ศาลากลางอุบลใหม่…เอาไงดี
เย็น 22 พฤษภาคม ศาลากลางสี่จังหวัดอีสานถูกเผา อุบลราชธานีโดนหนักสุด นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ทวีจิตร จันทรสาขา มีดำริว่าเหตุรุนแรงนี้สร้างความเสียหายทางจิตใจและความรู้สึกคนไทยอย่างมาก หากใช้โอกาสนี้ให้คนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนารูปแบบศาลากลางใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตน จะเป็นกุศโลบายหนึ่งที่สร้างความรู้สึกผูกพันเป็นเจ้าของศาลากลางใหม่ และมีส่วนร่วมฟื้นฟูบ้านเมืองตน
จากการติดต่อเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและผู้บริหารกรมโยธาธิการและผังเมืองทางสมาคมสถาปนิกสยามก็ได้รับการตกลงให้ทางสมาคมทำกิจกรรมดังกล่าวกับโครงการศาลากลางหลังใหม่จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ด้วยความจำกัดของเวลาทางสมาคมจึงจำกัดขอบเขตงานของตนให้อยู่ในขั้นจัดทำแบบแนวความคิด (CONCEPTUAL DESIGN) เพื่อเสนอให้ทางกระทรวงมหาดไทยและกรมโยธาฯรับไปพิจารณาต่อไป
สำหรับกระบวนการทำงานของสมาคมนั้น ปรากฏมีสมาชิกจากทั้งส่วนกลางและภูมิภาคมาอาสาทำงานเพื่อสาธารณะครั้งนี้จำนวนสิบสองทีมสิบสองแบบและตั้งแต่ต้นเดือนกรกฏาคมจนบัดนี้มีการประชุมกับสาธารณชนคนอุบลฯเพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็นและให้คะแนนต่อแบบต่างๆได้สองครั้งเข้านี่แล้ว ปลายเดือนสิงหานี้ก็จะนำแบบที่พัฒนาขึ้นไปอีกไปพบกับคนอุบลเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะนำแบบชนะเสนอให้ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองต่อไป ขอนำบางส่วนของแบบต่างๆผ่านสายตาท่านผู้อ่าน
จากภาพมุมมองหกภาพที่พร้อมหน้ากัน ท่านผู้อ่านจะรู้สึกถึงความแตกต่างหลากหลายที่เป็นไปได้ของอาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังใหม่ และเพื่อให้ตระหนักถึงความท้าทายของการต้องเข้าพบโจทย์ใหม่ๆคืองานอาคารสาธารณะชนิดใหม่ที่ต้องการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ผมเลยนำภาพวิหารเก่าวัดหลวงเมืองอุบลที่เป็นอาคารสาธารณะดั้งเดิมขึ้นมาเปรียบเทียบ
เพื่อให้เรื่องครบถ้วนสมบูรณ์ผมขอนำเสนอทัศนียภาพศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังใหม่ของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่กำลังเขียนแบบ ทั้งเอาภาพศาลากลางจังหวัดชุมพรแปะมาด้วย ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่ากรมโยธาฯใช้แบบมาตรฐานเดิมๆของตัว คือเป็นอาคารสามมุข สี่ชั้น แปลนเป็นป้อมสี่เหลี่ยมโอบล้อมลานตรงกลาง แล้วทำซุ้มทางเข้า เป็นหลังคาซ้อนๆกันดูเตี้ยๆแจ้ๆแลเป็นอุบลนิดหน่อย เพิ่มเข้าไปเท่านั้นเอง ในที่สุดการทำศาลากลางก็เหมือนกับการทำอาคารโรงเรียน หรือโบสถ์วิหาร ที่ปั๊มป์จากส่วนกลางเป็นแบบกอไก่ ขอไข่แล้วผูกกับงบประมาณจากกรุงเทพฯแจกไปทั่วราชอาณาจักร
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่มองไม่เห็นก็คือโปรแกรมหรือชุดของการใช้เนื้อที่อาคารว่าจะอำนวยให้เกิดกิจกรรมเกิดบรรยากาศหรือเกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนอย่างไรบ้าง ชุดอย่างว่านี้ก็กำหนดมาจากกรุงเทพฯทั้งนั้น
เท่าที่สืบเสาะข่าวคราวมาบ้าง ทราบว่าคนอุบลที่เขามาประชุมกันลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ต้องการแบบจากกรุงเทพฯ ส่วนเนื้อที่ใช้สอยอาคารก็ขอที่ขอทางให้ชาวบ้านประชาชนเข้าไปคลุกคลีกับศาลากลางกันเป็นการใหญ่ ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือกระบวนการการมีส่วนร่วมให้ความเห็นเพื่อพัฒนาปั้นแต่งแบบซึ่งนานไปก็จะกลายเป็นประสบการณ์เป็นความหลังเป็นความผูกพันที่คนเขาจะมีต่ออาคารสาธารณะหน้าใหม่ในบ้านเมืองของเขา
เขียนถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกิดจากกระบวนการประกวดแบบที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้นและโปร่งใส เมื่อระดับชาติทำได้ทำไมระดับจังหวัดถึงจะทำไม่ได้
มองในเชิงการเมืองไทย ปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ พูดกันตรงๆการแตกแยกขั้วของสังคม(POLARIZATION) ออกเป็นฝักเป็นฝ่าย มีความเกลียดชังและแปลกแยกเป็นดังเชื้อไฟนั้น แท้จริงก็มีรากโคนมาจากความคิดและระบบอำนาจนิยมจากส่วนกลาง เมื่อบวกกับการแย่งชิงผลประโยชน์จนวงแตกของโครงสร้างการเมืองที่รวมศูนย์ การเมืองที่วงแตกนั้นก็ย้อนมาปลุกปั่นประชาชนในท้องถิ่นที่ยังไม่เป็นตัวของตัวเองให้ร่วมเฮละโลกับความแตกแยกเข้าร่วมเกมการชิงอำนาจของส่วนกลางด้วย
เห็นกันอย่างนี้ การทำให้ประชาชนคนท้องถิ่นร่วมกันมีประสบการณ์ดีๆยกระดับวุฒิภาวะมีความเป็นตัวของตัวเอง ร่วมงานกับงานราชการของส่วนกลางได้ราบรื่น กำกับงานการเมืองทุกระดับด้วยความเป็นนายตัวเอง พ้นระบบอุปถัมภ์เฮละโล คือยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด
การเพิ่มโอกาสให้คนท้องถิ่นได้ทำงานร่วมกับส่วนกลางเช่นร่วมกันพัฒนาปั้นแต่งศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ที่หลังเก่าถูกเผาวอดวายเพราะไฟโมหะทางการเมืองจึงเป็นเรื่องถูกที่ถูกทางเป็นอย่างยิ่ง
เรื่อง “ศาลากลางอุบลใหม่...เอาไงดี” จึงยืนอยู่ตรงกลางพอดีระหว่างความแตกแยกกับความสมานฉันท์ในสังคม ขอให้กำลังใจเหล่าสถาปนิกที่กำลังมีส่วนสร้างความเคลื่อนไหวที่ถูกต้องเป็นคุณแก่บ้านเกิดเมืองนอน และขอบอกคนที่ดูแลกระทรวงมหาดไทยทั้งที่เห็นตัวและไม่เห็นตัวว่า งบประมาณ 300 ล้านนั้นเทียบกับการซื้อใจคนอุบลแล้วกระจอกมาก คิดซะให้ดีๆ