ชุมชนบ้านโฮมฮัก : ความรักที่ยิ่งใหญ่ ไร้พรมแดนสายเลือด
เด็กเล็กเด็กโตพากันอมยิ้มหรือหัวเราะคิกคักเมื่อเห็น “แม่ติ๋ว” ใส่เสื้อเหลืองกางเกงแดงแป๊ด เธอบอกว่านอกจากอยากแต่งตัวสุดโต่งเวลาไม่มีแรง ยังเป็นการสอนเด็กๆ.. โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน พาไปพบความรักยิ่งใหญ่ของคนต่างสายเลือดในชุมชนบ้านโฮมฮัก ที่อาจทำให้ต้นรักในหัวใจคุณเบ่งบาน
“ถ้าช่วงบนแม่เป็นสีเหลือง ช่วงล่างสีแดง ไม่ได้หมายความว่ากายจะล้มหรือแขนกอดลูกไม่ได้ ประเทศก็เช่นกันถ้าแบ่งแยกด้วยสีไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ก็จะล้ม เพราะฉะนั้นอย่าเอาสีมากำหนด แต่ต้องรักและดูแลกันเหมือนร่างกายที่จะเคลื่อนไหวได้นั้นทุกส่วนต้องสัมพันธ์กัน”
สุทธาสินี น้อยอินทร์ หรือ “แม่ติ๋ว” ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิสุทธาสินีน้อยอินทร์เพื่อเด็กและเยาวชนจังหวัดยโสธร หรือ “บ้านโฮมฮัก” กำลังสอนเด็กๆต่างสายเลือดที่เธอเรียกว่า “ลูกๆ”
รู้จักมูลนิธิสุทธาสินีน้อยอินทร์เพื่อเด็กและเยาวชน
21 ปีแล้วที่ “บ้านโฮมฮัก” เป็นที่ตุ้มโฮมหรือศูนย์รวมความรักให้บรรดาเด็กๆด้อยโอกาสซึ่งบางคนติดเชื้อเอดส์จากพ่อแม่ บางคนพ่อแม่ตายจากไปไม่มีคนดูแล บางคนถูกกระทำรุนแรงถูกล่วงละเมิดทางเพศ และทุกคนล้วนมีบาดแผลในหัวใจก่อนเข้ามาอยู่ในครอบครัวใหม่แห่งนี้
“เด็กที่นี่มาหลายทาง กลุ่มแรกจากที่มูลนิธิเข้าไปทำงานในชุมชน ชาวบ้านจะบอกว่ามีเด็กถูกทอดทิ้งที่ไหน บางคนกำลังถูกทำให้ตายเพราะถูกมองว่าป่วยเป็นภาระ กลุ่มที่สองแม่ที่วิกฤติชีวิตรู้ตัวว่าไปไม่ไหวก็จะอุ้มลูกเข้ามานอนรอความตายแล้วเลี้ยงลูกไปด้วย หลายคนไม่ตายอุทิศตัวเองเลี้ยงเด็กๆคนอื่นในบ้านต่อ บางรายได้ยินสุนัขเห่าหน้าบ้านพบว่ามีคนเอาลูกมาวางทิ้งไว้ อีกกลุ่มคือหน่วยงานรัฐเองที่พบเห็นเด็กแล้วส่งมาให้เราแต่ก็ไม่ได้ตามดูแลต่อ”
สุทธาสินี บอกว่าปัจจุบันชายคาบ้านโฮมฮักดูแลเด็กๆ 100 กว่าชีวิต มูลนิธิยังช่วยเหลือเด็กๆอีกร่วม 300 ชีวิตที่อยู่ในชุมชน ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ละครหุ่น โสเหล่ส้มตำ ให้ความรู้เรื่องเอดส์ และอาบอบนวดให้คนชราในชุมชน
ตุ้มโฮมฮัก บ้านนี้มีรักนำทาง แม้ต่างสายเลือด
..บ้านหนูมีแต่ความรัก ที่คอยนำทางพวกเราทุกคน พวกหนูเอาแต่ความรักมามอบให้กันเพื่อเราเป็นสุข พวกเรามาอยู่ด้วยกัน ต่างพี่ต่างน้อง มาเป็นครอบครัว พวกเรานั้นได้พบกัน ต่างสุขสำราญเมื่อรวมเป็นหนึ่ง.. คือบทเพลงโดย ณัฐวุฒิ ไพอุปลี ชีวิตที่ได้รับการโอมอุ้มจากบ้านโฮมฮัก
“ผมมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านโฮมฮักแห่งนี้ตั้งแต่ตัวเล็กๆ มากัน 3 คนพี่น้อง เพราะพ่อแม่ไปเที่ยว(เสียชีวิต)แล้ว แต่ผมและน้องๆได้ฮับความฮัก ได้ฮับการช่วยเหลือเบิ่งแยง(ดูแล)จากแม่ๆพ่อๆที่นี่จนเต็มเปี่ยม ตอนนี้ผมโตเป็นบ่าวซำน้อยแล้วครับ..” น้องณัฐ บอกที่มา
น้องณัฐ น้องเผือก น้องพลอย น้องเอ๋ เป็นตัวแทนเสียงเด็กบ้านโฮมฮักที่ส่งไปถึงสังคมว่า พวกเขามีความคิด ความฝัน จินตนาการ แต่ “ขอโอกาสและพื้นที่ให้พวกหนูมีชีวิตมีอนาคตอยู่ในสังคมเหมือนเด็กทั่วไป อยากให้สังคมยอมรับเด็กที่ด้อยโอกาส ยอมรับว่าพวกเราก็ทำอะไรดีๆได้”
รุนนี จำใบรัตน์ แต่งงานกับชายหนุ่มที่ไม่รู้จักมาก่อนโดยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจัดการให้ มีความสุขได้เพียง 3 เดือนทุกข์สาหัสก็มาเยือน เธอและลูกในครรภ์ติดเชื้อเอดส์จากสามี และไม่นานเขาก็ตายจากไป เธอถูกทุกคนในหมู่บ้านรังเกียจ แต่ชีวิตใหม่เริ่มต้นอีกครั้งที่บ้านโฮมฮัก
“พี่ติ๋วไปให้ความรู้เอดส์ในหมู่บ้านซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนทุกคนยังกลัวและรังเกียจ แล้วก็ชวนพี่มาร่วมกิจกรรมที่บ้านโฮมฮัก พูดคุย อบสมุนไพร เราก็เจอคนที่เขาเป็นอย่างเราหรือไม่ก็เข้าใจกันมันไม่เหมือนสายตาที่คนในหมู่บ้านมองเรา พอแฟนเสียมันเคว้งคว้างพี่ติ๋วเลยชวนพี่กับลูกมาอยู่ด้วย มันเหมือนชีวิตใหม่ ตอนนี้เราก็ช่วยเป็นแม่ให้เด็กๆคนอื่นด้วย..” รุนนี หรือ แม่นีของเด็กๆเล่า
แม่พอลล่า บอกว่าชีวิตร่วมกับเด็กๆที่นี่ทำให้รู้สึกว่าไม่ต้องแสวงหาเงินทองมากมายแต่ละวันก็มีความสุขได้ มันงดงามที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของเด็กๆ
เด็กๆจะเรียกผู้ใหญ่ทุกคนในบ้านว่าพ่อหรือแม่ ขณะที่ผู้ใหญ่ก็เรียกพวกเขาว่าลูก เด็กที่ไม่แข็งแรงจะได้รับการฟื้นฟูรักษาตามอาการ เด็กที่สุขภาพเอื้ออำนวยก็ไปโรงเรียน กิจวัตรประจำวันคือตื่นเช้าไปโรงเรียน กลับมาบ้านเด็กหญิงช่วยทำความสะอาด เข้าครัว ดูแลน้อง เด็กชายทำแปลงเกษตรปลูกผักไว้กินกัน วิถีชีวิตในบ้านโฮมฮักอาจเปรียบได้กับครอบครัวใหญ่ๆ
แม่นี บอกว่า “บ้านนี้อยู่ด้วยความรัก พี่ดูแลอาบน้ำอุ้มน้อง พ่อแม่ดูแลเด็กๆ ให้นมป้อนข้าวน้ำป้อนยา ส่งไปโรงเรียน บางคนเรียนจบก็กลับมาช่วยงานมูลนิธิฯหรือส่งเงินมาเลี้ยงน้องๆบ้าง”
สุขได้บนชีวิตและความตาย ถ้าเข้าใจชีวิต
สุทธาสินี บอกว่า มูลนิธิฯ อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคและการพึ่งพาตนเอง เด็กๆจึงถูกสอนให้ช่วยเหลือกันและพึ่งพาตัวเองด้วย เช่น หาหอยหาแมลงปลูกผัก เพราะวันหนึ่งเมื่อพวกเขาเติบโตออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอกจะได้พึ่งตนเองได้ แต่เด็กบางคนก็ไม่มีโอกาสได้เติบโต
“เด็กบางคนป่วยตาย แต่ทุกคนมีสติ บ้านเราจะทำโลงไม้เอง เพราะเมื่อก่อนไม่มีเงินและตายกันทุกวัน เดี๋ยวนี้น้อยลงจากที่เราพาเด็กๆไปเรียนรู้ธรรมะ ศพสุดท้ายเดือนที่แล้ว พี่ผู้หญิงช่วยกันอุ้มน้องห่อผ้าหามไปวางในโลง พี่ผู้ชายก็ขุดหลุมรอ เราช่วยกันฝังช่วยกันพูดคุย ตรงนั้นคือธรรมะ เด็กๆจะมีสติไม่กลัวแล้วต่อไปเขาก็จะเกิดปัญญาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้..”
สุทธาสินี เป็นมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้าย เธอบอกว่าหลายต่อหลายครั้งที่ล้มลงไปแต่ลุกขึ้นมาได้เพราะกำลังใจจากเด็กๆ
“เวลาเด็กไม่สบายเราเอาผ้าชุบน้ำเช็ดตัว กอด เล่านิทาน บอกว่าเข้มแข็งนะหมาน้อยแม่รักหนู พอเราล้มลงเด็กๆเอาผ้าเปื้อนน้ำมูกน้ำลายชุบน้ำมาโป๊ะหัว มือน้อยๆช่วยกันนวดขยำ แล้วพูดว่าอดทนนะแม่เป็นหมาน้อยของหนู ทำให้เรารู้สึกว่าลมหายใจอยู่ไหนกลับมาๆ..ครั้งนึงเดินข้ามสะพานลอยจะเป็นลมที่กรุงเทพฯ เด็กผู้ชายสองคนมาประคองไปนั่งสั่งน้ำอัดลมให้ เราไหว้ขอบคุณ เขาบอกทำไมมาไหว้จำไม่ได้เหรอแม่เคยช่วยผม หัวใจเราก็พองโต..”
จำนวนเด็กๆที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บอกได้ถึงความอบอุ่นในชายคาบ้านโฮมฮัก ทว่าอีกแง่มุมกลับสะท้อนความบกพร่องของสังคมที่จะดูแลเยาวชนของชาติ ปัจจุบันบ้านโฮมฮักกำลังประสบปัญหาหนักคือทุนที่ต้องใช้เป็นค่ายา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตของเด็ก
“ติ๋วเหมือนรถยนต์เก่าๆ บางวันสตาร์ทไม่ติด ที่กังวลคือเด็กๆอยู่บนรถ ถ้าใครมองว่ารถนี้ยี่ห้ออะไรเขาก็จะไปไม่ถึงฝั่ง อยากให้มองว่าเด็กเหล่านี้คือเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดินซึ่งจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงากับสังคมไม่ได้เลยถ้าผู้ใหญ่ไม่ช่วยกันรดน้ำพรวนดินโอบกอด” .
ขอบคุณ : ภาพประกอบจาก http://www.chongter.comwebboardindex.phptopic=4716.0
และ http // travel.sanook.comhometownhometown_10328.php