นักวิชาการ-สหพันธ์ฯชี้ แยกใบอนุญาตแก้ปัญหาวิทยุชุมชนปลุกระดม
คณะทำงานกิจการกระจายเสียงชุมชน เร่ง กทช.ต่อใบอนุญาตชั่วคราววิทยุชุมชน ช่วยแก้ปัญหาคลื่นธุรกิจเบียด บอกศูนย์เฝ้าระวังเก่งแต่เทคนิค-ขาดความเข้าใจเนื้อหา เตรียมจับตาจัดสรรคลื่นเอเอ็ม เอฟเอ็ม สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ บอก 52 วันใต้ พรก ฉุกเฉินสิทธิเสรีภาพไม่มีเลย นักวิชาการ-สวชช.เปิดเผยโต๊ะ ข่าวเพื่อชุมชนว่าแก้ปัญหาวิทยุปลุกระดม ต้องแยกประเภทใบอนุญาตธุรกิจออกไป ชี้วิทยุชุมชนจริงๆลงทะเบียนแค่ 150 ที่เหลือการค้า
เมื่อวานนี้(27 พ.ค. 53) สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) ร่วมกับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง และ ศูนย์นโยบายสื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะเพื่อติดตามความคืบหน้าและ สถานการณ์การออกใบอนุญาติวิทยุชุมชนในสังคมไทย และเสวนา“บทบาทวิทยุ ชุมชนในการปฏิรูปประเทศไทย” ณ วีเทรนอินเตอร์เนชั่นแนล เฮ้าส์ ดอนเมือง มีตัวแทนจากวิทยุชุมชนเข้าร่วมกว่า 60 แห่ง โดย รศ.ดร.สุรัตน์ เมธีกุล ประธานคณะทำงานด้านกิจการกระจายเสียงชุมชน กล่าวถึงใบอนุญาตวิทยุชุมชน ว่าเนื่องจากการอนุญาตให้วิทยุชุมชนทดลองออกอากาศชั่วคราว 300 วันหมดอายุตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. ซึ่งมีแนวโน้มว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)จะทำเรื่องต่ออายุ จึงอยากเห็นร่างหลักเกณฑ์การอนุญาตใช้คลื่นความถี่และรับรองการออกอากาศ 300 วันที่จะออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ดร.สุรัตน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก เช่น ปัญหาวิทยุชุมชนที่ออกอากาศถูกต้องโดนคลื่นธุรกิจเบียดสัญญาณหมด จนมีคนพูดเล่นๆว่าออกมาตะโกนหน้าสถานียังมีคนได้ยินเยอะกว่า หรือคลื่นวิทยุชุมชนที่รบกวนกันเอง ทั้งนี้การออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนจะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะในกระบวนการเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปตรวจสอบรัศมีการออกอากาศ ทำให้ปัญหาการเบียดคลื่นลดลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางเทคนิค เช่น ข้อกำหนดให้บันทึกเทปออกอากาศไว้อย่างน้อย 30 วัน ซึ่งชาวบ้านว่ามันมากเกินไปไม่มีทุนมากพอที่จะซื้อเทปอัดบันทึกได้ครบตาม จำนวน รวมทั้งปัญหาการทำผิดข้อตกลงของวิทยุชุมชนเอง ทั้งนี้เสนอว่าเพื่อคงไว้ซึ่งสิทธิการสื่อสารของชุมชน ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณสื่อ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสามารถตรวจสอบกันเองได้ด้วย ส่วนบรรดาวิทยุชุมชนที่ยื่นขอใบอนุญาตและได้รับการพิจารณาไปแล้วไม่มีอะไร น่ากังวล
“200 กว่ารายที่ขอใบอนุญาตอยู่ ถ้าได้รับการพิจารณาคงหมดปัญหา แต่รายที่ยังรอคิวก็ต้องขอต่อไปเพราะหมดช่วงทดลอง 300 วันแล้ว ส่วนเรื่องศูนย์เฝ้าระวังของ กทช. 14 แห่งทั่วประเทศ ผมคิดว่าเก่งด้านเทคนิค แต่ขาดความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านที่ทำวิทยุชุมชน การแก้ปัญหาก็คงดูจากเครื่องมือ สัญญาณคลื่น หรือเทคนิค และการกำหนดอำนาจต้องมีความชัดเจน เพราะอาจนำไปสู่ความไม่ถูกต้องได้”
ประธานคณะทำงานด้านกิจการกระจายเสียงชุมชน กล่าวอีกว่า กทช.มีแผนการจัดสรรคลื่น 2 แผน คือระบบเอเอ็ม และ เอฟเอ็ม ซึ่งคงต้องดูว่าจะจัดให้ลงตัวได้อย่างไร และจำนวนเท่าไร เนื่องจากมีผลกระทบเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ต้องดูกลุ่มที่จะเข้ามาร่วมทำวิทยุชุมชน ว่ามีแผนการดำเนินงานอย่างไร มีเป้าหมายที่ชัดเจนหรือไม่ ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อมีการจัดตั้ง คณะ กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้วจะมีองค์กรเข้ามาช่วยดำเนินการด้านต่างๆ
นายสุเทพ วิไลเลิศ ตัวแทนสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ สรุป สถานการณ์ว่าปัญหาส่วนใหญ่คือคนยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือวิทยุชุมชน เมื่อเกิดการปิดสถานีจากการปลุกระดมมวลชน ยิ่งทำให้คนไม่เข้าใจ จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจว่าวิทยุชุมชนมีทั้งแสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร รวมทั้งทำอย่างไรให้คนไม่มองวิทยุชุมชนในแง่ร้าย นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนว่ากระบวนการขอใบอนุญาตซับซ้อนขั้นตอนมาก เช่น กรณีจุดรับเรื่อง ซึ่งมีชาวบ้านเข้าใจผิดว่าต้องไปยื่นที่ศูนย์เฝ้าระวังของ กทช. จริงๆต้องเป็นเท่านั้น ชาวบ้านยังไม่เชื่อมั่นในกลไกชั่วคราว เนื่องจากใบเหลืองที่ออกให้ใช้มีปัญหาคลื่นทับซ้อน โดยเฉพาะปัญหาสิทธิเสรีภาพของวิทยุชุมชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปัจจุบันที่โดนข่มขู่คุกคาม
“วิทยุชุมชนในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ จากทุกฝ่าย จนอนุกรรมการฯ ออกหนังสือเตือนการนำเสนอเนื้อหาให้พวกเราทั่วประเทศพร้อมแนบคำสั่ง ศอฉ. นอกจากนี้รัฐบาลและ ศอฉ. ยังเรียกให้เข้าไปรับฟังคำชี้แจงสถานการณ์และขอให้เผยแพร่เนื้อหาของรัฐบาล พร้อมข่มขู่ หากนำเสนอเนื้อหาฝ่ายผู้ชุมนุม เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้มีหมายจับกุมผู้ประกอบการวิทยุชุมชน 27 ราย จาก 44 รายที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยุชุมชน เช่น นำเสนอคลิปชุมนุม ปลุกระดมโจมตีรัฐบาล สนับสนุนสิ่งของ 52 วันภายใต้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิทธิเสรีภาพการสื่อสารของประชาชนยังมีอยู่หรือไม่”
ส่วนการแก้ปัญหาวิทยุชุมชนที่ฝักใฝ่ การเมือง นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า ต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนรู้จักแยกแยะวิทยุชุมชน ซึ่งเคยเสนอวิธีการทำใบอนุญาตให้แตกต่างกันกับ กทช. แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ
“วิทยุชุมชน 6,000 -7,000 สถานี ตอนนี้เราทำงานในเครือข่ายสหพันธ์ประมาณแค่ 200 อีก 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เขาต้องการขายของ จากผลสำรวจของสหพันธ์มีวิทยุชุมชนจริงๆที่ไปลงทะเบียนขอใบอนุญาตประมาณ 150 แห่ง เราเคยเสนอไปทาง กทช. ว่าให้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือวิทยุชุมชนจริงๆกับวิทยุที่หวังผลทางธุรกิจ ไม่ได้ห้ามเขาขอใบอนุญาตนะ แต่ให้ระบุไปเลย ก็ถูกปฏิเสธ พอมีปัญหาก็ทำให้พวกเราเสียชื่อไปด้วย ก็ประกาศว่าวิทยุชุมชนที่นั่นที่นี่เป็นอย่างนี้ แต่ไม่ได้แยกให้เรา”
ด้าน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ผอ.ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อจุฬาลงกรณ์ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่าการที่วิทยุชุมชนฝักใฝ่ทางการเมืองที่ตรงข้ามกับ รัฐบาลนั้นไม่เป็นปัญหา แต่การใช้สื่อเพื่อสร้างความเกลียดชังไม่ควรทำ ดังนั้นถ้าใช้เหตุผลและระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสารจะช่วยลดปัญหาได้
“จริงๆวิทยุชุมชนเป็นสื่อของชุมชน เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าชาวบ้านฟังจากไหนดีที่สุด ก็ต้องฟังจากที่นี่ แต่ต้องเป็นวิทยุชุมชนของจริง มีอุดมการณ์เพื่อชุมชนจริง ไม่ใช่ใช้ชื่อใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ต้องทำให้คนเข้าใจว่า สองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร” .