คลองจรเข้น้อย ชุมชนเข้มแข็งจัดการยาเสพติดแห่งแรกของภาคตะวันออก
การแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ไม่ได้อยู่ที่ทำให้ชุมชนปลอดยาโดยเร็ว แต่ต้องทำให้ชุมชนปลอดยาอย่างยั่งยืน และจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีกลไกที่เข้มแข็ง และเหมาะที่สุดไม่ใช่ภาครัฐ แต่ต้องเป็นพลังชุมชนดูแลกันเอง ด้วยหลักสันติวิธี-ให้อภัย-ให้โอกาส นี่คือบท สรุปความสำเร็จของ “ชาวคลองจรเข้น้อย” ต.เกาะไร่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนขอนำเสนอเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 เมษายน
จากชุมชนที่มีความรุนแรงด้านยาเสพติดชนิดที่หลังคาเว้นหลังคามีผู้เกี่ยว ข้องกับปัญหา วันนี้กลายเป็นต้นแบบชุมชนเข้มแข็งแห่งแรกในภาคตะวันออกของ ป.ป.ส. สามารถเผยแพร่แนวคิด-รูปแบบ-วิธีการ ไปทั่วภาคตะวันออก-ภาคกลาง ชาวคลองจรเข้น้อยทำได้อย่างไร !?!..
หลังคาเว้นหลังคา ปัญหายาเสพติดของชุมชน
คนคลองจรเข้น้อยตั้งรกรากตั้งแต่ปู่ย่าตายาย มีวิถีอาชีพเกษตรกรรม คนเฒ่าคนแก่บอกว่าเมื่อก่อน"อาหารการกินไม่อด อยู่กันฉันท์ญาติ" แต่พอยาบ้าแพร่ระบาด ชาวบ้านบอกว่า "หมาเห่าจนเมื่อยหลับ" เหมือนเมืองงเถื่อน มอเตอร์ไซด์ส่งเสียงดังทั้งคืน คนนอกเข้ามาซื้อยา คนในทั้งเสพทั้งขาย ปัญหาตามมาทั้งทะเลาะวิวาท ชกต่อย ลักขโมย การพนัน
"เกิดมาจนจะแปดสิบแล้ว ไม่เคยเห็นภัยอะไรร้ายแรงเท่ายาบ้า หลานมันไม่เหมือนคนแล้ว ออกจากบ้านก็มีเรื่องชกต่อย กลับเข้ามาก็ตีกับพ่อแม่ แม้แต่ลูกสาวของอามันยังมุดเข้าไปหาในมุ้ง"
"ทีแรกไม่เชื่อชาวบ้าน จนเฝ้าดูลูกเลยรู้ว่าเสพมาหลายปี ค้างค่ายาบ้า 6 หมื่น คนขายมาทวงถึงบ้านไม่จ่ายก็อันตราย กลุ้มใจมากขับรถไปน้ำตาไหลทั้งรักลูกทั้งเครียดทั้งแค้น"
ปี 2537 ยาเสพติดเริ่มเข้ามาในชุมชนประปราย ยังไม่มีใครคิดว่าเป็นปัญหาส่วนรวม จนปี 2542 ยาบ้าระบาดหนักและมีการขายในชุมชน ตำรวจเข้ามาตรวจก็จับคนผิดไม่ได้ เพราะชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมืด กลัวจะบาดหมางกันเองในสังคมเครือญาติ และกลัวถูกปองร้าย
สร้างกลไกชุมชนเข้มแข็ง"ผู้นำธรรมชาติ-เวทีประชาคม"
ต้นปี 2543 ดาบวิทยา จันทร์ศิริ จาก สภต.แสนภูดาษ และวิทยากรกระบวนการ ป.ป.ส.เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับแกนนำชาวบ้าน และจุดประกายความคิดว่ามาตรการปราบปรามของรัฐเท่านั้นแก้ปัญหายาเสพติดไม่ ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆของชุมชน และราชการไม่ได้เกาะติดพื้นที่ตลอดเวลา ชาวบ้านจึงควรเลิกคิดว่า "ธุระไม่ใช่"
ที่สุดยาเสพติดที่มาเคาะประตูแทบทุกหลังคา ทำให้ชุมชนตระหนักว่าต้องร่วมกันแก้ไข โดยมีตำรวจชุมชนเป็นพี่เลี้ยงแนะนำแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ กลางปี 2543 จึงเกิด“เวทีประชาคมชาวบ้าน” ทำความเข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน และด้วยความคิดว่าน่าจะมีกลไกที่คล่องตัวในการจัดการปัญหาอย่างสอดคล้องกับ วิถีชุมชน จึงเกิด "คณะกรรมการชุมชนเข้มแข็งบ้านคลองจรเข้น้อย" ประกอบด้วยผู้นำธรรมชาติที่ชาวบ้านนับถือศรัทธา 31 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดได้แก่ นายศุขเกษม คงถาวร เป็นประธาน และมีผู้ใหญ่บ้านร่วมด้วยเพื่อทำหน้าที่ประสานราชการ
บทบาทคณะกรรมการชุมชนเข้มแข็ง คือสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านทั้งการระดมปัญหา-ทางออก-ระดมคน กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ มีเครือข่ายเฝ้าระวังอัตราส่วนกรรมการ 1 คนสอดส่องดูแลชาวบ้าน 3-4 ครัวเรือน ตามความเหมาะสมว่ากรรมการคนไหนพูดคุยทำความเข้าใจกับบ้านใดได้บ้าง กรรมการ 31 คนรวมเป็น 31 เครือข่ายจึงดูแลได้ทั่วถึง 113 ครัวเรือนทั้งหมู่บ้าน
สายสัมพันธ์เอื้ออาทรเครือญาติ สู่สันติวิธีแก้ปัญหา
เริ่มจากรณรงค์บนแนวคิด "ไม่สร้างกระแสต่อต้าน-ไม่ประนาม" เพราะผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดล้วนเป็นเครือญาติในชุมชน วิธีการมีตั้งแต่ปากต่อปาก หอกระจายข่าวหมู่บ้าน ป้ายรณรงค์ตามที่ต่างๆ ตั้งแต่ถนนกระทั่งกลางแปลงนา และหัวใจการทำงานคือ "สันติวิธี" โดยผนึกกำลังทุกฝ่ายในชุมชน และเริ่มจาก "ให้ความช่วยเหลือ-ให้อภัย-ให้ โอกาสกลับใจ" ทั้งผู้ค้าผู้เสพ ยกเว้นรายที่ก่อความเดือดร้อนหนักและไม่ยอมเลิก ก็ให้กฏหมายจัดการ
แนวคิดแนวทางนี้ ทำให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นแนวร่วมมากขึ้น บางคนยกที่ดินให้สร้างที่ทำการประชาคมใหม่ บางคนร่วมเป็นแกนนำพัฒนา
เมื่อมีแนวร่วมพอสมควร คณะกรรมการฯก็ปฏิบัติการเชิงรุกโดย "คัด แยกผู้มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมดในชุมชน" ทั้งผู้ต้องสงสัยว่าเสพ, ผู้ที่บอกว่าเลิก, ผู้ที่เคยเข้าค่ายบำบัด, ผู้ที่ยังติดยาอยู่, ผู้ค้ารายย่อย ผู้ค้ารายใหญ่ และกำหนดมาตรการหนักเบาตามพฤติกรรม หากเป็นผู้ผลิตหรือผู้ค้ารายใหญ่ที่มีมูลเหตุจูงใจจากความโลภ ก็ให้กฏหมายจัดการอย่างเฉียบขาด หากเป็นผู้เสพและผู้ค้ารายย่อยที่มีมูลเหตุจูงใจจากการติดยา ความยากจน สิ่งแวดล้อม ชุมชนพร้อมให้โอกาส
เวทีประชาคมครั้งต่อมา กรรมการเขียนรายชื่อผู้มีพฤติกรรมเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับยาในเครือข่ายบ้าน ที่ตนดูแลหย่อนลงกล่อง คณะกรรมการนำรายชื่อทั้งหมดมาวิเคราะห์ให้แม่นยำทำเป็นบัญชีลับของหมู่บ้าน โดยขอความร่วมมือหน่วยงานปราบปรามในพื้นที่ เพื่อให้เพียงตัวเลขแต่ไม่ให้รายชื่อ เพื่อจัดการตามแนวทางชุมชนก่อน เหลือบ่ากว่าแรงจึงขอให้เจ้าหน้าที่จัดการต่อ
ผลที่น่าสนใจคือ แต่เดิมการสืบสวนข้อมูลทางลับของตำรวจพบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดใน หมู่บ้านไม่เกิน 10 คน แต่ชุมชนสามารถค้นเจอเองถึง 45 คน และยังจำแนกได้อย่างละเอียดคือ 4 คนใน 2 ครอบครัวเป็นผู้ค้ารายย่อย และ 41 คนใน 39 ครอบครัวที่เป็นผู้เสพ-ผู้ต้องสงสัย
ปักธงขาว ก้าวสู่หมู่บ้านชนะยาเสพติด
เวทีประชาคมครั้งที่ 3 มีการรับรองครัวเรือนปลอดยาเสพติด โดยอ่านรายชื่อสมาชิกแต่ละครอบครัว หากไม่ได้รับเสียงรับรองเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการ ก็นำรายชื่อไปเพิ่มในบัญชีลับ ผลที่ได้คือ 72 ครอบครัวได้รับการรับรองปลอดยาเสพติด 26 มิ.ย.43 จึงปลุกกระแสด้วยกิจกรรมแจกธงขาวปลอดยาเสพติดไปปักหน้าบ้านและมอบใบประกาศ เกียรติคุณ โดยเชิญนายอำเภอ หัวหน้าสถานีตำรวจ สาธารณสุข หัวหน้าส่วนราชการต่างๆในพื้นที่มาร่วมเป็นสักขีพยาน
เป้าหมายต่อไปอยู่บนฐานคิดว่า "ปัญหายาเสพติดอยู่ที่ผู้เสพและ ผู้ค้า ผู้เสพเป็นฐานให้ผู้ค้า หากไม่มีผู้เสพ ผู้ค้าก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องเน้นแก้ไขที่ตัวปัญหา" เริ่มจาก "หยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่บ้าน" ไม่ให้เกิดผู้เสพหรือผู้ค้ารายใหม่เพิ่ม โดยใช้เครือข่ายคณะกรรมการฯช่วยกันเฝ้าระวังแบบ “ตาดู-หูฟัง” อย่างทั่วถึง มีการประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง รวมทั้งอบรมให้ความรู้เยาวชน
ต่อมาคือ"ลดจำนวนผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด" ปฏิบัติการ เชิงรุกโน้มน้าวขอให้ทั้ง 45 คนเลิกพฤติกรรม โดยชุมชนจะไม่ใช้วิธีกดดันเร่งรัดแต่ให้ค่อยๆปรับตัวจนสมัครใจเข้าร่วม"โครงการ ควบคุมพฤติกรรม แต่ไม่ควบคุมตัว" จากนั้นจึงช่วยเหลือตามความเหมาะสมแต่ละราย หากเป็นผู้ค้าก็ติดตามพฤติกรรมและช่วยเหลือเมื่อเลิกได้ เช่น ให้กู้ยืมทุนให้โอกาสด้านอาชีพ หากเป็นผู้เสพก็ช่วยเหลือในการบำบัดรักษาทางกาย-ทางใจ ประสานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น
"ผู้สมัครใจเลิกชุมชนช่วยเต็มที่ ผ่านหน้าบ้านก็ชวนร่วมวงข้าว ชอบช่างไม้ก็พาไปทำงาน ถนัดแพปลาก็ไปทำกับกรรมการชุมชนที่เป็นเจ้าของแพ ได้ผลมากกว่าเข้าค่ายบำบัดยารัฐ เขามีเวลาปรับตัว ไม่บังคับ ก็รู้สึกดีและเลิกได้เองเป็นส่วนมาก" ศุขเกษม กล่าว
ที่สุดผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็เลิกพฤติกรรม ด้วยบรรยากาศความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ของคนในชุมชน แต่มีผู้ค้ารายสำคัญ 1 คนที่ต้องให้กฏหมายยื่นมือเข้ามาปราบปรามจับเข้าคุก
30 เม.ย.46 ทุกครัวเรือนปักธงขาวเป็นบ้านปลอดยาเสพติด ที่ต้องใช้เวลานาน 34 เดือนด้วยแนวคิดว่าหากต้องการให้ชุมชนปลอดยาเสพติดเร็วที่สุดก็ใช้กฏหมาย ปราบปราม แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ถอนกำลังไปแล้วปัญหาก็จะกลับมาอย่างรวดเร็ว "การ แก้ปัญหาไมใช่ทำให้ชุมชนปลอดยาโดยเร็ว ต้องทำให้ชุมชนปลอดยาอย่างยั่งยืน” ดัง นั้นภารกิจต่อไปคือร่วมกันเฝ้าระวังไม่ให้ปัญหากลับคืนมาอีก เวทีประชาคม กลางหมู่บ้านจึงเป็นที่ออกเสียงรับรองครัวเรือนปลอดยาเสพติดทุกเดือน
ต่อยอดพัฒนาชุมชน ไม่รับรองรถซิ่ง-หวยแขวน
เมื่อหยุดปัญหายาเสพติดได้แล้ว ก็สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง เกิด "โครงการสู้ภัยเศรษฐกิจ" รวมกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มทำน้ำตะไคร้ เลี้ยงเป็ดเนื้อ เลี้ยงปลา ปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้กองทุนหมู่บ้านกู้ยืมประกอบอาชีพ มีวิทยากรกระบวนการ ป.ป.ส.ประสานส่วนราชการเข้ามาอบรมอาชีพ ชาวบ้านยังช่วยกันเองโดยรวมกลุ่มเป็นแรงงานรับจ้างไถนา-หว่านข้าวทั้งในและ นอกชุมชน กลุ่มรับจ้างแพปลาออกไปทำงานในเมือง กลุ่มรับงานจากโรงงานมาทำที่บ้าน ปัจจุบันนอกจากเกษตรกรรม ชาวคลองจรเข้น้อยมีอาชีพมากมายรองรับ
"ไม่มีใครเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจถ้าขยัน คนแก่คนเฒ่าก็นั่งทำงานที่บ้านได้ เด็กๆอยากได้ค่าขนมไม่ต้องขอเงินพ่อแม่แต่มาทำงานก็ได้แล้ววันละ 50-100 บาท" ศุขเกษม กล่าว
ปัญหาสังคมในหมู่บ้านหลายอย่างก็ได้รับการแก้ไขด้วยกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง เวทีประชาคมทุกเดือนเป็นศูนย์รวมความร่วมไม้ร่วมมือของชาวบ้านในทุกๆด้าน..
"ปัญหาวัชพืชในคลองขึ้นมา มีมติให้เก็บบ้านละ 20 บาทซื้อยามาพ่น ลุงขี้เมาค้านว่าทำให้หญ้าเตียนแต่ปลาตายน้ำเน่า ชาวบ้านให้พาแกออกไป ผมบอกว่ามีเหตุผลนะ ทุกคนก็ตบมือให้ แกหายเมาทันที ที่สุดก็มีมติทำความสะอาดหน้าบ้านตัวเองก่อน ที่เหลือลงแขกกัน เงินที่ระดมก็เอาไปซื้อแหอวนดักล้อมปลา ปัญหาวัชพืชหมดไป น้ำไม่เน่า ยังได้อนุรักษ์พันธุ์ปลา และไม่มีใครกินเหล้าเข้าประชุมอีก ชาวบ้านเคารพความคิดเห็นกันมากขึ้น" ดาบวิทยา กล่าว
เวทีประชาคมยังแก้ปัญหารถซิ่งและหวยแขวน..
"วัยรุ่นชอบแต่งรถซิ่งออกไปถูกจับในเมือง ประธานเกษมบอกว่ามันทำผิดก็แก้ให้ถูก ไม่มีใบขับขี่ก็ให้ไปสอบ แต่งรถเสียงดังก็ให้แก้เครื่อง ที่ประชุมจึงให้ร่วมกันเฝ้าระวัง แล้วมารับรองไม่รับรองว่าครอบครัวไหนปลอด-ไม่ปลอดรถซิ่ง.. ต่อมาวัยรุ่นย้อนผู้ใหญ่ว่าจับผิดแต่พวกเขา คนโตๆเล่นหวยเล่นไพ่ไม่เห็นจะควบคุม จึงเกิดประชาคมรับรอง-ไม่รับรองการพนัน ตั้งแต่ตีไก่ ไฮโล หวยแขวน กระทั่งไพ่ตองของคนแก่.." ดาบวิทยา กล่าว
ปัญหาวัยรุ่นเกเรก็หมดไป จากเคยมีชื่อเสียงทางลบว่าวัย รุ่นคลองจรเข้น้อชอบยกพวกตีกับคนอื่น เวทีประชาคมหยิบยกขึ้นมาพูดคุยพ่อแม่ต้องกลับไปเข้มงวดกวดขันลูก
ชาวคลองจรเข้น้อยบอกว่า ทุกวันนี้ครอบครัวได้ลูกหลานที่ดีกลับคืนสู่อ้อมกอด ชุมชนได้แรงงานกลับคืนมาประกอบสัมมาอาชีพ
ความสำเร็จของชาวคลองจรเข้น้อยที่เอาชนะยาเสพติด และถักทอไปสู่การพัฒนาหมู่บ้านแก้ปัญหาปากท้อง แก้ปัญหาสังคม ด้วยกระบวนการ "ชุมชนดูแลชุมชนเอง" กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ดูงานต้นแบบของหลายชุมชน ในภาคตะวันออกและภาคกลาง รูปแบบประชาคมยังถูกนำไปทดลองใช้กับเยาวชนในโรงเรียนบางแห่งด้วย .