“ไพบูลย์”ชี้คืนภาระกิจชุมชนจัดการตนเองอีก10ปีถึงยอดเขา - ชบ.ยื่นวาระด่วน คสป.15 ก.ย.
"สภาองค์กรชุมชน"เผยชุมชนมีศักยภาพจัดการตนเอง-โชว์พื้นที่้ต้นแบบ "ไพบูลย์" ชี้จะถึงยอดเขาต้องคืนอธิปไตยให้ชุมชน ใช้สังคมนำการเมือง-ออก กม.เอื้อ-กระจา่ยเงินกระจายคน สภาชาวบ้านประมวลข้อเสนอ คสป.พรุ่งนี้ วาระด่วนปัญหาทรัพยากร หนี้สิน ชายแดนใต้ และแบ่งสีในอีสาน
วันนี้ (14 ก.ย.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดสัมมนา “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การปฏิรูปประเทศไทย” โดย นายแฉล้ม ทรัพย์มูล ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน กล่าวถึงผลการดำเนินงานของขบวนชุมชนในการจัดการตนเองซึ่งสร้างรูปธรรมและเชื่อมโยงเครือข่ายสู่ภาคส่วนอื่นๆ ดังนี้ 1.เกิดการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น ภายใต้กิจกรรมและประเด็นงานต่างๆในพื้นที่ ได้แก่ พัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน 3,500 ตำบล, จัดทำแผนชีวิตชุมชน 1,500 ตำบล, การจัดการที่อยู่อาศัยใน 1,892 ชุมชน 96,903 ครัวเรือน, การแก้ปัญหาที่ดินใน 520 ตำบล 39,840 ครัวเรือน, ฟื้นฟูชุมชนประสบภัยพิบัติ 1,100 ตำบล 4,831 หมู่บ้าน, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำ ชายฝั่งทะเลและป่าชุมชน 3,000 พื้นที่ทั่วประเทศ, พัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน 500 ตำบล
2.เกิดการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล 1,800 ตำบล เพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน และ 3.ชุมชนท้องถิ่นมีศักยภาพในการจัดการตนเอง โดยจัดโครงสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน, จัดกิจกรรมการแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นและจัดระบบการบริหารจัดการ ตลอดจนจัดระบบข้อมูลและจัดทำแผนพัฒนาที่นำไปสู่การเชื่อมโยงและบูรณาการกับแผนของท้องถิ่น
“ไพบูลย์” แนะคืนอธิปไตยด้วยการคืนภารกิจชุมชนจัดการตนเอง
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า การสร้างจิตภาพใหม่ของชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองต้องเน้นคุณภาพรอบด้านหรือการทำให้ดีในทุกส่วนตั้งแต่การวางแผน ปฏิบัติ กระทั่งประเมินผลสู่การปรับปรุงและยกระดับนวัตกรรมให้กิจการหรือกิจกรรมที่ทำอยู่ก้าวหน้าในทุกองค์กร ทุกพื้นที่ สำคัญคือต้องทำเองทุกระดับ
“ประการแรกชุมชนต้องวางแผนอย่างมีเป้าหมายพร้อมสร้างตัวชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรม ต่อมาคือรวมพลังอย่างสร้างสรรค์ทั้งภายในและภายนอกองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนภูมิภาค ประชาสังคม ธุรกิจ ในลักษณะเท่าเทียมเอื้อซึ่งและกัน ไม่ใช่การสงเคราะห์หรือครอบงำ มีงานวิจัยชุมชนและสร้างเครือข่ายให้มากและกระจายตัวอย่างมีความหมายเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน”
นายไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่า การปฏิรูปประเทศในลักษณะสังคมนำการเมืองต้องอาศัย 2 ส่วน ส่วนแรกคือชุมชนจัดการตนเองโดยทำทั้ง 5 เรื่องต้นโดยไม่ต้องรอเจ้าภาพ อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนเสนอแนะเพิ่มเติมต่ออำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย คือ 1.ขอให้ส่งคืนภารกิจการจัดการตนเองให้ท้องถิ่นหรือชุมชนอย่างมีคุณภาพและจริงจัง คือออกกฎมายให้เอื้อ บริหารนโยบายที่ไม่ทำเพียงกระจายงานแต่ต้องกระจายคนและเงินลงไปด้วย และ 2.ขอให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทั้ง 3 มีความดี ในที่นี้คือเลิกทะเลาะ เลิกโกง และมีความสามารถพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ บริหารอย่างมีคุณภาพและสิทธิภาพให้บรรลุผล
“เรากำลังสร้างจินตภาพใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ถ้าเปรียบเป็นนักปีนเขา 40 ปีที่ผ่านมาเราปีนมาได้ครึ่งลูกแล้ว เชื่อว่าอีก 10 ข้างหน้าคงเคลื่อนตัวไปสู่ยอดเขาได้ ถ้ารวมกันภายในได้เข้มแข็ง มีความพยายามจริง และอำนาจอธิปไตยร่วมเป็นส่วนหนึ่ง” นายไพบูลย์ กล่าว
รูปธรรมขับเคลื่อนองค์กรชุมชนกับการปฏิรูป
ทั้งนี้ มีการนำเสนอรูปธรรมพัฒนาการขับเคลื่อนขบวนองค์กรชุมชนกับการปฏิรูป อาทิ การบูรณาการทุนชุมชนบ้านดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี โดยการจัดตั้งสถาบันการเงินออมทรัพย์เพื่อการผลิต พัฒนาจนกระทั่งมีระบบการบริหารจัดการทั้งฝาก-ถอน กู้ยืม ชำระดอกเบี้ยผ่านคอมพิวเตอร์ เกิดความสะดวกรวดเร็ว ดอกผลที่ได้นำไปช่วยเหลือสมาชิกลดทอนหนี้ ขยายสู่กองทุนสวัสดิการออมวันละบาทเชื่อมโยงทุนระดับตำบลเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในมิติอื่น เช่น กาจัดการน้ำ การศึกษา ประชาธิปไตยชุมชน, ชุมชนบ้านขาม จ.ชัยภูมิ ใช้การทุนเดิมที่เข้มแข็งอย่างผู้นำและปราชญ์ท้องถิ่นเป็นหัวใจหลักรวมคนให้ชุมชนช่วยจัดการปัญหาเยาวชน เช่น อบรมเครือข่ายผู้ปกครอง จัดกีฬาระหว่างหมู่บ้าน
ชุมชนบ้านหาด จ.เพชรบุรี อดีตหมู่บ้านที่ด้อยพัฒนาที่สุดในอำเภอบ้านลาด เนื่องจากประสบปัญหาแห้งแล้ง ประกอบอาชีพไม่ได้ เกิดปัญหาลักขโมย ชาวบ้านต้องอพยพเข้าเมือง แก้ไขปัญหาโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง ระดมชาวบ้านตั้งชมรมคนรักบ้านหาด ขออาสาสมัครดูแลหมู่บ้าน ชาวบ้านรู้สึกปลอดภัยคืนสู่ชุมชนเกิดการพัฒนาต่อมาอย่างต่อเนื่อง, ชุมชนปปาเกอญอ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ต่อสู้กับการลุกคืบของโครงการพัฒนาต่างๆที่มาพร้อมกับการสร้าง “อำเภอในฝัน” โดยเฉพาะการสูญเสียทรัพยากรป่าสนที่กว้างที่สุดในประเทศ ชาวบ้านรวมตัวกันในนาม “สภาแอะมือเจะคีเก่อเรอ” เข้าไปมีส่วนร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการเสนอรัฐ เป็นต้น
ตัวแทนชาวบ้านระดมข้อเสนอยื่น “ประเวศ” สานต่อ
พร้อมกันนี้ มีการระดมความคิดเห็นสังเคราะห์ประเด็นปัญหาเร่งด่วนและแนวทางแก้ไขปัญหา โดยปัญหาร่วมได้แก่ การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า, ปัญหาหนี้สิน, ความแตกแยกชุมชนโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ปัญหาที่อยู่อาศัยและสิทธิชุมชน, ราคาผลผลิตทางการเกษตร, การทำเหมืองแร่ทองคำและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อวิถีและสุขภาพของคนในชุมชน โดยชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดโครงการ, การเยียวยาเร่งด่วนกรณีผู้ป่วยผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ, สิทธิทางการเมือง, ความขัดแย้งและสุขภาวะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, เป็นต้น
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาเสนอว่า ในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติรัฐต้องเร่งดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับชาวบ้านเป็นรายกรณี ครอบคลุมและทั่วถึง, สร้างงานและอาชีพ เช่น การตั้งโรงเรียนชาวนา หรือศูนย์เรียนรู้, นำกรณีปัญหา เช่น มาบตาพุด หรือเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตรเป็นบทเรียนเพื่อพิจารณากับโครงการต่างๆ ที่รัฐกำลังดำเนินการ, คืนพื้นที่ให้ชุมชนเพื่อการจัดการตนเอง, แก้ไขกฎหมายหรือระเบียบที่ขัดต่อสิทธิชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวจะนำไปประมวลเพื่อสรุปเป็นข้อเสนอระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อมอบให้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ในวันที่ 15 ก.ย.นี้.