ทางเลือก-ทางรอดของชุมชนเมื่อ “อาหารอีสาน” ถูกคุกคาม
“ความไม่มั่นคงทางอาหาร” ไม่เพียงเป็นวาระชาติที่ถูกหยิบยกมากล่าวตั้งแต่เวทีวิชาการจนถึงนโยบายที่ยังไปไม่ถึงรูปธรรม ทว่ายังเป็นวาระโลกถกกันในเวทีนานาชาติ โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนพาไปสัมผัสรูปธรรม ทั้งสถานการณ์ที่ถูกรุกคืบและการทัดทานต่อกระแสเพื่ออยู่รอดของเกษตร-ชุมชนคนอีสาน
อาหารที่เคยมีกินตามธรรมชาติเริ่มร่อยหรอ! อาหารที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยหาได้ยาก! พืชพลังงานมาทดแทนพื้นที่ปลูกพืชอาหาร! ความหวั่นกลัวต่อพืชจีเอ็มโอ!... เป็น“ความไม่มั่นคงทางอาหาร” ที่นับวันจะรุนแรงขึ้นในภาคอีสาน หรืออาจหมายรวมทั้งประเทศ
ชุมชนอีสานจำนวนหนึ่ง เริ่มหันกลับมาปลูกข้าวพื้นบ้าน ทำเกษตรอินทรีย์ ทำวังปลาในแม่น้ำ พวกเขาเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทางเลือกเพื่อทางรอดของครอบครัวและชุมชน
เมื่ออาหารอีสานถูกคุกคาม!
สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารในภาคอีสาน…
ปี 2549 พบว่า 13 ใน 15 จังหวัดของประเทศที่มีนักเรียนก่อนประถมและประถมศึกษาอยู่ในภาวะขาดสารอาหารมากที่สุดคือภาคอีสาน ต้นตอสำคัญมาจากความยากจน ครอบครัวอีสานมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 11,528 บาท ขณะที่รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยของประเทศ 14,640 บาท และขณะที่เด็กชนบทขาดสารอาหารเพราะความยากจน เด็กและคนเมืองกลับขาดสารอาหารมากกว่า เพราะกินอาหารไม่เป็น แวดล้อมไปด้วยกระแสบริโภคนิยมที่ทำลายสุขภาพ
เวทีสมัชชาสุขภาพอีสาน พบว่าอาหารยอดฮิตอย่างส้มตำ ส่วนมากไม่ปลอดภัย เพราะพริก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กระเทียม น้ำตาลปี๊บ มีสารเคมีอันตราย ในปลาร้าพบเชื้อแบคทีเรีย น้ำปลาราคาถูกมาจากเกลือผสมน้ำใส่สี ส่วนผงชูรสยังทำให้ท้องร่วงและปวดท้องรุนแรงจนชักได้ การพบมะละกอจีเอ็มโอที่ขอนแก่นและอุบลราชธานี สร้างความวิตกกังวลเพราะยังไม่มีบทสรุปถึงผลกระทบในอนาคต ขณะที่การใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
คนอีสานพึ่งตัวเองได้น้อยลง เพราะนโยบายรัฐและกลไกตลาดทำให้เกษตรกรไม่สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ต้องพึ่งพิงเมล็ดพันธุ์ส่งเสริม และปุ๋ยเคมีที่ผูกขาดในมือนายทุน กำหนดราคาผลผลิตเองไม่ได้ ขาดทุนเป็นหนี้เป็นสิน ชาวนาปัจจุบันปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อขาย แล้วนำเงินมาซื้อข้าวเหนียวกิน ขณะที่การส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ พืชพลังงาน เช่น ยางพารา ยูคาลิปตัส มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ไม่เพียงแย่งชิงพื้นที่ปลูกพืชอาหาร ยังทำให้มีการรุกพื้นที่ป่าทำลายแหล่งอาหารธรรมชาติ เช่น โครงการปลูกปาล์มน้ำมัน 1 แสนไร่ ในจังหวัดหนองคาย เลย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี มุกดาหาร ศรีสะเกษ เกษตรกรมีความเสี่ยงที่ต้องแบกรับต้นทุนสูงกว่าในภาคใต้เพราะสภาพภูมิประเทศเหมาะสมต่างกัน ยังทำให้พื้นที่อาหารป่าบุ่งทามค่อยๆหมดไป
โครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างจะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารมากกว่าที่เคยสร้างในแม่น้ำโขงตอนบน เพราะเป็นแหล่งอาศัยและอพยพสำคัญของสัตว์น้ำ จึงไม่เพียงทำลายความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ แต่ยังกระทบต่อวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านมหาศาล
ข้าวพื้นบ้านและวังปลา ความมั่นคงอาหาร
ชุมชนอีสานจำนวนหนึ่งพยายามรักษาพันธุกรรมท้องถิ่น อันเป็นหลักประกันของความมั่นคงทางอาหาร เช่น กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอุบลราชธานี
ประวัติ ไชยกาล คณะทำงานโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าว่า เริ่มจากการค้นหาชาวนาที่ยังคงปลูกข้าวพื้นบ้าน ค้นหาสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ยังหลงเหลืออยู่ แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนายกระดับ และพยายามขยายพื้นที่
“อ.สว่างวีระวงศ์ 5 หมู่บ้าน บ้านบุ่งมะแลง 10 ครัวเรือน ท่าช้าง 6 ครัวเรือน หนองพรานคาม บ้านสุขสมบูรณ์ บ้านทองอ้อ, อ.เขื่องใน 2 หมู่บ้านคือท่าศาลา 10 ครัว ท่าป้อเกือบทั้งหมู่บ้าน อ.ตระการพืชผล 1 หมู่บ้าน, อ.ศรีเมืองใหม่ 1 หมู่บ้าน, อ.สำโรง คือบ้านโพนงาม” ประวัติ กล่าว
พันธุกรรมท้องถิ่น ถูกคัดสรรโดยธรรมชาติ ถูกบ่มเพาะจากภูมิปัญญา จึงกลายเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าตามธรรมชาติ แสดงความสามารถในการพึ่งพิงตนเองของชุมชน
ครอบครัวของพ่อจันทร์แดง บุญมางำ และ แม่สุธี สินสายเหมาะ บ้านโพนงาน ปลูกและกินข้าวพื้นบ้านมาตลอด เพราะข้าวมันเป็ดและข้าวป้องแอ้ว หอมอร่อย ทำให้ไม่เป็นเบาหวาน ครอบครัวพ่อไพบูลย์ ภาระวงศ์ บ้านหนองพรานคาน ชวนให้เพื่อนบ้านหันมาปลูกข้าวพื้นบ้านหลายสายพันธุ์ เพราะไม่ต้องซื้อหาพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ ยังทนต่อโรคและแมลงปรับตัวได้ดีต่อสภาพพื้นที่ ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ส่วนกลาง จันทร์สอน บ้านฮ่องอ้อ ต.ท่าช้าง เคยประสบปัญหาน้ำท่วมนาผลผลิตเสียหาย แต่เมื่อปลูกข้าวหอมสามกอที่มีอายุสั้น รวงใหญ่ ทนแล้งได้ดี จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้ทันเวลาก่อนน้ำจะท่วม ทำให้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน
“แรกๆแบ่งนาคนละครึ่งกับแฟน เขาปลูกข้าว กข. ผลผลิตข้าวพื้นบ้านผมได้มากกว่า คือ 3 งานกว่าได้ข้าวเกือบ 2 ตัน ปุ๋ยเคมีก็ไม่ต้องใช้ หมักปุ๋ยชีวภาพเอง พอเห็นข้าวงามเมียก็เปลี่ยนมาทำตามปลูกกันทั้งบ้าน 3 ไร่เลย ชาวบ้านก็มาขอแบ่งพันธุ์ ขอปุ๋ยขอน้ำหมักชีวภาพ” พ่อแดง กล่าว
พ่อแดง หาทวี ชาวนาบ้านบุ่งละแม เล่าความสำเร็จ ปัจจุบันแกกำลังทดลองผสมพันธุ์ระหว่างข้าวอีเตี้ยซึ่งแข็งแรงทนทานแตกกอดีผลผลิตสูงกับข้าวสามกอซึ่งหอมอร่อยผลผลิตต่ำ
นอกจากข้าวพื้นบ้าน ท่ามกลางปัญหาการถูกรุกรานฐานทรัพยากรอาหารในลำน้ำ มีความพยายามรื้อฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้กลับมาในรูปแบบของวังปลา 37 แห่งบริเวณแม่น้ำมูนและชี
5 ปีแล้วที่เกิด วังปลาบ้านท่าช้าง-กุดลาด ชาวบ้านตั้งกติกาชุมชนไม่ให้มีการจับปลาในเขตอนุรักษ์ ช่วยกันลาดตระเวนป้องกันเรือดูดทรายที่มักลักลอบเข้ามา ช่วยกันทำปะการังเทียมเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ วันนี้ปลาหลายชนิดกลับคืนมา แม้ว่าจะไม่มากเท่ากับก่อนสร้างเขื่อนปากมูล แต่ก็เป็นการฟื้นฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนให้กลับคืนมาอีกครั้ง
ข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน
การปลูกข้าวพื้นบ้าน อาจถูกปรามาสว่าไม่อาจเป็นคำตอบของเกษตรกรไทย เพราะทำกันไม่กี่คน และความหลากหลายในสายพันธุ์ยังไม่เหมาะสมที่จะผลิตเพื่อการค้าที่ต้องการมาตรฐานเดียวกันในการส่งออก แต่หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและเป็นระบบโดยนโยบายรัฐ ก็จะเป็นคำตอบของเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรกรรมยั่งยืนได้
สุรสม กฤษณะจูฑะ จากโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน กล่าวว่าการสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นจะต้องปฏิรูปโครงสร้างการเกษตรและปฏิรูปที่ดินไปพร้อมกัน รัฐควรสนับสนุนชาวนาที่ปลูกข้าวพื้นบ้านอย่างจริงจัง เช่น โครงการข้าวคืนนา เอาข้าวจากธนาคารข้าวมาให้ชาวนาปลูก
“ต้องมีที่ดินให้ชาวบ้าน แต่ถึงจะมีที่ดินเยอะแต่เอาไปผลิตพืชพลังงาน ก็ไม่ได้สร้างความมั่นคงให้ชีวิต ไม่ใช่เฉพาะความมั่นคงทางอาหารอย่างเดียว เรื่องรายได้ก็ไม่ได้ด้วย” สุรสม กล่าว
อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน บอกว่า ถ้าปรับวิถีการผลิตให้เป็นวิถีชีวิต มีความสามารถครอบครองปัจจัยการผลิตเอง ก็จะมีความมั่นคงทางอาหาร
“เรามีรูปธรรมชาวนาอินทรีย์สุรินทร์ อุบลฯ กุดชุม เลิงนกทา ยโยสร ปากเรือ มหาชนะชัย ไม่เพียงขายข้าวในท้องถิ่น ขายผู้บริโภคกรุงเทพฯ ส่งเลมอนฟาร์มและร้านทางเลือก ยังส่งออกข้าวไปยุโรปโดยสหกรณ์กรีนเน็ตเป็นผู้จัดการ สุรินทร์ส่งข้าวขายอเมริกาโดยบริษัทที่ทำการค้าแบบเป็นธรรมชื่อออโต้อีโคร์ ปีหนึ่งๆพี่น้องเราส่งข้าวไปในระบบนี้หลายร้อยตัน แล้วก็ได้กำไรเอาไปทำเรื่องป่าชุมชน กิจกรรมเด็ก อบรมสมาชิกให้เข้าใจเรื่องการทำนาอินทรีย์เพิ่มขึ้น” อุบล กล่าว
………………………………………………………….
ถ้าความมั่นคงทางอาหาร คือ การมีกินอย่างเพียงพอไม่อดอยากหิวโหย! ความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าและปลอดภัย! ชาวนาที่ปลูกข้าวพื้นบ้าน ชาวประมงที่ทำวังปลาแม่น้ำมูน และเกษตรกรอินทรีย์ บอกว่า สิ่งที่พวกเขาทำคือความสุขที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นทางเลือกเพื่อทางรอดท่ามกลางความไม่มั่นคงทางอาหารของประเทศ .
ขอบคุณ : โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และภาพบางส่วนจากโครงการทามมูล .