สมัชชา ปชต.ชุมชนเตรียมยื่น 5 ข้อเสนอนายกฯ ให้รัฐหนุนงบตำบลละแสน
สภาพัฒนาการเมืองชี้ประชาธิปไตยชุมชนเป็นหวังเดียวแก้ความเหลื่อมล้ำ นักวิชาการต่างชาติสะท้อนความสำเร็จพลังประชาสังคม ที่ประชุมสมัชชาฯเตรียมยื่น 5 ข้อเสนอนายกฯ จัดงบตำบลละ 1 แสนหนุนประชาธิปไตยรากหญ้าทุกตำบลใน 2 ปี
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) จัด “สมัชชาประชาธิปไตยชุมชน สู่การเมืองภาคพลเมืองที่เข้มแข็ง”โดย ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ประธาน สพม. กล่าวว่า ปัญหาการเมืองที่ขาดเสถียรภาพและนักการเมืองขาดเอกภาพ ขณะที่คนระดับล่างอ่อนแอเพราะความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ทางเลือกที่เป็นความหวังคือการพัฒนาประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยชุมชนให้เข้มข้นตั้งแต่ระดับรากหญ้า ไม่ใช่ประชาธิปไตยระบบตัวแทน ที่ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สพม.ชี้ต้องประชาธิปไตยชุมชน จึงลดความเหลื่อมล้ำได้
“วิธีสร้างประชาธิปไตยชุมชนคือสร้างสำนึกทางการเมืองภาคพลเมืองให้ใส่ใจช่วยแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อนพึ่งรัฐ และทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต รัฐเปิดพื้นที่ให้ชุมชนปรึกษาหารือที่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ และการถ่วงดุลอำนาจรัฐ” ดร.สุจิต กล่าว
ในประเด็นการสร้างพลังอำนาจทางการเมืองภาคพลเมือง นายสน รูปสูง รองประธาน สพม. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิกฤติเนื่องจากนโยบายต่างๆมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจทำให้ภาคเกษตรกรรมถูกทำลายจนไม่สามารถเรียกว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมได้อีก นักการเมืองส่วนใหญ่ได้อำนาจมาด้วยวิธีผิดกฎหมายทำให้บริหารประเทศแบบผิดกฎหมาย แม้มีความพยายามควบคุมด้วยการตั้งองค์กรอิสระ แต่ก็ล้มเหลว
“ทางออกคือให้ประชาชนออกมาปฏิรูปทางการเมือง ขณะนี้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนไปแล้วกว่า 2,000 ตำบล ซึ่งมีแนวคิดการทำงานให้ประชาชนเป็นใหญ่ มีส่วนร่วมและผลักดันจากฐานล่างขึ้นบน ดำเนินงานในหมู่บ้านขึ้นมาตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศเป็นขั้นตอน การทำแบบนี้ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และตื่นตัวกันมากขึ้นด้วย”
รองประธาน สพม. กล่าวอีกว่า หลักการสำคัญของประชาธิปไตยชุมชน คือต้องเริ่มที่หมู่บ้าน ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช้กระบวนการเหมาทำแทนแต่ให้คิดแบบมีส่วนร่วมทั้งฝ่ายท้องที่ ท้องถิ่น และชุมชน โดยเน้นกระบวนการต่อเนื่องทำให้เป็นวิถีชีวิตชุมชนจึงจะสำเร็จ เพราะประชาธิปไตยสามารถลดความเลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมได้ ทั้งนี้กรอบแนวคิดประชาธิปไตยชุมชนต้องเป็นกระบวนการที่ชุมชนมีส่วนร่วมกับภาคการเมือง องค์กรรัฐ และส่วนราชการ ในการกำหนดนโยบาย การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การตัดสินใจทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทั้งระดับจำตล จังหวัด และระดับชาติ ทั้งนี้ให้รวมถึงชุมชนใช้สิทธิของตนเองตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิขุมชน และบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมติดตามผลการพัฒนาของภาคการเมือง องค์กรรัฐ และส่วนราชการ การเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาอันเกิดแต่การพัฒนานั้นด้วย
นานาชาติ ยกบทเรียนความสำเร็จจากพลังขับเคลื่อนประชาสังคม
ดร.ไอ เคอตุ๊ด ปุตรา เอราวัณ ผอ.บริหารสถาบันแห่งสันติภาพและประชาธิปไตย กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวอาจไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะประชาธิปไตยต้องมีการตอบสนองต่อผู้คนและประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเสนอนโยบาย ประการแรกชุมชนต้องมีความสัมพันธ์ร่วมกันกับประชาธิปไตย โดยสะท้อนเสียง สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองสู่ภายนอก และออกแบบการตรวจสอบให้ประชาชนกำกับดูแลการดำเนินงานของรัฐ ว่านโยบายตอบสนองความต้องการหรือไม่ อย่างไร
“จากบทเรียนในอินโดนีเซีย สมัยประธานาธิบดีซูฮาโต อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ผู้นำทางการเมืองเพียงคนเดียว เกิดการคอรัปชั่นอย่างมาก นำมาสู่การล้มล้างสะสางรัฐ แก้ไขกฎหมาย จัดระบบการเลือกตั้งใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยประชาชนและประชาสังคมเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”
นายแอรอน อาเซลตัน ผอ.แผนงานการมีส่วนร่วมของพลเมือง สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ชุมชนมีความสัมพันธ์กับการเมืองและรัฐบาล ในฐานะผู้มีสิทธิตัดสินใจและเป็นผู้แทนของสังคม แต่แค่การส่งเสียงอาจไม่เพียงพอ กลไกที่ดีที่สุดที่เข้ามาช่วยสะท้อนคือภาคประชาสังคมซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวโยงกับความเป็นอยู่ในทุกมิติของชาวบ้าน การจัดการในลักษณะนี้จำเป็นต้องสร้างผู้นำ เชื่อมโยงกระบวนการทำงานให้เข็มแข็ง หล่อหลอมให้รากหญ้าสร้างอิทธิพลให้ตนเองก่อนเข้าสู่กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยชุมชน
นายแอนดรูว์ สตีเฟน เอลลิส ผอ.เอเชียและแปซิฟิค สถาบันนานาชาติ เพื่อการส่งเสริมประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง กล่าวว่า ประชาสังคมควรมีบทบาทในรูปแบบของตัวแทน ซึ่งต้องอาศัยการประเมินหรือการวิจัยแนวคิดจากภาคประชาชนเพื่อสะท้อนประชาธิปไตยท้องถิ่น ที่สำคัญอย่ามองการวิจัยเป็นเพียงแบบฝึกหัดของคนทำ แต่ให้มองเป็นกระบวนการเพื่อหาคำตอบให้สังคมในด้านต่างๆ และสะท้อนความเข้มแข็งของชุมชน ทั้งนี้ในหลายประเทศประชาชนผลักดันให้มีการตรวจสอบรัฐสภาสำเร็จ ตรวจสอบการคอรับชั่นในประเทศนั้นๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสิ่งต่างๆเหล่านี้เกิดจากความเข้มแข็งของชุมชนที่รวมตัวกันออกมาเรียกร้อง
ศ.เฟอร์มิน พี มานาโล จูเนียร์ ประจำวิทยาลัยสังคมสงเคราะห์และพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ เล่าประสบการณ์ประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ว่า ต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนและต้องรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร ส่วนประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็นการเลือกคนเข้ามาเพื่อพัฒนาพื้นที่ ไม่ใช่ให้มาแสดงอำนาจ ทั้งนี้ประชาธิปไตยต้องเคลื่อนไหวผ่านภาคประชาชนอย่างมีส่วนร่วมโดยคนชั้นกลาง เอ็นจีโอ และองค์กรภาคประชาชน จึงจะสามารถกดดันรัฐบาลให้เกิดการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ คนชายขอบได้รับการดูแลมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนสามารถจัดการตนเองได้ แต่จะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงจากฐานล่างขึ้นบน และใช้ความพยายามสูง
ยื่นนายกฯ จัดงบตำบลละ 1 แสน หนุนประชาธิปไตยจากรากหญ้า
นายเธียรชัย ณ นคร รองเลขาธิการ สพม. กล่าวถึงผลการศึกษาประชาธิปไตยชุมชนว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สพม.ได้ทำพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ โดยจากการลงพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง อ่างทอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ภูเก็ต สงขลา ขอนแก่น มุกดาหาร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ และจันทบุรี พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยชุมชนคือ ผู้นำชุมชนทั้งตามธรรมชาติและผู้แทนกลุ่มที่เป็นปากเสียงของชาวบ้าน, กติกา, ภูมิหลังของชุมชน, สวัสดิการชุมชน, และการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน ซึ่งใช้เป็นหลักในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น 3 ปี
แต่ปัญหาที่พบคือ การรวมตัวของชุมชนส่วนใหญ่ทำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงประเด็น ไม่ได้เกิดจากจิตสำนึกเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน, แกนนำชุมชนมักเป็นคนเดิม ขาดการสานต่อจากคนรุ่นใหม่ และยังมีข้อจำกัดในการพัฒนาเนื่องจากภาคราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการตนเองอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ที่ประชุมสมัชชาฯจึงระดมความคิดเห็นเพื่อนำเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำไปสู่การจัดทำนโยบายสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยชุมชนและความเข้มแข็งของการเมืองภาคพลเมือง ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลมีข้อบัญญัติวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนในการสนับสนุนองค์กรชุมชนและสภาองค์กรชุมชนในการดำเนินการกระบวนการประชาธิปไตยชุมชน ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหาและการจัดทำแผนโครงการของชุมชน จนถึงแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยให้ อปท. ท้องที่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าในการมีส่วนร่วมและยินยอมเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยชุมชนอย่างน้อยตำบลละ 100,000 บาท เป็นงบที่แยกต่างหากจากงบพัฒนา ให้เร่งดำเนินการสนับสนุนประชาธิปไตยให้ครอบคลุมทุกตำบลภายใน 2 ปี
2.สนับสนุนการเปิดพื้นที่สื่อสาธารณะและสนับสนุนงบประมาณ กลไก เทคโนโลยี ในการผลิตเนื้อหาประชาธิปไตยชุมชนที่เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตั้งแต่ระดับพื้นที่ถึงระดับชาติ เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะและพัฒนาประชาธิปไตยชุมชนให้เข้มแข็ง 3.ผลักดันให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยชุมชนทุกพื้นที่หมู่บ้าน ตำบลอย่างเร่งด่วน เพื่อการสร้างรากฐานประชาธิปไตยให้เข้มแข็งแท้จริง โดยบูรณาการประเด็นปัญหาความต้องการของชุมชนและการดำเนินงานของหน่วยงานทุกภาคส่วนให้เป็นเอกภาพ และใช้กระบวนดังกล่าวเป็นเครื่องมือสร้างสมานฉันท์ปรองดองทั่วทั้งแผ่นดิน
4.ส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยชุมชน โดยการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรประชาธิปไตยชุมชนให้มีการเรียนการสอนในทุกระดับ และ 5.ให้รัฐบาลปรับปรุงระบบการส่งเสริมสนับสนุนให้ อปท. มีความเป็นอิสระในการสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณและการบริหารจัดการตนเองระหว่างองค์กรชุมชนและ อปท.