ปฏิรูป “สภาองค์กรชุมชน” ก่อนกระแทกจุดคานงัดปฏิรูปประเทศ
ความหวังของการก่อตั้งสภาองค์กรชุมชน คือเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนประชาธิปไตยรากหญ้า นำพาและหนุนเสริมการพัฒนาท้องถิ่นไทยโดยบทบาทหลักจากฐานราก ซึ่งสอดคล้องกับกระแสปฏิรูปสังคมการเมืองไทยที่กำลังเดินเครื่องขณะนี้ แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความอืดอาด ขาดเอกภาพ โครงสร้างองค์กรตาม พ.ร.บ.ที่ไม่เอื้อผลในทางปฏิบัติได้ตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ โต๊ะข่าว เพื่อชุมชนประมวลความคิดจากคนวงนอกวงในว่าทำอย่างไรจะติดเกียร์เดินหน้าให้ สภาองค์กรชุมชน
แก้ปัญหาภายใน ให้สภาองค์กรชุมชนกระแทกจุดคานงัดสังคม
จากปัญหาอุปสรรคที่ไม่ขยับของสภาองค์กรชุมชน ทำให้คนวงในมานั่งถกว่าทำอย่างไรจะขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งสมเป็นเครื่องมือ สำคัญในการปฏิรูปประเทศจากฐานรากตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ เวทีคณะกรรมการ ดำเนินการสภาองค์กรชุมชนเสนอว่า เป้าหมายเบื้องต้นต้องทำให้สภาฯมีจุดยืนที่เป็นอิสระ ปรับระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงกันทั้งระดับตำบล จังหวัด ประเทศ และสร้างการยอมรับอย่างกว้างขวาง มีการสร้างสภาองค์กรชุมชนต้นแบบที่ทำให้เห็นรูปธรรมการแก้ปัญหา ใช้กระบวนการวัฒนธรรมชุมชนมาเชื่อมประสานถึงชาวบ้าน เพื่อให้เรื่องประชาธิปไตยชุมชนเกิดความชัดเจน
ระยะกลาง ต้องทบทวนกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนองค์กรและการพัฒนาคนทำงาน ต้องปรับเนื้อหางานของสภาฯให้สามารถกระแทกจุดคานงัดของสังคม จัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหา และดึงสื่อท้องถิ่นมาช่วยงานประชาสัมพันธ์ ส่วนระยะยาวต้องมีการปฏิรูปเพื่อลดทอนอำนาจรัฐ-เพิ่มอำนาจประชาชนในทุกมิติ
ส่วนรูปแบบการดำเนินงาน ควรขับเคลื่อนอย่างอิสระโดยสภาองค์กร ชุมชนเอง ซึ่งที่ผ่านมายังผูกติดกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ทำให้ไม่สะดวกในการบริหารจัดการงบประมาณ และจัดความสัมพันธ์กับภาคีเครือข่าย โดยควรให้สภาฯเป็นแกนหลักเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ใน ลักษณะสร้างความร่วมมือและกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน
เสียงจากนักวิจัย จำเป็นต้อง “ปฏิรูปสภาองค์กรชุมชน”
ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ “การศึกษา วิจัยเชิงปฏิบัติการสภาองค์กรชุมชน” โดยศิริพร ยอดกมลศาสตร์ และคณะ ซึ่งชี้ปัญหาว่าจุดยืนของสภาองค์กรชุมชนยังไม่ชัดเจน สิ่งแรกที่ต้องพูดคุยกันก่อนเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปประเทศคือ 1.อุดมการณ์องค์กร ซึ่งต้องเลือกว่าถ้าจะพัฒนาขบวนภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ หรือ พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน 2551 ก็ต้องสร้างความเข้าใจให้ครบทุกพื้นที่ หรือจะผลักดันแก้กฎหมายบางข้อเพื่อให้การเคลื่อนงานเป็นอิสระไม่ยึดโยงกับ รัฐ หรือจะเดินตามเจตนารมณ์ร่างแรกของ พ.ร.บ.ที่ตกไป คือให้ประชาชนมีอำนาจตั้งแต่วิเคราะห์ ตัดสินใจ ปฏิบัติ ไปจนถึงตรวจสอบ หรือทางเลือกสุดท้ายคือการรวมสภาองค์กรชุมชนเข้ากับสภาประชาชนที่กำลังจะ เกิดขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้หลุดจากพันธะทางกฎหมายนำไปสู่การเคลื่อนขบวนได้เร็วขึ้น
2.กระบวนการทั้งระดับจังหวัด ระดับชาติ ยังเน้นนำเสนอเนื้อหารายกิจกรรมโครงการ แต่ขาดภาพรวมการพัฒนาทั้งโครงสร้างขบวน ไม่มีการติดตามข้อเสนอเชิงนโยบายที่ไปสู่ระดับอื่นๆทำให้หลุดหายไประหว่าง ทาง และยังขาดการประสานงานกับภาครัฐทำให้มีปัญหางบประมาณ 3.แกนนำ มีบทบาทสำคัญแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องนำขบวนทุกเรื่อง มิเช่นนั้นก็จะไม่ต่างกับโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์
“ที่ต้องตั้งคำถามทุกครั้งเวลาลงพื้นที่คือชาวบ้านเข้าใจไหมว่าสภาองค์กร ชุมชนคืออะไร มีกับไม่มีต่างกันหรือไม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่ตอบว่าไม่รู้ สภาฯจึงต้องย้อนมองตัวเองว่าเรามองโอกาสนี้ในมิติสงเคราะห์ที่รอรับเพียงงบ ประมาณหรือมิติการพัฒนาในฐานะขบวนหนึ่งบนเส้นทางปฏิรูป” ศิริพร กล่าว
“พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน” มีปัญหา แต่ควรแก้หรือไม่?
เสียงจากงานวิจัยค่อนข้างสอดคล้องกับนักวิชาการอย่าง อ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า หลายฝ่ายคาดหวังกับสภาองค์กรชุมชนที่ตั้งขึ้นมาว่าจะเป็นทางออกการแก้ไข ปัญหาประเทศได้มากกว่านี้ และเสนอว่าควรปฏิรูปองค์กรโดยกลับไปเดินตามเจตนารมย์ร่างแรกของ พ.ร.บ.ซึ่งมีการถ่ายโอนอำนาจสู่ประชาชนมากกว่า พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนที่ใช้อยู่
“ถ้าปฏิรูปการเมือง สิ่งที่ควรทำคือการทำให้กฎหมายฉบับนี้กลับสู่ร่างแรก เพื่อให้มีลักษณะความสัมพันธ์แบบกดดันต่อรองไม่ใช่ซุกอยู่ใต้ปีกรัฐบาล อีกประการหนึ่งคือปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่ได้ เพราะที่สุดไม่ว่าจะเป็นสภาชุมชนหรือสภาชาติก็ต้องอาศัยการเลือกตั้ง” อ.ประภาส กล่าว
ขณะที่ สน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง(สพม.) และ สมาชิกสภาองค์กรชุมชนเอง ชี้ข้อด้อยของ พ.ร.บ. ปัจจุบันว่า สิ่งที่เห็นชัดเจนคือความไม่ชัดเจนในการบังคับให้รัฐสนับสนุนงบประมาณซึ่ง ส่งผลให้การเคลื่อนงานล่าช้า หรือผูกขาดด้านการจัดการงบโดย พอช. หรือ อปท. เมื่อสภาฯเกิดขึ้นแต่ไม่มีเงินหรือมีไม่พอ ก็ทำให้เดินหน้าต่อไปไม่ได้
แต่ก็มองต่างมุมว่าเป็นไปได้ยากที่จะมีการแก้ไขเนื้อหากฏหมาย ให้ดีกว่าเดิม เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าตัวสภาองค์กรชุมชนยังอ่อนแออยู่มากเกินกว่าที่จะ ผลักดันเรื่องนี้ เมื่อไปถึงขั้นกรรมาธิการอาจถูกแปรไปให้แย่กว่าฉบับ ที่ใช้อยู่ ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงหนักกว่าเดิม
“ตอนนี้เราอย่าเพิ่งไปขยับอะไรเลย ทดลองใช้ร่างนี้จนเกิดความเข้มแข็งก่อนสัก 2-3 ปี เพื่อให้กระบวนการต่างๆมีความสมบูรณ์ คิดเรื่องโครงสร้างและการเคลื่อนขบวนให้มากและดีขึ้นดีกว่า มองว่าถ้าชาวบ้านทั้งตำบลออกมาทำอย่างจริงจัง จะเป็นแรงส่งให้หน่วยงานทั้งระดับตำบลและจังหวัดเข้าร่วมสนับสนุน แล้วต่อไปจะไม่มีใครพูดได้ว่าสภาไม่มีอำนาจ”
ส่วนประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองเขิน สมุทรสงคราม นางสาวอุษา เทียนทอง กล่าวถึงประสบการณ์จากพื้นที่ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเข้าใจต่อสภาองค์กรชุมชนว่าเป็นเรื่องการมาประชุม เปิดโอกาสให้ได้พูดคุย เสนอแนะปัญหาและหาทางออกร่วมกัน แต่ในพื้นที่มีต้นทุนการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งอยู่ก่อนแล้ว เมื่อขับเคลื่อนในนามสภาองค์กรชุมชนจึงทำได้
ไม่ต้องเร่งปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ สภาองค์กรชุมชนจึงติดเครื่องปฏิรูปได้
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ คณะอนุกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน มองว่าสภาองค์กรชุมชนมีหน้าที่ ต้องแบกกระแสปฏิรูปเหมือนเป็นธุระของบ้านเมือง ซึ่งทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำอะไรต่อไปอย่างไร เช่น ควรการปรับปรุง พ.ร.บ. ทั้งที่เพิ่งออกมาได้ไม่นานยังไม่ทันออกฤทธิ์หรือไม่
“ถ้าบอกว่าสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ ต้องทำให้มีความเข้มแข็งด้วยตัวของมันเอง หรือมีประชาธิปไตยฐานรากที่เข้มแข็งกว่านี้ จุดคานงัดสำคัญคือวาง ยุทธศาสตร์หลักแล้วปล่อยให้ชุมชนค่อยๆไต่ระดับขึ้นไป ไม่ต้องรีบเพิ่มด้านปริมาณ แค่นี้เอาให้เข้มแข็งก่อน”
หมออำพล กล่าวว่า จำนวนสภาฯเป็นเพียงปริมาณไม่ใช่คุณภาพ เช่น ที่คลองเขินมีความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มกิจกรรม ไม่ได้หมายความว่าจะมีสภาฯที่เข้มแข็งด้วย สิ่งที่ต้องคิดต่อคือจะสร้างยุทธศาสตร์ย่างก้าวอย่างไร หากปล่อยไว้สภาองค์กรชุมชนก็ไม่ต่างกับองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งบ้างไม่เข้ม แข็งบ้าง
“สภาฯต้องมีบารมีหรือกลุ่มคนดีที่เข้ามาทำงานโดยไม่ยึดติดกับอำนาจ สองคือปัญญาและความรู้ในการเคลื่อนนโยบายสาธารณะ หรือความสามารถในการจัดการกับทุนที่มีอยู่โดยริเริ่มหรือต่อยอดให้เป็น นโยบายระดับชาติอย่างรู้ทันหน่วยงานทั้งระดับตำบล จังหวัด และชาติ”
สอดคล้องกับความเห็นของ อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานคณะอนุกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน คือควรใช้ขบวนองค์กรชุมชนเป็นตัวตั้งมากกว่าสภาฯ เพราะหากทำให้ขบวนดี สภาองค์กรชุมชนก็จะเกิดได้เองจากชาวบ้านข้างล่างโดยไม่ต้องให้ใครไปตั้ง
“ความเคลื่อนไหวต่างๆของสังคมขณะนี้สอดรับกับภารกิจของเรา การปฏิรูปประเทศคืองานที่สำคัญแต่ไม่ได้ทำแค่คนเดียว ร่วมกันทำทั้งประเทศ ถ้าทำสิ่งที่ดีผลที่ได้ย่อมดี เหมือนกับสภาฯที่ตอนนี้อาจมองเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าค่อยๆทำไปเรื่อยๆ ส่วนที่ดีจะค่อยๆเข้มแข็ง ส่วนที่อ่อนแอจะลดลงตามธรรมชาติ”
ประธานคณะอนุกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน ยังเสนอให้ เร่งเปิดเวทีภายในถกปัญหาสภาองค์กรชุมชนโดยเร็วที่สุดเพื่อทำความเข้าใจและ หาแนวทางที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนขบวนต่อไป
ปัจจุบันองค์กรชุมชนที่ดำเนินการจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนมี 2,000 กว่าตำบลจาก 7,967 ตำบลทั่วประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าสภาฯ ที่ขยับตามเจตนารมณ์จริงของ พ.ร.บ.ยังมีอยู่น้อยมาก ดังนั้นข้อเสนอให้ เน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ และสร้างฐานที่แข็งแกร่งจากชุมชนขึ้นมาเองจึงน่ารับฟังยิ่ง ก้าวจะช้าหรือเร็วอาจไม่สำคัญเท่าแก้ปัญหาให้ตรงจุดและก้าวไปอย่างมั่นคงบน เส้นทางปฏิรูปประเทศ .