“คืนสุขสู่ชุมชน” ผ่าน “วิจัยสังคมสร้างสุข”
ห้วงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมือง พลันเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาโดยมีฐานความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง สังคมเกิดปัญหาสลับซับซ้อนเหลื่อมล้ำกันหลายมิติ แม้แต่ในแง่อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่นับวันยิ่งต่อต้าน แตกแยกมากขึ้น จนเหมือนว่า การคืนความสุขสู่สังคม คือวาระด่วนที่ต้องเร่งสร้างตั้งแต่ระดับชุมชน
งานวิจัยของคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถ่ายทอดผ่านเวที “สร้างสุขเพื่อสังคม” เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นตัวอย่างที่บอกเล่าอย่างมีนัยยะถึงบทบาทของงานวิจัยที่ช่วยสะท้อนปัญหาชุมชนสู่กระบวนการจัดทำนโยบายทางสังคมเสมือนเป็นการเชื่อมฐานปัญญากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกมิติ
“การร่วมศึกษาหาความจริง เสริมสร้างสุขภาวะจังหวัดชายแดนใต้” ของ ราณี หัสสรังสี เล่าประสบการณ์ทำงานในพื้นที่กระทั่งพบความจริงข้อหนึ่งว่า ความขัดแย้งมีความสลับซับซับซ้อน ที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เช่น ตำรวจ ทหาร, ฝ่ายต่อต้านรัฐ เช่น กลุ่มอุดมการณ์ กลุ่มคับแค้นจากการถูกบีบบังคับ และฝ่ายอิทธิพล เช่น กลุ่มค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ
นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้พื้นฐานสังคมสั่นคลอน ครอบครัวแตกแยก ชุมชนถูกทอดทิ้ง ทรัพยากรเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ที่มาพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การผลักดันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ภายใต้กรอบโลกาภิวัฒน์ ตลาดเสรีและการส่งออก ชุมชนจึงถูกผนวกเข้ากับระบบตลาด คนชั้นล่างปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่กระแสอิสลามานุวัตรก็เริ่มแผ่ถึงกัน เกิดสำนึกใหม่เรื่องศาสนาและความเป็นมลายูสูง
“แรกๆที่ลงพื้นที่สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องเผชิญคือความหวาดกลัว แต่เมื่อทำงานได้สัก 2 ปี เราได้เพื่อน ได้เครือข่าย คุ้นเคยและเรียนรู้ว่าความกลัวที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปัจเจก แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากหลายองค์ประกอบและไปปิดกั้นการช่วยเหลือจากภายนอก การสร้างสันติภาพจึงน่าจะมีความหมายกว้างกว่าการหยุดยิง” ราณี เล่าก่อนจะยกตัวอย่างว่า
“สำหรับชาวบ้านการที่คนนอกฝ่าความกลัวเข้าไปเยี่ยมเยือนคือการให้กำลังใจ อย่างที่มีด๊ะ บางสมาน แม่บ้านที่สะบ้าย้อยบอกกับเราว่า มุสลิมด้วยกันก็ไม่มีใครมาเยี่ยมที่นี่ คนรู้สึกกลัว ดีใจที่เครือข่ายผู้หญิงไม่กลัวและมาเยี่ยม ทำให้จิตใจฉันดีขึ้นกว่าเดิม แม้ว่ายังทุกข์ตลอดเพราะคิดถึงลูกที่ตายไป”
ราณี อธิบายว่า การทำงานเพื่อสร้างสุขภาวะใน 3 จังหวัดภาคใต้จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานให้ครอบคลุมถึงความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และทรัพยากรที่ยั่งยืน แต่อีกด้านหนึ่งของสังคมไทยยังขาดองค์ความรู้ในการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี จึงต้องหาความรู้ร่วมกันไปพร้อมกับการทำงานจริงในพื้นที่ทั้งกับองค์กรชาวบ้าน เครือข่ายผู้หญิง กลุ่มเยาวชน ภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน, สร้างพื้นที่ตรวจสอบนโยบายและงบประมาณสาธารณะ เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมความรุนแรงขยายตัว
สนับสนุนส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนโดยใช้วัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นตัวช่วย, ส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงและเยาวชน รวมถึงการจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะทั้งในพื้นที่เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และเชื่อมกันระหว่างชุมชนกับองค์กรสังคมภายนอก โดยยึดหลักการ “ฝ่าข้ามอคติในการเรียนรู้ของคน” และ “พยายามมองปัญหาให้ถึงประชาชนคนสามัญ” หรือให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การแก้ปัญหาที่รากเหง้าของปัญหานั่นเอง
อีกหนึ่งงานวิจัยของ ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย เรื่อง “การมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข” โดยตั้งโจทย์ใหญ่จากปัญหาการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ของรัฐ ซึ่งชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับผลกระทบทางตรงมักถูกละเลยไม่มีโอกาสเข้ากระบวนการดังกล่าว กระทั่งเกิดการฟ้องร้องมากมายในปัจจุบัน
“เป้าสูงสุดคือจะทำอย่างไรให้การมีส่วนร่วมเป็นประตูความร่วมมือและเป็นเครื่องมือสรรสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งจะเกิดได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแท้จริงเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงขั้นตอนติดตามและประเมินผล” ดร.อุ่นเรือน กล่าวและอธิบายต่อว่า
ข้อค้นพบสำคัญสำหรับการจัดกระบวนการ คือผลลัพธ์สุดท้ายในการสร้างข้อตกลงร่วมกันจากเวทีสาธารณะ ที่มักจะไม่บรรลุผลหรือไม่สามารถทำให้ “ทุกคนเห็นพ้องกันว่าพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้จากข้อตกลงที่พวกเขาได้สร้างร่วมกัน” จึงเสนอ 3 เทคนิคสู่การได้ฉันทามติที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วม ได้แก่ 1.การให้ข้อมูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกขั้นตอนและทุกระดับอย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นธรรมที่สุด 2.กรณีเปิดเวทีต้องเน้นการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแท้จริงเป็นหลักและครอบคลุม และ 3.ควรใช้เวทีวงสานเสวนาเล็กๆ แทนการทำประชาพิจารณ์ลักษะสัมมนาหรือเวทีสาธารณะ เพราะนั่นหมายถึง การได้ตัวแทนที่เป็นเจ้าของปัญหาจริงๆ ที่ไม่ใช่เพียงใครก็ได้ที่นำวาระติดตัวมาเพื่อขึ้นพูดบนเวที โดย “ฉกฉวยโอกาส ความคิด ความเดือดร้อน และข้อเสนอดีๆ” ของผู้ที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่ถนัดโอภาปราศรัย
สำหรับรูปธรรมการสร้างสุขในระบบนิเวศชุมชน ดร.ศยามล เจริญรัตน์ ถ่ายทอดผ่านผลงานการวิจัยเรื่อง ความสุขชุมชนบนความพอเพียง : ตัวชี้วัดการจัดการทรัพยากรป่าชุมชน ศึกษาจาก 3 พื้นที่ จ.กาญจนบุรีได้แก่ บ้านห้วยสะพาน บ้านแม่กระบุง และบ้านช่องแคบ ซึ่งล้วนมีความแตกต่างกันทั้งด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นอยู่ ลักษณะความเป็นเมืองและชนบท รวมถึงความเป็นชาติพันธุ์ แต่ประสบปัญหาความยากจน ขาดแคลน เข้าไม่ถึงบริการและทรัพยากรของรัฐไม่ต่างกัน
แต่ด้วยการริเริ่มจัดการทรัยพากรในลักษณะ “ป่าชุมชน” มีการเข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ร่วมกันสร้างขึ้น โดยเงื่อนไขผูกมัดที่ต่างกัน บ้างใช้ประวัติศาสตร์ที่เคยขาดแคลนน้ำร่วมกัน บ้างใช้ประเพณีความเชื่อและการอบรมสั่งสอนมาเป็นกุศโลบายในการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์จึงเป็นเพียงการหาของป่า ที่ไม่ทำลายสภาพป่าให้เสื่อมโทรมสามารถเป็นแหล่งทำกินได้ในอนาคต “การใช้ป่าบนฐานความพอเพียง” จึงเป็นแนวคิดและคำตอบของความสุขที่ชาวบ้านถวิลหา
“วิถีชุมชนอยู่ได้และพอเพียง ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติที่พึ่งพาอาศัยกัน ทั้งในแง่ของโอกาสและความสามารถที่จัดการป่าได้เอง ลดการพึ่งพิงจากภายนอก ความสุขที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้ก้าวตามกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แต่เป็นการเดินที่ช้าลงพันมามองตนเองมากขึ้น เพื่อตัดสินใจว่าสิ่งใดเหมาะหรือไม่กับวิถีของตน” ดร.ศยามล สรุป
สุดท้าย ดร.อเนกพล เกื้อมา ถอดบทเรียนจากโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ผ่านงานวิจัย “ขยะสร้าง “สุข” จากโรงเรียนสู่ชุมชน โดยเจ้าของผลงานเล่าว่า ได้ทำการศึกษาจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 40 แห่งที่ประสบความสำเร็จไม่เพียงแต่การจัดการ การลดปริมาณขยะได้ แต่ความน่าสนใจที่ต้องติดตามคือทำอย่างไรจึงเชื่อมโยงกิจกรรมในโรงเรียน แถมต่อยอดสู่กิจกรรมอื่นๆ ในชุมชนได้อีก
“เราพบว่าโรงเรียนเหล่านี้มีเจ้าภาพทำงานร่วมกัน ทั้งผู้บริหาร บุคลากรสนับสนุน เป็นหลัก และมีชุมชนเป็นปัจจัยส่งเสริม ช่วยกันตั้งแต่ตัวเอง บ้าน ไปถึงชุมชน อย่างที่เด็กคนหนึ่งบอกว่าเราไปรับซื้อขยะตามชุมชน บางทีชาวบ้านให้ ขายก็มี บางคนรวบรวมส่งมาให้ที่โรงเรียน...ก็สนุกดี...ชุมชนก็สะอาด”
แต่ความสุขของนักเรียนไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เพราะการต่อยอดกิจกรรมที่ทั้งครูและนักเรียนร่วมกันผลักดันพัฒนาไปถึงการสอดแทรกกิจกรรมลงในเนื้อหา เช่น พุทธเกษตร ห้องเรียนสีเขียว ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่าย “ขยะ” สู่กิจกรรมสาธารณะประโยชน์อื่นๆในชุมชนด้วย
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ผ่านๆมา มักเป็นเพียงเอกสารทางวิชาการ ที่เรียงร้อยเป็นถ้อยค้นพบบนแผ่นกระดาษ หากเพียงจะคิดต่อโดยนำองค์ความรู้ที่ได้ส่งให้ถึงมือผู้รับอย่างชุมชน แม้เป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่นับเป็นความสำคัญที่จะสร้างสุขจากชุมชนสู่การสุขเพื่อสังคมต่อไป.