“สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกักลม” ทำลายป่าสักทองและวิถีชุมชน คุ้มหรือไม่?
สถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้แทบทุกเขื่อนทั่วประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติขาดน้ำ แม้กระทั่งเขื่อนหลักอย่างภูมิพลและสิริกิติ์ที่มีความจุเป็นหมื่นล้าน ยังไม่มีน้ำพอที่จะระบายให้กับเกษตรกร จนรัฐบาลต้องให้เลื่อนทำนาปีไปอีกเดือน อาจรวมถึงนาปรังต้นปีหน้า และเร่งทำฝนหลวง ที่ผ่านมารัฐไม่เคยสรุปบทเรียนว่าภัยแล้งเพราะไม่มีป่า ล่าสุดความคิดที่จะทำลายป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายและวิถีชุมชนคนสะเอียบ เพื่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น…คุ้มหรือไม่?
รู้จักป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศไทย
ฝนที่ตกลงมาช่วงต้นฤดู ทำให้ป่าสักทองผลิใบเขียวอ่อน ดงสักงามเป็นเขตป่าสักทองหนาแน่น ซึ่งชุมชนคนสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ร่วมกันปกป้องรักษาเป็นสมบัติอันล้ำค่าของลูกหลานและคนไทยทั้งชาติ
สักทองเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณ ชอบขึ้นตามพื้นที่ภูเขา แต่ในที่ราบพื้นที่ดินปนทรายน้ำไม่ขังก็ขึ้นได้ดีเช่นกัน นอกจากนี้ยังชอบชั้นดินลึก ระบายน้ำดี ไม่ชอบดินแข็งน้ำท่วมขัง สักเป็นไม้ผลัดใบขนาดใหญ่ ยอดกลมสูงเกิน 20 เมตร เปลือกหนาสีเทาหรือน้ำตาลอ่อนแกมเทา ใบใหญ่กว้าง 25-30 ซม. ยาว 30-40 ซม. รูปใบรีมนแตกจากกิ่งเป็นคู่ๆ ใบสีเขียวแกมเทาเป็นขน ดอกขาวนวลออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง เริ่มออกดอกตั้งแต่ มิ.ย. ผลค่อนข้างกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ในหนึ่งผลมี 1-4 เมล็ด ผลจะแก่ราว พ.ย. - ม.ค. ลักษณะเนื้อไม้สีเหลืองทองถึงน้ำตาลแก่ เนื้อหยาบแข็งปานกลาง ความแข็งแรงสูง เลื่อนใสกบตบแต่งง่าย และมีสารเคมีพิเศษคงทนต่อปลวก แมลง เห็บราได้ดี นอกจากนี้ยังพบว่าไม้สักทองมีทองคำปนอยู่ 0.5 ppm (ไม้สักทอง 26 ตัน มีทองคำหนัก 1 บาท)
ไม้สักมี 5 ชนิด 1.สักทอง ขึ้นในป่าโปร่งชื้นไกลห้วยหรือแล้ง แต่ใกล้ห้วยดินค่อนข้างสมบูรณ์ 2.สัก หยวก ขึ้นในป่าโปร่งชื้นริมห้วย 3.สักไข ส่วนมากอยู่ในป่าโปร่งแล้ง เจริญเติบโตช้า 4.สักหิน จะอยู่ในป่าโปร่งแล้งระดับสูง 5.สักขี้ควาย เกิดอยู่ในที่ค่อนข้างแล้งในป่าผลัดใบต่างๆ
ไม้สักทองได้รับฉายาในวงการป่าไม้ว่าเป็น"ราชินีแห่งไม้" (Queen of Timbers) เป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดของโลกที่ธรรมชาติมอบให้คนไทยและประเทศไทยโดย เฉพาะ อนาคตไม้สักกำลังจะหมดไป การปลูกไม้สักให้มีปริมาณมากขึ้นและการปกป้องป่าสักทอง ดงสักงามไว้ให้เป็นมรดกลูกหลานและคนไทยทั้งชาติ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งที่กลุ่มราษฎรรักป่าชุมชนสะเอียบยึดมั่น
หากเขื่อนแก่งเสือเต้นมา ดงป่าสักทองหมด
หลายชั่วอายุคนที่ผ่านมา ชุมชนสะเอียบได้ใช้ประโยชน์จากป่าสักทองอันอุดมสมบูรณ์ผืนนี้มาตลอด กระทั่งปี 2529 กรมป่าไม้ได้ประกาศให้ป่าผืนนี้เป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม ครอบคลุมพื้นที่กว่า 284,000 ไร่ แต่อุทยานแห่งชาติฯ ก็ผ่อนปรนให้ชาวบ้านเก็บผัก เห็ด หน่อไม้ พืชสมุนไพร โดยชาวบ้านก็ร่วมมืออนุรักษ์ปกป้องรักษาป่าสักทองผืนนี้อย่างเข้มแข็งตลอดมา ชาวบ้านเปรียบเปรยว่า “ป่าสักทองเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน”
มีงานวิจัยมากมายชี้ถึงความไม่เหมาะสมการสร้างเขื่อนแก่งเสือ เต้น กรมทรัพยากรธรณีชี้ว่าเสี่ยงมากที่จะสร้างเขื่อนบนแนว “รอยเลื่อนแพร่” ของเปลือกโลกที่ยังมีการเคลื่อนตัวตลอดเวลา, องค์กรอาหารและการเกษตรโลกระบุว่าเขื่อนนี้สามารถเยียวยาน้ำท่วมได้เพียง 8%, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระบุว่าไม่คุ้มทุน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยระบุว่าจะกระทบระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติ แม่ยมอย่างมาก
จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ระบุว่ายังมีทางเลือกการจัดการน้ำอีกหลายวิธีที่ไม่ต้องสร้างเขื่อน โดยมหาวิทยาลัย นเรศวรเสนอ 19 แผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างเป็นระบบทั้งลุ่ม น้ำยม เช่น แนวทางภูมินิเวศวิทยาที่เน้นการจัดการน้ำที่ยั่งยืน, การจัดการป่าและน้ำโดยประชาชนมีส่วนร่วม เช่น อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ, ขุดลอกตะกอนแม่น้ำและทำทางเบี่ยงน้ำ, ฟื้นฟูที่ราบแม่น้ำยมโดยขุดลอกคูคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง ยกถนนสูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ, ปรับปรุงระบบชลประทานขนาดใหญ่ กลาง เล็กจำนวนมากที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ, พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามแผนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งใช้งบประมาณเพียงหมู่บ้านละ 3 ล้านกว่าบาท, รณรงค์ประหยัดน้ำฤดูแล้ง, ผลักดันนโยบายล้านฝายทดน้ำ
ที่สำคัญ!...หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาด 50,000-60,000 ไร่ นอกจากจะท่วมชุมชนสะเอียบแล้ว ยังท่วมป่าสักทองผืนนี้กว่า 40,000 ไร่ด้วย
ขณะที่งานวิจัยมากมายชี้ถึงความไม่คุ้มทุน-ไม่มี ประสิทธิภาพ-ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และยังชี้ทางเลือกที่ดีกว่าในการจัดการน้ำทั้งระบบแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม สังคมไทยพร้อมจะสูญเสียป่าสักทองผืนสุดท้ายเพื่อสร้างเขื่อนมาไว้กักลมหรือ? คนรุ่นเราจะสร้างตราบาปทิ้งไว้ด้วยการปล่อยให้นักการเมืองผลาญงบประมาณ แผ่นดินจากภาษีประชาชนกว่า 12,000 ล้านบาท แลกกับผืนป่าสักทองและวิถีชุมชนคนสะเอียบหรือไม่?.