของนักลงทุนข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย กรณีไม่จ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้าง
"5.ให้รัฐออกกฎหมายให้ประชาชนที่มาทำงานนอกพื้นที่ ให้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตพื้นที่ที่ในสถานประกอบการของตนได้ 6.แก้ไข พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เพื่อเสริมความปลอดภัยให้มากขึ้น 7.ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน กลับมาเป็นสมบัติของชาติและประชาชนดังเดิม 8.รัฐต้องจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กของผู้ใช้แรงงานในย่านอุตสาหกรรม 9.รัฐต้องคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งขณะนี้มีมากถึง 20 ล้านคนที่รัฐยังไม่ได้ให้การคุ้มครอง และ10.ให้รัฐคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ให้มีการขึ้นทะเบียนป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ” นายชาลี กล่าวและว่า ส่วนประเด็นเร่งด่วนเสนอให้ดำเนินการเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรมและสร้างหอพัก ในสถานประกอบการ”
ข้อเสนอปฏิรูป : “อำนาจของชุมชนในการพัฒนา”
นางจินตนา แก้วขาว กล่าวว่ามีข้อเสนอประเด็นนี้ 1.ให้ยกเลิกแผนพัฒนาชายฝั่งภาคใต้และแผนพีดีพี เพราะเป็นการทำลายฐานทรัพยากรและสร้างความขัดแย้งในชุมชน 2. โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต้องเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างแท้ จริงก่อนทุกครั้ง 3.การจัดสรรทรัพยากรของชุมชนต้องให้สิทธิชุมชนจัดสรรด้วยตนเอง 4.รัฐและกลุ่มทุนต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาโดยไม่อ้างความมั่นคงด้านการลงทุน ยกเว้นข้อมูลที่เป็นต้นทุน และ 5.ให้รัฐตัดงบจากส่วนกลางกระจายให้ท้องถิ่นจัดการงบประมาณเอง 6.ผลักดันเรื่องสิทธิการเลือกตั้งในที่ทำงาน และส่วนข้อเสนอเร่งด่วนคือให้รัฐเร่งรัดจัดการคดีของชาวบ้านที่ถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม
ข้อเสนอปฏิรูป : “คุณภาพชีวิตของคนในเมือง”
นางจันทร์ กั้วพิจิตร กล่าวถึงข้อเสนอว่า 1.รัฐควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ชุมชนที่อยู่ริมคลอง ฯลฯ 2.ที่ดินของรัฐ ที่สาธารณะ ที่วัด สุเหร่า ควรเปิดให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ 3.ให้ทำประชาพิจารณ์โครงการการใหญ่ๆ ชาวบ้านต้องรับรู้และมีส่วนร่วม และ4.ให้รัฐแก้ไขข้อจำกัดบางประการของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร
อานันท์ย้ำ “เสียงชาวบ้านคือนาย คปร.” หัวใจปฏิรูปคือ “ลดอำนาจรัฐ”
จากนั้น นายอานันท์ กล่าวภายหลังรับฟังตัวแทนการเสวนากลุ่มย่อยทั้ง 5 กลุ่มว่า คปร.ได้พบคำตอบที่หลากหลาย ที่วิธีคิดจากทุกคนไม่ได้แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ คิดอย่างขนานกันไป โดยกรอบการการทำงานที่ได้เสนอออกไปเบื้องต้นนั้นเป็นกรอบการทำงานชั่วคราว สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ซึ่งจากวันนี้ไปยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม ซึ่งในระยะ 4 สัปดาห์หน้า จะมีการจดบันทึก สรุปข้อมูลในรูปแบบที่กะทัดรัดต่อไป
“ตอนนี้กระบวนการยังไม่ได้เสร็จสิ้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งต้องการให้ผู้แทนของแต่ละกลุ่มติดต่อ กับคณะกรรมการปฏิรูปต่อไป เพราะหากเมื่อถึงจังหวะหนึ่ง จะได้สร้างตุ๊กตาบางอย่างขึ้นมาได้ จะเป็นการพูดถึงสาระเนื้อหาในวันนี้ สุดท้ายจะเป็นอย่างไร ไม่มีข้อยุติล่วงหน้า อาจจะยุติชั่วคราว แต่ข้อมูลจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ขอย้ำว่าเสียงของชาวบ้าน เสียงในพื้นที่ ทาง คปร.จะรับฟังตลอดเวลา”
ประธานคปร. กล่าวด้วยว่า คปร. และ คสป.เป็นกลไกอิสระ มาจากการเสนอของสมัชชา ความเป็นอิสระไม่ได้เป็นทนายให้รัฐบาล ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เราจะเสนอต่อสังคม ส่งสำเนาแก่รัฐบาล ให้เข้าใจ ว่าการปฏิรูปไม่ใช้คน 40-50 คนมานั่งเขียน แต่ต้องการคนกว่าหมื่นแสนคนให้ตื่นตัวและอยากเป็นเจ้าของการปฏิรูป ซึ่งคณะกรรมการเป็นเพียงช่องทางส่งผ่าน เป็นกลไก นายของเราไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นประชาชน
“ปัญหาเมืองไทยมีมากร้อยพันประการ ทำทุกอย่างไม่ได้ ต้องระมัดระวัง ทำอะไรต้องคำนึงถึงในกระเป๋า ในกระเป๋าเราไม่มีอำนาจการบริหาร หัวใจคือลดอำนาจการบริหารของรัฐ” ประธานคปร.กล่าว .