เครือข่ายชุมชน 7 จว.อีสาน ยื่นโมเดลปฏิรูปจากรากหญ้าถึง “นายกฯ-อานันท์-หมอประเวศ”
สื่ออุบลฯเสนอตั้งกรมสื่อชุมชน เพิ่มพื้นที่ชาวบ้านในสื่อสาธารณะ เวทีอีสานชี้ปฏิรูป ปท.ต้องมีรูปธรรมที่ชุมชนไม่ใช่แค่แก้โครงสร้าง ยื่นโมเดลถึง รบ.-คปร.-คสป. ตั้ง “สภาประชาชน” เทียบเท่าสภา สส.-วุฒิ แก้ปัญหาที่ดิน หยุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์-เขื่อนน้ำโขง-ปากมูล-เหมืองโปแตซ ออก พ.ร.บ.โฉนดชุมชน หนุนหมอพื้นบ้าน
วันนี้(25 ก.ย.53) ที่ชุมชนเกตุแก้วบ้านมั่นคง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง(คปสม.อบ.) จัดเวทีประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทย เป็นวันที่ 2 นายประพันธ์ เวียงสมุทร สมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี กล่าวว่าปัจจุบันมีพื้นที่ให้สื่อชุมชนน้อยมาก สื่อห่างจากชาวบ้าน ข่าวก็เป็นมุมมองจากส่วนกลาง เพลงผูกขาดไม่กี่ค่าย ทุกสื่อถูกกรอบส่วนกลางครอบไว้
นายพงษ์สันต์ เตชะเสน นักข่าวท้องถิ่น กล่าวว่าสมัยก่อนข่าวชุมชนมีน้อยมาก เน้นอาชญากรรมหรือข่าวส่วนกลาง ปัจจุบันมีมากขึ้นเพราะชุมชนเข้มแข็ง เช่น กรณีทุบฟุตบาท(ทางเดินเท้า)ทั่วเทศบาลนครอุบลราชธานี ชาวบ้านลุกขึ้นมาทวงสิทธิในทางเท้าของพวกเขา สื่อมาหนุนช่วยจนศาลตัดสินให้เทศบาลฯคืนทางเท้าให้ประชาชน ทุกอย่างต้องเริ่มที่ชุมชนเข้มแข็งก่อนแล้วสื่อมาหนุนช่วยก็จะเกิดพลัง
ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอสื่อเพื่อชุมชนดังนี้ 1.ตั้งกรมสื่อชุมชนขึ้นมาเพื่อดูแลสื่อเพื่อชุมชน มีสำนักประชาสัมพันธ์ชาวบ้านทำงานคู่ขนานกับประชาสัมพันธ์จังหวัด 2.สร้างหลักสูตรการศึกษาสื่อเพื่อชุมชนในสถาบันการศึกษา โดยนักวิชาการนิเทศศาตร์มีส่วนร่วมกับชุมชน 3.เปิดทีวีดาวเทียมเพื่อชุมชนให้เป็นพื้นที่นำเสนอเรื่องของท้องถิ่นโดยมีคนในชุมชนเป็นคณะกรรมการ 4.กรมประชาสัมพันธ์แบ่งคลื่นให้ชุมชนดำเนินการ 5.ช่อง 11 ภูมิภาค แบ่งช่องทีวีภูมิภาคให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกระดับ
นอกจากนี้เครือข่ายชุมชนภาคอีสาน 7 จังหวัด ได้ทำจดหมายเปิดผนึกเวทีประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทย ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) และ นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) ใจความว่าสถานการณ์การต่อสู้ของชุมชนเพื่อการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติมีความรุนแรงขึ้น สะท้อนความล้มเหลวของการเมืองระบบตัวแทนและระบบราชการในการปกป้องสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 ที่ระบุชัดเจนว่าชุมชนมีสิทธิในการปกป้องดูแลรักษาและใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน แผนการพัฒนาและปัญหาที่เกิดขึ้นกลับตอกย้ำว่าชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศถูกละเมิดสิทธิ ผู้อยู่เบื้องหลังการทำลายวิถีวัฒนธรรมชุมชนคือนักการเมืองและทุนที่ทำธุรกิจที่ค้าทรัพยากรแบบไม่รับผิดชอบ ทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมารวมกลุ่มและทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเครือข่ายชุมชนมากกว่า 500 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากกว่า 200 ชุมชนต้นแบบใน จ.ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี สุรินทร์ ได้บทสรุปทางรอดประเทศไทยดังนี้ 1.เรื่องความมั่นคงทางอาหาร คือชุมชนมีอาหารเพียงพอ ให้ความสำคัญกับการเกษตรปลอดสารเคมี รวมกลุ่มผลิต รวมกลุ่มขาย การอนุรักษ์พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ดั้งเดิมของท้องถิ่นแทนการผูกขาดของบริษัท 2.ปัญหาที่ดิน ระบบนิเวศคนอีสานในมิติชุมชน ห้วยหนองคลองบึงดินน้ำป่า นั้นเป็นแหล่งอาหารเป็นทรัพยากรที่ชุมชนต้องเข้าถึงได้ ไม่ใช่ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในขณะนี้เป็นปัญหาจากเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเดียวรวมทั้งกลไกของรัฐแก้ไขปัญหาล่าช้าไม่จริงใจ ทำให้เห็นว่ารัฐไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ผูกขาดการพัฒนาและรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพ ฯ
3.การศึกษาทางเลือก ต้องสร้างคนให้เป็นคนมีคุณธรรมชั้นสูง ไม่หลอกหลวงประชาชน โรงเรียนต้องพัฒนาคนให้เป็นคนดีของสังคม การศึกษาต้องใช้เพื่อชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้เรื่องศีลธรรม 4.สุขภาพทางเลือก ชุมชนยังมีระบบการดูแลสุขภาพกับหมอพื้นบ้าน ต้องสนับสนุนสิทธิหมอพื้นบ้านและสร้างเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 5.การสื่อสารของชุมชน ต้องยกระดับให้สังคมและสื่อมวลชนเข้าใจเรื่องชุมชนโดยช่องทางสื่อชุมชนหลากหลายรูปแบบ 6.การพัฒนากลุ่มเยาวชน ปัจจุบันเยาวชนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมาก ควรสนับสนุนให้มีพื้นที่แสดงออกที่สร้างสรรค์ในชุมชน
จึงมีข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศไทยโดยมีรูปธรรมที่ชุมชน ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่โครงสร้างเพียงอย่างเดียว ดังต่อไปนี้
การแก้ปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของชุมชน 1.กรณีข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับรัฐเรื่องที่ดินทำกินให้รัฐยุติการจับกุมและหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยชาวบ้านมีส่วนร่วม และช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างเร่งด่วน และให้มีนโยบายคุ้มครองพื้นที่การเกษตรโดยให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนก่อนสิทธิเอกชน กรณีปัญหาที่สาธารณะที่มีการบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์หรือออกโฉนดทับ ให้มีการตรวจสอบและยกเลิกทั้งประเทศ 2.ให้รัฐยุติกระบวนการการสำรวจพื้นที่ตามแผนสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ใน จ.อุบลราชธานี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ซึ่งมีการสร้างความแตกแยกในชุมชน กรณีเขื่อนปากมูลให้เร่งแก้ไขปัญหาตามข้อตกลงที่วางไว้ ยกเลิกเขื่อนในลำน้ำโขงทั้งหมดเพราะกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนมหาศาล ยกเลิกการสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและสัมปทานรัฐในพื้นที่ซึ่งชุมชนใช้ประโยชน์ 3.แก้ปัญหาสัญชาติในพื้นที่ซึ่งมีความกลมกลืนทางวัฒนธรรมโดยด่วน เช่น คนไร้รัฐพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว
ข้อเสนอระยะกลาง 1.ส่งเสริมเกษตรผสมผสานโดยใช้วิถีวัฒนธรรม คุ้มครองพันธุ์พืชสัตว์โดยเฉพาะพันธุ์ข้าว และจัดสรรปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะที่ดินทำกินอย่างเท่าเทียม โดยประกาศพื้นที่นำร่องเป็นเครือข่ายฯจังหวัด ป่าชุมชน หรือชุมชนต้นแบบและสนับสนุนงบประมาณแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมความเข้มแข็งองค์กรชุมชน 2.ให้ใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักในการแก้ปัญหาที่ดิน และปฏิรูปกฎหมายที่ดินที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาคนจน เช่น ยกระดับระเบียบโฉนดชุมชนเป็น พรบ.โฉนดชุมชน โดยต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าควบคู่กับปัญหาโครงสร้าง 3.กำหนดเขตนิเวศวัฒนธรรมเพื่อคุ้มครองวิถีวัฒนธรรมชุมชน เพื่อการจัดการทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ตามวิถีดั้งเดิมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน 4.ยกเลิกโครงการที่กระทบสิทธิชุมชนชัดเจน เช่น เหมืองแร่โปแตช และต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสังคมสุขภาพประชาชน โดยการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนอย่างเปิดเผยรอบด้าน
5.ส่งเสริมสวนสมุนไพรชุมชนและรับรองหมอพื้นบ้าน โดยประกาศเป็นพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ รัฐสนับสนุนทรัพยากรและงบประมาณ ออกใบประกอบโรคศิลป์หมอพื้นบ้านที่ชุมชนรับรอง 6.ตั้งหน่วยงานหรือกรมสื่อสารชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีพื้นที่ในการเผยแพร่สาธารณะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และผลิตสื่อชุมชนหลากหลายรูปแบบ เช่น เพลงพื้นบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่น เรื่องสั้นสารคดี โดยสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรชุมชนอย่างเป็นระบบ 7.ให้มีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โรงเรียนต้องสร้างคนให้มีคุณธรรม เป็นคนดีก่อนที่จะเป็นคนเก่ง การศึกษาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และให้เยาวชนมีพื้นที่การสร้างตัวตนความสามารถฝึกทักษะด้านต่างๆ เช่น ดนตรีกีฬาสร้างสรรค์ 8.กระจายอำนาจสู่ประชาชนโดยตรง ประชาชนต้องมีสิทธิกำหนดแนวทางพัฒนาประเทศ โดยรัฐจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาองค์กรชุมชนโดยตรง จัดตั้งสภาประชาชนอยู่ในระบบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา
การสรุปบทเรียนชุมชนเพื่อหาทางออกประเทศไทยครั้งนี้ ครอบคลุมรอบด้านซึ่ง คปร. คสป. และรัฐบาลนำข้อมูลไปใช้เพื่อการปฏิรูปได้ในทันที โดยไม่มีความจำเป็นต้องทำเหมือนกันทั่วประเทศ คณะกรรมการฯควรฟังเสียงและข้อเสนอของคนจนเพื่อตอบโจทย์ปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่ให้คนจนเป็นเพียงองค์ประกอบในการปฏิรูปประเทศไทย .