“คนอ่าวปัตตานีวันนี้” ปัญหา ภูมิปัญญา และการสืบสาน
นักวิชาการสันติวิธี เผยศาสนาอิสลามสอนให้คนเรียนรู้ไม่สิ้นสุด สกว.ดึงชาวบ้านวิจัยท้องถิ่น สร้างนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ ปราชญ์ชาวบ้าน-นักวิจัยเด็กรอบอ่าวปัตตานีบอกเล่าประวัติศาสตร์-ภูมิปัญญา-ปัญหาท้องถิ่น
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการ “เรียนรู้รอบอ่าว-ความทรงจำในอ่าวปัตตานี” ซึ่งมีการต่อยอดเป็นโครงการ “การพัฒนาผลงานวิจัยท้องถิ่นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชน จากกรณีบ้านดาโต๊ะ หมู่ที่ 4 ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี”
“เรียนรู้ไม่สิ้นสุด” คุณค่าการศึกษาในวิถีมุสลิม
นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการอิสระด้านสันติวิธี กล่าวถึงคุณค่าการเรียนหนังสือในวิถีชีวิตคนรอบอ่าวปัตตานีว่า การขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาในหมู่บ้านเพิ่งมีการตื่นตัว 10 ปีที่ผ่านมา เพราะในอดีตทรัพยากรในอ่าวปัตตานีมีความสมบูรณ์มาก เมื่อเด็กจบการศึกษาภาคบังคับ(ประถมศึกษาปีที่ 6) พ่อแม่มักให้ลูกหลานประกอบอาชีพประมงในอ่าว บางส่วนเดินทางไปมาเลเซียเพื่อทำงานรับจ้างทั่วไป กระทั่งเกิดการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนตามหลักศาสนาอิสลาม ชาวบ้านจึงรวมตัวกันก่อตั้งโรงเรียนตาดีกาในปี 2537 จึงมีการให้ความสำคัญด้านการศึกษามากขึ้น
“ศาสนาอิสลามสอนให้ทุกคนเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด เช่น คนที่ไปทำงานกับเอ็นจีโอในเรื่องการดูแลทรัยพยากรก็ถือว่าได้เรียนทางลัด ถ้ารัฐบาลผลักดันการศึกษาเต็มที่ ก็จะทำให้เกิดความมั่นคงในอ่าวได้”
ปราชญ์ชาวบ้านเล่าขานปัญหา-ภูมิปัญญาคนรอบอ่าว
ด้านนายมะอาลี กะอาบู หรือเปาะเต๊ะ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านดาโต๊ะ บอกเล่าภูมิปัญญาชาวบ้านที่ควรอนุรักษ์ ว่าสิ่งสำคัญของบ้านดาโต๊ะคืออ่าวปัตตานี ป่าชายเลน และภาษา เพราะป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แต่ระยังหลังป่าถูกทำลาย ขณะที่อ่าวปัตตานียังมีการทิ้งขยะจากชาวบ้านและของเสียจากโรงงาน ปอเต๊ะบอกว่าการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือโบราณและการทำประมงพื้นบ้านจะช่วยยืดอายุทรัพยากรธรรมชาติได้อีกทาง
“การอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านนี่สำคัญ เพราะจะช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เปรียบเทียบง่ายๆ เมื่อก่อนใช้เรือพาย เดี๋ยวนี้ใช้เรือเครื่อง หรือแม้แต่อวนจับกุ้ง ถ้าชาวบ้านทำก็จะทำรูใหญ่ๆให้จับได้แค่กุ้งใหญ่ แต่พอเป็นอวนโรงงาน ตามันเล็กก็จับขึ้นมาหมด นี่ยังไม่รวมอวนลาก อวนรุน ทำให้นิเวศเสียหมด”
ภูมิปัญญาที่เปาะเต๊ะบอกว่าต้องอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกชุมชน ยังสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ เช่น การแกะสลักกรงนก การวาดลายเรือกอและ และเรือหางตัด ซึ่งต้องอาศัยจินตนาการและความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล การวาดลายเรือในปัจจุบันที่หมู่บ้านดาโต๊ะเหลือเพียงเปาะเต๊ะเท่านั้นที่สามารถทำได้ ซึ่งเขากำลังเร่งถ่ายทอดให้เยาวชนรุ่นใหม่ของหมู่บ้านที่สนใจ
“นักวิจัยรุ่นเยาว์” สืบสานวิถีชุมชน
ด้านเด็กนักเรียนบ้านดาโต๊ะที่เข้าร่วมโครงการวิจัยฯ ร่วมบอกเล่าเรื่องราวต่างๆของชุมชนท้องถิ่นตน ด.ช.สูไฮมี สาและ บอกว่า คำว่า “ดาโต๊ะ” เป็นภาษามาเลย์ แปลว่า “คนใหญ่คนโต” ชาวบ้านทั่วไปมักจะรู้ว่าโต๊ะคือยายหรือคนแก่ และจากการสอบคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านถึงความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน พบว่าเมื่อสมัยเจ้าเมืองปัตตานีมีการหลอมปืนใหญ่เพื่อปกป้องเมือง และขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน
“เจ้าเมืองประกาศว่าใครมีทองเหลืองห้ามซื้อขาย ให้มอบแก่เจ้าเมืองเพื่อหลอมปืนใหญ่ พ่อค้าชื่อแซค กอมเบาะ กับอับดุลมุมีน จากตรังกานูฝ่าฝืน เจ้าเมืองจึงสั่งฆ่านำศพไปทิ้งคลองปาเระ ศพทั้ง 2 ลอยอยู่ในท่ายืนไม่ไปไหน ชาวบ้านจึงเอาใส่เรือมาฝัง เมื่อขุดหลุมเสร็จปรากฏว่าใส่ศพไม่ได้เพราะศพยาวขึ้น ชาวบ้านขอดุอาห์จากอัลเลาะห์ให้หยุดยาว จึงฝังศพได้ แต่บางคนก็บอกว่าพับหัวเขาถึงฝังได้”
ด.ช.สูไฮมี ยังอธิบายอีกว่า เรื่องเล่าดังกล่าว เป็นที่มาของการตั้งชื่อหมู่บ้านดาโต๊ะปาแย คือโต๊ะยาว ซึ่งสมัยกำนัน ลายิ สาแม ทางการจะเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน แต่กำนันไม่ยอม ซึ่งคนที่บุกเบิกมาอาศัยที่บ้านดาโต๊ะส่วนใหญ่เป็นชาวประมงที่มาจากบ้านบางปู เพื่อความสะดวกในการหาปลาบริเวณอ่าวไทย
ส่วน ด.ญ.เจ๊ะซูวารี มะสะอิ เล่าประวัติกูโบร์มัรฮูมตันหยง ว่าเป็นกูโบร์ขนาดใหญ่ของบ้านดาโต๊ะ เป็นที่ฝังศพเจ้าเมืองปัตตานีที่ย้ายมาจากตรังกานู ชื่อแนจาแย มีอายุราว 200 ปี อีกกระแสหนึ่งเล่าว่าเป็นที่ฝังศพของดูมูฮำหมัดซึ่งเป็นเจ้าปกครองเมืองปัตตานี และเป็นคนย้ายเมืองปัตตานีมาสู่วังจะบังติกอ
“ข้างกำแพงมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และร่องรอยคลองที่ชาวบ้านเอาน้ำจืดไปใช้ มีมัสยิดดาโต๊ะ ที่ชาวบ้านเชื่อว่ามัสยิดดาโต๊ะและกรือเซะ นายช่างลิ้มโต๊ะเคียม ที่เป็นพี่ชายของเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนียว เป็นผู้สร้าง”
ด.ญ.ปาตี เมาะห์มีเด็ง เล่าปัญหาชุมชนบ้านดาโต๊ะและชุมชนรอบอ่าวปัตตานีว่ามีน้ำเสียจากโรงงาน นากุ้ง การจับจองพื้นที่เลี้ยงหอยแครงของนายทุนทำให้ระบบนิเวศเสียหาย เพราะจะมีการใช้เครื่องยนต์คราดหอยแครง ส่งผลให้สัตว์หน้าดินถูกทำลาย หรือแม้กระทั่งการถมทะเลเพื่อขยายโรงงาน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างมากเนื่องจากปลาน้ำจืดหายไป คนใต้เขื่อนทำนาข้าวไม่ได้
......................................................................................................................
นายมะรอนิง สาและ ชาวบ้านนักวิจัย และหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า งานวิจัยที่ได้ร่วมมือทำกับชาวบ้าน ทำให้เด็กๆสามารถเรียนรู้นิเวศวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเข้าถึงความคิดต่างๆของผู้ใหญ่ เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย และยังเป็นมัคคุเทศก์หรือนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นรุ่นเยาว์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้
“กิจกรรมที่เราให้เด็กๆ ลงพื้นที่เรียนรู้วิถีชุมชน เช่น ลงพื้นที่หมู่บ้านดูกลุ่มผู้หญิงทำอวนปลากระบอก อวนกุ้ง อบรมดีเกฮูลู เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์ ให้ลงเรือดูวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านแต่ละแห่งที่มีความแตกต่างกัน ทำให้เด็กเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี” .
ภาพประกอบบางส่วนจาก นายทศพล พลรัตน์