มองความหวังการปฏิรูปสื่อผ่าน “พ.ร.บ.คลื่นฉบับ ท.ทหารฉุกเฉิน”
ปลายเดือนก่อน วุฒิสภาได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม อันนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์คัดค้าน โดยล่าสุดเร็วๆนี้คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ได้ออกโรงค้านว่าเป็น “พ.ร.บ.คลื่นฉบับ ท.ทหารฉุกเฉิน” เปิดทางกองทัพแทรกแซงและหาผลประโยชน์ โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน เปิดทัศนะนักวิชาการ ภาคประชาชน คนทำงานสื่อคิดเห็นเป็นประการใดต่อเรื่องนี้
คปส.ออกโรงค้าน พ.ร.บ.คลื่นฉบับ ท.ทหารฉุกเฉิน
การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญนัดพิเศษ 30 พ.ค.53 มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .. สาระสำคัญที่เปลี่ยนจากร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร อันนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์คือการแก้ไขหลักการสำคัญ 1.เพิ่มองค์ประกอบในองค์กรอิสระให้มีกรรมการมาจากฝ่ายความมั่นคง และให้ฝ่ายความมั่นคงส่งตัวแทนเข้าคัดเลือกกันเองเป็นกรรมการ 2.กำหนดจัดสรรคลื่นความถี่ให้ฝ่ายความมั่นคงอย่างเพียงพอ
ทำให้ 15 มิ.ย. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.)ออกโรงค้านว่าเป็น “พ.ร.บ.คลื่นฉบับ ท.ทหารฉุกเฉิน” ทำลายเจตนารมณ์ภาคประชาชนที่เรียกร้ององค์กรอิสระกำกับสื่อมากว่า 10 ปี โดยอาศัยวิกฤติชาติมาสร้างความชอบธรรมให้กองทัพแทรกแซงจัดสรรผลประโยชน์ให้ตนเองอีกครั้ง เพราะหลังรัฐประหารโดยกองทัพ 19 ก.ย.49 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้ออก พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เปิดโอกาสให้กองทัพแสวงผลประโยชน์ทับซ้อนจากการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ดังที่เคยมีมาตลอดห้าทศวรรษ จนปัจจุบันกระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุมากถึง 201 สถานี สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และดูแลสัมปทานสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 มายาวนาน
คปส.มองว่าวิกฤติความขัดแย้งอันนำมาซึ่งความสูญเสียที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะสังคมขาดกลไกอิสระกำกับดูแลสื่อ รัฐและกลุ่มทุนผูกขาดสื่อแทรกแซงกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.) จนไม่สามารถตั้งองค์กรอิสระได้ และหลังรัฐประหารได้กำหนดให้รวมสององค์กรเข้าด้วยกันเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จนนำมาสู่การร่างกฎหมายดังกล่าว
คปส.เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านวุฒิสภาในประเด็นดังกล่าว และตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาพิจารณาใหม่ โดยยึดมั่นเจตนารมณ์ปฏิรูปสื่อรองรับสิทธิเสรีภาพการสื่อสารประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ให้ได้มาซึ่งองค์กรอิสระแท้จริง และขอให้สื่อมวลชนและสาธารณชนติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมตรวจสอบปกป้องผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรสื่อสารสาธารณะ
สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทหารเข้ามาแทรกแซง ซึ่งอาจทำให้องค์กรอิสระไม่เป็นอิสระอย่างสิ้นเชิง การระบุให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้หน่วยงานความมั่นคงอย่างพอเพียงเหมาะสม โดยไม่มีสัดส่วนที่แน่ชัด เปิดช่องให้ทหารขยายอำนาจมากขึ้น นอกจากนี้การปรับช่วงอายุ กสทช.จาก 35-65 เป็น 35-70 ปี เป็นการเปิดพื้นที่สำหรับคนเกษียณอายุราชการที่อยู่ในสายบังคับบัญชาของผู้มีอำนาจ
“ถามว่าองค์กรจะอิสระได้อย่างไร หากกันพื้นที่ให้ทหาร มันขัดต่อเจตนารมณ์ปฏิรูปสื่อ พื้นที่ตรงนี้ควรยกให้ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญซึ่งอาจเป็นนักวิชาการหรือใครก็ได้ สำคัญคือต้องเป็นอิสระ”
เสนอให้ตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภามาพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวใหม่ และเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพสื่อออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านด้วย อย่าปล่อยให้เลยตามเลยเหมือนกฏหมายสื่อหลายฉบับที่ผ่านมา
“ข้อเรียกร้องที่มากมายจากทหาร อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้กฎหมายที่เราผลักดันไม่ผ่าน และยิ่งทำให้การปฏิรูปไม่เกิดผล เหมือนจมโคลน ดีไม่ดีอาจถอยหลังมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ”
นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย(วทท.)
ประเด็นความมั่นคงมี พ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นกฎหมายรองรับอยู่แล้ว การที่รัฐนำประเด็นนี้มาอ้างเพิ่มคนด้านความมั่นคงเข้าไปใน กสทช.จึงไม่จำเป็นไม่สมเหตุผล ครอบงำและขัดต่อการปฏิรูปสื่อชัดเจน
“ไม่แปลกใจที่หลายจังหวัดมีหน่วยงานความมั่นคงเข้าไปจัดตั้งกลุ่มวิทยุความมั่นคงเพิ่มเติม เหมือนเตรียมการล่วงหน้าให้วิทยุความมั่นคงไปเลือกคณะกรรมการฝ่ายนี้เข้าเป็น กสทช.”
ร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าอาจไม่ดีที่สุด แต่ก็ผ่านการกลั่นกรองจากหลายเวทีในทุกภาคส่วนจนตกผลึกเป็นที่ยอมรับ ตอนนี้ก็มีการพูดคุยกันในหลายองค์กรที่ทำเรื่องสื่อ และกำลังดูท่าทีของ ส.ส. แต่เชื่อว่าเสียงคัดค้านจะทำให้ร่างใหม่ไม่ผ่าน และจะช่วยให้ทิศทางกฎหมายไม่บิดเบี้ยวไปมาก
“เราใช้เวลาเรียกร้องกันมาสิบกว่าปีตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วจะให้กลับมาเหมือนเดิมเพียงเขียนสวยหรูแต่ข้างในซ่อนอะไรที่เป็นเงื่อนงำไว้อีกหรือ”
วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ
การเพิ่ม กสทช.จาก 11 เป็น 15 คน ด้านปริมาณไม่มีปัญหา หากผู้ที่เข้ามามีความสามารถ แต่ที่ผ่านมาภาครัฐที่เข้ามาไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดสรรคลื่นเท่าไร หน่วยงานความมั่นคงก็เช่นกัน
“ที่จะเพิ่มมาอีก 4 คน เราจึงไม่เห็นด้วย เพราะของเดิมสัดส่วนภาครัฐก็เยอะอยู่แล้ว และก็ไม่ได้ชำนาญด้านนี้เท่าไร ควรจะอยู่ในส่วนของผู้ที่พิจารณาการจัดสรร ไม่ใช่มาจัดสรรเอง”
ส่วนการเพิ่มอายุ กสทช. เกรงจะเป็นที่นั่งให้ข้าราชการเกษียณซึ่งไม่เข้าใจเทคโนโลยี จนส่งผลให้การพัฒนาการสื่อสารหยุดชะงัก และเข้ามาเพื่อปกป้องคลื่นตัวเองมากกว่าคิดจะจัดสรรคลื่นให้เป็นธรรม
“ถามว่าคนอายุ 60-70 จะตามเทคโนโลยีทันไหม เราอยากให้จำกัดอายุน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำเพื่อให้คนมีความสามารถได้เข้ามา ผมกำลังคิดว่า 14-15 คนที่จะเข้ามานี่อาจมีแต่อายุ 50 ขึ้นไป บางทีแค่เข้ามาปกป้องไม่ให้คลื่นของเขาเสียประโยชน์ ถ้าเป็นแบบนี้ลองจินตนาการดูว่าการสื่อสารมันจะย่ำอยู่ที่เดิมหรือเปล่า”
ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ควรแบ่งให้ชัดเจนว่าจะจัดสรรคลื่นให้ภาคราชการ ธุรกิจ ความมั่นคงเท่าไร แต่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่ให้ภาคประชาชน 20% แต่สัดส่วนคนด้านความมั่นคงที่จะเข้ามากำกับดูแลการจัดสรรค อาจทำให้การปฏิรูปสื่อหยุดชะงัก ส่วนการขยายอายุอาจทำให้ได้คนอายุมากที่เก่งและดี แต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจสื่อด้วย เพื่อให้การปฏิรูปเป็นไปได้จริง
“แต่ถ้าตกลงกันว่าการกำกับดูแลต้องมีคนด้านความมั่นคงแน่ๆ การจัดสรรคลื่นก็ต้องเอาไปทำด้านความมั่นคงจริงๆ ไม่ใช่เอาไปทำมาหากินอย่างที่หลายฝ่ายหวาดระแวงอยู่ตอนนี้ และโดยภาพรวมที่ออกมาจากร่างใหม่ที่ทำให้มีเสียงคัดค้านแบบนี้ อาจทำให้การปฏิรูปสื่อหยุดชะงัก”
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ผอ.ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อจุฬาลงกรณ์
ข่าวดีคือการจัดสรรคลื่นให้กลุ่มภาคประชาชนในการบริการชุมชนโดยไม่แสวงรายได้ ยังคงไว้ที่ 20% และอีก 2 ส่วนคือหน่วยราชการ-ภาครัฐ 40% และบริการเชิงพาณิชย์ 40% ซึ่งต้องใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่เช่นเดิม แต่ที่ต้องจับตามองคือโครงสร้างคณะกรรมการตามร่างใหม่ที่วุฒิสภาเแปรญัตติให้มีฝ่ายความมั่นคงเพิ่มมาอีก 2 คน ทั้งที่จริงๆแล้วร่างเดิมก็มีคนของฝ่ายความมั่นคงแฝงอยู่แล้ว
“ถ้าไปดูคำว่าความมั่นคงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ด้านเศรษฐกิจ ด้านชุมชนก็ถือเป็นความมั่นคงเหมือนกัน แต่เค้าตีความเป็นความมั่นคงทางการทหาร นอกจากนี้ที่บอกว่าการศึกษา วัฒนธรรม ศาสนา พัฒนาสังคมให้มีตัวแทนเป็น 3 คน เป็นข่าวไม่ดีนัก”
สมชาย แสวงการ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ
ไม่น่ากังวลที่ กสทช.จะอายุเกิน 65 ปี ผู้พิพากษายังเกษียณอายุ 70 ปี คุณอานันท์ยังเป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหามาบตาพุด ประเด็นคือให้เริ่มตั้งแต่อายุ 35 ปี ไม่ใช่ให้เลือกคนที่อายุเยอะทั้งหมด คนอายุมากอาจจะได้เรื่องประสบการณ์ ถ้าคน 2-3 วัยมาอยู่ด้วยกันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ไม่เห็นด้วยกับจำนวนที่เพิ่มมา โดยเพิ่มด้านความมั่นคง 2 ศาสนาวัฒนธรรมอีก 2 เป็นสัดส่วนกรรมการที่ทำให้โครงสร้างไม่สมดุล นำไปสู่สัดส่วนการจัดสรรคลื่นที่ไม่เหมาะสมเหมือนที่ผ่านมา
“ปัญหาคือหากเข้าไปปกป้องผลประโยชน์ตัวเองจะทำอย่างไร อย่าลืมว่าเรามีทีวีช่อง 5 ช่อง 7 อยู่กับกองทัพ วิทยุทั้งประเทศ 500 กว่าคลื่นไปอยู่กับกองทัพตั้ง 260 คลื่น ประเด็นคือต้องแบ่งสัดส่วนให้ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และบริการสาธารณะ ทีนี้ถ้าสัดส่วนกรรมการผิดเพี้ยนไป เช่น มีคนด้านศาสนาเข้ามาแล้วไปแบ่งคลื่นให้นิกายใดนิกายหนึ่ง แล้วศาสนาอื่นจะทำอย่างไร ไหนจะส่วนของประชาชนที่เตรียมไว้ 20% ต้องมีคนเหล่านี้ด้วยไหม ถ้าไม่แบ่งให้ดีจะกลับปสู่กระบวนการแบบเดิมอีก อันนี้จะอันตราย”
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ สภาผู้แทนราษฎร และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ วุฒิสภา
ประเด็นจำนวน กสทช. ร่างเดิมกำหนดไว้ 11 คน ค่อนข้างเหมาะสมแล้ว การเพิ่มขึ้นมาอาจยุ่งยากและทำงานลำบาก ที่สำคัญหากเพิ่มเพื่อให้อำนาจบางกลุ่มยิ่งเป็นผลเสีย การทำงานไม่จำเป็นต้องทำแบบชุดใหญ่ อย่างในอเมริกาซึ่งเป็นองค์กรชำนาญการมีตัวแทนเพียง 5 คนก็ทำงานได้ อีกเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนคือการเพิ่มฝ่ายศาสนาวัฒนธรรม ซึ่งมีเสียงสะท้อนถึงความไม่เหมาะสม หากจะนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดสรรคลื่นที่มีเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวข้อง
“ร่างนี้ทำให้การบังคับใช้กฎหมายต้องเลื่อนออกไป หาก สส. ไม่เห็นด้วยต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมพิจารณาใหม่ ส่วนแนวโน้ม สส.จะผ่านร่างนี้หรือไม่ คงตอบยาก แต่เชื่อจำนวนไม่น้อยค่อนข้างกังวล”
ส่วนประเด็นการขยายอายุอาจเป็นอุปสรรค แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคล หากมีความชำนาญเข้าใจระบบการสื่อสารและเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องดี แต่หากเข้ามานั่งเก้าอี้เปล่าๆ ก็ไม่เห็นด้วย
“ส่วนที่ว่าในพื้นที่มีการเร่งตั้งวิทยุความมั่นคงเพื่อส่งตัวแทนเข้าไปคัดเลือก ก็เป็นไปได้ เพราะใช้หลักการเลือกกันเองแล้วส่งตัวแทนเข้าไป ถ้าองค์กรเกิดมากก็มีโอกาสส่งตัวแทนเข้าไปคัดเลือกมากขึ้น”
เสียงสะท้อนที่ตรงกันคือถ้าปล่อยให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาเป็นตัวแทนใน กสทช.ความเป็นอิสระขององค์กรจะหายไป หนึ่งในความปรองดอง 5 ข้อที่รัฐบาลประกาศคือ “การปฏิรูปสื่อ” เพื่อดำรงบทบาทนำเสนอข่าวสารข้อมูลแก่สาธารณะอย่างสร้างสรรค์ หากมองจากทิศทางการปฏิรูปสื่อกระจายเสียงผ่าน พ.ร.บ.คลื่นหลังภาคประชาสังคมผลักดันมาร่วม 10 ปีจนวันนี้ คงเป็นไปได้ยากมากที่จะปฏิรูปสื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แท้จริง .