“ความสูญเสียที่ได้รับการเยียวยา”
“ยังดี...ที่เมียผมใช้สิทธิบัตรทอง และผมก็ไม่เคยคิดที่จะฟ้องหมอ” นี่เป็นคำพูดของ อส. หน้าเข้มวัยกลางคนที่พูดด้วยน้ำเสียงอันโอยอ่อนไร้เรี่ยวแรง หลังการสัมภาษณ์ถึงการสูญเสียภรรยาที่เสียชีวิตเพราะการเสียเลือดมาก(ตกเลือด)หลังการคลอดด้วยการผ่าตัดเพียง 11 วัน
ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีขึ้นไปทางทิศเหนือขับรถขึ้นเขา และข้ามแพขนานยนต์ขึ้นเหนือเขื่อนศรีนครินทร์รวมระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตรก็ถึงที่ทำการอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอที่เงียบสงบล้อมรอบไปด้วยป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์เขียวขจีในฤดูฝน และที่กองร้อย อส. อ. ศรีสวัสดิ์ที่ 10 ก็เป็นที่ทำงานของ อส. ธนศร เคลือบสูงเนิน ผู้ซึ่งพึ่งสูญเสียภรรยาสุดที่รักไป คงเหลือไว้เพียงน้องนกน้อย เด็กหญิงกุลกนก เคลือบสูงเนิน วัย 4 เดือนเศษที่คอยเป็นแรงใจให้ อส. ผู้นี้สู้ชีวิตต่อไป
หลังการผ่าตัดทำคลอดบุตรสาวคนที่ 3 ซึ่งเป็นการผ่าตัดทำคลอดครั้งแรก และครั้งสุดท้ายของแตง เคลือบสูงเนิน คุณแม่วัย 40 ปีที่ก่อนหน้านี้เธอคลอดลูกชายโดยวิธีธรรมชาติมาแล้ว 2 คน การผ่าตัดทำคลอดในโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดกาญจนบุรีเป็นไปด้วยดี และคุณหมอได้ถามเธอว่าว่า “หน้ามืดไหม” แตงตอบว่า “หน้ามืดเหมือนจะเป็นลม” หมอจึงเติมเลือดให้ 2 ขวด และต่อมาอีกประมาณ 3 ชั่วโมง แตงก็ได้ย้ายมาที่ห้องพักฟื้นเหมือนคนผ่าตัดทำคลอดปกติทั่วไป เธอได้พักฟื้นอยู่ที่ รพ. ศูนย์จังหวัดกาญจนบุรีรวม 8 วัน คุณหมอจึงให้เดินทางกลับบ้านได้ เธอและสามีพร้อมน้องนกน้อยได้ใช้ชีวิตอย่างปกกติในบ้านพักข้าราชการอำเภอศรีสวัสดิ์
และแล้วสิ่งที่ไม่ปกติก็ได้เริ่มเผยอาการออกมาในเช้าตรู่วันที่ 13 มีนาคม 11 วันหลังการผ่าตัด เธอมีอาการเลือดไหลออกจากช่องคลอดจำนวนมาก ด้วยความไม่แน่ใจว่าเป็นน้ำคาวปลาที่ร่างกายขับออกมาหลังการคลอดหรือไม่ เธอจึงได้โทรศัพท์ถามเพื่อนที่ผ่านการคลอดลูกแฝดด้วยการผ่าตัดว่า หลังคลอดมีเลือดออกมาด้วยหรือไม่ และก็ได้คำตอบว่า “ไม่มีเลือด มีแต่น้ำคาวปลา” ท่ามกลางความกังวลกับอาการที่ตัวเองที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และยังไม่พบว่าคนอื่นเป็นเหมือนเธอ เธอได้แต่ปลอบตัวเองว่า ไม่เป็นไร..และ..ไม่เป็นไร.. ตกเวลาเย็นห่างจากครั้งแรกประมาณ 12 ชั่วโมงอาการเลือดไหลได้เริ่มออกมาอีก และมากกว่าช่วงเช้า สามีเธอเห็นสถานการณ์ไม่สู้ดีนักจึงพาเธอไปโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านที่เธอเคยฝากครรภ์ พยาบาลได้ทำการวัดสัญญาณชีพ และดูม่านตาพบว่าอาการปกติ จึงให้กลับบ้านเพื่อรอดูอาการ
และแล้วเวลาประมาณ 3 ทุ่มของวันเดียวกันขณะที่เธอกำลังคลานเข้ามุ้งเลือดได้ไหลทะลักออกมาอีกครั้ง เธอรีบกุมผ้าถุงเดินเข้าห้องน้ำเพื่อจะล้างตัว และได้บอกกับสามีที่นั่งดูทีวีอยู่ว่า “เลือดไหลออกมาก หน้ามืด” สามีเธอจึงหันไปบอกให้นั่งลง ขณะที่เธอนั่งลงในท่ายอง ๆ ก็ดูเหมือนว่าเธอจะไม่เป็นอะไร แต่เธอได้สูญเสียการควบคุมตัวเอง ล้มพับกับพื้นโดยที่สามีเธอกระโจนคว้าตัวไม่ทัน อส. ธนศรรีบพยุงร่างของเธอให้พิงกับโอ่งน้ำใช้น้ำราดล้างตัวเธอพร้อมกับร้องเรียกชื่อเธอตลอดเวลา เธอได้แต่ขานรับว่า อื้อ..อื้อ..เหมือนจะบอกถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และบอกให้สามีดูแลลูกน้อยให้ดีเหตุการณ์เกิดขึ้นเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมงเธอก็ได้ถึงมือหมอ และได้รับการช่วยเหลือด้วยการปั้มหัวใจ และขูดมดลูกจากรพ. ชุมชน เธอได้ถูกส่งตัวต่อไปยัง รพ. ศูนย์ประจำจังหวัด ขณะเคลื่อนย้ายข้ามน้ำข้ามภูเขา ด้วยที่เลือดเทียมไม่เพียงต่อระยะเวลาการเดินทางถึง รพ. ศูนย์ รถกู้ชีพจึงจำเป็นต้องแวะ รพ.ชุมชนระหว่างทางเพื่อเติมเลือดเทียม และทำการปั้มหัวใจเรียกสัญญาณชีพกลับมา พร้อมๆ กับการขอความช่วยเหลือจากหน่วย EMS. ของ รพ. ศูนย์ ให้ส่งเลือดมาเพิ่มให้เธอในช่วงที่รถวิ่งมาบรรจบกันระหว่างทาง
แต่ทุกอย่างก็หายไปกับสายลมไม่ได้รับการสนองตอบตามคำขอ เวลาดูเหมือนจะผ่านไปอย่างรวดเร็วในสายตาของธนศรผู้เป็นสามี แต่ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตรการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต้องใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมง เมื่อแตงมาถึงมือหมอ รพ. ศูนย์ ทุกอย่างก็ได้สายไปเสียแล้ว การปั้มหัวใจไม่สามารถเรียกสัญญาณชีพ และวิญญาณของแม่ลูกอ่อนกลับคืนมาได้อีก
หลังการเสียชีวิตของภรรยา อส.ธนศร ได้ทำเรื่องขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นตามกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 41 และถึงแม้ทางอนุกรรมการมาตรา 41 ระดับจังหวัดจะไม่เห็นความผิดพลาด หรือข้อบกพร่องในการให้บริการในกรณีนี้ หรือเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ทางอนุกรรมการก็พิจารณาเงินช่วยช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูลูกสาวเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท อส. ธนศรจึงได้ยื่นอุทรผลการพิจารณาต่ออนุกรรมการมาตรา 41 ระดับชาติอีกครั้ง พร้อมกับแสดงความจำนงค์ในการให้การต่อคณะอนุกรรมการด้วยตนเอง เพราะการพิจารณาในระดับจังหวัดเขาไม่ได้รับการติดต่อ หรือให้การด้วยวาจาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย ทั้งที่เขาอยู่กับภรรยาตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะเขาเห็นว่าภรรยาของเขาไม่เสียชีวิตจากพยาธิสภาพของโรค ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากโดยไม่มีสัญญาณใดมาก่อน
การสูญเสียภรรยาสุดที่รักถึงแม้จะเจ็บรวดร้าวยากแก่การลืมสักเพียงใด แต่การดำเนินการอุทธรณ์ต่อ อส. ธนศรก็ไม่ได้มุ่งจับผิดหรือกล่าวโทษหมอ และโรงพยาบาล และความคิดที่จะฟ้องหมอก็ไม่เคยมีในหัวของเขา เพียงแต่เขาเห็นว่า การสูญเสียภรรยาของเขาน่าจะเป็นเรื่องที่ผิดปกติจากกรณีอื่นๆ ทั่วไป การที่จะได้รับเงินเยียวยาเบื้องตนเต็มจำนวน 200,000 บาท ถึงแม้จะเป็นเงินเล็กน้อยเมื่อเทียบกับชีวิตภรรยา และภาระอันหนักอึ้งที่รอเขาอยู่เบื้องหน้า ที่ต่อไปนี้จะมีแต่ธนศรคนเดียวที่จะต้องสะสางต่อ แต่นี่ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยจะเยียวยาชีวิตของเขาที่มีภาระต้องดูแล ลูกชายวัย 14 ปี น้องนกน้อยวัย 4 เดือน พร้อมทั้งคุณแม่และคุณพ่อวัย 60 ปีได้ไม่มากก็น้อย เพราะที่ผ่านมา อส. ธนศร และภรรยาไม่เคยเสียค่าน้ำนมในการเลี้ยงลูกเลย เขายังบอกอีกว่า “ยังดีที่เมียผมใช้สิทธิบัตรทอง ถ้าใช้สิทธิข้าราชการทหารผ่านศึกอย่างผม ผมคงต้องแบกรับภาระเองทั้งหมด หรือไม่ก็หาทางฟ้องหมอ ถ้าหากมีกฏหมายที่ทั้งเยียวยาเบื้องต้น และชดใช้ความเสียหายเหมือนที่พูด ครอบครัวผมก็อาจจะไม่สาหัสเหมือนปัจจุบัน ถ้าฟ้องหมอผมก็ต้องเก็บศพเมียผมไว้เพื่อพิสูจน์หาสาเหตุ ทำงานศพให้ไม่ได้”
นี่อาจเป็นเพียงเสียงของคนเล็กคนน้อยที่เขายอมรับเองว่า เขาเป็นคนชายขอบที่ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการหาความยุติธรรมในชั้นศาลจากเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้น เพราะเขาได้เห็นความยุ่งยาก และความลำบากในการเป็นคดีความ และถึงแม้ผลที่ออกมาจะขมขื่นและยากจะทำใจรับได้ แต่เขาก็เข้าใจว่าหมอได้พยายามช่วยชีวิตภรรยาของเขาอย่างสุดความสามารถแล้ว การที่ประเทศไทยจะมีกฏหมายดีๆ ที่ทำให้คนเล็กคนน้อยหรือคนชายขอบเข้าถึงการเยียวยาดูแลของสังคมได้ และเป็นผลดีต่อคนทุกกลุ่มรวมทั้งหมอผู้พยายามทำหน้าที่ในการให้บริการตามหลักวิชาชีพ ซึ่งโดยเจตนารมณ์ของกฏหมายมี 3 ประการคือ ลดการฟ้องหมอ ผู้เสียหายได้รับการชดเชย และพัฒนาระบบป้องกันการเกิดซ้ำ
แต่ทำไมประเทศนี้ ยังมีหมอบางกลุ่มออกมาต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่การฟ้องแพ่งและฟ้องอาญาหมอตลอดที่ผ่านมาก็มีเป็นปกติอยู่แล้วเมื่อเกิดความเสียหายหรือความสูญเสีย ทั้ง ๆ ที่ไม่มี พ.ร.บ. คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และร่างกฎหมายที่กำลังเข้าสภาก็มีผู้เสนอมากถึง 7 ฉบับ ซึ่งยังสามารถนำข้อดีของแต่ละร่างมารวมกันได้ในขั้นตอนของรัฐสภาก่อนที่จะเป็นกฎหมายน่าจะยังใช้เวลาอีกนาน ถ้าหากมีการถอนร่าง พรบ. ฉบับนี้ออกจากสภาแล้วจะทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับหมอดีขึ้นหรือไม่ยังไม่เห็นมีใครพูด หรือที่กลุ่มหมอที่ออกมาต่อต้านกันในช่วงที่กฏหมายจะเข้าสภาเพราะกังวลเกินเหตุ กฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่ได้ช่วยให้เรามีระบบการส่งต่อที่เกิดขึ้นกับธนศร มีประสิทธิภาพขึ้น แต่จะช่วยทั้งหมอและคนไข้ให้มีหลักประกันเมื่อมีความเสียหาย คนจำนวนมากมีความทุกข์ หลังเกิดความเสียหาย และชีวิตหลังความเสียหายของหลายคน เป็นสิ่งที่ยากจะลืม