ฟื้น“กองทุนหมู่บ้านทักษิณ” เชื่อม“สวัสดิการชุมชนอภิสิทธิ์”
“หม่อมอุ๋ย” อดีตผู้ว่าฯแบงค์ชาติ ชม“กองทุนหมู่บ้านทักษิณ”เป็นโมเดลเศรษฐกิจรากหญ้า ถ้าดันจนสุดทางไม่แค่หาเสียง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ดร.ไตรรงค์ ประกาศสานต่อ โดยสางปัญหาเก่า-เชื่อมโยงสวัสดิการชุมชนรัฐบาลนี้ โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนประมวลความคิดเห็นต่างๆมานำเสนอ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
สมัยทักษิณเป็นรัฐบาลแรกที่รู้ว่าคนจนระดับหมู่บ้านเข้าไม่ถึงทุน ตอนผมเป็นผู้ว่าฯ ทำเซอร์เวย์ลงไปถามชาวบ้านพบว่าคนรากหญ้าจริงๆเข้าถึงแบงค์พาณิชย์ด้านเงินฝากแค่ 10% ด้านเงินกู้ทั้งแบงค์พาณิชย์ และ ธกส.ไม่ถึง 2% เขาอยู่ได้ด้วยกลุ่มออมทรัพย์ที่มี 4 หมื่นหมู่บ้าน พลโทปรีชา โรจนเสน คิดเรื่องนี้ และมีพี่ที่เคยทำกลุ่มออมทรัพย์แถวเมืองจันซึ่งช่วยประชาชนมาก คุณปรีชาเลยคิดว่าทำไมไม่ทำให้ครบ 7.8 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ แล้วให้เงินกู้ไป ทักษิณบอกให้หนึ่งล้านบาท หมู่บ้านตกใจเลยเพราะเคยได้แค่หนึ่งแสน
ถามว่าเกิดอะไรขึ้น 4 หมื่นหมู่บ้านที่มีกลุ่มออมทรัพย์อยู่แล้ว มีกรรมการดูแลดีอยู่แล้วก็จะมีเงิน 2 กอง เงินของชาวบ้านเป็นแสน เงินของรัฐบาลเป็นล้าน ส่วนอีก 3 หมื่นกว่าหมู่บ้านตั้งกรรมการใหม่ ที่เซียนๆล่อเงินไปเลย แต่สิ่งนี้น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับยุทธศาสตร์ และมีประโยชน์ไปแสนนานถ้าคิดต่อให้สุด คือสิ่งที่เละเทะก็จัดการใหม่ อันที่ดีแล้วยังคาราคาซังก็เดินต่อเป็นธนาคารหมู่บ้าน ซึ่งทำได้เพราะชาวบ้านเขาดูแลมาหลายปียังอยู่ เขาอยากดูแลต่อเพราะเป็นสมบัติร่วมกันแล้ว แต่รัฐบาลทักษิณไม่เดินต่อให้สุด เลยดูว่าแค่หาเสียง ถ้าตั้งใจ จะเป็นโมเดลการเมืองรากหญ้าที่ดีที่สุดในโลก โดยที่เอาเงินเข้าไปให้ แต่ต้องดูแล คือใครทำผิดลงโทษ ไล่ออกไป ตั้งกรรมการชุดใหม่ ขณะนี้ยังขาดการดูแลอย่างนี้
เสียดาย อยากให้ใครเข้าไปสานต่อกองทุนหมู่บ้าน เพราะการที่คนต่างจังหวัดทุกหมู่บ้านมีทุนที่เข้าถึงได้ นี่คือโมเดลเศรษฐกิจรากหญ้าที่ดีที่สุด ถ้าเราตั้งกฎไว้ให้แข็ง พวกผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจะจัดการกันเอง คนเกเรเขาไม่ให้กู้อยู่แล้ว รู้นิสัยกัน รู้พ่อมันโกง แม่มันโกง นั่นเป็นจุดแข็งของชาวบ้าน
ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
จากแนวคิดของรัฐบาลซึ่งต้องการทำให้เกิดสังคมสวัสดิการ ซึ่งแตกต่างจากรัฐสวัสดิการ เพราะประเทศไทยไม่มีรายได้จากภาษีเพียงพอเช่นเดียวกับสแกนดิเนเวีย เนื่องจากคนไทยเสียภาษีเพียง 6 ล้านคน แต่ต้องรับผิดชอบคนอีก 64 ล้านคน สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ คือการใช้กลไกที่มี และมองว่ากองทุนหมู่บ้านที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สามารถพัฒนาให้เป็นสวัสดิการสังคมได้
ขณะนี้ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อผลักดันเรื่องสวัสดิการสังคมให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยต่อยอดจากกองทุนหมู่บ้านเดิม กำหนดให้ชาวบ้านที่นำเงินมาชำระหนี้กองทุนฯหักส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสวัสดิการ เพื่อนำไปจัดระบบสวัสดิการในชุมชน เช่น ค่ารักษาพยาบาล งานสาธารณกุศล
สำหรับการบริหารจัดการกองทุนฯ ภายใต้รัฐบาลชุดนี้จะเน้นการปล่อยกู้เพื่อต่อยอดการประกอบอาชีพ เช่น ซื้อเครื่องจักร ไม่ใช่นำไปใช้จ่ายซื้อของฟุ่มเฟือย เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า สุดท้ายก็ใช้คืนไม่ได้กลายเป็นหนี้สะสม หลักการตรงนี้คณะกรรมการฯต้องเข้าใจและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก่อนปล่อยกู้ต้องดูศักยภาพของผู้ขอกู้ เพื่อไม่ให้กองทุนถูกใช้โดยเปล่าประโยชน์
อยากให้คิดว่ากองทุนหมู่บ้าน เป็นเงินของทุกคนในชุมชน อย่าคิดว่าเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายอภิสิทธิ์ แล้วต้องทำแบบนี้แบบนั้น หรือคิดว่าถ้าเป็นหนี้แล้วรัฐบาลมาใช้ให้ ทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาและปกป้อง เพราะกองทุนหมู่บ้านไม่ใช่โรงทาน
นที ขลิบทอง ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
นโยบายนี้เป็นการสนองตอบการเป็นสังคมสวัสดิการ โดยต่อยอดจากกองทุนหมู่บ้าน จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาเรื่องสวัสดิการกองทุนหมู่บ้านคาดว่าจะได้คำตอบปลายปีนี้
ที่ผ่านกองทุนหมู่บ้านเน้นการเพิ่มทุนและแก้ปัญหาหนี้ โดยทอดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปช่วยลดปัญหาหนี้ค้างได้ แต่ยังขาดหัวใจสำคัญคือการเป็นกองทุนเพื่อสวัสดิการ โดยหลักคิดเบื้องต้นคือการเพิ่มทุนแต่ผู้กู้ต้องประกันความเสี่ยงในลักษณะเงินออมหรือหากใครต้องการผลตอบแทนมากขึ้นก็ให้ซื้อหุ้นจากกองทุน ผลกำไรก็นำไปจัดสาธารณะประโยชน์ แต่ยังติดอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ต่อยอดในลักษณะดังกล่าวได้
การดึงเงินกองทุนมาสู่สวัสดิการเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้หรือทำให้มีระบบสวัสดิการเกิดขึ้นในชุมชน ตัวอย่างว่าถ้าบางหมู่บ้านไม่ต้องการเงิน แต่ต้องการพันธุ์ไม้ ก็จัดเป็นพันธุ์ไม้ให้ พอปลูกนำไปขายก็นำเงินกลับมาเข้ากองทุนเป็นเงินบำนาญผู้สูงอายุต่อไป
ทุกวันนี้ชาวบ้านจัดสวัสดิการอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำให้เป็นระบบมากขึ้น ที่มีอยู่ทำแบบมีเท่าไรจัดเท่านั้น แต่ถ้าได้รับแรงกระตุ้นหรือเอาใจใส่จากรัฐมากขึ้น ประโยชน์ทั้งหลายจะตกอยู่ที่ชาวบ้าน เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ากองทุนมีอนาคต คนในพื้นที่จะมีสวัสดิการ
ดร.สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
เห็นด้วยกับการรื้อกองทุนหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ ถ้าทำในลักษณะเกื้อกูลกันหรือทำเช่นเดียวกับสวัสดิการชุมชน แต่ไม่ควรรวมเป็นกองทุนเดียวกัน เพราะลักษณะพิเศษกองทุนหมู่บ้านเป็นเงินที่โอนจากรัฐบาล ไม่ได้ระดมจากชาวบ้านและเน้นให้กู้อย่างเดียว ควรมองเชิงระบบว่าแต่ละกองทุนทำหน้าที่อะไร แบ่งให้ชัดแล้วจะเชื่อมกันแบบไหน แต่คิดว่ากองทุนไม่น่ามีบทบาทมากนักหากยังทำหน้าที่การกู้เป็นหลัก
ข้อเสียของกองทุนหมู่บ้าน คือรัฐจ่ายเงินให้ทุกหมู่บ้านโดยไม่ดูความพร้อม ทำให้บางครั้งงบลงแล้วหาย โดยไม่เคยมีใครทำตัวเลขอย่างเป็นทางการ เช่น ยอดผู้กู้และยอดผู้ใช้คืน แต่จุดสนใจอยู่ที่ขณะนี้ยังคงรักษาสถานะกองทุนไว้เช่นเดิม ทั้งที่บางแห่งเงินกู้รอบแรกหมดแล้ว
ตอนเริ่มทำเรื่องนี้รีบเกินไป ควรดูก่อนว่าหมู่บ้านไหนเข้มแข็ง แล้วจัดสรรเงินให้ถูกต้อง อย่างตัวเลขที่บอกว่าจ่ายคืนแล้ว 90% ยังไม่น่าเชื่อ น่าจะแค่ 50% แต่ที่ยังอยู่ได้เพราะชาวบ้านกู้หนี้นอกระบบมาใช้คืนแล้วกู้เงินกองทุนไปใช้หนี้นอกระบบอีก
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี
กองทุนหมู่บ้านเหมือนกลุ่มออมทรัพย์ที่ชาวบ้านทำมาก่อนแล้ว บางแห่งใช้การผสมผสานทำให้กองทุนมีขนาดใหญ่และมีเงินทุนมากกว่าด้วย จึงมีความเป็นไปได้หากจะรื้อให้เอื้อกัน และทำได้หลายวิธี เช่น นำดอกผลกำไรจากกองทุนหมู่บ้านมาจัดสวัสดิการ หรือเพิ่มกองทุนสวัสดิการเข้าไปแล้วทำงานเชื่อมโยงกัน แต่ควรให้ชาวบ้านเป็นผู้พิจารณาว่าจะจัดระบบใด แยกหรือโยง เพราะแต่ละพื้นที่สะดวกและเหมาะสมต่างกัน และถ้าให้ดีรัฐควรดูทั้งระบบไม่ใช่แค่กองทุนหมู่บ้าน ต้องดูว่าในพื้นที่มีอะไรอยู่บ้าง การจัดการทรัพยากรการเงิน การกู้ การออม สวัสดิการ คิดทุกอย่างเป็นองค์รวม
และกองทุนหมู่บ้านเป็นระบบกองทุนที่มีกฎหมายรองรับ เน้นการกู้และใช้คืน ถ้าคิดต่อไปว่าจะเชื่อมกลุ่มออมทรัพย์กับกองทุนหมู่บ้าน อาจต้องศึกษาวิจัยประกอบการตัดสินใจด้วยว่าต้องมีกฎหมายรับรองโดยสมัครใจหรือทำพร้อมกันได้ทั้งคู่
ครูชบ ยอดแก้ว ผู้ริเริ่มโครงการสัจจะลดรายจ่ายวันละหนึ่งบาทเพื่อทำสวัสดิการภาคประชาชน
เห็นด้วยกับหลักการต่อยอดกองทุนหมู่บ้าน โดยหักเงินส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสวัสดิการ เหมือนเป็นการบังคับให้ชาวบ้านที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกสวัสดิการเข้าร่วมทุกคน ในส่วนของพื้นที่ขณะนี้กองทุนยังเละเทะและดำเนินการอยู่ในวงแคบ ถ้ามีนโยบายลงมากระตุ้นน่าจะช่วยทำให้กองทุนโตและเข้มแข็งขึ้น
ความคิดเดิมของกองทุนหมู่บ้านคือการทำให้ชาวบ้านมีสวัสดิการ แต่พอมีการเมืองเกี่ยวข้องกลายเป็นการนำเงินไปลงในชุมชนแทน ถ้าเอามาปรับใหม่ก็ดีเหมือนกัน ส่วนแนวคิดที่จะเน้นปล่อยกู้ต่อยอดการประกอบอาชีพก็ดี แต่น่าจะดูด้วยว่าชุมชนไหนขาดอะไรมากกว่ากำหนดตายตัว
เสนอหลักคิดว่าทำแล้วต้องเป็นกองทุนช่วยชาวบ้านจริงๆ ไม่ต้องรวมแต่นำกำไรมาใส่แล้วเดินแบบเดียวกับสวัสดิการชุมชน เรื่องนี้เห็นประโยชน์อยู่ แต่ไม่รู้ว่ามากหรือน้อย แต่เริ่มแรกอาจต้องปรับระบบเรื่องกู้แล้วไม่ส่งให้เรียบร้อยก่อนขยายแนวคิดให้กว้างขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาระยะยาว
พิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง ประธานสถาบันการเงินชุมชนพุทธวิมุติ ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
กองทุนหมู่บ้านมีระเบียบที่ไม่เอื้อ เช่น การจำกัดการปล่อยกู้เพียงรายบุคคล หลักการจ่าย การรวมกองทุนเข้ามาเป็นสถาบันการเงิน หรือระบบบัญชี บางแห่งไม่ขยับหรือโตช้า ที่อยู่ได้ก็ทรงตัว หากจะขยายให้ระบบใหญ่ขึ้น เช่น ช่วยแก้หนี้หรือแก้ปัญหาสวัสดิการไม่มีทางทำได้ และสายไปแล้วที่จะเริ่มต้นทำ เพราะตอนนี้ชาวบ้านเข้าไปอยู่ในวังวนแบบเดิมคือเป็นหนี้สะสมทั้งกับกองทุนเอง 70-80% แล้วยังเป็นหนี้นอกระบบที่กู้มาเพื่อใช้หนี้กองทุนอีก ชาวบ้านจะนำกำลังตรงไหนมาสมทบทำสวัสดิการ
กองทุนหมู่บ้านยังมีปัญหาอีกมาก แตกต่างจากกองทุนที่ชาวบ้านจัดตั้ง วางกติกา วางแผนบริหารจัดการเอง ซึ่งผลกำไรส่วนใหญ่ก็นำไปจัดสวัสดิการชุมชน ที่รัฐควรทำคือผลักดันให้เกิดสถาบันการเงินไปพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสร้างรายได้โดยรวม ไม่ต้องมีกองทุนหมู่บ้านแต่โอนเงินตรงนี้ไปให้ชุมชนไปจัดการบริหารใหม่โดยมีแผนการใช้เงิน การผลิต และบริโภค
นายบุญศรี จันทร์ชัย ประธานสถาบันการเงินชุมชนบ้านขอนขว้าง ต. ดงเหล็ก จ.ปราจีนบุรี
ปัญหาของกองทุนหมู่บ้านที่ไม่โต เพราะหนี้สะสมจากการกู้แล้วไม่ใช้คืน สาเหตุแท้จริงคือไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดี ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างกองทุน เงินหนึ่งล้านที่รัฐบาลให้คือทุนที่ชุมชนต้องไปคิดต่อ ดีไม่ดี สำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิธีคิด และข้อดีหากเชื่อมโยงกองทุนหมู่บ้านกับการจัดสวัสดิการคือชุมชนจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับเงินมาเป็นผู้ออมเงิน โดยหลักการใหม่คือกู้ได้แต่ต้องออมด้วย ตรงนี้จะเกิดความยั่งยืนมากขึ้น เช่น หากเป็นหนี้ 10,000 บาท และต้องการกู้เงินใช้หนี้ กองทุนจะอนุญาตให้กู้ก็ต่อเมื่อส่งเงินออมครบตามกำหนดเวลาและกติกาที่ตั้งร่วมกันโดยชุมชนเท่านั้น
ผลที่ตามมาคือการสร้างวินัยที่เอื้อให้ช่วยเหลือกันเองในชุมชน ใครจะกู้ก็ต้องออม ไม่เช่นนั้นไม่มีหลักประกันว่าจะได้เงินคืนเมื่อไร เหมือนฟื้นทุนเดิมมาจัดสวัสดิการเพิ่ม จากเงิน 1 ล้านจะพัฒนามีดอกผล เติบโตมากขึ้น มีคุณค่า เกิดเป็นทุนหมุนเวียนใช้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้อีก .
หลากทัศนะต่อ “กองทุนหมู่บ้านเวอร์ชั่นรัฐบาลอภิสิทธิ์” ที่ประกาศเดินหน้าต่อยอดจากรัฐบาลทักษิณ ประชาชนคงไม่อยากเห็นเป็นเพียงแค่การเมืองหรือหาเสียง ซึ่งรัฐบาลคงต้องทำให้เห็นชัดว่าของเดิมนั้นดีจริงที่ตรงไหน อะไรเป็นปัญหาที่ยังต้องสะสาง และของใหม่จะดีกว่าเดิมอย่างไร.