เรียนรู้สภาตำบลต้นแบบ “คลองเขิน” ต้นทุนชุมชนสู่การปฏิรูปประเทศ
หนึ่งในข้อเสนอภาคประชาสังคมขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย หยิบยกบทบาทสภา องค์กรชุมชน ว่าควรพัฒนาให้สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนพลังจากชาวบ้านฐาน รากที่เข้มแข็งตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาโครงสร้างการบริหารจัดการและความเป็นเอกภาพภายในองค์กร นำไปสู่เสียงสะท้อนให้ปฏิรูปสภาองค์กรชุมชนให้ทันร่วมขบวนปฏิรูปประเทศ โต๊ะ ข่าวเพื่อชุมชนพาไปชมต้นแบบสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองเขิน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
สภาองค์กรชุมชนคลองเขิน เป็นต้นแบบที่ใช้ทรัพยากรและทุนทางสังคมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพึ่งตนเอง โดยไม่ยึดติดกับปัจจัยภายนอก แต่ใช้วิธีการต่อยอดงานพัฒนากระทั่งเป็นแบบอย่างการเรียนรู้ให้ชุมชนอื่น ต้นทุนที่ว่าคือวิถีชีวิตเรียบง่ายตามแบบฉบับชาวสวน ระบบเครือญาติและประเพณีวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นำมาสู่การจัดตั้งกลุ่มกิจกรรม 4 กลุ่ม เพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และได้กลายเป็นฐานสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนงานในนามสภาองค์กรชุมชนเป็นไป อย่างราบรื่นก่อนปี 2544 สภาพการพัฒนาตามแผนโครงการของหน่วยราชการ เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตร ยังมีปัญหาขาดผู้นำเพื่อผลักดันงาน จนช่วงปี 2542 มีนโยบายให้ทำประชาคมจังหวัดและเกิดแกนนำจากภาคส่วนต่างๆ หนึ่งในนั้นมี อุษา เทียนทอง ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานสภาฯ คลองเขิน เล่าว่า ช่วงแรกใช้เวทีสาธารณะเข้ามาดำเนินการและได้ผลดี ชาวบ้านเกิดความรู้สึกว่าตำบลต้องขับเคลื่อนเรื่องการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ให้มากขึ้น หลังจากวันนั้นจึงมีเวทีประชาคมสัญจรอย่างต่อเนื่อง มีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละหมู่บ้านเกิดแผนแม่บทชุมชนตำบลครั้งแรกปี 2548 นำมาสู่การตั้งกลุ่มกิจกรรมหลายโครงการ
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำตาลมะพร้าวปลอดสาร ซึ่ง พรชัย แสงแก้ว ประธานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านสวนทุ่ง เล่าว่า จากการตรวจสอบบัญชีครัวเรือนพบว่ารายจ่ายมากกว่ารายรับ เพราะชาวบ้านซึ่งเคยยึดอาชีพทำสวนมะพร้าวหันไปเป็นแรงงานอุตสาหกรรมใน พื้นที่จังหวัดใกล้เคียง สาเหตุหลักๆ เกิดจากช่วงนั้นมีปัญหาการปลอมปนน้ำตาลมะพร้าวและขายในราคาต่ำทำให้เกษตรกร สู้ไม่ไหว
“ชาวสวนมะพร้าวเสี่ยงชีวิตขึ้นมะพร้าวสูงกว่า 7-8 วา กว่าจะลงมาเคี่ยวเป็นน้ำตาล เสียเวลาเป็นวันกว่าจะได้น้ำตาลปีบเดียวราคา 300 บาท แต่พ่อค้าที่เอาน้ำตาลทรายผสมแบะแซต้นทุนแค่ 200 บาท”
พรชัย เล่าต่อว่า เมื่อรู้ต้นตอของปัญหาจึงร่วมกันหาทางออกโดยการหาพันธุ์มะพร้าวใหม่มาทดแทน เปลี่ยนจากที่ต่างคนต่างทำมาเป็นการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนแบ่งหน้าที่ กัน เช่น ใครขึ้นตาลก็ทำช่วงเช้า ส่วนคนที่มีหน้าที่เคี่ยวก็มารับช่วงต่อช่วงสาย ทำให้มีเวลาพักผ่อนและประกอบอาชีพเสริมอย่างอื่นได้ สุดท้ายแรงงานอุตสาหกรรมก็กลับมาเป็นชาวสวนเหมือนเดิม
จากน้ำตาลมะพร้าวสู่การแปรรูปโดย “กลุ่ม ผลิตขนมหวาน” ซึ่งมีสมาชิกกว่า 40 คน ดำเนินการในลักษณะสหกรณ์มีการลงหุ้น หุ้นละ 50 บาท สิ้นปีรับเงินปันผลหุ้นละ 10 บาท ส่วนคนที่ลงแรงทำซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 คน จะได้รับค่าตอบแทน จากผลกำไรที่หักราคาค่าวัตถุดิบเป็นครั้งไป โดยแบ่งกันผลิตรับผิดชอบขนมคนละชนิด ซึ่งเดือนหนึ่งจะคิดค่าตอบแทนให้เดือนละ 2 ครั้ง ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้ชุมชนและอนุรักษ์ขนมไทยพื้นบ้านไว้ เช่น ดอกจอก บ้าบิ่น มะพร้าวแก้ว ข้าวตู ฯลฯ
หวาน ประสงค์สุข ประธานกลุ่มฯ บอกว่า ส่วนใหญ่สมาชิกจะเป็นแม่บ้านและเยาวชนในพื้นที่ อาศัยช่วงเช้ามาทำขนมส่งขายตลาด โดยจะมีรถมารับทุกวัน ส่วนหนึ่งจะส่งขายปลีกในชุมชนราคาห่อละ 5 บาทหรือจัดเป็นของว่างเวลามีประชุมในพื้นที่ ซึ่งยอดผลิตและรายรับที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย ณ เดือนพฤษภาคมปีนี้ มียอดผลิตสูงถึง 36,832 ถุง คิดเป็นเงิน 147,328บาท
อีกหนึ่งโครงการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่าง ศูนย์บริการและ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลคลองเขิน ซึ่งเจ้าของพื้นที่คือ ยุ พินและสมศักดิ์ ศรีโหร คู่ชีวิตที่ทำการเกษตรโดยยึดหลักเหนื่อยแต่มี ความสุขและต้องรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า
“เดิมทีทำสวนมะพร้าวแต่ลูกอยากให้พัก เพราะอาชีพนี้ทั้งหนักและเหนื่อย ไม่อยากอยู่ว่าง จึงใช้พื้นที่ 5 ไร่ที่มีอยู่ลองทำเกษตรพอเพียง แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ด้านกลางเก็บสวนมะพร้าวที่เคยทำไว้ ที่เหลือปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ ส่วนร่องสวนใช้เลี้ยงปลา ปลูกพืชสวนครัว”
ยุพิน เล่าอย่างภูมิใจและว่า เริ่มจากลองผิดลองถูก อ่านจากหนังสือบ้าง อบรมจากจังหวัดบ้าง ค่อยๆ ทำทีละเล็กทีละน้อย ผลที่ได้รับคือตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี แทบไม่ต้องใช้จ่ายเรื่องอาหาร เพราะยึดหลักปลูกอะไรกินอย่างนั้น ขายบ้างแจกบ้าง กระทั่งจังหวัดส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศ จึงเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาศึกษา พร้อมๆ กับเก็บความรู้จากที่อื่นมาพัฒนาบ้านตัวเอง
กลุ่มกองทุนสวัสดิการออมวันละบาท ตั้งขึ้นปี 2551 เริ่มต้นมีสมาชิก 973 คน ปัจจุบันมี 1,463 คน จัดสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเก็บเงินจากสมาชิกวันละบาท เมื่อรวมกับที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และรัฐบาลสมทบให้ ปัจจุบันมีเงิน 1,130,528บาท ซึ่ง พันโทองอาจ อินทรสุนทร ประธานกองทุนฯ กล่าวว่า แบ่งเงินกองทุนออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ 20% เก็บเข้าเป็นกองทุน 30% จัดเรื่องวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพการศึกษา ที่เหลือจัดเป็นสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเดือนหนึ่งๆกลุ่มจะมียอดเงินเข้ากว่า 3 หมื่นบาท ไม่เคยติดลบและเชื่อว่าหากทำตรงนี้ให้แข็งแรงเรื่อยๆ กลุ่มจะไปได้และพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต
“ทั้งหมดเป็น 4 กลุ่มกิจกรรมที่เข้มแข็งและเป็นฐานที่หนักแน่น ทำให้เมื่อมี พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนตำบลเกิดขึ้น คลองเขินจึงเป็นหนึ่งใน 12 ตำบลแรกของสมุทรสงครามที่จดแจ้งเป็นสภาองค์กรชุมชน และดำเนินการต่อยอดงานพัฒนาที่มีอยู่ พร้อมกับเรียนรู้งานใหม่” อุษา กล่าว
คณะกรรมการสภาตำบลคลองเขิน มีการประชุมร่วมกันทุกวันที่ 19 ของเดือน โดยให้ตัวแทนจากกลุ่มต่างๆของหมู่บ้านและเครือข่าย ศึกษาข้อมูลหมู่บ้าน ปัญหาและความต้องการเพื่อนำเข้าสู่การประชุมระดับตำบล และนำข้อมูลที่ได้จากการประชุมสภาฯไปขยายความรู้ให้กับสมาชิกและชาวบ้าน ส่วนข้อเสนอจะส่งให้คณะกรรมการหมู่บ้านรับทราบเพื่อนำไปทำประชาคมหาข้อสรุป ร่วมกัน
ประธานสภาฯคลองเขิน กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมสำคัญที่กำลังทำอยู่ตอนนี้คือแผนพัฒนาศูนย์เรียนรู้ตำบล เพื่อให้กลุ่มต่างๆมีศูนย์กลางแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน, พัฒนาฐานข้อมูลท้องถิ่นให้เป็นปัจจุบัน, จัดทำแผนยุทธศาสตร์ของสภาฯ เพื่อเชื่อมกับหน่วยงานต่างๆและองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นรูปธรรม ลดการทำงานที่ซับซ้อน มีการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จร่วมกัน, ประชาสัมพันธ์การทำงานของสภาฯให้เป็นที่รู้จักและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และพัฒนาคณะกรรมการให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
“ถ้าถามว่าเราประสบความสำเร็จไหมต้องตั้งตัวชี้วัดว่าเอาแค่ไหน เพราะความสำเร็จเปลี่ยนแปลงตลอด เช่น จากเดิมตำบลเรามี 9 หมู่บ้านต่างคนต่างอยู่ไม่พูดคุยกัน วันนี้เริ่มพูดคุย รับรู้ปัญหาและหาทางออกร่วมกัน ซึ่งต่อไปเราอาจต้องตั้งเป้าหมายต่อไปเรื่อยๆ”
ส่วนที่หลายคนตั้งคำถามว่าชาวบ้านเข้าใจบทบาทของสภาองค์กรชุมชนแล้วหรือยัง อุษามอง ว่าบางคนก็เข้าใจ บางคนรู้แค่ว่าสภาตั้งขึ้นมาแค่จัดประชุม ถ้ามองอีกแง่หนึ่งการที่ชาวบ้านให้ความร่วมมือพัฒนาชุมชนก็ถือเป็นข้อดีที่ จะนำไปต่อยอดและผลักดันให้สภาองค์กรชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ
ข้อมูลจาก ปฏิภาณ จุมผา ผู้จัดการสำนักงานเขตภาคกลางตอนบนและตะวันตก ชี้ว่าขณะนี้มีสภาองค์กร ชุมชน 975 แห่ง จาก 1,669 ตำบลรวมเทศบาล ครอบคลุม 16 จังหวัด ทั้งนี้มีพื้นที่ศักยภาพเพียง 120 ตำบล โดยดูจากดัชนีชี้วัด 5 ประการ คือ 1.เกิดระบบข้อมูลและการจัดการความรู้ของตำบล 2.มีพื้นที่ปฏิบัติการและเชื่อมโยงเครือข่ายขององค์กรชุมชน 3.พัฒนาคนให้สามารถขับเคลื่อนงานพัฒนาท้องถิ่น 4.เกิดการบริหารจัดการตนเอง โดยใช้สภาฯ เป็นเครื่องมือในการกำหนดอนาคตของตนเอง และ 5.เกิดแผนพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนระดับตำบล
“ทิศทางการพัฒนาต่อไปต้องเน้นสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงองค์กรชุมชนให้ ครอบคลุมทั่วถึงและหลากหลาย พัฒนาระบบข้อมูลและการสื่อสารให้มีพลัง พร้อมๆกับการพัฒนาแกนนำและสมาชิก รวมถึงต้องสนับสนุนให้สภาเป็นกลไกหลักรับฟังและสะท้อนปัญหา”
แต่หากจะให้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนปฏิรูป ประเทศจากฐานราก อาจต้องเชื่อมโยงและยกระดับขบวนสภาให้มีความเข้มแข็งสู่การเปลี่ยนแปลงอย่าง เป็นรูปธรรม เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทำจริงจังคงไม่ไกลเกินเอื้อม อย่างน้อย “สภาองค์กรชุมชนตำบลคลองเขิน” ก็เป็นอีกต้นแบบหนึ่ง.