พระสงฆ์ “นักพัฒนาชุมชน” แห่งแดนธรรมะเมืองอุบลฯ
เข้าพรรษาปีนี้ โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนขอพาไปพบเรื่องราวดีๆของพระสงฆ์นักพัฒนาชุมชนแห่งเมืองธรรมะแดนอีสาน“อุบลราชธานี” ซึ่งมีวัดมากเป็นอันดับสองของประเทศ ไม่ว่าจะป็นบทบาทรักษาโรคกาย ภาวนารักษาใจ การคืนคนดีสู่สังคม และนำปัญญามาใช้ผ่านวิกฤติศรัทธา
“เมืองแห่งดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์” คำขวัญประจำจังหวัดครบถ้วนด้วยใจความว่า อุบลราชธานีรุ่มรวยด้วยอารยธรรมและทรัพยากร โดยเฉพาะเป็นเมืองธรรมะที่มากมีพระสงฆ์ซึ่งเป็นบูรพาจารย์ ผู้นำทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนิกชน
พระสงฆ์นอกจากเป็นที่พึ่งทางใจ ยังเป็นแบบอย่างความคิดและพฤติกรรมดีของสังคม มีงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งในโครงการอีสานสร้างสุข ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คือ “สุขภาวะพระสงฆ์เมืองอุบลฯ” ซึ่งส่วนหนึ่งได้เผยแพร่ความงดงามของครูบาและวัดซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนได้แก่ การรักษาโรคด้วยสมุนไพร ที่วัดป่าประชาเทพนิมิตร, การปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตพัฒนางาน ที่วัดป่าสว่างวีระวงศ์, โครงการบ้านเปลี่ยนวิถีคืนคนดีสู่สังคม ที่วัดป่าบ้านแก้ง และปัญญาแก้วิกฤติศรัทธา ที่วัดมงคลโกวิทาราม
วัดป่าประชาเทพนิมิต : สมุนไพรรักษากาย เมตตารักษาใจ
หลวงพ่อสุพัฒน์ เตชพโล พระภิกษุวัย 72 ปี ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนหลั่งไหลมาที่สำนักสงฆ์วัดป่าประชาเทพนิมิตร ต.ขามป้อม อ.สำโรง เล่าย้อนว่าท่านเคยเป็นโรคเบาหวาน จึงเก็บเกี่ยวความรู้สมุนไพรและการปรุงยาขนานต่างๆ เพื่อรักษาตนเอง เมื่อมาที่วัดแห่งนี้จึงนำองค์ความรู้มาสงเคราะห์ผู้ป่วยในชุมชน เยียวยาโรคต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน ริดสีดวง โรคกระเพาะ โรคประดง
“..เราไม่คิดตังค์เขา อยากสงเคราะห์เพราะเราคือพระสงฆ์ ต้องไม่โลภ กลางคืนก็จะเดินจงกรมสวดมนต์แผ่เมตตาให้คนที่เขามาเอายา บุญที่เราทำก็ขอให้เขาหายจากโรคภัยและทุกขเวทนานั้นๆ ส่วนสรรพคุณของยาก็มีในตัวมันเอง..”
เมื่อแรกๆ ชุมชนยังมีความเชื่อดั้งเดิมในการนับถือผีแถน หลวงพ่อได้ใช้ด้ายสายสิญจน์เป็นกุศโลบายดึงศรัทธาผู้คนเข้าวัดทำบุญตามแบบอย่างพุทธศาสนิกชนที่ดี นอกจากกิจกรรมรักษาโรคกายด้วยสมุนไพร ท่านยังเป็นที่พึ่งทางจิตใจของผู้คน โดยถือคติว่า “เมตตาคือยาใจรักษาโรค”
“..ชาวบ้านมาที่นี่ต้องการความสุขที่ได้หายจากโรคภัยที่คุกคามทั้งกายและใจ แต่บางครั้งก็เพียงเพราะต้องการน้ำมนต์ ด้ายสายสิญจน์ วัตถุมงคล เพื่อความสุขใจ เราก็ให้ด้วยความเมตตา..”
ผู้คนเดินเข้าไปด้วยความหวังและกลับออกมาจากวัดพร้อมด้วยห่อยาสมุนไพรเพื่อนำกลับไปรักษาอาการกาย แต่ที่แน่ๆใบหน้าที่อิ่มเอมนั้นบ่งบอกว่าพวกเขาได้รับยาใจจากหลวงพ่อแล้ว
ป่าสว่างวีระวงศ์ : ภาวนาเพื่อพัฒนาจิต พัฒนาชุมชน
วัดป่าสว่างวีระวงศ์ อ.สว่างวีระวงศ์ 20 กว่าปีก่อนเป็นผืนดินแห้งแล้งถูกทิ้งร้าง มีพระสงฆ์ผ่านมาธุดงค์เป็นครั้งคราว กระทั่งปี 2540 พระอาจารย์สมชาติ ธมมโชโต ประธานสงฆ์สำนักปฏิบัติแสงธรรมส่องชีวิต เริ่มเข้ามาบูรณะ ปลูกต้นไทร 30 ไร่ สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาปฏิบัติธรรม โรงทาน โรงครัว และอาราธนาสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นองค์ประธานเปิดศาลาปฏิบัติธรรมในปี 2545
การปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตและพัฒนางาน จึงได้เริ่มต้นขึ้นโดยการนำของเจ้าอาวาส พระอาจารย์มหาคำสอน ติกขปญโญ ด้วยความเชื่อว่า “ถ้าคนเรามีความคิดดีๆ ก็จะกระทำแต่สิ่งดีๆ ตามมาด้วยผลดีกับชุมชนสังคม และเกิดจิตวิญญาณแห่งความสุข”
ทุกๆเดือนจะมีคนทุกเพศวัย เด็กๆ ผู้ใหญ่ ข้าราชการ ประชาชนทั้งชุมชนในละแวก คนในอุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียงมาเข้าค่ายปฏิบัติธรรม เดินจงกรม-นั่งสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบ และฟังบรรยายธรรมที่ยกรูปธรรมเรื่องใกล้ตัว สภาวะที่เกิดขึ้นในสังคม สั่งสอนให้ผู้คนรู้เหตุรู้ผลสามารถแยกแยะดี-ไม่ดี, บาป-บุญ, ผลของการกระทำต่างๆ และให้รู้เท่าทันสติ เท่าทันปัญหา
เมื่อจิตใจสงบ ก็จะพบความสุข, เมื่อรู้เท่าทันสติเท่าทันปัญหาก็จะเกิดปัญญาแก้ปัญหาชีวิตได้ คือแสงธรรมส่องชีวิตที่วัดแห่งนี้มุ่งหวังว่าผู้คนจะนำไปปรับใช้แก้ทุกข์สร้างสุขใชีวิตประจำวัน และอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรผาสุกในสังคมได้
วัดป่าบ้านแก้ง : วัดและชุมชนปลอดเหล้า – อบายมุข
เหตุจากโยมพ่อที่เสียชีวิตจากการดื่มเหล้าสูบบุหรี่สะสมมานาน เป็นแรงบันดาลใจให้ พระอาจารย์มหาสมบัติ สทธมโม เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านแก้ง อ.เดชอุดม อยากช่วยพัฒนาชุมชนให้ปลอดยาเสพติด ปี 2549 จึงทำโครงการวัดและชุมชนปลอดเหล้า โดยร่วมมือกับชาวบ้านตั้งกติกาห้ามขายสิ่งมึนเมาในบริเวณวัด, ห้ามพระสงฆ์สูบบุหรี่ ดื่มสารที่มีแอลกอฮอล์ผสมและเครื่องดื่มชูกำลัง และร่วมมือกับสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด ทำโครงการบ้านเปลี่ยนวิถีคืนคนดีสู่สังคม เป็นสถานบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในชุมชนที่อยากกลับตัวกลับใจ, อบรมแกนนำชุมชนเฝ้าระวังยาเสพติด
ยังริเริ่มกิจกรรมสุขภาพหลากหลาย เช่น พระสงฆ์งดฉันเนื้อสัตว์ ปลูกผักปลอดสารพิษในวัด , สนับสนุนให้มีลานออกกำลังกายในหมู่บ้าน, มีตู้ยาสามัญประจำบ้าน โดยการสนับสนุนของสถานีอนามัยบ้านแก้ง, เข้าร่วมโครงการบริจาคโลหิตของหน่วยกาชาดเคลื่อนที่, รักษาสิ่งแวดล้อม โดยแยกขยะไปทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างอากาศบริสุทธิ์
วัดใช้ทั้งธรรมะบำบัด ผ่านคำสอนให้รู้คุณค่าความเป็นมนุษย์ กตัญญูต่อผู้มีพระคุณและชาติศาสนาพระมหากษัตริย์, จิตบำบัด ผ่านการอบรมนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมพัฒนาจิต, เวชบำบัด ใช้สมุนไพรรักษาผู้ติดยา และ อาชีวะบำบัด ฝึกอาชีพเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผักปลอดสาร ทำน้ำยาล้างจาน แชมพูใช้เอง เพื่อให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และให้โอกาสคนกลับใจ
วัดป่าบ้านแก้ง หรือศูนย์พัฒนาคุณธรรมอำเภอเดชอุดม จึงนับเป็น ศูนย์กลางส่งเสริมสุขภาพของชุมชนอย่างสอดคล้องกับหลักธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสุขภาวะทางสังคม
วัดมงคลโกวิทาราม : ใช้ปัญญาผ่านวิกฤติศรัทธาวัด – ชุมชน
“..ควรเน้นการแต่งใจมากกว่าแต่งกาย คนเรากินมากแต่งกายมาก แต่แต่งใจน้อยไป ต้องพึ่งตนเองทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคม..”
เป็นธรรมะจาก พระครูสิริสุตวิมล วัดมงคลโกวิทาราม ต.ปทุม อ.เมือง ซึ่งย้อนไป 15 ปีก่อนวัดแห่งนี้ว่างเปล่าจากอุบาสกอุบาสิกา บ่งบอกถึงวิกฤติศรัทธาที่ชุมชนมีต่อวัด กระทั่งปี 2539 พระครูได้เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาส พร้อมกับความคิดที่ว่า “ชาวบ้านในชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาในทุกๆด้าน” วัดจึงค่อยๆบริหารความสัมพันธ์กับชุมชนใหม่
“รากไม้ค่อยๆงอกทีละนิด” พระครูเริ่มปฏิบัติการนำวัดเข้าไปอยู่ในจิตใจความคิดและชีวิตประจำวันของชาวบ้าน โดยออกเยี่ยมเยือนทุกหมู่บ้านแสดงความจริงใจและมิตรไมตรี ชักชวนกลุ่มผู้นำชุมชนเข้ามาร่วมปรึกษาหารือรับรู้ในทุกกิจกรรมของวัด ทำให้เกิดการสื่อสารต่อถึงชาวบ้านมาร่วมประชุมแนวทางการบริหารจัดการวัดอย่างโปร่งใสและชาวบ้านมีส่วนร่วม
“ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว” คุณธรรมพิเศษในตัวพระครู คือโอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ผู้คน วางตนเหมาะสม ท่านจึงเป็นแบบอย่างให้ผู้คน อาทิ น้ำใจที่กว้างขวางช่วยเหลือผู้อื่นตลอดเวลาทั้งแรงทรัพย์ ความคิด แรงใจ, ไม่สนทนาเพื่อเอาใจใครแต่ท่านจะใช้วาจาไพเราะแม้เมื่อกล่าวตักเตือน, ด้วยจริยวัตรของพระผู้ใหญ่ที่เหมาะสมในสมณธรรม จึงซื้อใจชาวบ้านได้
ชาวบ้านใส่บาตรพระมากขึ้น พระสงฆ์มีกิจนิมนต์มากขึ้น ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเกือบทุกอย่างของวัด จากสภาพวัดที่เคยทรุดโทรม พระเณรก็มีที่อยู่อันควรแก่อัตภาพ มีข้าวปลาพอฉัน มีน้ำประปาไฟฟ้าส่องสว่างให้ปฏิบัติธรรม ทัศนคติด้านลบที่ชาวบ้านเคยมีต่อวัดก็หายไป
การใช้ปัญญาเพื่อผ่านพ้นวิกฤติศรัทธาที่ชุมชนมีต่อวัดและพัฒนาสิ่งดีๆให้เกิดขึ้น ของพระครูศิริสุตวิมล ทำให้ชาวบ้านเข้าใจบทบาทของพุทธศาสนิกชนที่ดี พระเข้าใจหน้าที่และกิจของสงฆ์ที่พึงควร ท่านกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน วัดมงคลโกวิทาราม กลายเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
มิติทางกายผ่านการรักษาโรคด้วยสมุนไพร, มิติทางใจผ่านการปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตพัฒนางาน, มิติทางสังคมในโครงการบ้านเปลี่ยนวิถีคืนคนดีสู่สังคม และมิติทางปัญญาแก้วิกฤติศรัทธาศาสนา เป็นบทบาทของพระสงฆ์ที่มิได้เพียงเทศน์ธรรมสั่งสอนอยู่แต่ในวัด แต่ยังนำวัดออกไปพัฒนาผู้คนและชุมชนให้ผาสุก .