“มาร์ค”ชี้นักการเมืองท้องถิ่นงาบเงินอุดหนุนสร้างฐานการเมือง
นายกฯชี้ อปท.เลียนแบบรวมศูนย์ส่วนกลาง-งาบเงินอุดหนุนสร้างฐานการเมืองท้องถิ่น จาตุรนต์มองปฏิรูปจริงต้องเร่งกระจายอำนาจ ไม่ใช่ขายไอเดียหลายสิบปี นักวิชาการเสนอตั้งหน่วยงานเฉพาะประเมินงานท้องถิ่น-ชี้ถ่ายโอนแล้วต้องไม่กระจุกตัวที่ อปท. ชุมชนต้องมีส่วนในอำนาจ เลขาฯสันนิบาตเทศบาล โวย อปท.เลี้ยงตัวเองไม่ได้เพราะรัฐ
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการ“การกระจายอำนาจกับการปฏิรูปประเทศไทย” โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การกระจายอำนาจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก้าวหน้ารวดเร็ว โดยสัดส่วนรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ต่อรายจ่ายรวมภาครัฐเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.5 เป็นร้อยละ 25 และหากเปรียบเทียบกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี)อยู่ที่ร้อยละ 4.3 จากเดิมร้อยละ 1.9 นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่า อปท.ริเริ่มพัฒนาและยกระดับบริการสาธารณะ สร้างนวัตกรรมใหม่หลายด้าน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีส่วนที่เป็นปัญหาต้องทบทวนแก้ไข
นายกฯชี้ 4 ปัญหา กระจายอำนาจ นักการเมืองท้องถิ่นเบียดบังเงินอุดหนุนสร้างฐานอำนาจ
“แม้ อปท.จะเป็นที่พึ่งและความหวังของประชาชนมากขึ้นชัดเจน แต่ยังมีขีดจำกัดในการแก้ปัญหาท้องถิ่นทั้งในแง่ระบบบริการสาธารณะ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ยังไม่สามารถป้องกันควบคุมมลพิษอย่างเบ็ดเสร็จ แม้แต่การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อยและผู้บริโภคก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาหลักในการกระจายอำนาจมี 4 ประการ คือ 1.การถ่ายโอนภารกิจด้านการบริการสาธารณะจากหน่วยงานกลางสู่ท้องถิ่นไม่เป็นไปตามแผนคือ 324 ภารกิจ ถ่ายโอนได้เพียงร้อยละ 73.8 ยังติดขัดอีกร้อยละ 26 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการศึกษา สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาเดิมที่เกิดจากส่วนกลางไม่ยอมถ่ายโอนหรือ อปท.ไม่ยินดีรับ หรือทั้ง 2 กรณี 2.ด้านการเงินการคลัง ที่ยังพึ่งรายได้จากเงินอุดหนุนและเงินโอนผ่านระบบภาษีรัฐบาล ควรมีรายได้ที่จัดเก็บเองเป็นหลัก ขยายฐานรายได้ให้กว้างขวาง โดยเฉพาะการเก็บภาษีโรงเรือนและบำรุงท้องที่ซึ่งตอนนี้ทำได้เพียงร้อยละ 9 นอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงระบบจัดสรรให้มีเสถียรภาพและคาดการณ์ล่วงหน้าได้
“ระบบเงินอุดหนุนท้องถิ่นทุกวันนี้ ยังทำให้เกิดความเสื่อมถอยทางจริยธรรม เนื่องจากวัฒนธรรมการเมืองแบบพึ่งพาพรรคพวกเส้นสายเจ้านายลูกน้องระหว่างนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ประกอบกับการจัดสรรเฉพาะกิจที่เปิดช่องให้นักการเมืองท้องถิ่นวิ่งเต้นขอเงินอุดหนุนมาทำโครงการลงทุนในท้องถิ่นลักษณะหาง่ายได้ฟรีไม่เป็นหนี้และได้เครดิตทางการเมือง”
3.การเมืองและการบริหารงานของ อปท. ที่ยังไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจที่คาดหวังให้ลดบริบทการเมืองแบบตัวแทนให้น้อยลง ทำงานเป็นเครือข่ายกับองค์กรชุมชนท้องถิ่นมากกว่าการจำลองการทำงานของนักการเมืองระดับชาติ และ 4.ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้จะมีการกำกับดูแลมีหน่วยงานตรวจสอบแต่ยังมีปัญหามากเนื่องจากการตีความระเบียบวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
จาตุรนต์ มองท้องถิ่นถูกทับบนล่างเหมือนแซนด์วิช ปฏิรูปจริงต้องเร่งกระจายอำนาจ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสำคัญของการกระจายอำนาจนอกเหนือจากส่งเสริมการปกครองกันเองและระดมบุคลากรสู่การพัฒนาท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นผลพวงให้รัฐบาลและราชการส่วนกลางมีเวลาทำงานระดับชาติมากขึ้น
“ปัญหาคือการถ่ายโอนภารกิจที่ยังช้า การแบ่งหน้าที่ยังสับสน อปท.ทำงานใหญ่น้อย บางแห่งไม่ทำ ส่วนกลางหรือภูมิภาคเข้าไปทำแทนบ่อยๆ บางครั้งรัฐกำหนดนโยบายมากแต่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่”
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า หลักเกณฑ์เรื่องรายได้ค่อนข้างมีปัญหา เพราะยังแบ่งตามจำนวนองค์กรโดยจ่ายเป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ทั้งที่แต่ละพื้นที่มีความหนาแน่นของประชากรและประสบการณ์ต่างกัน ส่วนการประเมินและตรวจสอบ ระเบียบเขียนแบบกำกับมากแต่ประเมินประสิทธิภาพน้อย
“อีกปัญหาคือองค์กรย่อยๆเกิดขึ้นมากแต่ประสิทธิภาพต่ำ บางแห่งมีงานนิดเดียวแต่บุคลากรมหาศาล ระยะยาวอาจต้องคิดถึงการประสานงานลักษณะพันธมิตร หรือคิดเลยไปว่าถ้า อปท.ต้องดูแลพื้นที่ขนาดใหญ่ควรให้ทำแทนส่วนกลางหรือภูมิภาคโดยเคลื่อนเป็นองคาพยพแบบท้องถิ่นดีหรือไม่”
นายจาตุรนต์ กล่าวถึงการกระจายอำนาจกับการปฏิรูปประเทศว่า ท้องถิ่นยังถูกกดทับทั้งด้านบนและด้านล่างเหมือนแซนด์วิช ที่กำลังขายความคิดอยู่ตอนนี้คือการดึงท้องถิ่นมาทำหลายเรื่อง โดยใช้เวลาหลายสิบปี มองว่าต้องทำในระยะเวลาสั้นๆและปฏิรูปการเมืองด้วย ไม่เช่นนั้นกระจายอำนาจไม่ได้เพราะปัจจุบันนักการเมืองชาติกำลังแข่งขันในระดับท้องถิ่น
ดร.ชาติชาย เสนอตั้งหน่วยงานประเมินผลงานหลังโอนอำนาจท้องถิ่น
ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตั้งข้อสังเกตการกระจายอำนาจที่ผ่านมา ประการแรกคือประชาธิปไตยที่ไม่มีการกระจายอำนาจที่ดี ทั้งที่เจตนารมณ์แท้จริงต้องทำให้อำนาจหน้าที่ส่วนกลางเล็กลง แล้วขยายท้องถิ่นให้ใหญ่ขึ้นในลักษณะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ แต่ในทางปฏิบัติหน่วยงานกลางกลับขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และต่างคนต่างทำ อีกประการคือท้องถิ่นยังมีความเป็นราชการในขณะที่ชุมชนไม่เข้มแข็งและขาดการประเมินผลที่ชัดเจน อีกทั้งกฎหมายก็ยังไม่แบ่งแยกภาระการถ่ายโอนเบ็ดเสร็จในทางปฏิบัติ เพิ่มภาระในการบริหารจัดการให้ อปท. มากขึ้น
ดร.ชาติชาย กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจ ต้องสอดคล้องกับพื้นที่และมีกระบวนการทำงานร่วมให้รัฐเป็นเจ้าของภารกิจแต่ส่งให้ อปท.ทำแทน และเขียนกฎหมายให้ชัดว่าจะถ่ายโอนอะไร อย่างไร วิธีการใด และตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อประเมินผลการทำงานภายใน 2 ปี สำหรับด้านการคลังเสนอว่าท้องถิ่นควรมีความสามารถในการจัดเก็บรายได้เองไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 อาจเก็บจากภาษีประเภทต่างๆ ส่วนรายได้จากเงินอุดหนุนไม่ควรเกินร้อยละ 60 ของรายได้แต่ละปี สุดท้ายคือการกำหนดวงงบประมาณอาจใช้ฐานคำนวณค่าใช้จ่ายต่อหน่วย ส่วนที่เหลือให้กันไว้เพื่อพัฒนาตามนโยบายของข้าราชการท้องถิ่น
“ในการก้าวต่อ เรื่องแรกคือวางระบบเตรียมความพร้อมในการสรรหาผู้นำท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่เก่งดีและมีคุณธรรม ต่อมาคือจัดการบริหารบุคลากร วางระบบความร่วมมือกับภาคประชาชนให้เกิดการทำงานนอกกรอบ นอกกะลา และทำตัวชี้วัดความพึงพอใจของประชาชน”
อปท.โวย อปท.เลี้ยงตัวเองไม่ได้เพราะรัฐออกแบบ
นายทนงศ์ศักดิ์ ทวีทอง เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงคณะกรรมการการกระจายรายได้ว่ายังมีบุคลากรและสำนักงานไม่เพียงพอ ดูแล อปท.ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะภารกิจมากเกินไป และยังมีภาระงานในพื้นที่ตามพระราชบัญญัติอื่นๆอีก และหากการเมืองยังเป็นเช่นนี้การถ่ายโอนยิ่งลำบาก โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ผูกอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ
“นโยบายรัฐที่ผุดขึ้นมากมายมันไปทับซ้อนกับท้องถิ่นหลายเรื่อง เช่น การมีสภาองค์กรชุมชนตำบล ทั้งที่แผนก็เขียนไว้ดีแล้ว แต่รัฐมักทำให้การดำเนินงานยุ่งยากมาก ตรงนี้รัฐต้องปรับปรุงให้สอดคล้องและเอื้อกับท้องถิ่นมากขึ้น”
สำหรับประเด็นรายได้ที่ท้องถิ่นยังเลี้ยงตัวไม่ได้ นายทนงศักดิ์ กล่าวว่า คือจุดอ่อนของ อปท. ที่รัฐต้องนำไปปรับปรุงแก้ไขเนื่องจากเป็นผู้ออกแบบเอง ที่สำคัญคืองบประมาณท้องถิ่นบางส่วนถูกดึงไปใช้ในนโยบายส่วนกลาง เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ, เรียนฟรี 15 ปี ส่วนการติดตามประเมินผลนั้นนอกเหนือจากหน่วยงานประเมินแล้ว ท้องถิ่นก็ควรประเมินการทำงานของตัวเองด้วย
รัฐต้องรู้ความต้องการชุมชน กระจายอำนาจจึงสำเร็จ
ทั้งนี้มีการประชุมกลุ่มย่อย “การสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนและภาคีชุมชนท้องถิ่น”โดย ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า ภาคชุมชนเปรียบเหมือนแก้วที่รอรับน้ำจากรัฐ โจทย์ใหญ่คือรัฐต้องรู้ความต้องการที่แท้จริงของชุมชน จึงจะทราบว่าน้ำจะไหลลงแก้วหรือไม่ การกระจายอำนาจคือส่วนหนึ่งในการถอดบทเรียนเหล่านั้นออกมา เปรียบเหมือนการเอาเมล็ดพันธุ์หว่านไปเพื่อให้เกิดต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศ
ดร. สีลาภรณ์ ยังยกตัวอย่างความสำเร็จในงานวิจัยโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งใช้กระบวนการทำข้อมูลครัวเรือนแล้ววิเคราะห์สาเหตุปัญหา โดยความร่วมมือระหว่าง อบต.และชุมชน จากนั้นนำเข้าระบบ เวทีเรียนรู้กระทั่งออกมาเป็นแผน แก้ปัญหาหนี้สินได้กว่า 700 ตำบล 8,000 หมู่บ้าน
นายณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บางระกำ กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่มีทั้งมลพิษ ภัยธรรมชาติ ภาวะหนี้สิน ปัญหาที่อยู่อาศัยและเศรษฐกิจ ซึ่งรุกคืบและรุนแรงขึ้นเรื่อย ชุมชนจึงวิเคราะห์สาเหตุและค้นศักยภาพเพื่อตั้งเป้าสร้างตำบลสุขภาวะ เกิดเป็น 7 ระบบสร้างสุขบางระกำ 1.คนจิตอาสา สร้างกิจกรรมคนดีศรีบางระกำขึ้น 2.การจัดการสิ่งแวดล้อม 3.ระบบเกษตรกรรมปลอดภัย 4.ระบบสุขภาพชุมชน มีการวางแผนชุมชนให้ชาวบ้านดูแลกันเอง 5.ระบบเศรษฐกิจชุมชน จัดตั้งธนาคารชุมชนปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนกว่า 20 ล้านบาท 6.ระบบสวัสดิการออมวันละบาท และ 7.เด็กและเยาวชน มีโครงการบางระกำรักบ้านเกิด
นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายก อบต.ปากพูน ยกรูปธรรมความสำเร็จในพื้นที่ว่า ใช้คณะทำงานที่แต่งตั้งโดยจำลองมาจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ประสานงานท้องถิ่น โดยชุมชนผู้ออกแบบการทำงานเอง มีฐานข้อมูลครัวเรือนตลอดจนข้อมูลด้านสุขภาพ และถ่ายโอนข้อมูลให้ชาวบ้าน โดยการตั้งศูนย์เรียนรู้ออนไลน์ที่เข้าถึงได้ทุกคน
“ที่ผ่านมาเราขาดการดีไซน์การปกครองใหม่ๆที่จำเป็นต้องใช้ศิลปะในการบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นมาช่วย และให้ความสำคัญกับอำนาจมากเกินไป นักการเมืองท้องถิ่นเมื่อเข้าไปเป็นข้าราชการส่วนกลางสมองปิดใจปิดหมดนั่นคือสิ่งที่ต้องแก้ไขหากคิดจะกระจายอำนาจ”
ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การถ่ายโอนอำนาจเป็นเรื่องดี แต่ต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรให้อำนาจนั้นไม่กระจุกตัวที่ อปท. เพราะการถ่ายโอนคือการนำอำนาจออกจาระบบตัวแทนหรือกลุ่มคน ดังนั้นต้องคิดต่อด้วยว่าชุมชนและชาวบ้านจะมีกลไกในการเป็นส่วนหนึ่งในอำนาจนั้นอย่างไร .