เครือข่ายชุมชนทั่ว ปท. ยื่น 6 วาระด่วนปฏิรูปประเทศจากฐานรากผ่าน “หมอประเวศ”
เวทีเครือข่ายองค์กรชุมชน ส่งเสียงขอร่วมปฏิรูปประเทศผ่านการขับเคลื่อน 8 พันตำบล ลุงสนเสนอออกแบบ คกก.ปฏิรูประดับจังหวัดทั่วประเทศ “หมอประเวศ” รับ 6 วาระปัญหาด่วนภาคประชาชน พร้อมแผนขับเคลื่อนจากคนฐานราก
วันนี้ (15 ก.ย. 53) ที่โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฎิรูป ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชน 5 ภูมิภาค และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) จัดสัมมนา “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การปฏิรูปประเทศไทย” เป็นวันที่ 2 โดยมีคณะทำงานชุมชนระดับจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานและนักวิชาการ รวมทั้ง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) นายบัณฑร อ่อนดำ และ นส.สมสุข บุญญะปัญญา กรรมการคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) เข้าร่วมหารือแนวทางปฏิรูปท้องถิ่นด้วยแนวคิดลดอำนาจรัฐรวมศูนย์ เพิ่มอำนาจชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เพื่อสร้างฐานประเทศให้เข้มแข็ง
เสนอออกแบบ คกก.ปฏิรูปจังหวัดทั่วประเทศ
นายสน รูปสูง รองประธานกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่าปัญหาของแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน เปรียบได้ว่าถ้าเป็นปัญหาน้ำประปาไม่ไหลสามารถแก้ไขด้วยการซ่อมท่อประปา แต่ถ้าเป็นปัญหาที่มาจากระบบจะไม่สามารถแก้ไขที่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นต้องร่วมถกเถียงกัน บางส่วนเสนอให้ปรับซ่อม บางส่วนเสนอให้รื้อ
“ปัญหาที่เสนอจากเมื่อวานล้วนเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากระบบโครงสร้าง ดังนั้นการปฏิรูปต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ประชาชนพบเจอทุกวัน ทุกคนเห็นพ้องกันว่าการปฏิรูปเป็นของทุกคนทุกภาคส่วน หากส่วนใดส่วนหนึ่งปฏิเสธก็จะไม่สำเร็จ และต้องทำจากหมู่บ้านขึ้นมาสู่ประเทศ ด้วยสันติวิธี เพื่อเป็นเครื่องมือเป็นพลังในการขับเคลื่อน”
นายสน เสนอให้มีการออกแบบคณะกรรมการปฏิรูประดับจังหวัดทั่วประเทศ โดยดำเนินการปฏิรูปตั้งแต่ระดับหมู่บ้านขึ้นสู่ระดับจังหวัด จะมีบทบาทในการจัดเวทีระดับหมู่บ้าน ให้ชุมชนวิเคราะห์ปัญหาว่าสิ่งใดที่แก้ได้ให้แก้ไขเลย สิ่งใดแก้ไม่ได้ระดับหมู่บ้าน ก็จัดเวทีร่วมระดับตำบลและจังหวัด โดยมี อปท. และส่วนราชการต่างๆต้องเข้าร่วม หากเกินอำนาจระดับจังหวัด ก็ส่งต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเพื่อส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี
“ชุมชนขอมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูป 8,000 ตำบล ด้วยกระบวนการปฏิรูปที่นำไปสู่ธรรมาภิบาล ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาชน เพื่อร่วมกันออกแบบการปฏิรูประดับจังหวัด”
นายณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม กรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป และนายก อบต. บางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม เสนอให้ให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างท้องถิ่น โดยขับเคลื่อนจากพื้นที่ต้นแบบ 80 แห่ง ซึ่งสามารถทำได้โดย อบต.เปิดเวทีร่วมกับสภาองค์กรชุมชน ร่วมกันระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล และเสนอแนวทางการพัฒนาชุมชนเป็นแผนระดับตำบล
เครือข่ายประชาชนทั่วประเทศยื่น 6 วาระด่วนต้องรีบแก้
ทั้งนี้ภาคประชาชนได้ยื่น 6 ข้อเสนอเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขถึงคณะกรรมการปฏิรูปผ่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธาน คสป. ได้แก่ 1.แก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 2.การยุติโครงการพัฒนาของรัฐหรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ โครงการท่าเรือปากบารา จ.สตูล, โครงการเหมืองแร่, โรงถลุงเหล็ก, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์, ปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 3.ปัญหาหนี้สินเกษตรกรและหนี้นอกระบบ ให้ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีการยึดที่ดินที่เป็นหลักประกันเงินกู้ และปรับโครงสร้างหนี้ 4.ปัญหาการเมืองและความขัดแย้งจากการใช้อำนาจรัฐ ให้รัฐใช้นโยบายสมานฉันท์ยุติการไล่ล่าจับกุมผู้มีความคิด 5.แก้ปัญหาด้านสังคม ยาเสพติด เยาวชน และความปลอดภัย และ 6.ปัญหาการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น และระบบการจัดสรรงบประมาณ เสนอให้รัฐกระจายภารกิจ งบประมาณ บุคลากรสู่พื้นที่ให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการงานพัฒนาต่างๆ ด้วยตนเอง
“รัฐต้องยุติการจับกุมดำเนินคดี การไล่รื้อชาวบ้าน เร่งออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ให้อปท. ที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัยร่วมกับชุมชนตามที่คณะกรรมการกระจายอำนาจมีมติไปแล้ว ประกาศยุติโครงการที่มีข้อมูลว่าส่งผลกระทบต่อชุมชน ด้านความขัดแย้งทางการเมืองต้องแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เพราะเกี่ยวพันกับการบุกรุกทรัพยากร ยาเสพติด ข้าราชการ และการเมือง” นางทิวาพร ศรีวรกุล ตัวแทนภาคประชาชน กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีแผนการขับเคลื่อนขบวนการปฏิรูปประเทศของเครือข่ายองค์กรชุมชน โดยระยะสั้น (3-4 เดือน) คือ 1.คณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปเบื้องต้นในระดับจังหวัดต้องดำเนินการประสานเครือข่ายองค์กรชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ ภาคประชาสังคม เข้าร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูปในระดับจังหวัด 2.จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สัมมนา สร้างความเข้าใจเป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทย สิทธิชุมชนในการจัดการตนเอง รูปธรรมปัญหาความเดือดร้อนในระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล และจังหวัด 3.ศึกษาและจัดทำข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของชุมชนท้องถิ่นเชิงรูปธรรม และเสนอประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระต่อคนในพื้นที่เป็นประเด็นในการปฏิรูป 4.จัดกลไกความสัมพันธ์และบทบาทการทำงานร่วมกันทุกระดับตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ตำบล ให้มีหลักคิดและแนวทางขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกัน และ 5.สร้างปฏิบัติการปฏิรูปการจัดการตนเองในชุมชนท้องถิ่นตามประเด็นสำคัญและผลึกกำลังร่วมของชุมชนในพื้นที่
หมอประเวศ เชื่อปฏิรูปจากฐานเจดีย์หรือพลังประชาชน สำเร็จได้
หลังจากรับข้อเสนอภาคประชาชน นพ.ประเวศ กล่าวว่า มีความพยายามปฏิรูปประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่ไม่สำเร็จเพราะพูดคุยกันในส่วนบนเท่านั้น แต่ครั้งนี้ประชาชนเข้ามามีบทบาทมาก จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ เนื่องจากประชาชนมีพลังที่ยิ่งใหญ่
“ไม่มีเจดีย์องค์ใดที่สร้างได้จากยอด การศึกษา เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัย ไม่เคยมองชุมชนท้องถิ่น การเมืองการพัฒนาประชาธิปไตยระดับชาติจึงไม่สำเร็จ ปฏิรูปคือสร้างรูปประเทศไทยใหม่จะมั่นคงต่อเมื่อรากฐานแข็งแรง”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ชุมชนมีแนวคิดการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ รัฐคิดเชิงอำนาจ ธุรกิจคิดเชิงกำไร วิชาการคิดเชิงวิชาการ ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันคิดจะทำให้เข้าใจปัญหาในมิติต่างๆมากขึ้น โดยใช้หลัก “รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ” .