ความหวังและการต่อสู้ท่ามกลาง “ทะเลกลืนแผ่นดิน” ที่ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน
อุณหภูมิเกิน 40 องศาเซสเซียสหน้าร้อนปีนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าปรากฏการณ์เรือนกระจกเป็นเรื่องไกลตัวแล้ว แต่ผลกระทบที่หลายคนคาดไม่ถึงคือโลกร้อนทำให้แผ่นดินทรุด-ชายฝั่งถูกกัดเซาะ ปัจจุบันพื้นที่สมุทรปราการหายไป 1.1 หมื่นไร่ ภายใน 20 ปีจะหายไป 3.7 หมื่นไร่ และอีก 100 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯบางส่วนอาจจมอยู่ใต้ทะเล
บ้านขุนสมุทรจีน ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ แต่เป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก เพราะคือรูปธรรมชัดเจนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจนทะเลกลืนแผ่นดินจมหายไปในอ่าวไทยเกือบ 3 กิโลเมตร ซึ่งน่าจะสร้างความตระหนักแก่สังคมว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมมือกันลดผลกระทบในอนาคต ดังเช่นคนที่นี่พยายามต่อสู้อยู่บนความหวังที่จะอยู่รอด
ปรากฏการณ์ทะเลกลืนแผ่นดิน
ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาผลกระทบของแผ่นดินทรุดต่อการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน พบว่ารุนแรงมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ชายฝั่งหายไปทุกปีๆละ 30 เมตร และในอีก 20 ปีข้างหน้าหากเราไม่ช่วยทำอะไรกันเลย ความรุนแรงของการกัดเซาะอาจเพิ่มเป็น 65 เมตร
สาเหตุหลักคือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากเกินปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เกิดคลื่นลมทะเลซัดรุนแรง รองลงมาคือการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำทำให้ตะกอนลงมาสู่ทะเลลดลง พบว่าแม่น้ำเจ้าพระยามีตะกอนลดลง 75%
“น้ำทะเลอาจจะเพิ่มขึ้น 30-60 เซนติเมตร ในอีกร้อยปีข้างหน้าคลื่นลมและการกัดเซาะจะรุนแรงขึ้น ถึงตอนนั้นกรุงเทพฯบางส่วนอาจจมอยู่ใต้ทะเล ซึ่งวันนี้ปรากฏการณ์บางอย่างได้ส่อเค้าชัดเจนว่าที่ดินบางแห่งจมอยู่ใต้ทะเล และกำลังตามมาอีกหลายแห่ง”
และที่บ้านขุนสมุทรจีน พบว่ามีปัญหาการกัดเซาะรุนแรงที่สุดในประเทศไทย!!
ความทุกข์เมื่อแผ่นดินหายไป
ห่างจากกรุงเทพฯ 20 กว่ากิโลเมตร ผ่านแนวคลองคดเคี้ยวสู่ชุมชนที่ยังมีกลิ่นอายชนบท เดือนมกราคมของทุกๆปีชาวบ้านขุนสมุทรจีนจากทั่วทุกสารทิศจะกลับมาเยือนถิ่นฐานเดิมในเทศกาลสักการะ “ศาลเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย” เพื่อรำลึกถึงแผ่นดินที่รากเหง้าบรรพบุรุษย้อนความไปถึงสมัยสำเภาจีนเทียบฝั่งมาตั้งรกราก และรำลึกความหลังเมื่อยังมีผืนดินตั้งบ้านเรือนที่นี่
“เมื่อก่อนสุดลูกหูลูกตามีแต่แผ่นดิน กว่าจะถึงชายตลิ่งก็ต้องเข็นเรือไปเป็นกิโลๆทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ออกเรือเดี๋ยวก็ได้แล้ว”
นี่คือความทรงจำเมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้วของ ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทรจีน ก่อนที่ทะเลจะค่อยๆกลืนแผ่นดินที่พวกเขาตั้งรกรากมาแต่ปู่ย่าตาทวด
“ไปอยู่ชลบุรี 30 กว่าปีแล้ว เพราะที่มันพังลงทะเลไปหมด เลยต้องไปหาทำกินที่อื่น”
มนัส ลิ้มประเสริฐ กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดที่ต้องพลัดพรากไปนานเพราะผืนดินตั้งบ้านเรือนหายไปกับน้ำทะเล ชุมชนที่ตั้งรกรากมาหลายชั่วอายุคนต้องแตกกระสานซ่านเซ็น หลายคนอพยพถิ่นเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ กระทั่งศาลเจ้าพ่อยังต้องถอยหนีคลื่น วัดต้องยกพื้นโบสถ์หนีน้ำ
“ทำมาหากิน พอจะมีเงินเหลือเก็บสักหน่อยก็ต้องมารื้อบ้านย้ายน้ำ มันก็ไม่มีจะกินกัน”
ผู้ใหญ่สมร ที่ต้องรื้อบ้านหนีน้ำกว่า 3 ครั้งแล้ว เล่าว่าชาวบ้านต้องถอยร่นครั้งแล้วครั้งเล่า หลายคนทนไม่ไหวอพยพจากหมู่บ้านไป จากเกือบ 200 หลังคาเรือนเหลือเพียง 112 หลังในปัจจุบัน
พิทักษ์รักษาศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธ
ปี 2536 อนามัยชุมชนเริ่มพังเพราะน้ำทะเลกัดเซาะ แผ่นดินทรุด จากนั้นชาวบ้านก็ต้องต่อสู้กับคลื่นทะเลอย่างทรหดมาตลอด จนกระทั่งเกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ปี 2541 พายุใต้ฝุ่นรุนแรงพัดบ้านหลายหลังหายไปกับทะเล ผู้คนพากันหนีตายอาศัยโรงเรียนและสถานีอนามัยเป็นที่พัก นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้หลายครอบครัวถอดใจอพยพหนีถิ่นฐาน แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ยังยืดหยัดอยู่ และไม่ทิ้งความหวังว่าสักวันพวกเขาจะได้แผ่นดินคืนมา
ควบคู่ไปกับศาลเจ้าที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเคารพนับถือ คนที่นี่ยังศรัทธาในพุทธศาสนา จากสำนัก
สงฆ์ที่เคยถูกทิ้งร้าง ชาวบ้านบริจาคที่ดินและช่วยกันบูรณะฟื้นฟูจนยกฐานะเป็นวัดประจำชุมชน แต่พิบัติภัยธรรมชาติก็ไม่ได้เลือกที่เกิด พื้นที่วัดมากกว่า 70 ไร่ ถูกคลื่นกัดเซาะเหลือแค่ 5 ไร่
พระอธิการสมนึก ปติปัญโญ เจ้าอาวาสวัดขุนสมุทรจีน เล่าว่า “มีปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2547 อาตมาต้องยกพื้นหนีน้ำ จะได้เข้ามาสวดมนต์ทำวัดในโบสถ์ได้”
จะเป็นเช่นไร หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพจิตใจหวาดระแวงตลอดเวลาว่าน้ำจะท่วมบ้าน วิถีชีวิตจะถูกกลืนหายไปกับทะเล ท่ามกลางความทุกข์ส่วนตัว แต่ด้วยแรงศรัทธาชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างแนวป้องกันคลื่นถึง 2 ชั้น แนวหินด้านนอก และเขื่อนแนวที่ห่างไปอีก 20 เมตร เพื่อรักษาวัดขุนสมุทราวาส ศูนย์รวมจิตใจชุมชนไว้ไม่ให้จมหายไปกับทะเล
ศาสนสถานแห่งนี้จึงยังคงตั้งเด่นเป็นสง่าท่ามกลางพื้นที่โดยรอบที่ถูกน้ำทะเลกลืนไปหมดแล้ว โดยมีแนวชายฝั่งที่รุกเข้ามาจนเหลือแค่ 1 กิโลเมตร เป็นความน่าทึ่งจากแรงศรัทธา
การต่อสู้ท่ามกลางความหวังของคนขุนสมุทรจีน
หลายปีที่ผ่านมาบ้านขุนสมุทรถูกนำเสนอผ่านข่าวและมีหน่วยงานต่างๆเข้าไปดูพื้นที่ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งชาวบ้านก็ได้แต่หวังว่าจะนำไปสู่การช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม
“หน่วยราชการบอกว่าไม่รู้จะช่วยอย่างไร มันใหญ่เกินความสามารถ บางแห่งบอกถ้าช่วยไปแล้วเดี๋ยวที่งอกขึ้นมา ชาวบ้านก็เอาไปอีก ก็ดิ้นรนช่วยกันเอง แล้วเราก็ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมคือรักษาวัดไว้ได้”
ผู้ใหญ่สมร เล่าว่าการต่อสู้ของชุมชนดำเนินไปตามมีตามเกิดด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านเป็นหลัก ปราการแนวหินของวัดได้มาจากเงินบริจาคที่ช่วยกันทอดผ้าป่ากฐินของชาวบ้าน ประชาชน พระในจังหวัด เขื่อนสลายกำลังคลื่นมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยมาช่วย
พลังที่สามารถรักษาวัดไว้ ได้สานศรัทธาของชาวบ้านว่าจะสามารถต่อสู้รักษาผืนดินถิ่นเกิดเอาไว้ได้ ด้วยความหวังว่าแนวป้องกันที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้น นอกจากป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จะสามารถเป็นแนวดักดินให้สะสมอยู่จนเกิดแผ่นดินใหม่ที่อาจได้มาทดแทนแผ่นดินที่หายไปกลับมาสู่ชุมชนในอนาคต
เพราะในวันนี้ พวกเขาได้เห็นภาพที่น่ายินดีว่าแผ่นดินที่ได้จากการดักตะกอนเรี่มมีความหนาแน่นและแข็งแรงสามารถลงไปช่วยกันปลูกต้นโกงกางจนเกิดเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เริ่มกลับคืนมาภายใต้พื้นที่สงบสุขรอบเขตวัด
...............................................................................
ปัจจุบันทุนจากการสร้างแนวเขื่อนป้องกันคลื่นทะเล ยังคงมาจากการรวบรวมของชาวบ้าน ผลที่ได้รับจึงเกิดอยู่รอบตัววัดเท่านั้น ทุกครั้งที่คลื่นซัดพวกเขาจึงยังอยู่อย่างไม่เป็นสุขเพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรน้ำทะเลจะกลืนแผ่นดินอีก ภัยธรรมชาติครั้งนี้ใหญ่หลวงเกินกว่าเพียงกำลังชาวขุนสมุทรจีน ทำอย่างไรให้เสียงเรียกร้องของพวกเขาไม่หายไปพร้อมกลับเกลียวคลื่นเชี่ยว
ทุกคนที่ล้วนสร้างผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จะมีส่วนลดทุกข์สร้างสุขและเผื่อแผ่ถึงกันได้อย่างไร และได้ทำเพียงพอแล้วหรือ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวและขยายออกไปเพื่อทุกคนบนโลกใบเดียวกัน สิ่งที่ชุมชนขุนสมุทรจีนทำได้ พวกเขาก็ทำแล้ว บนพื้นฐานความศรัทธา-ความหวังที่จะอยู่รอด และพบความสุข .
ขอบคุณภาพและข้อมูล : จากชุมชนขุนสมุทรจีน