วิพากษ์"เอ็นจีโอ" ท่ามกลางสถานการณ์แบ่งสี
ครบรอบ4 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. 4 เดือนเหตุนองเลือดราชประสงค์ ไม่เพียงบาดแผลที่ยังฝังร่องรอยตรึงใจหลายคน ท่ามกลางสังคมที่แบ่งฝักฝ่าย "เอ็นจีโอ" หรือ "นักพัฒนาเอกชน" ในสถานภาพที่ยืนหยัดเคียงข้างชาวบ้านก็ถูกตั้งคำถาม ไปร่วมสะท้อนภาพดังกล่าวในเวที “ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” โดย ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย
“ชอบเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง”ฉันเดิมถามปกากญอหลายคนในหมู่บ้านแห่งนี้ด้วยคำถามเดียวกัน“เหลืองสิ บ้านนี้เหลืองหมดแหละ มี..คนเดียวที่แดง” หลายคนก็ให้คำตอบในลักษณะเดียวกัน“น้องล่ะ สีอะไร” ฉันถูกถามกลับบ้าง ฉันนั่งอมยิ้มและบ่ายเบี่ยงด้วยการถามต่อ “ทำไมสีเหลือง” “ชอบอภิสิทธิ์ พอเขาเป็นนายกฯ (เจ้าหน้าที่) ป่าไม้ไม่ค่อยมากวนเรา”หลายคนตอบคล้ายกันจนแทบไม่มีใครแตกแถว“ทำไมอ้าย...จึงแดง” ฉันซักไม่ลดละ“บ่ฮู้...มันมักจะอั้น” หลายคนตอบแบบนี้ แต่บางคนก็บอกว่าเป็นเพราะเขาสนิทกับพรรคพวกของนักการเมืองสีแดง
คำปรารถข้างต้นมาจากผลงานศึกษาภายใต้หัวข้อ “The Will to be Good กับดักจินตนาการทางเลือกที่สามของเอ็นจีโอ” โดย ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่สะท้อนเสียงจากชาวปกากญอ “ไกลปืนเที่ยง” หรือ “ชาวเขา” ที่ “ไม่รู้เรื่อง”เพราะ “ไร้การศึกษา” อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ หากแต่วันนี้ พวกเขารู้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมหรือที่เรียกว่า “จานดำ” และข้อมูลข่าวสารจากเครือข่ายทางสังคมซึ่งสวมบทบาทในฐานะตัวแทนการพัฒนาหรือเอ็นจีโอ ที่สำคัญคือกลุ่มคนดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจไม่เพียงชาวบ้าน แต่หมายรวมถึงการเป็นผู้กำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาของรัฐที่เด่นชัดมากขึ้นทุกขณะด้วย
ดร.อัจฉรา อธิบายผ่านชุดความคิดโดยใช้เหตุการณ์ที่รัฐบาลเข้ากระชับพื้นที่ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า สิ่งที่น่าพิจารณาคือเหตุการณ์ครั้งนั้นมีเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งเลือกที่จะนิ่งเฉยไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ต่อมากลับพบว่าเอ็นจีโอเหล่านั้นเลือกเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปประเทศเทศไทย ทั้งโดยการร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูป หรือการผลักดันข้อเสนอให้เข้าสู่แผนฯ
“ทางเลือกที่นิ่งเฉยต่อการล้มตายที่เอ็นจีโออ้างว่าเป็นทางเลือกใหม่เพื่อข้ามพ้นความขัดแย้งทางสังคม เสมือนเป็นจักรกลที่ลดทอนความเป็นการเมืองให้เป็นเพียงเรื่องทางเทคนิค ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดีในการแก้ไข โดยอ้างความดีงาม ความตั้งใจดีของตัวเอง และมองข้ามไปว่าการกระทำนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองด้วยเช่นกัน”
อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ทำการศึกษา ได้พยายามเรียนรู้ชุดคำอธิบายต่างๆ เกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองที่แพร่สะพัดอย่างสบสนอลหม่าน ประกอบกับการเป็นผู้ปฏิบัติงานที่คลุกคลีอยู่ในวงการเอ็นจีโอพอสมควรทำให้ได้ยินข้อถกเถียงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับท่าทีของเอ็นจีโอต่อสถานการณ์การเมืองอยู่ไม่น้อย
“ไม่แปลกใจถ้าพบว่าเอ็นจีโอรุ่นใหญ่จะไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเวทีสาธารณะ เพราะแต่ไหนแต่ไรมาเป็นที่เข้าใจกันว่าคาถาของเอ็นจีโอรุ่นนี้คือ “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” หวังเพียงสร้างชุมชนอุดมคติที่ปลอดการครอบงำโดยรัฐและทุน ส่วนเอ็นจีโอรุนเล็กก็อาจจะยังสับสนกับจุดยืนทางการเมือง เพราะความเป็นน้องใหม่เพิ่งเรียนรู้วิธีคิดและการทำงานพัฒนา”
แต่ที่น่าสนใจคือท่าทีของเอ็นจีโอรุ่นกลาง ที่ไม่ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลและสถานการณ์ทางการเมืองในเวทีสาธารณะ ทั้งที่ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ทำงานที่คุ้นเคยกับขบวนเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรองและผลักดันนโยบายต่อภาคการเมืองโดยตลอด เชื่อมั่นในพลังประชาชนและยุทธวิธีการสร้างพลังด้วยการชุมนุมเดินขบวน ดังนั้นการเพิกเฉยต่อความเป็นไปทางการเมือง สนับสนุนคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่แยแสคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้เรียกร้องบนท้องถนนเช่นเดียวกัน จึงเป็นเป็นข้อสงสัยที่หลายฝ่ายอาจตั้งคำถาม
“เอ็นจีโอคือผู้ปฏิบัติงานที่อาสาตนเองมาเป็นผู้ทำงานเพื่อชาวบ้าน แต่การสถาปนาตนเป็นตัวแทน คิดแทน พูดแทน และทำแทน อาจเป็นประเด็นที่ต้องมาทบทวนใหม่ และการพยายามจินตนาการ สร้างทางเลือกใหม่โดยการนิ่งเฉยนั้น เชื่อว่านอกจากจะไม่ทำให้พ้นจากความขัดแย้งแล้ว ยังเป็นเป็นการครอบปัญหาที่มีอยู่ เสมือนตอกย้ำปัญหาเดิมและเพิ่มปัญหาใหม่เข้าไปอีก” ดร.อัจฉรา สรุป
สอดคล้องกับความเห็นของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้นำแรงงานและผู้ประสานงานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยภาคประชาชน ซึ่งยืนยันว่า ไม่สามารถยอมรับบทบาทของเอ็นจีโอที่รับใช้รัฐบาลได้ เพราะนั่นเป็นการตามรอยอำนาจที่รู้อยู่แล้วว่าช่อฉล
อย่างไรก็ตาม อดีตผู้นำแรงงาน ยังคงเห็นว่า เอ็นจีโอมีความสำคัญในฐานะผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกับชาวบ้าน ทำหน้าที่เสมือนตัวแทน แต่ไม่ใช่คิด พูด ทำ แทนโดยใช้เจตนาเฉพาะตนเป็นตัวตั้ง ที่ต้องระวังมากที่สุดคือการถูกครอบงำอย่างไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างกรณีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดึงเอ็นจีโอส่วนหนึ่งเข้าร่วม แม้จะประกาศตัวเป็นทางการว่าไม่ขึ้นตรงกับรัฐ แต่นัยยะสำคัญที่หลายคนทราบคือกรรมการชุดนี้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล
“ขณะนี้เอ็นจีโอไม่สามารถพิสูจน์ดีเอ็นเอทางศีลธรรมได้ หากจะกล่าวว่าตัวเองไม่ถูกครอบงำอาจต้องทบทวนใหม่” สมยศ กล่าว
อีกหนึ่งผลงานของ พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรื่อง “ภาคประชาชนกับก้าวที่ไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบท” ซึ่งสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของชนบทในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมาว่ากลายเป็นสังคมเปิดที่เชื่อมต่อกับภายนอกทั้งด้านการผลิต การบริโภค และมิติอื่นๆ ของชีวิต ผู้คนแตกตัวแยกย่อยทางเศรษฐกิจ สังคม ในขณะที่ความรู้สึกนึกคิด ความคาดหวังในชีวิต และมีความตื่นตัวของอุดมการณ์ทางการเมืองไม่น้อยไปกว่าคนเมือง หรือจะพูดอย่างง่ายคือ
“เราไม่มีสังคมชนบทที่เรียบง่ายกลมกลืนสมานฉันท์ หรือเป็นลูกไล่อยู่ใต้การอุปถัมภ์อย่างเชื่องๆ และไร้จิตสำนึกทางการเมืองมานานแล้ว แต่ในทางตรงกันข้ามเอ็นจีโอในฐานะคนทำงานพัฒนากลับพยายามมองสังคมชนบทอย่างหยุดนิ่งเรียบง่ายสมานฉันท์และคิดแบบขั้วตรงข้ามคืออะไรก็โยนให้ทุนนิยม เลวร้ายไปหมด”
ที่ร้ายไปกว่านั้น คือนักพัฒนากลับไปติดกับดักมองการเมือง ลดทอนการเมืองออกจากการพัฒนา กลายเป็นหล่มที่ทำให้เอ็นจีโอติดแหงกก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทที่รุดหน้าไปอย่างที่ อ.พฤกษ์ กล่าวไว้ข้างต้นและอธิบายต่อว่า
ถัดมาคือวาทกรรมการพัฒนาภาคประชาชน ซึ่งแยกย่อยเป็น 3 ประเด็น คือ 1วาทกรรมการทำงานผ่านความรู้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาจะพบว่ามีลักษณะสำคัญคือการชี้ให้เห็นศักยภาพของชุมชนที่เคยมีหรืออาจสร้างขึ้นใหม่ โดยมีคำสำคัญ (keyword) ที่เป็นวาทกรรมการพัฒนาของภาครัฐ เช่น สิทธิชุมชน ชุมชนเข้มแข็ง ธรรมาภิบาล การพึ่งตัวเอง ผลิตขึ้นมาอย่างซ้ำซาก โดยปรับเปลี่ยน ดัดแปลง สอดไส้เพื่อรับใช้อำนาจของชนชั้นปกครอง
2.แวดวงชั้นนำในวงการพัฒนาแสดงออกชัดเจนผ่านสถาบันที่ทำหน้าที่ให้ทุนกิจกรรมหรือทุนวิจัย และมีผลต่อการทำกิจกรรมขององค์กรหรือบุคคล งานพัฒนาหรือการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยเข้มข้นเพื่อขจัดปัญหาชุมชนจึงถูกกำกับทิศทางด้วยอิทธิพลของทุนอย่างมีศิลปะและแยบคาย นำไปสู่ผลผลิตจากวาทกรรมดังกล่าว ที่เห็นชัดคือ การเกิดขึ้นของสภาองค์กรชุมชนกว่า 1,900 แห่ง ที่เป็นการรวมตัวของแกนนำชาวบ้านร่วมกับภาคราชการและข้าราชการการเมืองท้องถิ่น ตอกย้ำว่างานพัฒนาชนบทถูกกลืนไปกับวาทกรรมของรัฐชัดเจน
“ที่ชนบทตื่นรู้แต่นักพัฒนากลับลดทอนการเมืองออกไปจนทำให้มองไม่เห็นความขัดแย้งที่กำกับความเป็นไปของสังคม การต่อสู้ที่ควรจะแหลมคม ท้าทาย กล้าปะทะอำนาจรัฐ กลายเป็นกระบวนการรอมชอมหรือถ้าเรียกให้ชัดคือกระบวนการล๊อบบี้ของนักพัฒนารุ่นใหญ่ที่เข้าไปอยู่ในแวดลงอำนาจรัฐ และสำหรับผมการปฏิรูปประเทศก็คือพัฒนาการสูงสุดของวาทกรรมการพัฒนาภาคประชาชนในขณะนี้” อ.พฤกษ์ กล่าว
สอดรับกับมุมมองของ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากมูลนิธิชีวิวิถี ซึ่งกล่าวว่า ระยะหลังการทำงานของภาคเอ็นจีโอมีการสร้างวัฒนธรรมไม่ค่อยถูกต้องนัก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ยึดโยงกับอำนาจ การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากซากเดิมที่เอ็นจีโอสร้างไว้ค่อนข้างยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่กีดกันตัวเองจากการเมืองเชิงโครงสร้างไม่ได้
อย่างไรก็ดี ก่อนปิดเวทีเสวนา จอน อึ๊งภากรณ์ คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ทิ้งท้ายถึงผู้สวมหมวกเอ็นจีโอทุกคนว่าไม่มีใครมอมเมาล้างสมองชาวบ้านได้ แต่ผู้ทำหน้าที่เป็นหลักให้พวกเขาได้เรียนรู้ ช่วยเหลือ ต่อสู้ปัญหาและเผชิญกับอำนาจรัฐต้องระวัง ร่วมหาทิศทางปรับปรุงข้อด้อยที่เกิดขึ้น อย่าปล่อยให้เจตนาดีถูกเหมารวมไปพร้อมปรากฏการณ์จากเสียงวิพากษ์ในครั้งนี้.