“ทรัพยากรชีวภาพ-ภูมิปัญญา” ขุมพลังสร้างเศรษฐกิจจากฐานราก
“บ้านเรามีทรัพย์ในดิน มีสินในน้ำ” คำพูดนี้ตอกย้ำแนวคิดที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรชีวภาพ และคนรากหญ้าที่อยู่ใกล้ชิดทรัพยากรในแต่ละท้องถิ่น ล้วนเป็นผู้ผลิตลำดับแรกๆที่สำคัญในห่วงโซ่การพัฒนา ก่อนส่งไม้ต่อไปยังเศรษฐกิจของประเทศ
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) ระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีพื้นที่เพียง 0.34 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่บนโลก แต่ทว่ากลับมีจำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตสูงถึง 6- 10 เปอร์เซ็นต์ มีพันธุ์พืชที่ถูกค้นพบไม่ต่ำกว่า 15,000 ชนิด ซึ่งซุกซ่อนอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในชนบท และหลายพื้นที่ได้ค้นพบและเพิ่มมูลค่าพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยกู้เศรษฐกิจภายในชุมชนของตัวเองได้
สภาพพื้นที่ราบลุ่มติดหุบเขา ล้อมรอบด้วยเทือกเขาภูพาน เป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านโคก อ.เมือง จ.มุกดาหาร เจ้าของผลงาน“วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำไม้กวาดจากต้นเป้ง (มะพร้าวโคก)” รางวัล Bio-Economic Awards 2010 สาขาพัฒนาผลิตภัณฑ์ดีเด่น จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) หนึ่งในตัวอย่างการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการใช้ทรัพยากรชีวภาพเชิงเศรษฐกิจ
สำรอง โสมศรี ประธานกลุ่มฯ เล่าว่า ชุมชนอยู่ติดกับป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าดงหมู) ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่ ทำนา ปลูกไม้ยางพาราเป็นอาชีพหลัก รายได้พอหยิบมือหาเลี้ยงชีวิตได้ แต่ไม่มีทุนรอนไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หลังจากตั้งเป็นป่าชุมชน ชาวบ้านมีโอกาสเข้าไปใช้ประโยชน์ในผืนป่ามากขึ้นและพบว่า “ต้นเป้ง” พืชท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไป ถูกปล่อยทิ้งไว้เหมือนวัชพืชไร่ค่าชนิดหนึ่ง
“ชุมชนมีภูมิปัญญาในการแปรรูปต้นเป้งเป็นไม้กวาดใช้กันเองในชุมชนอยู่แล้ว จึงคิดว่าถ้ารวมกลุ่มกันทำขายน่าจะมีรายได้เสริมมากขึ้น ประกอบกับตอนนั้นมีโครงการให้ทำวิสาหกิจชุมชน เลยเสนอโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นเป้ง มีสมาชิกเริ่มแรก 20-30 คน”
“ไม้กวาดต้นเป้ง” ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากความคิดของชาวบ้านเอง และข้อมูลบางส่วนที่ขอจากหน่วยงานสนับสนุน จากกลุ่มเล็กๆ ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น รายได้เฉลี่ยจากวันละ 50-100 บาทต่อวัน เพิ่มมากขึ้น กระทั่งปัจจุบันสมาชิกกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าคนละ 300 บาท โดยจะหัก 5 บาทเข้ากลุ่มเพื่อเก็บไว้เป็นต้นทุนในการผลิต
สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคก บอกว่า ไม้กวาดเป้งจะแตกต่างจากไม้กวาดทั่วไป เพราะมีความคงทน ผ่านการรับรองจากห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ว่ามีอายุการใช้งานมากกว่า 3 ปี แต่ในช่วงแรกอาจไม่ค่อยดูดฝุ่นเท่าที่ควร แต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งไม้กวาดจะมีประสิทธิภาพ ซึ่งจุดนี้คือความท้าทายที่กลุ่มกำลังพยายามคิดหาแนวทางพัฒนาต่อไป
ผลสำเร็จจากไม้กวาดเป้ง ชุมชนบ้านโคกต่อยอดสู่การทำโครงการเพาะพันธุ์กล้าไม้ท้องถิ่นชนิดอื่นๆ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูและจำหน่าย ทำให้วันนี้ชาวบ้านมีภาระหนี้สินลดน้อยลงและมีเงินเก็บเล็กๆ น้อยๆ ไว้ใช้ยามจำเป็น
อีกหนึ่งพื้นที่เจ้าของรางวัลเดียวกัน อย่าง “วิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพ (ชาขลู่) ต.บ่อ อ.ขลุง ” พื้นที่ป่าชายเลนผืนสุดท้ายของ จ.จันทบุรี ประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการบุกรุกทำลายแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำจากกลุ่มทุนภายนอกชุมชน ชาวบ้านบางส่วนถูกซื้อด้วยอำนาจเงินจากขั้วตรงข้าม เกิดความขัดแย้งภายใน ชุมชนอ่อนแอลงตามลำดับ
"ชาวชุมชนเริ่มเห็นว่าถ้าปล่อยอย่างนี้ไม่ดีแน่ ต้องหาทางทำอะไรสักอย่างให้คนในชุมชนรวมตัวกันได้ ที่สำคัญต้องช่วยฟื้นเศรษฐกิจของเราขึ้นมาด้วย คิดกันว่าการรวมกลุ่มน่าจะดี แต่ปัญหาคือจะทำอะไร ในเมื่อเราไม่มีทุน” สุวรรณา นิลประดิษฐ์ หัวหน้าประชาสัมพันธ์กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต.บ่อ เริ่มเล่าและว่า
ผู้รู้ภูมิปัญญาด้านการใช้ทรัพยากรจากพืชสมุนไพรในพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเป็นผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า ต.บ่อมี “ต้นขลู่” เป็นพืชท้องถิ่นหาง่าย ปลูกง่าย ใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ยอดจนถึงราก หากจะรวมกลุ่มอาจใช้พืชชนิดนี้เป็นทุนตั้งต้นได้ จึงได้ร่วมกันทำโครงการผลิตชาขลู่ โดยมีวิทยากรเป็นคนในชุมชนเอง
วิธีการผลิตชาขลู่ ไม่ยุ่งยาก ตามที่ สุววรณา อธิบายคือ การนำใบของต้นขลู่มาคั่วในกระทะอลูมีเนียมโดยใช้ไฟเบาถึงปานกลางประมาณ 1 ชั่วโมงจนแห้งสนิท ก็จะได้ใบชาขลู่ที่มีกลิ่นหอมและรสชาติดี
“เริ่มแรกมีสมาชิก 10 กว่าคน พอเริ่มขยายตัวได้ ก็เริ่มมีหน่วยงานภายนอกมาสนับสนุน เช่น สพภ.ก็เข้ามาช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ร่วมกับชาวบ้าน จากกลุ่มเล็กๆ รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ใหญ่ขึ้นปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 80 คน”
หัวหน้าประชาสัมพันธ์กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพ บอกว่า ขณะที่การผลิตใบชาขลู่กำลังเดินไปได้ระดับหนึ่ง ก็ต้องประสบกับปัญหาด้านการจัดการ เนื่องจากวิสาหกิจชุมชนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นที่สนใจทำให้ชาวบ้านเข้าร่วมมากขึ้น ด้วยเหตุผลเพียงเพราะต้องการได้ผลประโยชน์
“จากวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างความเข็มแข็งให้ชุมชนเพื่อต้านทานกับกลุ่มทุนภายนอกล้มเหลว เกิดความอ่อนแอขึ้นอีกครั้ง เราต้องจับมือกลุ่มคนยุคบุกเบิกฟื้นขึ้นมาใหม่ วางกติกาของกลุ่ม มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน และตรวจสอบอย่างเข้มข้น สุดท้ายก็ตั้งต้นใหม่ได้”
ผลจากการดำเนินการกว่า 4 ปี ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนา ต.บ่อ อ.ขลุง จ.จันทบุรี มีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการพัฒนาและร่วมคิดร่วมทำระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานสนับสนุนมากมาย อาทิ เกลือสมุนไพร, ครีมอาบน้ำ, สบู่สมุนไพร, ครีมขัดหน้าสมุนไพรขลู่ และชาขลู่หลากหลายรสชาติ
“สิ่งที่ชาวบ้านได้นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้ชุมชน คือความสามัคคีและความเข้มแข็ง ลดความแตกแยกที่เกิดจากการรวมกลุ่มร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกัน ผลที่ตามมาคือการผลักดันการต่อสู้กับผู้ที่เข้าทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ ตลอดจนการวางแนวทางป้องกันปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง” สุวรรณา สรุป
“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ป่าชุมชนบ้านโนนหินผึ้ง” แห่ง อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ไผ่และกำลังสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ
นิรันดร์ อุดมรักษ์ ประธานกลุ่มฯ ย้อนความถึงที่มาของการตั้งกลุ่มว่า เริ่มดำเนินการในชุมชนช่วงเดือน ก.ย. 52 เนื่องจากมีป่าชุมชนซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์และมีการบริหารจัดการในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพต่างๆ ปัจจุบันมีสมาชิกแกนนำ 30 คน
“ชุมชนเรามีไม้ไผ่ ทั้งไผ่ตง ไผ่เลี้ยง ไผ่สีสุก ไปลำมะลอก ซึ่งแต่ละครัวเรือนปลูกไว้บริเวณบ้านและสวนทำให้มีปริมาณไผ่มากพอ ในอดีตเรามักนำไปใช่ทำเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์สำนักงาน พอตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น จึงมาร่วมกันคิดว่าจะเพิ่มมูลค่าให้เศษไผ่เหลือทิ้งได้อย่างไร สุดท้ายจึงออกมาในรูปกิจกรรมผลิตถ่านไม้ไผ่ขึ้น”
นิรันดร์ อธิบายว่า ถ่านไม้ไผ่ เป็นถ่านที่มีคุณภาพสูง ดูดซับกลิ่นและความชื้นได้ดี เพราะมีโพรงเล็กๆ จำนวนมากจึงทำให้มีคุณสมบัติดีกว่าถ่านทั่วไป และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับถ่านไม้ไผ่ ทางชุมชนจึงได้ผลิตสบู่ถ่านสมุนไพรเพื่อใช้ในชุมชนและจำหน่าย สร้างรายได้ให้คนในชุมชนเป็นจำนวนมาก
“กิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน"
………………………………………………………….
ต้องไม่ลืมว่า ฐานทรัพยากรธรรมชาติแม้จะมีความอุดมสมบูรณ์ แต่หากขาดการไตร่ตรองในการใช้สอย ก็มีวันหมดไปได้ จึงจำเป็นต้องร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูไปพร้อมๆกับการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและมีคุณค่า “อย่าสักแต่ว่าใช้แต่ไม่รักษา” .