"37 ปี 14 ตุลา" รองทีดีอาร์ไอชี้นักการเมืองใช้ประชานิยมต้นทุนต่ำแทนปราบประชาชน
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว จัดงาน “รำลึก 37 ปี 14 ตุลา” มีการทำบุญทางศาสนา วางพวงมาลาสดุดีวีรชน โดยตัวแทนจากภาครัฐ นักสิทธิมนุษยชน นักศึกษาและชาวบ้าน และมีปาฐกาพิเศษ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตย” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และปัจฉิมกถา โดย ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนนำมาเสนอ
........................................................................................
หลังเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มคนสีเสื้อต่างๆ ในปี 2522 และ 2553 ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้รับความสนใจในวงกว้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แม้จะยังคงมีข้อถกเถียงกันต่อสาเหตุของความขัดแย้งดังกล่าวก็ตาม
จากการสำรวจกว่า 4,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และวิเคราะห์โดย ดร.อัมมาร สยามวาลา และ ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ได้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็น “ใครเป็นเสื้อเหลือง ใครเป็นเสื้อแดง” ผ่านชุดคำถามวัดทัศนคติ เช่น คุณคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองเกิดจากอะไร เมื่อนำคำตอบเหล่านั้นไปวิเคราะห์และแยกตามลักษณะการใช้วาทกรรมเหลืองแดง ทำให้ทราบว่าคนเหล่านั้นกระจุกตัวพื้นที่ใดบ้าง
ข้อมูลดังกล่าวชี้ว่าคนเสื้อเหลืองมีแนวโน้มเป็นคนกรุงเทพฯ ขณะที่ต่างจังหวัดคนที่มีรายได้ต่ำมักเป็นเสื้อแดง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากลายทางประชากร มีจุดเด่นที่สำคัญคือจะเป็นคนที่ตอบคำถามว่ารอบ 20 ปีที่ผ่านมา “ตนมีความเป็นอยู่แย่ลง”
งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงแต่ปัจจัยด้านทัศนคติ แต่ยังมีเรื่องรายได้ที่เกี่ยวข้องกับรากฐานทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติกับพฤติกรรมทางการเมืองกับรากฐานทางเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่บอกว่า “คนรวยเป็นคนเสื้อเหลือง คนจนเป็นคนเสื้อแดง”
ความแตกต่างทางรายได้ของประเทศไทยในรอบ 2 ทศวรรษ
ถ้านำสัดส่วนรายได้ของประชาชนในช่วงของคนที่รวยที่สุดกับคนจนที่สุดมาเปรียบเทียบจะพบว่า ห่างกันถึงประมาณ 12- 15 เท่า แปลว่าถ้าคนจนได้ 1 บาท คนรวยจะได้ถึง 12- 15 บาท และความสัมพันธ์ตรงนี้ค่อนข้างคงที่กับเวลา หรือ เมื่อคนจนที่สุดมีรายได้สูงขึ้นคนรวยที่สุดก็สูงขึ้นด้วย
จากงานศึกษาของ อ.อภิชาต สถิตนิรามัย ซึ่งได้ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเสื้อแดงที่อุบลราชธานี ซึ่งชาวบ้านสะท้อนว่า ถูกดูถูกเหยียดหยามว่ามีฐานะยากจน มีความรู้น้อย ไม่มีความยุติธรรมในสังคม เสื้อแดงทำอะไรก็ผิด มีเรื่องเงินใต้โต๊ะ ไม่มีเส้นสาย ลูกสาวสอบครูติดสำรองอันดับ 6 แต่ถูกอันดับ 10 แย่งไป คนเราไม่มีเส้นสาย ม็อบก็ม็อบไม่มีเส้น
“หากถอดดูทีละประโยคเราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างระดับรายได้กับการศึกษา และยังผูกโยงไปเรื่องความยุติธรรม โอกาสในการทำงาน และการที่เขาพูดว่าเรามันคนไม่มีเส้น ม็อบก็ม็อบไม่มีเส้น ตรงนี้สะท้อนว่าเขาคิดว่าตัวเองมีสิทธิทางการเมืองที่ด้อยกว่า ความเหลื่อมด้านรายได้จึงไปสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการเมืองด้วย”
การกระจายรายได้เชื้อไฟที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในระดับรุนแรง
จากการวิเคราะห์โดยดูจากอุปสงค์และอุปทานในการกระจายรายได้ อธิบายว่า ร้อยละ 95 ของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้เท่าเทียมกันเป็นประชาธิปไตยเกือบทั้งหมด ซึ่งประเทศที่ยังเหลืออยู่นี้มักเป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกัน มีความขัดแย้งภายใน ที่สำคัญคือเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก
เมื่อนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองมาอธิบายถึงสาเหตุความไม่เท่าเทียมกันที่เป็นปัญหาต่อการสร้างประชาธิปไตย สมมติมีประเทศหนึ่ง มีคนอยู่เพียง 11 คน 5 คน มีรายได้ต่อเดือน 3,000 บาท 3 คน มีรายได้ 5,000 บาท 2 คน 1,500 บาท และมีหนึ่งคนเป็นเศรษฐีของประเทศนี้มีรายได้สูงมาก 120,000 บาทต่อเดือน ประเทศนี้จะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 บาท แต่จะมีรายได้มัธฐานหรือรายได้ของคนที่อยู่ตรงกลาง อยู่ที่ 5,000 ต่อเดือน
“คนในประเทศนี้ตกลงกันจะสร้างศาลาวัด และออกเสียงประชามติกันว่าจะสร้างใหญ่หรือเล็ก คนมีเงินน้อยอาจอยากสร้างเท่ากับรายได้ต่อเดือนคือ 3,000 บาท ซึ่งมี 5 คน ขณะที่คนมีรายได้สูงกว่า มี 5 คน ดังนั้นไม่ว่าจะลงประชามติแบบไหนคนที่อยู่ตรงกลางก็จะชนะตลอดในการลงคะแนนเสียงทุกอย่าง นั่นก็คือระบบประชาธิปไตยที่คนอยู่ตรงกลางจะเป็นคนที่กำหนดชะตากรรมของสังคม แต่ในกรณีของสังคมไทยที่มีระบบอุปถัมภ์ครอบไว้ คนที่อยู่ตรงกลางอาจไม่ได้เป็นคนตัดสินใจที่แท้จริง"
หากเปลี่ยนโจทย์จากการลงคะแนนเสียงเพื่อสร้างศาลาวัดมาเป็นการเก็บภาษีเพื่อสร้างสวัสดิการ ในสังคมที่ไม่มีความเสมอภาค คนที่อยู่ตรงกลางจริงๆคือคนจน จะพยายามสร้างแรงกดดันให้เก็บภาษีสูงๆ อาจทำให้คนรวยไม่พอใจ สังคมนั้นจะเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยไม่ได้ หรือเปลี่ยนได้แต่รักษาความเป็นประชาธิปไตยได้ยาก
จากการสำรวจรายได้ครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือน 17,600 บาทต่อครัวเรือน แต่รายได้ครัวเรือนของคนที่อยู่ตรงกลางแค่ 10,400 บาทต่อครัวเรือน และส่วนใหญ่ร้อยละ 68 อยู่ในชนบท มีหัวหน้าครัวเรือนอายุเฉลี่ย 49 ปี เรียนจบชั้นประถม และมีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่มีประกันสังคม
“ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์คนเหล่านี้คือคนที่ตัดสินประเทศ ถ้าเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย คงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผลที่จะตามมาด้วย พูดง่ายๆ ก็คือจะเอาเงินที่ไหนมากระจายรายได้ทำสวัสดิการ”
รายได้ของรัฐส่วนใหญ่มาจากการเก็บภาษีภาษีทางตรงซึ่งเก็บจากฐานรายได้ และภาษีทางอ้อมที่เก็บจากฐานบริโภคต่างๆ ในเชิงเทคนิคภาษีที่เก็บได้ง่ายที่สุดคือภาษีที่ดิน แต่ประเด็นคือในประเทศที่มีความมั่นคงด้านทรัพยากร ย่อมส่งผลถึงการแย่งชิงที่มีมากขึ้นด้วย ความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมือง และรัฐจะเปราะบางมากขึ้น
สาเหตุของความเหลื่อมล้ำนอกจากโครงสร้างภาษีคือเรื่องทัศนคติ เมื่อถามคำถามว่าอะไรคือสาเหตุของความจนหรือรวย คำตอบที่ได้คือเกิดมาจน/รวย ในทางวิชาการอธิบายว่าสาเหตุของคำตอบดังกล่าวเกิดจาก 1.ความสามารถตามธรรมชาติของบุคคล 2.ความสมัครใจในการหารายได้ 3.ความไม่เสมอภาคในโอกาส ตรงนี้อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเหลื่อมล้ำด้วย
4.ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากรัฐหรือรัฐถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างมั่งคั่งให้คนบางกลุ่มการคอรัปชั่น ผูกขาด โดยการแทรกแซงตลาด และการเข้าถึงทรัพยากร หรือสร้างกติกาที่ไม่เอื้อต่อการกระจายรายได้ เช่น กลุ่มข้าราชการที่ได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลคุณภาพสูง แม้จะอ้างว่าสิทธิจะมาทดแทนค่าตอบแทนที่ต่ำ แต่นั่นคือการเปรียบเทียบกับเอกชนไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ยังหมายรวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนน้อย และ 5.นโยบายแรงงานไม่เอื้อต่อผู้ใช้แรงงาน
“ แม้ว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้นถึงร้อยละ 50 แต่รายได้แรงงานเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น สาเหตุมาจากความสามารถในการผลิตของแรงงานไม่ได้เพิ่มตามการเติบโต หากให้ค่าแรงสูงจะเป็นปัญหาและเมื่อมีการขาดแคลนแรงงาน ก็เปิดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นกำลังสำรอง ค่าจ้างจึงไม่เคยเพิ่มขึ้น”
4 ทางเลือกเศรษฐกิจการเมืองไทย
เมื่อไทยเป็นประเทศที่อยู่ในระดับความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งมีผลต่อประชาธิปไตย เกิดแรงกดดันให้มีการกระจายรายได้และการเก็บภาษีมาก ขณะที่ฐานทรัพยากรไม่เพียงพอ การเกิดความขัดแย้งทางการเมืองย่อมมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากตื่นตัวและประชาธิปไตยคงเป็นทางเลือกที่ทุกคนต้องการ
ขณะนี้สังคมมีทางเลือก 4 ทาง คือหากเลือกที่จะไม่กระจายรายได้ ก็ต้องปฏิวัติประชาชน เหมือนกับเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่อสังคมแน่นอน เพราะการปฏิวัติระบบการเมืองขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดกระจายรายได้ขนานใหญ่ในสังคม ซึ่งถ้าไม่พร้อมจะปรับเปลี่ยน ย่อมเกิดความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งน่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับทางเลือกกดขี่ปราบปราม
“ทางที่จะเป็นไปได้จริงๆคือการกระจายรายได้ โดยทำแบบประชานิยมแบบสุดขั้ว ซึ่งมุ่งสร้างความเข้มแข็งของประชาชนในระยะยาว, ไม่มุ่งแก้ไขความยากจนอย่างแท้จริง, ไม่มีการว่างแผนทางการคลังหรือระบบที่เอื้อต่อการตรวจสอบที่ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น ดังนั้นทางเลือกที่เหลือและเป็นไปได้จริง คือการกลับไปสู่ระบบสวัสดิการพื้นฐาน ที่ทุกคนต้องร่วมกันสร้าง
“แต่ส่วนใหญ่ชนชั้นนำไม่ค่อยเลือกทางนี้ จะเลือกประชานิยมเพราะมันคือวิธีการที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งง่ายกว่าและใช้ต้นทุนต่ำกว่าการปราบปรามประชาชน สำคัญคือถ้าทำแล้วเลิกยากเสียด้วย ถ้าเราต้องการกลับไปสู่ระบบสวัสดิการต้องพยายามป้องกันไม่ให้ชนชั้นนำหรือนักการเมืองนำประชานิยมมาใช้”
ข้อเสนอแนะประการแรก ระบบสวัสดิการของประเทศควรอยู่บนพื้นฐานของแนวคิด “สังคมสวัสดิการ” ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ 2.ควรแยกสวัสดิการออกเป็น 2 กลุ่ม คือสวัสดิการความเสี่ยงสำหรับทุกคนในสังคม และสวัสดิการลดความยากจน เฉพาะคนจนเท่านั้น 3.ปรับระบบสวัสดิการในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพและความเป็นธรรมมากขึ้น โดยลดการอุดหนุนแก่ผู้ที่ไม่มีความจำเป็น 4.กำหนดให้ผู้ได้รับสวัสดิการจากรัฐทำประโยชน์คืนสู่สังคม 5.การใช้จ่ายภาครัฐ ควรมีสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างสวัสดิการกับการลงทุนเพื่อสร้างการลงทุนในระยะยาว
6.ปรับเงื่อนไขลดหย่อนภาระทางภาษีเงินได้ให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น 7.ขยายฐานภาษีไปสู่ผู้ที่ยังไม่ได้เสียภาษีแต่มีความสามารถในการเสียภาษี 8.สร้างหลักประกันทางการคลังให้การใช้จ่ายภาครัฐอยู่ในระดับที่เหมาะสม 9.ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการลดส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสม และ 10.แก้ไขกติกาทางการเมืองให้เอื้อต่อการสร้างอำนาจการต่อรองของผู้มีรายได้น้อย
ปัจฉิมกถา โดย ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง แต่ยังคงอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเดียวกันมีการกระจายรายได้ดีขึ้น แต่ไทยกลับเลวลง
“ข้อสรุปที่ชัดเจนคือในด้านอุปสงค์ไทยมีการกระจายรายได้ต่ำ ความเหลื่อมล้ำสูง จึงมีความต้องการกระจายรายได้ที่สูง ส่วนอุปทานซึ่งหรือแหล่งที่มาที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายรายได้คือภาษี แต่การแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวนี้ทำไม่ง่าย เพราะต้องเผชิญกับการต่อต้านจากผู้มีอำนาจ”
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งของการเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมทางเศรษฐกิจไทย เกิดจากการมีค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่สูงยิ่งในสังคมไทย ซึ่งเกิดการใช้กฎระเบียบจากภาครัฐ หรือการใช้นโยบายที่ทำให้เกิดส่วนเกินทางเศรษฐกิจ และโอนส่วนเกินนั้นไปให้กับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นชนชั้นนำในประเทศ
สำหรับ 4 ทางเลือกที่เสนอมาข้างต้นนั้น ยังเน้นเรื่องการปฏิรูปทางการคลัง ซึ่งเป็นเรื่องของภาษี และสวัสดิการ ตรงนี้อาจจะมีนโยบายอื่น ๆ ประกอบด้วย เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยไม่ใช่เพียงเพียงทางเศรษฐกิจแต่เป็นความเหลื่อมล้ำที่เชื่อมโยงกับบริบทอำนาจในสังคม
ประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไปนับจากวันนี้ ประเด็นแรกคือ หากจะแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำทางรายได้จะใช้ภาษีทางตรง ซึ่งมาจากฐานรายได้และฐานทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการผลักดันเรื่องดังกล่าวมีมาโดยตลอดแต่มักถูกต่อต้านโดยสังคมชนชั้นนำ ประเด็นต่อมาคือ หากการปฏิรูปภาษีทางตรงทำได้ยาก ทำไมจึงไม่คิดถึงการเพิ่มภาษีทางอ้อมที่อาจแก้ปัญหาความถดถอยได้
“ การงมเพียงแค่ระบบภาษี เพื่อนำมาใช้เรื่องสวัสดิการ ประเด็นที่จะเกิดขึ้นคือ รายได้ภาษีคงจะเพิ่มไม่มาก หรือเพิ่มอย่างช้าๆ คำถามคือ เราจะสามารถนำเงินเหล่านั้นมาใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้นการจะสร้างสังคมสวัสดิการในรูปแบบใด ถ้วนหน้าหรือเฉพาะกลุ่มอาจต้องมีความชัดเจนมากขึ้น”
การเชื่อมโยงประเด็นสู่พัฒนาประชาธิปไตยการแก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำทำอย่างไรที่จะแก้ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ โอกาส และสิทธิทางสังคมเศรษฐกิจได้อย่างไร
จะทำอย่างไรจึงจะสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มีการกระจายอำนาจ ที่ไม่ได้พูดเฉพาะบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หมายรวมถึงการกระจายอำนาจลงไปถึงภาคประชาชนอย่างแท้จริง ลดทอนอำนาจภาพรวมสูงและการริดรอนสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนได้.