วิพากษ์ผลงานโบว์แดง “แก้หนี้นอกระบบ” รัฐบาลอภิสิทธิ์
แทบทุกครั้งที่เอ่ยถึงผลการทำงานที่ผ่านมา รัฐบาลจะหยิบยกนโยบายปรับโครงสร้างหนี้หรือ “การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ” ขึ้นมาชื่นชมว่าเป็นผลงานเด่น ล่าสุดบอกว่า “ประสบความสำเร็จมากที่สุดตั้งแต่มีการแก้ปัญหาหนี้สินมา” โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนพาไปมองในมุมที่แตกต่างๆจากนักคิด นักวิชาการ ชาวบ้าน
วันอาทิตย์ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยฯ โชว์ว่าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล ประสบความสำเร็จมากที่สุดตั้งแต่มีการแก้ปัญหาหนี้สินมา เป็นการเดินหน้าแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ประชาชนที่เดือดร้อนที่สุดในประเทศ โดยแก้ไขไปแล้ว 2 แสนกว่าราย และกำลังแก้ปัญหาลูกหนี้ไม่มีคนค้ำประกัน โดยอาจให้สถาบันรัฐช่วยค้ำประกัน เพื่อช่วยเหลือให้ได้อีก 2 แสนรายภายในสิ้นเดือนนี้ และจะมีโครงการต้นกล้าอาชีพเข้าไปส่งเสริมเรื่องรายได้ รวมทั้งติดตามอย่างใกล้ชิดว่ารายที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วสามารถประกอบอาชีพ ลดภาระหนี้สินได้มากน้อยแค่ไหน
ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายหลักสูตรอบรมผู้บริหารการสื่อสารมวลชน ของสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยวิจารณ์นโยบายแก้หนี้นอกระบบที่รัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังทำอยู่ว่า “เป็นแค่ลิเกตบตา”
“ที่ทำอยู่นี่มันเล่นลิเก ที่มาจดทะเบียนนี่นะ ธกส.ไปเรียกมา ปรากฏ 1 ใน 3 เป็นพวกหนี้ดีของ ธกส. ดอกเบี้ยก็ไม่แพง ผ่อนก็ได้ พอบอกจดทะเบียนก็เอ้ยฟรีนี่หว่า ก็จะเอา ที่ถูกแล้วเนี่ยรัฐไม่ควรจะเข้าไป คือถ้าเข้าไปแล้วได้ข้อมูลจริงมันก็เป็นการช่วยจริง ข้อมูลจริงพวกกู้นอกระบบอยู่ที่มหาดไทย ถ้ามหาดไทยเอาด้วยก็พอหาได้ แล้วฟาดจริงๆคือเจอนายทุน จับจริงลงโทษจริง เพราะเอาเปรียบคนอื่น กฎหมายมันมี มีมาตรการจัดการ แล้วกำหนดเลยว่าจังหวัดไหนทำได้มาก ถ้าทำจริงแป๊บเดียวก็หมด”
ส่วนการแก้ปัญหาผู้กู้ หม่อมอุ๋ยเสนอให้มีการชำระสะสางปัญหาการจัดการแล้วนำ “กองทุนหมู่บ้าน” มาใช้ใหม่ให้มีประสิทธิภาพ
“ใจผมเนี่ยอยู่ที่กองทุนหมู่บ้าน ถ้าเราตั้งกฎไว้ให้แข็ง เพราะพวกนี้ผู้ใหญ่บ้านเขารู้ว่าใครตัวจริง แล้วให้ไปหากองทุนหมู่บ้าน เขาจะจัดการกันเอง คนเกเรเขาไม่ให้กู้อยู่แล้ว เขารู้นิสัยกัน รู้พ่อมันโกง แม่มันโกง นั่นเป็นจุดแข็ง ทำไมเราต้องเอากระบวนการตรงกลางลงไปให้มันเป็นช่องว่าง”
อ.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาให้มุมมองต่อนโยบายนี้กับสื่อว่า การประกาศปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เป็นการส่งสัญญาณให้เกษตรกรที่เป็นหนี้ไม่ยอมปรับตัวและสร้างหนี้ต่อ เพราะคิดว่ารัฐบาลต้องช่วยเหลือ ทั้งนี้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร แต่ต้องมีกระบวนการที่รัดกุมรอบคอบมากกว่านี้
“การช่วยเหลือขนาดยกหนี้ให้เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ต้องดูสาเหตุการเกิดหนี้ เช่น หากเป็นผลพวงความผิดพลาดรัฐบาลในการทำโครงการต่างๆหรือปัญหาภัยแล้ง แต่ถ้าเป็นหนี้เพราะความผิดเกษตรกรเอง รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับวิธีป้องกัน เช่น การขึ้นทะเบียนรายชื่อเกษตรกรที่มักมีปัญหากู้หนี้ยืมสิน”
อ.นิพนธ์ ยังเป็นห่วงว่าการจัดงบประมาณฝึกอบรมฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรจะสูญเปล่า เพราะที่ผ่านมาก็มีโครงการลักษณะนี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และมีปัญหาเงินรั่วไหล
“วิธีการที่เหมาะสมที่สุดคือ หน่วยราชการอย่าเข้าไปยุ่ง ควรให้ชุมชนดำเนินการเอง เพราะจะมีระบบตรวจสอบกันเองและมีความหลากหลาย”
รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ต้องหาสาเหตุการเป็นหนี้ว่าอยู่ตรงไหนแล้วแก้ให้ถูกจุด ไม่ใช่ใครมีหนี้แล้วรัฐจ่ายให้ก็จบ เพราะคนเป็นหนี้เพราะภาวะการใช้จ่ายเกินตัวกับชาวนาที่เป็นหนี้เพราะน้ำท่วมนาข้าวล้มตาย เป็นเหตุผลที่ต่างกัน แต่ขณะนี้นักการเมืองชอบความง่าย อะไรที่ทำแล้วได้เสียงมากมักทำแบบนั้น ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง เรื่องนี้จำเป็นต้องทำ แต่ต้องทำให้ถูกจุด เสนอ 2 แนวทางใหญ่คือ 1.ปลดหรือเปลื้องหนี้ เพราะบางคนล้มละลายเพราะความจำเป็น หรือ 2.การเปลี่ยนหนี้นอกระบบให้มาอยู่ในระบบและบริหารจัดการ
“ตอนทำงานกองทุนฟื้นฟูฯ เราส่งเสริมให้คนที่เป็นหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่กับเรา ให้เงินไปพัฒนาอาชีพและค่อยมาชำระหนี้ผ่อนส่ง หรือให้เงินก้อนไปชำระหนี้และมาเป็นหนี้กองทุนแทน หรือให้ตั้งกลุ่มอาชีพแล้วค่อยนำรายได้มาผ่อนส่งรายเดือน แต่บางคนไม่อยากเอา คนส่วนใหญ่มองว่าได้เงินเลยดีกว่า”
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ศูนย์ศึกษาพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนว่า นโยบายปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรของรัฐบาลเป็นกลไกเดียวกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คือตัดดอกหมดตัดต้นเหลือครึ่ง ซึ่งต้องศึกษาให้ดี เพราะถึงแม้จะมีประโยชน์ แต่ต้องคำนึงเงื่อนไขลูกหนี้แต่ละกลุ่ม เช่น ลูกหนี้บางรายจ่ายเงินต้นและดอกไปหลายเท่าตัว กลุ่มนี้อาจตัดศูนย์ได้ แต่บางรายที่ยังไม่เคยจ่ายเลยอาจต้องจ่ายมากกว่าครึ่งหรือเกินครึ่ง จะใช้มาตรฐานอัตราเดียวกันไม่ได้ นอกจากนี้วิธีการเปิดให้ลงทะเบียน จะช่วยได้เฉพาะคนที่ลงทะเบียนเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมคนจนจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ
“นโยบายของรัฐดีแล้ว แต่เริ่มแล้วต้องมีการปรับ ตอนนี้อาจจัดการได้ประมาณ 5 แสนรายซึ่งเป็นเพียงร้อยละ 10 ของลูกหนี้นอกระบบทั้งหมด สิ่งที่ต้องคิดคือจะมีวิธีการจัดการต่อไปอย่างไร โดยการทบทวนเป็นระยะๆ และปรับให้เข้ากับปัญหา”
สำหรับการให้กองทุนฟื้นฟูฯ ลงไปดูปัญหาการชำระหนี้ รวมทั้งส่งเสริมอาชีพ ดร.เพิ่มศักดิ์ มองว่า เป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการฟื้นฟูเกษตรกรที่เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ควรรวมหน่วยงานต่างๆที่ต่างคนต่างทำเรื่องหนี้นอกระบบมาบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอภาคประชาชนต่อนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้รวม 14 กองทุนที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการร่วมกัน และจัดสรรเงินกู้พิเศษส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนร้อยละ 25 ของวงเงินกู้ในแต่ละปี และปฏิรูป ธ.ก.ส.เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมคุณภาพคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยในประเด็นนี้ ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า เฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มี 14 กองทุน งบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาทที่ยังไม่ถึงมือเกษตรกรที่เดือดร้อน เพราะกองทุนเหล่านี้ติดขัดเรื่องระเบียบ กฎหมาย วิธีการจัดการที่ไม่คล่องตัว การบูรณาการทุกกองเข้าด้วยกันให้สอดคล้องกับสถานการณ์จะช่วยแก้ปัญหาที่ตรงจุด
สำหรับกรอบเงินกู้พิเศษเป็นข้อเสนอที่ดีในแง่การนำมาใช้ปรับปรุงฟื้นฟูการลงทุนระยะยาวในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน และร้อยละ 25 ก็มีความเหมาะสม แต่บางรายอาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ตามบริบท และเห็นด้วยที่จะปฏิรูป ธ.ก.ส. เพราะเป็นสถาบันการเงินที่เกษตรกรให้ความเชื่อมั่น ดังนั้นเมื่อเกิดความเสี่ยงก็ต้องร่วมรับผิดชอบกับเกษตรกรด้วย
ดร.เพิ่มศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า รัฐต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ถึงมือประชาชนไม่ใช่เดินตามกลไกหนึ่งสองสามสี่ เพราะกว่าจะถึงปลายทางชาวบ้านก็ตายหมดแล้ว อย่างเรื่องหนี้สินต้องลงไปคุยกับชาวบ้าน สร้างทีมที่ทำจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน ไม่ใช่ทำแต่แผนระดับชาติ การจะทำให้ชาวบ้านไม่กลับไปพึ่งหนี้นอกระบบต้องสร้างกลุ่มองค์กรเครือข่ายของชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถจัดการผลิต จัดการการทุนและพัฒนาองค์กรการเงินได้เองและไปพร้อมกันทั้ง 3 องค์ประกอบ
ส่วนข้อเสนอชาวบ้านจากเวทีทุนชุมชนกับการขับเคลื่อนประเทศ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ระบุว่า สาเหตุของการเป็นหนี้นอกระบบเพราะขาดการวางแผนการใช้เงิน ดังนั้นรัฐต้องไม่แก้ปัญญาเชิงปัจเจกแต่จัดการร่วมทั้งชุมชน ใช้รูปธรรมจากพื้นที่เป็นต้นแบบ ส่วนชุมชนต้องพยายามปรับไม่ให้กู้หนี้นอกระบบ แต่มาเป็นหนี้กับกองทุนหรือองค์การเงินภายในแทน
นายประดิษฐ์ สมชาติ ประธานที่ปรึกษาสถาบันการเงินชุมชน ต.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี เล่าถึงรูปธรรมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในพื้นที่ว่า เริ่มจากสำรวจคนที่เป็นหนี้นอกระบบทั้งหมดและหาสาเหตุ และเรียกประชุมคณะทำงานสร้างกฎระเบียบ กติกาข้อตกลงร่วมกัน แล้วจึงระดมทุนชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนอื่นๆ มาปล่อยกู้ไปใช้หนี้แล้วเบนกลุ่มคนเหล่านี้ให้มาเป็นหนี้กองทุนแทน สุดท้ายจึงติดตามตรวจสอบ ใครไม่ใช้หนี้คืนก็จะมีบทลงโทษซึ่งเป็นกติกาชุมชน
ซึ่งคล้ายกับพื้นที่ ต.โสน จ.พิจิตร ใช้ทุนเบื้องต้นจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์มาปล่อยกู้เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย พันธุ์กล้า หรือเครื่องจักร แทนที่จะเป็นตัวเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงการนำเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เป็นการปลดหนี้นอกระบบโดยยึดหลักทำมาหากินให้ยั่งยืนก่อน
“นโยบายประชานิยม” ซึ่งนักวิชาการเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า “ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป และเลวเสมอไป” ขึ้นอยู่กับว่าทำจริงหรือแค่หาเสียง และผลประโยชน์แท้จริงนั้นตกอยู่กับประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและยั่งยืนหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์” ก็เป็นประชานิยม ซึ่งขณะนี้มีข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมยั่งยืน .